ปีนี้เป็นอีกปีที่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจากจีน ยังคงเจอกับการแข่งขันสูงในประเทศตัวเอง และรุดหน้าขยายตลาดเพิ่มเติมออกมายังระดับโลกมากขึ้น เช่นเดียวกับ Huawei ยักษ์ใหญ่วงการสื่อสารจากจีนที่อยู่ในช่วงปรับทัพเน้นพัฒนาสมาร์ทโฟนคุณภาพสูงขึ้น เพื่อปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้พรีเมียมยิ่งกว่าเดิม จนออกมาเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงของปีนี้อย่าง Huawei P8 ที่มาพร้อมกับความหรูหราเต็มขั้น และเพิ่งได้รับรางวัลสมาร์ทโฟนยอดเยี่ยมจากสมาคมภาพและเสียงแห่งยุโรป (EISA) เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
Huawei P8 เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงเน้นความหรูหรา วัสดุตัวเครื่องทั้งหมดใช้โลหะทั้งชิ้น ขยายขนาดหน้าจอใหญ่ขึ้นเป็น 5.2" แต่ขนาดไม่ต่างจากรุ่นก่อนหน้าที่ใช้หน้าจอขนาด 5" มากนักด้วยการลดขนาดขอบหน้าจอ รวมถึงยังถือจับได้ง่ายด้วยการฝนขอบตัวเครื่องให้มนรับกับฝ่ามือ โดยเปิดตัวในประเทศไทยไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน พร้อมกับรุ่นเล็กอย่าง P8 Lite และรุ่นใหญ่ P8 Max
สเปคคร่าวๆ ของ Huawei P8 ที่สำคัญมีดังนี้
* หน้าจอ IPS-Neo ขนาด 5.2" ความละเอียด 1080p
* ชิปประมวลผล Hisilicon Kirin 930 ใช้ซีพียู Cortex-A53 แปดคอร์ รองรับ 64 บิต ผลิตเองโดย Huawei
* รัน Android 5.0 ครอบด้วยอินเทอร์เฟซ EMUI 3.1
* หน่วยความจำภายใน 16GB, แรม 3GB
* กล้องหลัง 13 เมกะพิกเซลพร้อมแฟลชสองสี, กล้องหน้า 8 เมกะพิกเซล
* ตัวเครื่องบาง 6.4 มม. แบตเตอรี่จุ 2,680 mAh
ต่อจากนี้คือรีวิวของ Huawei P8 ครับ
เริ่มต้นด้วยแพ็กเกจของ Huawei P8 เป็นกระดาษผิวกำมะหยี่สีน้ำเงินเข้มสวมทับอยู่บนกล่องพลาสติกโปร่งแสงที่เสียบตัวเครื่อง Huawei P8 โชว์ความบางสุดๆ ของเจ้าสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ให้เห็นกันตั้งแต่เปิดกล่อง
เปิดกล่องมาจะพบกับอุปกรณ์เสริมอย่างหูฟัง earbud ที่หน้าตาละม้ายคล้ายกับ EarPods, แท่นชาร์จ, สาย micro USB และบัตรสำหรับใช้บริการหลังการขาย P8 VIP Service ที่ให้สิทธิพิเศษกับลูกค้าที่ใช้ Huawei P8 ผ่าน 7 ศูนย์ให้บริการทั่วประเทศ ดังนี้ (ดูรายละเอียดเต็มๆ ได้จากหน้าบริการหลังการขายของ Huawei)
เกริ่นมาพอสมควรก็ถึงเวลายลโฉมตัวเครื่องจริงๆ ของเจ้า Huawei P8 ที่ยังยึดแนวทางการออกแบบเรียบหรู บางเบา วัสดุโลหะทนทานดังเดิม แต่ปรับเล็กด้วยด้วยการใช้โลหะเป็นแกนหลักของตัวเครื่อง จากรุ่นก่อนหน้าที่มีโลหะตรงส่วนกรอบรอบเครื่องเท่านั้น
