เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา Justin Bellanco ชายหนุ่มอเมริกัน ถูกจับกุมและตั้งข้อหาละเมิดคำสั่งศาลเรื่องการคุ้มครองโจทก์ หลังจากที่เขาได้กด "Like" รูปภาพของ April Holland แฟนเก่าของเขาผู้เคยเป็นโจทก์ยื่นขอคำสั่งคุ้มครองจากศาล เนื่องจาก Bellanco เคยข่มขู่จะทำร้ายร่างกายเธอ
คดีเก่าเมื่อเดือนก่อนระหว่าง 2 อดีตคนเคยรักกันนี้ เป็นเรื่องการข่มขู่ทำร้ายร่างกาย โดย Holland ระบุว่า Bellanco แฟนของเธอในขณะนั้นขู่ "จะใช้ปืนยิงที่หัวเข่า เพื่อดูเธอทุรนทุราย" จนในท้ายที่สุดเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนศาล Pennsylvania จึงได้อนุมัติออกคำสั่งคุ้มครอง Holland ตามที่เธอร้องขอ โดยสั่งห้ามมิให้ Bellanco เข้าใกล้หรือกระทำการคุกคามใดๆ ต่อ Holland อีกเป็นเวลา 1 ปี
แต่ไม่กี่วันที่ผ่านมา Bellanco ได้กด "Like" รูปภาพและวิดีโอของ Holland บน Facebook จำนวน 22 ครั้ง และถูกทางการควบคุมตัวเมื่อวันจันทร์ที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ ก่อนที่เขาจะใช้เงิน 5,000 ดอลลาร์ ประกันตัวออกมา
ทาง Ars Technica ได้ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้จาก Holland และ Bellanco แต่ถึงตอนนี้มีเพียงฝ่ายชายที่ตอบคำถามของ Ars Technica ผ่านทาง Facebook เริ่มจากการชี้แจงว่าเขาไม่เคยข่มขู่ Holland แต่กลับกันเป็นฝ่ายหญิงที่มาอาละวาดที่บ้านเขาบ่อยครั้งในช่วง 4 เดือนหลังมานี้ ซึ่งทุกครั้งเขาต้องเรียกตำรวจมาเชิญตัวเธอออกจากบ้าน (แต่เขาขอร้องเจ้าหน้าที่ว่าไม่ต้องตั้งข้อหากับ Holland) เขายังบอกอีกว่าครั้งหนึ่ง Holland ยังเคยรื้อเอาปืนจากในบ้านของเขา และชี้มันใส่เขาพร้อมเหนี่ยวไกด้วย
ส่วนเรื่องการกด "Like" บน Facebook ที่เกิดขึ้นหลังมีคำสั่งศาลให้คุ้มครอง Holland นั้น Bellanco โดยทั่วไปเขาเพียงแต่กด "Like" ให้กับสิ่งที่เขาสนใจในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่บางครั้งรูปหรือคลิปเหล่านั้นกลับมีการแท็กชื่อ Holland ไว้ด้วย นั่นจึงทำให้มีการแจ้งเตือนเด้งไปที่ Holland ทว่าตัว Bellanco เองไม่สามารถรู้ได้ว่าจะมีการแจ้งเตือนไปถึงฝ่ายหญิง เพราะหลังจากมีปัญหากัน พวกเขาก็ไม่ได้เป็นเพื่อนกันบน Facebook แล้ว
เรื่องนี้ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่าการกด "Like" บน Facebook ถือเป็นพฤติกรรมก่อกวน หรือเข้าข่ายว่าทำการติดต่อ "คนที่คุณไม่ควรติดต่อ" หรือไม่? สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการคือ ถ้าคนเราต้องการหนีจากใครสักคนในชีวิตจริงแล้ว จะสามารถบล็อกใครคนนั้นออกจากโลกสังคมออนไลน์ของเราได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่?
ที่มา - Ars Technica