เพื่อผลักดันวัฒนธรรม Maker Movement ในประเทศไทยให้เคลื่อนไหวกันรวดเร็วขึ้น ทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือกับเชฟรอนประเทศไทย และกลุ่ม Maker จัดงาน Bangkok Mini Maker Faire เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
Bangkok Mini Maker Faire เป็นงานชื่อเดียวกับที่บารัก โอบามา จัดขึ้นที่ทำเนียบขาวเมื่อช่วงต้นปี 2015 เพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญ และจุดประกายกลุ่ม Maker ให้ลุกขึ้นมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ โดยในงานครั้งนี้จะมีการประกวดไอเดียจากเครื่องพิมพ์สามมิติในโครงการ “Enjoy Science: Let’s Print the World” มาประกาศผลผู้ชนะเลิศในงาน ชิงตั๋วไปร่วมงาน Maker Faire ที่ประเทศเยอรมนีต่อไปด้วย
งาน Bangkok Mini Maker Faire จะจัดขึ้นวันที่ 26-27 กันยายน ณ ลานหน้าฮาร์ดร็อค สยามสแควร์ซอย 11 ใครที่สนใจก็ไปร่วมงานกันได้ครับ
ที่มา - อีเมลประชาสัมพันธ์
Bangkok Mini Maker Faire จุดประกายนักสร้างสรรค์
“เมกเกอร์ แฟร์” หรืองานแสดงผลงานของเหล่าเมกเกอร์ ถือกำเนิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาก่อนที่จะขยายออกไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ถึงกับให้จัดงานเมกเกอร์แฟร์ในทำเนียบขาวเป็นครั้งแรก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเมกเกอร์ที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตได้เป็นอย่างดี จึงน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด พร้อมด้วยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกลุ่มเมกเกอร์ในประเทศไทย จะร่วมกันจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 26 – 27 กันยายนที่จะถึงนี้ ณ ลานหน้าฮาร์ดร็อค สยามสแควร์ ซอย 11 เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมเมกเกอร์ในประเทศไทย ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนหันมาสนใจและเป็นเมกเกอร์กันมากขึ้น
คุณไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เผยถึงจุดประสงค์ของการจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire ว่า “การจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการ “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” โครงการระยะยาว 5 ปี ที่เชฟรอนร่วมกับพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาการส่งเสริมการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Math) หรือสะเต็ม (STEM) ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนในสังคมทั้งเยาวชน ผู้ปกครอง และบุคคลทั่วไป เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุกและใกล้ตัว เกิดความสนใจในการศึกษาในสาขาสะเต็ม เพิ่มมากขึ้น ด้วยงบประมาณกว่า 900 ล้านบาท”
คุณไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า “เชฟรอนประเทศไทยเล็งเห็นว่า วัฒนธรรมเมกเกอร์เป็นรากฐานสำคัญในการ
สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เมกเกอร์จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต เราจึงอยากส่งเสริมให้วัฒนธรรมเมกเกอร์เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเราต้องการทลายกรอบความคิดเดิมๆ ที่ว่านักประดิษฐ์จะต้องเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมหรือเทคโนโลยีที่ซับซ้อน เพราะเราทุกคนสามารถเป็นเมกเกอร์ได้ ขอเพียงแค่มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์แล้วลงมือสร้างผลงานออกมา และด้วยจำนวนของเมกเกอร์สเปซที่เพิ่มมากขึ้นตลอดจนวัฒนธรรมเมกเกอร์ที่เน้นการแบ่งปันความรู้ ที่พร้อมจะสนับสนุนและช่วยเหลือเมกเกอร์หน้าใหม่ การเป็นเมกเกอร์จึงไม่ใช่เรื่องยากหรือไกลเกินฝันอีกต่อไป”นอกจากการจัดแสดงผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ของเมกเกอร์จากประเทศไทย และผลงานที่โดดเด่นจากต่างประเทศแล้ว งาน Bangkok Mini Maker Faire ยังจะจัดแสดงผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจากการประกวดไอเดียการออกแบบจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ “Enjoy Science: Let’s Print the World” พร้อมประกาศผลผู้ชนะเลิศ ทั้งในระดับเยาวชนและบุคคลทั่วไปซึ่งจะได้รับตั๋วเครื่องบิน พร้อมที่พัก เพื่อเข้าร่วมงาน Maker Faire ที่ประเทศเยอรมนี ต่อไป
สามารถดูรายละเอียดและติดตามความคืบหน้าของงาน Bangkok Mini Maker Faire ได้ที่ เฟซบุ๊ค Enjoy Science: Let’s Print the World