รุ่นที่ได้มาทดสอบเป็นสี Titanium Gray (เข้าใจว่าในไทยมีขายแค่สีเดียว) ด้านหน้าจะใช้กระจกสีดำ ตัดกับโลหะผิวด้านสีเงินที่ครอบคลุมทั้งตัวเครื่อง บรรดาเซ็นเซอร์ และกล้องหน้าจึงถูกซ่อนไว้อย่างเรียบเนียนกับกระจกสีดำ
คุณภาพหน้าจอของ Huawei P8 ทำมาได้ดีตามที่เคลมไว้ แม้ว่าจะยังใช้ความละเอียด 1080p แต่ก็คมชัดเหลือเฟือ และแสดงสีสันได้สว่างสดใส แต่มีข้อติเล็กน้อยตรงที่เมื่อปรับความสว่างลงมาต่ำสุดจะแสดงผลแย่ลงอย่างรู้สึกได้
Huawei P8 วางทั้งปุ่ม และถาดใส่ซิมทั้งคู่ไว้ด้านขวาของตัวเครื่องทั้งหมด ปุ่มทั้งหมดใช้วัสดุเป็นโลหะแบบเดียวกับตัวเครื่อง ร่องรอบปุ่มเปิดเครื่องช่วยให้คลำหาได้อย่างง่ายดาย ตำแหน่งของปุ่มทั้งสามวางไว้อย่างสมดุล ใช้งานได้สะดวกทั้งมือซ้าย และมือขวา
ด้านบนของตัวเครื่องวางพอร์ตหูฟัง 3.5 มม. เอาไว้ ข้างไมโครโฟนสำหรับอัดวิดีโอ ส่วนด้านล่างจะเป็นพอร์ต micro USB ล้อมรอบด้วยไมโครโฟนสนทนา (ซ้าย) และลำโพงโมโน (ขวา) น็อตที่ใช้ยึดตัวเครื่องเป็นแบบมาตรฐาน Torx T8 ที่หาซื้อได้ทั่วไป พอช่วยตัวเองซ่อมแซมเครื่องได้บ้างหากเครื่องพังหลังหมดประกัน
พลิกมาด้านหลังตัวเครื่องจะพบกับโลหะผิวด้านทั้งชิ้น มีแถบพลาสติกสองเส้นสำหรับเว้นที่ให้เสาอากาศ (เส้นหนึ่งถูกบังโดยชิ้นพลาสติกครอบกล้อง) จุดนี้ถือว่าทำมาค่อนข้างเล็กถ้าเทียบกับรุ่นที่ใช้โลหะเป็นวัสดุตัวเครื่อง
ตำแหน่งกล้องหลังของรุ่นนี้วางไว้ค่อนข้างชิดขอบซ้ายบนตัวเครื่อง ถ่ายรูปปกติด้วยมือเดียวไม่มีปัญหา แต่ต้องขยับนิ้วหลบกล้องถ้าหากถือสองมือถ่ายแนวนอน แฟลช LED คู่ของรุ่นนี้ใช้ไฟสองโทนเพื่อให้ถ่ายภาพบุคคลในที่แสงน้อยได้ผิวเป็นธรรมชาติกว่าแฟลชแบบปกติ
สำหรับการใส่ซิมของรุ่นนี้ จะรองรับเฉพาะ nanoSIM โดยถาดซิมอันบนจะสามารถใส่ microSD เพื่อเพิ่มความจุแทนได้ สามารถสแตนด์บายทั้งสองซิมได้พร้อมกัน และรองรับ 3G ในประเทศไทยได้ทุกเครือข่าย รวมถึง 4G ของ TrueMove H และ dtac ด้วย
Huawei P8 มาพร้อมกับอินเทอร์เฟซเอกลักษณ์ของ Huawei ที่ชื่อว่า Emotion UI (เรียกสั้นๆ ว่า EMUI) โดยความแตกต่างหลักๆ นอกจากหน้าตาที่แตกต่างกันแล้ว ตัว Emotion UI ยังจัดการแอพไม่เหมือนกับ Android มาตรฐาน ตรงที่ไม่มีหน้ารวมแอพ (drawer) รวมถึงเพิ่มเติมฟีเจอร์ที่ Android พื้นฐานไม่มีเข้ามาอีกพอสมควร
หน้าล็อกของ EMUI 3.1 จะมีภาพถ่ายสวยๆ หมุนเวียนไปตลอดเวลา ในหน้าเดียวกันยังสามารถปัดขึ้นจากด้านล่างเพื่อเข้าถึงทางลัดพิเศษที่นอกจากจะมีเมนูที่ใช้บ่อย ปุ่มควบคุมเพลงแล้ว ยังใช้เปิดแอพพื้นฐานอย่างเครื่องอัดเสียง เครื่องคิดเลข ไฟฉาย และกล้องได้
