สรุปแนวโน้มที่น่าสนใจของวงการไอที จาก KPCB Internet Trends 2015

by mk
24 July 2015 - 08:25

บริษัท Kleiner Perkins Caufield & Byers (KPCB) ถือเป็นนักลงทุนแบบ Venture Capital (VC) อันดับต้นๆ ของโลกไอที บริษัทเปิดมาตั้งแต่ปี 1972 โดยมีผลงานลงทุนในบริษัทไอทีชื่อดังมากมาย เช่น AOL, Amazon, Google, EA, Lotus, Netscape รวมถึงบริษัทรุ่นใหม่อย่าง Nest, Facebook, Twitter, Uber, Groupon

Mary Meeker นักวิเคราะห์คนดังของบริษัทนี้มีธรรมเนียมออกสไลด์ชุด Internet Trends เป็นประจำทุกปี (ทำมาตั้งแต่ปี 2001 ตั้งแต่เธอทำงานกับ Morgan Stanley) เอกสารชุดนี้มีชื่อเสียงมาก เพราะให้ "ภาพมุมกว้าง" ของอุตสาหกรรมไอทีว่ามีแนวโน้มอย่างไร มีผลกระทบต่อธุรกิจอื่นๆ หรือชีวิตประจำวันของคนอย่างไร

เอกสารฉบับปี 2015 ถูกนำเสนอในงาน Code Conference ของเว็บไซต์ Re/code เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้สนใจสามารถอ่านได้จากสไลด์ที่แปะไว้ด้านล่างนี้ หรือดาวน์โหลดไฟล์-เข้าดูเอกสารย้อนหลังได้จาก KPCB

ผมมีโอกาสอ่านสไลด์นี้มาได้สักพักแล้ว และคิดว่าควรค่าแก่การเขียนถึง โดยจะคัดเฉพาะสไลด์บางหน้าที่ผมเห็นว่าสำคัญมาแสดงไว้ในบทความนี้ครับ (สไลด์มีทั้งหมดประมาณ 200 หน้า)

การเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

ภาพรวมคือจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเติบโตเริ่มช้าลง จากสไลด์ด้านล่างจะเห็นว่าอัตราการเติบโตของผู้ใช้เน็ตในปี 2014 คือ 8% เทียบกับปี 2013 คือ 10%, ปี 2012 คือ 11%

อย่างไรก็ตาม ในบางภูมิภาคยังมีอัตราการเติบโตที่สูงอยู่ เช่น อินเดียที่เติบโตถึง 33% ถือเป็นอีกภูมิภาคใหม่ที่น่าจับตามอง

ผลกระทบต่อแวดวงธุรกิจ

อัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เติบโตขึ้นอย่างมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลายแขนงไม่เท่ากัน ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคอนซูเมอร์โดยตรงนั้นได้รับผลกระทบมาก ในขณะที่แวดวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานรัฐบาล ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก (แต่ก็คาดเดาได้ว่าในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงตามกัน)

ฝั่งของโลกธุรกิจขนาดใหญ่ (enterprise) ผลกระทบจากไอทีเริ่มเปลี่ยนจากการเป็นแค่เครื่องมือช่วยให้ทำงาน (แบบเดิมๆ) ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กลายมาเป็นการเปลี่ยนกระบวนการของธุรกิจ (business process) ไปแล้ว

ข้อความทวีตของ Aaron Levie (ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Box) พูดเรื่องเดียวกันว่าซอฟต์แวร์ฝั่งองค์กร เคยมีหน้าที่ช่วยทำงานเดิมๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ปัจจุบันมันเข้ามาเปลี่ยนตัวเนื้องานโดยตรง

ตัวอย่างซอฟต์แวร์ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีการทำงานแบบเดิมๆ เช่น ซอฟต์แวร์สื่อสารองค์กร Slack (แนะนำ Slack โต๊ะกลางวางงาน สื่อประสานทุกโปรเจกต์ให้ลุล่วง) กำลังเข้ามาแทนระบบอีเมลแบบเดิม

ในสไลด์ยังมีตัวอย่างอื่นๆ อีกหลายอัน เช่น Square เข้ามาเปลี่ยนระบบคิดเงินตามร้านค้า ฯลฯ พวกนี้ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญของบรรดาสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ทั้งหลาย

แนวโน้มแบบนี้กำลังเกิดขึ้นกับทุกวงการ (เซกเมนต์) ถ้าเราดูภาพรวมของสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ เราจะเห็นการซ้อนทับกันของการใช้โมบายล์ + การให้บริการในพื้นที่มากขึ้น

สิ่งที่เหมือนกันของ Uber, Airbnb, Instacart แอพจองคิว แอพสั่งของแล้วส่งเลยทั้งหลายทั้งปวง ก็คือฟีเจอร์ด้าน on-demand fulfilment หรือการให้บริการภายในระยะเวลาที่การันตีไว้กับลูกค้า

ในวงการอีคอมเมิร์ซ ถ้าเราดูภาพรวมของบริษัทอีคอมเมิร์ซรุ่นแรกอย่าง Amazon, eBay, Alibaba, Rakuten ภาพรวมของบริษัทเหล่านี้คือขาย "ผลิตภัณฑ์" (products) โดยส่งสินค้าถึงบ้านด้วยวิธีเดิมๆ

แต่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรุ่นที่สอง จะย้ายมาเป็นการขาย "บริการ" (services) ด้วยวิธีการส่งแบบออนดีมานด์ และเน้นการใช้งานบนโมบายล์เป็นหลัก

