29 กรกฎาคมเป็นวันที่ไมโครซอฟท์จะเริ่มปล่อย Windows 10 ให้ใช้งาน ซึ่งรอบนี้กระบวนการออกรุ่นของไมโครซอฟท์เปลี่ยนไปจากเดิม เพราะจะทยอยปล่อยให้ผู้ใช้กลุ่ม Windows Insider ก่อน ตามด้วยผู้ใช้ Windows 7/8.1 ที่จองสิทธิการอัพเกรดไว้ (ข่าวเก่า)
กระบวนการปล่อยอัพเดตจะทยอยแบ่งเป็นกลุ่มๆ (ล่าสุดคือเริ่มปล่อยแล้ว) ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าตัวเองจะได้อัพเกรดเมื่อไร ระหว่างนี้ก็เรียกน้ำย่อยกันก่อนด้วยการย้อยดูกันแบบเร็วๆ ว่า Windows 10 มีฟีเจอร์อะไรใหม่ที่ควรค่าแก่การอัพเกรดบ้าง (เลือกมา 10 อย่างให้ดูเลขสวยๆ ลงตัวตามเลขเวอร์ชันนะครับ)
ฟีเจอร์แรกสุดของ Windows 10 ที่ทุกคนย่อมพูดถึงเป็นอย่างแรก ย่อมหนีไม่พ้นการกลับมาของ Start Menu ที่ทุกคนคุ้นเคย น่าจะช่วยให้ผู้ที่ไม่ชอบอินเทอร์เฟซของ Windows 8 สะดวกใจในการอัพเกรดมาใช้งาน (ส่วนคนที่ชอบ Start Screen ก็สามารถตั้งค่าให้แสดงเต็มหน้าจอได้)
ในส่วนของเดสก์ท็อปที่ไม่ถูกปรับปรุงมานาน ไมโครซอฟท์ยังเพิ่มฟีเจอร์ใหม่อย่าง Virtual Desktop, การจัดเรียงหน้าต่างแบบ Task View ที่หน้าต่างทั้งหมดที่เปิดอยู่, Snap Assist ช่วยจัดหน้าต่างเข้ามุม, ศูนย์รวมการแจ้งเตือน Action Center (ดูคลิปประกอบ)
ในขณะเดียวกัน มีฟีเจอร์บางตัวที่ถูกถอดออกไปคือ Charm Bar ที่อาจไม่เหมาะกับการใช้งานด้วยเมาส์และคีย์บอร์ดเท่าไรนัก
ถึงแม้ฟีเจอร์บางอย่างไม่ใช่ของใหม่ 100% เพราะมีในระบบปฏิบัติการตัวอื่นมาก่อน แต่ก็ยังมีประโยชน์ต่อผู้ใช้งานเดสก์ท็อปแบบหนักๆ แน่นอน
เว็บเบราว์เซอร์ตัวใหม่ที่มาแทน IE ถึงแม้ตอนนี้ Edge ยังขาดฟีเจอร์สำคัญหลายๆ ตัวที่คู่แข่งมี แต่ดูจากเบนช์มาร์คของ Edge รุ่นแรกๆ ในตอนนี้ก็ถือว่าอนาคตไกลทีเดียว
ระบบผู้ช่วยส่วนตัวที่ริเริ่มมาจาก Windows Phone กลายร่างมารวมกับระบบค้นหาของ Windows 10 อย่างสมบูรณ์ ความเจ๋งของมันเมื่อเทียบกับ Siri หรือ Google Now ต้องมาทดสอบกันอย่างจริงจังต่อไป แต่ความจริงอันโหดร้ายคือเมืองไทยยังใช้ไม่ได้นะครับ
หลังจากมีความสับสนงงงวยระหว่างแอพบน Windows Phone กับ Windows 8 มานานหลายปี ในที่สุดไมโครซอฟท์ก็ทำสิ่งที่ควรทำ นั่นคือสร้างแพลตฟอร์มที่สาม (เอ๊ะ!) ขึ้นมาใหม่ในชื่อ Universal Windows Platform ที่มากับสโลแกนอันคุ้นเคย "เขียนครั้งเดียวรันที่ไหนก็ได้" (เอ๊ะ!) ซึ่งก็น่าจะช่วยให้นักพัฒนาทำงานสบายขึ้น และสืบเนื่องมาเป็นมีแอพคุณภาพสูงจำนวนมากขึ้นด้วย
แนวคิดของ Universal Windows Platform ยังรักทุกคน สามารถพอร์ตแอพจาก .NET/Win32/Android/iOS มาใช้ได้อีกต่างหาก ผู้ใช้อย่างเราๆ ก็ได้แต่หวังว่าไมโครซอฟท์ยอมทุ่มเทขนาดนี้แล้ว เราจะมีแอพเยอะขึ้นนะ
แอพชุดใหม่ใน Windows 10 แทบทุกตัวเขียนขึ้นแบบ Universal ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Edge, Mail, Calendar, Photos, Calculator รวมไปถึงแอพฟังเพลงตัวใหม่ที่ทุกคนฟังชื่อแล้วก็งงคือ Groove