หน้าจอหลักของ EMUI 3.1 จะใช้องค์ประกอบเหมือนกับ launcher ทั่วไป สามารถวางแอพใช้บ่อยไว้ด้านล่างได้สูงสุดสี่แอพ แถบด้านบนเมื่อปาดนิ้วลงมาจะเป็นหน้าแจ้งเตือนที่จะรวมการแจ้งเตือนของแต่ละแอพ พร้อมแจ้งเวลาไว้ด้านซ้าย
หน้าทางลัดของ EMUI 3.1 นอกจากจะรวมทางลัดสำหรับตั้งค่าอย่างไวแล้ว ยังสามารถปรับความสว่างหน้าจอได้ด้วย โดยตำแหน่ง และชนิดของทางลัดสามารถแก้ไขได้ตามความถนัดในการใช้งาน
ฟีเจอร์พื้นฐานที่มาด้วยกันใน EMUI 3.1 จะมีตั้งแต่คีย์บอร์ดแบบลาก (swipe) และหน้ารวมแอพที่ใช้งาน (recent apps) ที่นอกจากจะสามารถปิดแอพได้ทีละแอพ และปิดหมดด้วยการปัดขึ้น ยังบอกปริมาณแรมที่เหลืออยู่ในหน้าเดียวกันอีกด้วย
ฟีเจอร์จัดการพลังงานของ EMUI 3.1 ทำมาได้ค่อนข้างน่าสนใจ โดยเบื้องต้นแล้วสามารถปรับโหมดการประหยัดพลังงานได้สองระดับคือแบบธรรมดา (Smart Management) และแบบขั้นสูง (Ultra Low Power) ที่ช่วยเพิ่มระยะเวลาการใช้งานเกินเท่าตัว แลกกับการจำกัดให้ใช้งานได้เฉพาะฟีเจอร์สำคัญอย่างการโทรศัพท์ และส่งข้อความเท่านั้น
ส่วนที่น่าสนใจของการจัดการพลังงานคือ ผู้ใช้สามารถเลือกแอพที่จะให้ทำงานได้ต่อเนื่อง หลังจากปิดหน้าจอไปแล้วได้ ซึ่งตัวระบบเองจะบอกว่าแอพใดใช้พลังงานมากเป็นพิเศษอีกด้วย
ในหน้าแสดงรายละเอียดการใช้พลังงาน บอกแยกกันว่าส่วนไหนกินพลังงานมากกว่ากัน ระหว่างฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ อย่างพื้นที่ในตัวเครื่องจะมีเหลือให้ราว 8.4GB จากพื้นที่ทั้งหมดที่ระบุมา 16GB
อีกฟีเจอร์หนึ่งที่น่าสนใจคือโหมดแสดงผลหน้าจอหลักอย่างง่าย เหมาะสำหรับผู้ใช้ที่ต้องการความเรียบง่ายในการใช้งาน หรือกลุ่มผู้สูงอายุ สามารถเปลี่ยนได้จากเมนูภายในตัวเครื่องโดยตรง
เมื่อเปลี่ยนแล้ว หน้าแรกจะเปลี่ยนไปเป็นโหมดการแสดงผลอย่างง่าย ซึ่งประกอบด้วยบล็อกขนาดใหญ่ พร้อมแอพพื้นฐาน ซึ่งสามารถเพิ่มได้ภายหลัง
การเพิ่มบล็อกใหม่สามารถทำได้ทั้งแอพ และรายชื่อผู้ติดต่อ แม้แต่หน้าตั้งค่าก็เป็นแบบอย่างง่ายเช่นกัน
ตามประสาสมาร์ทโฟนจากจีน มักจะมีฟีเจอร์สำหรับแต่งธีมตัวเครื่องได้ตามใจชอบ และใน EMUI 3.1 ก็มีฟีเจอร์แนวนี้มาให้เช่นกัน โดยสามารถปรับได้ทั้งอย่างง่าย (เปลี่ยนหมด) และขั้นสูงที่สามารถปรับทีละส่วนตั้งแต่ภาพพื้นหลัง ไอคอน ไปจนถึงฟอนต์ พร้อมแสดงตัวอย่างให้ก่อนกดตกลงใช้อีกด้วย
สำหรับฟีเจอร์ที่น่าสนใจอื่นๆ EMUI 3.1 ที่ไม่ได้เก็บภาพมาให้ดู
ในบรรดาฟีเจอร์ต่างๆ ที่ว่ามา กล้องดูเหมือนจะเป็นจุดขายที่ถูกยกขึ้นมาอวดมากที่สุดของ Huawei P8 โดยสเปคจากกระดาษ Huawei P8 ใช้กล้องหลัง 13 เมกะพิกเซล พร้อมชิปประมวลผล (ISP) ระดับ DSLR มีระบบกันสั่นในตัว พร้อมเซ็นเซอร์แบบ RGBW ที่นอกจากจะเก็บภาพได้สว่างขึ้น ยังมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นอีกด้วย พร้อมโหมดช่วยถ่ายตั้งแต่ Light Painting (วาดเส้นด้วยแสง), Low Light (ถ่าย-ภาพในที่แสงน้อย), Director Mode (ถ่ายวิดีโอหลายเครื่องพร้อมกัน) และ Perfect Selfie ที่รับกับตัวกล้องหน้าของ Huawei P8 ความละเอียดสูงถึง 8 เมกะพิกเซลด้วยกัน
