กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ตกลงแล้วการ Embed เนื้อหาถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

by mk
5 August 2015 - 07:18

อัพเดตข้อมูล 6 ส.ค. กรมทรัพย์สินทางปัญญา แก้ไขข้อมูลประเด็น Embed วิดีโอ อาจไม่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์

วันนี้มีประเด็นเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ที่เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 4 สิงหาคม 2558 ซึ่งหลักการสำคัญแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับเดิม แต่เพิ่มประเด็นเรื่อง "มาตรการทางเทคโนโลยี" (DRM) และ "ข้อมูลการบริหารสิทธิ" (metadata) เข้ามา (สรุปเนื้อหาจากเว็บไซต์ IPThailand)

อย่างไรก็ตาม ในข้อมูลที่นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ 10 ประเด็นที่ควรรู้ของกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ที่เผยแพร่ตามสื่อมวลชนหลายราย (มติชน, Manager) มีประเด็นเรื่องการ embed หรือฝังเนื้อหาจากเว็บไซต์อื่น ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

ถาม การทำบล็อกแล้ว embed โพสต์ของยูทิวบ์มาไว้ที่บล็อกของเรา ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

ตอบ การทำบล็อกแล้ว embed โพสต์ของยูทิวบ์มาไว้ที่บล็อกของเราถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นการทำซ้ำงานลิขสิทธิ์ในบล็อกและถือเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วย ซึ่งสิทธิในการทำซ้ำและสิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์

ในกรณีของการแชร์ลิงก์ (link) เพื่อแนะนำและบอกที่มาของเว็บไซต์ ก็อาจไม่เข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์

เรื่องนี้สร้างความสับสนให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเจ้าของเว็บไซต์ที่มักฝังโค้ด embed จากเว็บไซต์อื่นๆ โดยเฉพาะจาก YouTube ว่าตกลงแล้วทำได้หรือไม่

ไม่เกี่ยวอะไรกับกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่

อย่างแรกเลยต้องบอกว่าประเด็นเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ลักษณะนี้ไม่ได้มาจากกฎหมายฉบับใหม่ เพราะมีในกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้บังคับใช้งานเข้มงวดมากเท่านั้น ดังนั้นเรื่องการฝังโค้ด embed แล้วผิดหรือไม่ ไม่เกี่ยวอะไรกับกฎหมายฉบับเก่าหรือใหม่

ตรงนี้แนะนำให้อ่านบทความ 12 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของคนไทย โดยคุณอธิป จิตตฤกษ์ ที่เขียนไว้หลายปีแล้วแต่ยังทันสมัยและใช้ได้ทุกข้อครับ

เมื่อเราพ้นประเด็นเรื่องกฎหมายฉบับเก่าหรือใหม่แล้ว ก็กลับมาที่คำถามว่าการ embed โค้ดถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ เนื่องจากการ embed ถือเป็นวิธีการเผยแพร่เนื้อหาที่อยู่ตรงกลาง ระหว่าง

  • การลิงก์ไปยังต้นฉบับ ซึ่งทุกคนเข้าใจดีว่าไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์แน่นอน
  • การทำสำเนาไฟล์บนเซิร์ฟเวอร์ของตัวเอง ซึ่งถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์แน่นอน

แต่การ embed ที่ตัวไฟล์อยู่บนเซิร์ฟเวอร์ต้นทาง แล้วนำมาแสดงบนเว็บไซต์อื่น เป็นสิ่งที่ก้ำกึ่งว่าละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

กรณีศึกษาจากต่างประเทศ

ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเกิดมาคู่กับอินเทอร์เน็ตตั้งแต่สมัยที่เว็บไซต์ต่างๆ เปิดให้ embed โค้ดข้ามโดเมนได้

ข้อมูลเก่าที่ผมหาเจอคือ EFF มูลนิธิด้านสิทธิของผู้ใช้เน็ต เคยมีบทความตั้งคำถามประเด็นการ embed โค้ดจาก YouTube มาตั้งแต่ปี 2007 (YouTube Embedding and Copyright) โดย EFF มองว่า การฝังโค้ดเท่ากับการทำลิงก์ ผู้ฝังโค้ดไม่ได้ทำสำเนาไฟล์วิดีโอมาไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ตัวเอง วิดีโอยังอยู่บนเซิร์ฟเวอร์ของ YouTube

แต่นั่นก็เป็นแค่ความเห็นของ EFF ในฐานะหน่วยงานภาคเอกชนแห่งหนึ่งเท่านั้น

ประเด็นนี้เคยเป็นคดีมาแล้วในยุโรป โดยบริษัทเยอรมนีชื่อ Bestwater ยื่นฟ้องบุคคล 2 รายที่นำวิดีโอไปฝังบนเว็บไซต์ของตัวเอง บุคคลสองรายนี้ทำงานให้บริษัทคู่แข่ง (แต่ไม่ได้มีสภาพเป็นพนักงาน) และนำวิดีโอของ Bestwater ที่เผยแพร่อยู่บน YouTube ไปใช้งาน จึงถูกบริษัท Bestwater ยื่นฟ้องโดยใช้ประเด็นด้านการละเมิดลิขสิทธิ์วิดีโอ