ตัวอย่างของบริษัทรุ่นที่สองก็อย่างเช่น Airbnb, Etsy, Uber, Instacart

การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเดิม

แอพยอดฮิตอย่าง Uber, Airbnb, Instacart เจาะอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน นั่นคือ ที่พัก (housing), คมนาคม (transportation) และอาหารสด (food) แต่ในภาพรวมแล้ว แอพทั้งสามตัวเลือกเจาะตลาดที่มีมูลค่าสูงมาก ทุกครอบครัวต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการเหล่านี้เป็นมูลค่าสูงอยู่แล้ว ถ้าสามารถเจาะได้สำเร็จ นั่นคือครอบครองตลาดที่ใหญ่มาก

นอกจากตลาดมีขนาดใหญ่ ยังมีอัตราการใช้งาน (engagement) สูง เช่น คนเราต้องหาที่นอนทุกวัน ต้องเดินทางทุกวัน ต้องซื้อของสดเข้าบ้านทุกสัปดาห์

แถมยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีประสบการณ์ใช้งานแย่ (weak user experience) เช่น คิวแท็กซี่ยาว หาที่จอดรถหน้าซูเปอร์มาร์เก็ตยาก เป็นต้น การนำแอพเข้ามาใช้จึงได้เปรียบกว่าคู่แข่งดั้งเดิมในอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น

การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมดั้งเดิม ทำให้โครงสร้างการกำกับดูแลแบบเดิมๆ เสียไป ในอดีต เราจะเห็นว่ามีสมดุลระหว่างผู้เล่นรายเดิม (incumbents), ผู้เล่นรายใหม่ (innovators), หน่วยงานกำกับดูแล (regulators)

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือกลุ่ม innovators สามารถสร้างนวัตกรรมได้มาก จนคนที่อยู่ในแวดวงทั้งลูกค้า (consumers) และคนทำงาน (workers) เข้ามาใกล้ชิดกับ innovators มากขึ้น โครงสร้างสมดุลเดิมจึงเสียไป และนี่คือสิ่งที่ Uber หรือ Airbnb กำลังประสบอยู่

การเปลี่ยนแปลงของคนทำงาน

ภาพรวมของหน้าที่การงาน และพฤติกรรมของคนทำงานก็เริ่มเปลี่ยนไป อันเป็นผลจากคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นจนมาเป็นแรงงานกลุ่มหลักแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจคือคนรุ่นใหม่ (millennials) ให้คุณค่ากับอะไรบ้างที่นายจ้างจัดให้ คำตอบอันดับหนึ่งคือต้องการให้นายจ้างสนับสนุนเรื่องการเทรนนิ่งและพัฒนาทักษะ (training and development) ตามด้วยชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น (flexible working hours) และโบนัสที่จ่ายเป็นเงินสด (cash bonus)

ส่วนสิทธิประโยชน์แบบเดิมๆ อย่างบริการฝากเลี้ยงเด็ก สิทธิการรักษาของบิดามารดา เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ กลับไม่ใช่เรื่องสำคัญนักในสายตาของคนรุ่นใหม่

เปรียบเทียบ "คุณค่า" ระหว่างคนกลุ่มที่เป็นผู้จัดการ (managers) กับคนรุ่นใหม่ (millenials) จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ให้ค่ากับ "งานที่มีความหมาย" (meaningful work) มากที่สุด ในขณะที่กลุ่มผู้จัดการสนใจเรื่องค่าตอบแทนมากกว่า

การมองคุณค่าที่แตกต่างกันของคนสองรุ่น จึงส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในที่ทำงาน และนายจ้างเองก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับแรงงานรุ่นใหม่ที่มองโลกต่างไปจากเดิม

พัฒนาการของแอพแชต

Meeker วิเคราะห์การเติบโตของแอพแชตทั้งหลายว่าได้รับความนิยมสูง เพราะมีข้อดีหลายอย่าง เช่น ส่งข้อความได้รวดเร็ว แต่ก็แสดงออกถึงอารมณ์ของผู้ส่งได้ง่าย (expressive yet fast), ไม่จำเป็นต้องเฝ้ามันตลอดเวลา แต่ก็ส่งข้อความหากันได้ทันที (asynchronous yet instant)

แอพแชตที่ได้รับความนิยมสูงมี 6 ตัว ได้แก่ WhatsApp, Facebook Messenger, Snapchat, WeChat, LINE, KakaoTalk

จุดเด่นของแอพแชตฝั่งเอเชียคือทำตัวเป็นแพลตฟอร์ม มีทุกอย่างตั้งแต่การจ่ายเงิน สติ๊กเกอร์ เกม เพลง เรียกแท็กซี่ สั่งอาหาร

ตัวอย่างฟีเจอร์ของ WeChat ที่มีแทบทุกอย่าง ส่งผลทางอ้อมช่วยให้คนจีนเข้ามาใช้งานอินเทอร์เน็ตสะดวกขึ้น เพราะเข้าถึงบริการสำคัญๆ ทั้งหมดได้จาก WeChat เลย

เปรียบเทียบแอพแชตฝั่งเอเชียกับแอพแชตจากโลกตะวันตก จะเห็นว่าแอพฝั่งเอเชียเป็นผู้นำด้านการสร้างแพลตฟอร์ม

อย่างไรก็ตาม Meeker บอกว่าเรื่องส่วนแบ่งตลาดแอพแชตยังไม่รู้ผลแพ้ชนะโดยง่าย เพราะพฤติกรรมของผู้ใช้เองก็ใช้แอพแชตมากกว่า 1 ตัวอยู่แล้ว และผู้ใช้แต่ละคนก็มีรสนิยมการใช้งานแอพแชตที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้ตลาดนี้ยังเติบโตต่อได้อีกมาก

เนื้อหาในสไลด์ยังมีอีกมาก (อย่างที่บอกคือ 200 หน้า) ผู้สนใจก็สามารถอ่านเพิ่มได้จากลิงก์ที่ให้ไว้ข้างต้นครับ

Blognone Jobs Premium