จากการทดลองถ่ายภาพหลายๆ แบบ ในต่างสภาพแสง พบว่าระบบโฟกัสของ Huawei P8 ในสภาพแสงปกติทำได้เร็วมาก ภาพที่ได้สีสันค่อนข้างสมจริง แต่ทุกภาพจะถ่ายแบบเกือบคมอยู่เสมอๆ (ไม่รู้ว่าเกี่ยวกับกันสั่นหรือไม่) ในที่แสงน้อยถ้าหากเปิดโหมด Low Light ภาพที่ได้จะสว่างขึ้นอย่างมาก แต่ก็แลกกับการต้องถือนิ่งๆ หรือใช้ขาตั้งกล้องช่วย ภาพตัวอย่างดูได้ตามนี้ครับ (คลิกดูภาพขนาดเต็มได้)
ภาพถ่ายวัตถุ แสงมาก
ภาพถ่ายวัตถุผิวสะท้อนแสง แสงมาก
ถ่ายด้วยโหมดอัตโนมัติ แสงมาก
ถ่ายด้วยโหมดอัตโนมัติ แสงน้อย
ถ่ายด้วยโหมดอัตโนมัติ แสงน้อย
ถ่ายด้วยโหมดอัตโนมัติ ไม่มีแสง
ถ่ายด้วยโหมด Low Light ไม่มีแสง
ถ่ายด้วยโหมด Low Light แสงน้อย
เท่าที่ลองทดสอบ โหมดต่างๆ ของ Huawei P8 ทำออกมาได้ค่อนข้างดี ติดตรงที่ต้องใช้ขาตั้งช่วยจึงจะเห็นผลครับ
สเปคของ Huawei P8 เทียบกับคู่แข่งแล้วเรียกได้ว่าตามหลังเล็กน้อย ผลทดสอบที่ออกมาก็ไม่เกินคาดนักครับ จุดที่ตามเยอะจะเป็นส่วนของจีพียูที่ด้อยกว่าคู่แข่งถึง 50%-60% เลยทีเดียว
ด้านระยะการใช้งานตัวเครื่องต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง โดยปกติแล้วถ้าชาร์จวันต่อวัน ใช้งานทั่วไป เปิดอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา จะเหลือแบตเตอรี่ประมาณ 20%-30% ในช่วงค่ำ ตีแบบคร่าวๆ น่าจะใช้งานได้ประมาณ 1 วันครึ่งครับ ถ้าใช้งานหนักน่าจะหมดในวันเดียว ถือว่าทำได้ดีเมื่อดูจากตัวเครื่องที่บางระดับนี้
รีวิวเครื่อง Huawei P8 ตัวนี้ใช้งานจริงอยู่ราว 1 สัปดาห์เต็มๆ ความประทับใจด้านฮาร์ดแวร์ตัวเครื่องอยู่ที่หน้าจอสีสด และสว่างมาก (จนไม่เคยเปิดความสว่างแบบเต็ม) ใช้งานกลางแดดได้อย่างสบาย ถือจับได้ง่ายไม่บาดมือแม้ตัวเครื่องจะเป็นโลหะทั้งชิ้น เสียตรงที่เครื่องร้อนเร็วมาก แม้ว่าจะใช้งานในห้องที่เปิดแอร์ฯ และปุ่มโลหะ ขอบโลหะที่ยังให้ความรู้สึกบาดมือ ถึงจะฝนให้มนแล้วก็ตาม
การใช้งานทั่วไปฝั่งซอฟต์แวร์ ทำมาได้ใช้งานง่ายแต่ฟีเจอร์ที่ใส่มาส่วนมากมักจะไม่ได้ใช้ เช่น Knuckle Sense และแม้ว่าสเปคจะไม่แรงเท่าคู่แข่ง แต่ก็ไม่พบเห็นอาการกระตุกใดๆ
กล้อง และลำโพงดีมากๆ น่าเสียดายที่ไม่ใช่สเตอริโอ
สำหรับคนที่มองหาสมาร์ทโฟนหน้าตาดี วัสดุดูทนทาน Huawei P8 เป็นตัวเลือกที่ดีในช่วงราคาหมื่นกลางๆ (จากราคาเปิดตัว 15,900 บาท) แล้วได้ของแถมเป็นกล้องคุณภาพดีมาด้วย