ระบบตรวจสอบและยืนยันตัวตนแบบใหม่ที่ใช้ระบบไบโอเมทริค เช่น ลายนิ้วมือ ใบหน้า นัยน์ตา ช่วยเพิ่มระดับความปลอดภัยมากขึ้น และการล็อกอินสะดวกขึ้น
Windows Hello จำเป็นต้องใช้ฮาร์ดแวร์พิเศษอย่างกล้อง RealSense ของอินเทล หรือตัวอ่านลายนิ้วมือเข้าช่วย ซึ่งผ่านไปอีกสักพักเราคงเริ่มเห็นโน้ตบุ๊กหรือพีซีออลอินวันที่มีอุปกรณ์พวกนี้ฝังมาให้เลยออกสู่ตลาดมากขึ้น ระยะยาวก็น่าจะเห็นประโยชน์ของ Windows Hello กันมากขึ้นครับ (ระหว่างนี้ก็เป็นฟีเจอร์ที่ดูเท่ๆ ได้อย่างเดียวไปก่อน)
คลิปสาธิตการทำงานของ Windows Hello
รวบฟีเจอร์สำหรับคอเกมมาอยู่ข้อเดียวกันเลย ไมโครซอฟท์โฆษณาไว้เยอะว่า DirectX 12 มีประสิทธิภาพดีขึ้นมาก อันนี้คงต้องรออีกสักพักจนกว่าเกมที่ออกแบบมาสำหรับ DirectX 12 จะออกสู่ตลาด
ส่วนฟีเจอร์การสตรีมเกมกับ Xbox One ถือเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างอุปกรณ์ร่วมค่ายที่น่าสนใจ แต่ก็แน่นอนว่าจำกัดเฉพาะคนมี Xbox One เท่านั้น
ในยุคที่อุปกรณ์ตระกูลแท็บเล็ตกับโน้ตบุ๊กเริ่มหลอมรวมเข้าหากัน อุปกรณ์ประเภท 2-in-1 เริ่มหลากหลายมากขึ้น Windows 10 จึงสานต่อความฝันของ Windows 8 ที่ยังเดินไปไม่สุดทาง โดยออกแบบ UI ให้เหมาะกับการใช้งานทั้งสองประเภท
พระเอกของงานนี้คือ Continuum ที่แยกแยะได้ว่าขณะนั้นเราใช้อุปกรณ์ในโหมดอะไร และปรับหน้าจอให้โดยอัตโนมัติ แถมแอพแบบใหม่ก็ยังปรับตัวตามขนาดหน้าจอได้ทุกรูปแบบ
Windows 10 มาพร้อมกับแนวคิดใหม่ว่าไมโครซอฟท์จะทยอยออกฟีเจอร์ใหม่ให้ตลอดเวลา ซึ่งต่างไปจาก Windows รุ่นก่อนๆ ที่ออกทีเดียวตูมทุก 3 ปี ระหว่างนั้นมีแต่อัพเดตย่อยที่ไม่เน้นฟีเจอร์มากนัก
ในระยะสั้นคงพูดยากว่าแนวทางนี้จะมีผลดีกับผู้ใช้แค่ไหน แต่มันก็เป็นทิศทางที่อุตสาหกรรมไอทีกำลังมุ่งไป (ดูอย่าง Chrome หรือ Ubuntu ก็มาแนวทางเดียวกัน) ส่วนในระยะยาว ผู้ใช้ก็อาจต้องสับสนหน่อยกับแนวคิดเรื่อง Ring ต่างๆ ของ Windows 10 ที่ของเราอาจไม่ตรงกับของเพื่อนอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องการบังคับอัพเดตก็เริ่มแสดงปัญหาให้เห็น จนไมโครซอฟท์ต้องออกตัวแก้ที่ช่วยปิดอัพเดตบางตัวมาแก้ปัญหาเบื้องต้นไปก่อน
ไมโครซอฟท์ที่เพลี่ยงพล้ำในสงครามระบบปฏิบัติการ ต้องทุ่มสุดตัวเพื่อดึงคนมาใช้ Windows 10 ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ (ซึ่งความฝันของไมโครซอฟท์คืออุปกรณ์ 1 พันล้านชิ้น) ทำให้ต้องมีนโยบายลดแลกแจกแถม ทั้งการอัพเกรดฟรีจาก Windows 7/8.1 รวมถึงการเปิดให้ผู้ใช้กลุ่ม Windows Insider ใช้งานฟรี ถือเป็นมิติใหม่ของทางไมโครซอฟท์ และประโยชน์ของผู้ใช้ทั่วโลก
ใครที่ได้อัพเป็น Windows 10 รุ่นจริงแล้วก็มาแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ครับ