คดีนี้ไปถึงศาลสหภาพยุโรป (EU Court of Justice) ซึ่งศาลเพิ่งตัดสินเมื่อเดือนตุลาคม 2014 ว่าการฝังวิดีโอไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์

เหตุผลของศาลยุโรปคือการฝังโค้ดไม่ได้เป็นการดัดแปลง (altered) กระบวนการสื่อสารตามแนวคิดของกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งมองการละเมิดลิขสิทธิ์ว่าเป็นการสร้างการสื่อสารใหม่ (new communication) นอกเหนือจากการสื่อสารของเจ้าของลิขสิทธิ์เดิม

ในกรณีของคดีนี้ ศาลยุโรปมองว่าวิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่บน YouTube อยู่แล้ว ดังนั้นการฝังโค้ดจาก YouTube จึงเป็นการใช้งานช่องทางการสื่อสารเดิม

ศาลมองว่า การฝังโค้ดมีสถานะเท่ากับการทำลิงก์ โดยใช้เทคนิคเฟรม (The embedding in a website of a protected work which is publicly accessible on another website by means of a link using the framing technology) ดังนั้นถือเป็นการสื่อสารผ่านช่องทางเดิม

รายละเอียดของคดีอ่านได้จาก TorrentFreak

ศาลฝั่งสหรัฐอเมริกาเองก็เคยตัดสินประเด็นคล้ายๆ กันหลายครั้ง

ในปี 2012 เคยมีคดีที่บริษัทผลิตหนังสำหรับผู้ใหญ่ Flava Works ฟ้องเว็บไซต์ MyVidster ที่ฝังโค้ดวิดีโอละเมิดลิขสิทธิ์มาจากเว็บไซต์อื่นอีกต่อหนึ่ง ศาลอุทธรณ์สหรัฐตัดสินว่า MyVidster ไม่ผิด เพราะการฝังโค้ดไม่ได้ไปดัดแปลง data stream ของวิดีโอ และถือเป็น "การลิงก์" ไปยังไฟล์วิดีโอที่ถือครองโดยเว็บไซต์อื่น - CNET, Ars Technica

คดีนี้มีความเห็นของกูเกิลด้วย โดยกูเกิลแสดงจุดยืนว่าในกรณีแบบนี้ เว็บไซต์มีสถานะเป็นแค่ตัวกลาง (intermediaries) และไม่ควรมีภาระรับผิดถ้าหากผู้อื่นอัพโหลดไฟล์วิดีโอละเมิดลิขสิทธิ์ (ประเด็นจะคล้ายกับคดีเว็บไซต์ประชาไท ที่ถกเถียงกันว่าตัวกลางควรมีภาระรับผิดหรือไม่)

บทสรุป: ต้องถามศาลไทย

บทสรุปของคำถามว่าการ embed โค้ดถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ตรงนี้ในกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทย (ทั้งเก่าและใหม่) ไม่ได้เขียนไว้ชัดเจน ถึงแม้ศาลยุโรปหรือสหรัฐเคยตัดสินไว้แล้วว่าไม่ผิด แต่สำหรับการใช้งานในประเทศไทยที่อยู่ใต้อำนาจกฎหมายไทย คนที่จะตัดสินได้จึงมีแต่ศาลไทยเท่านั้น

หรือพูดง่ายๆ คือ "อยากรู้ต้องลองไปฟ้องดู" ครับ

สิ่งที่ผู้ใช้เน็ตทั่วไปสามารถทำได้คงมีแต่การคาดเดาเท่านั้น

มุมมองส่วนตัวของผมคือเนื้อหาที่เปิดให้ embed ย่อมเป็นการอนุญาตให้นำไปเผยแพร่ต่อได้ และเจ้าของวิดีโอที่ไม่อยากให้เผยแพร่ต่อก็สามารถปิดตัวเลือกนี้ได้จากหน้าตั้งค่าวิดีโออยู่แล้ว การระบุว่าการฝังโค้ดถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ น่าจะขัดแย้งกับแนวทางของอินเทอร์เน็ตตั้งแต่แรกเริ่มที่ส่งเสริมให้ "สร้างลิงก์" เชื่อมต่อกันไปมาด้วย และมุมมองแบบนี้น่าจะเกิดปัญหาในระยะยาว เพราะขัดแย้งกับมิติเชิงเทคนิคของสถาปัตยกรรมอินเทอร์เน็ตนั่นเอง

ตัวอย่างวิดีโอของ "ครอบครัวข่าว 3" ที่ไม่อนุญาตให้ฝังบนเว็บไซต์อื่น

วิธีการตั้งค่า embed ของวิดีโอบน YouTube จะซับซ้อนหน่อย เพราะซ่อนอยู่ในหมวด Advanced settings ตามภาพ

Blognone Jobs Premium