วันนี้ (21 ส.ค.) ที่ประชุม กสทช. เห็นชอบ "หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1800 MHz" เรียบร้อยแล้ว โดยจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษาต่อไป
ขั้นตอนต่อไปของการประมูลความถี่ย่าน 1800MHz ที่ค้างคากันมานานคือ กสทช. จะประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูลในวันที่ 28 ส.ค. และเริ่มเปิดรับซองวันที่ 30 ก.ย.
สรุปเงื่อนไขการประมูลคลื่นดังนี้
กสทช. ผ่านหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800 MHz เน้นประโยชน์ประชาชนและรัฐเป็นหลัก
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (21 ส.ค. 2558) ที่ประชุม กสทช. วาระพิเศษมีมติเห็นชอบรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1800 MHz และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่านความถี่ 1710-1785/1805-1880 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และ ร่างประกาศ กสทช. เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT) ย่านความถี่ 1710-1785/1805-1880 MHz หรือ ร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป และจะเริ่มประกาศเชิญชวนเข้าร่วมการประมูลในวันที่ 28 ส.ค. 2558 และจะเปิดรับซองในวันที่ 30 ก.ย. 2558
สำหรับสาระสำคัญหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ภายหลักจากที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขหลังจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนทั่วไปแล้ว มีดังนี้
1.อายุของใบอนุญาตจากเดิมที่มีอายุ 19 ปี ปรับเหลือ 18 ปี โดยจะสิ้นสุดระยะเวลาการอนุญาตในปี 2576 เพื่อให้สอดคล้องกับใบอนุญาตที่จากคลื่นที่จะได้คืนกลับมาภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2561 ที่จะกำหนดอายุใบอนุญาต 15 ปี จะได้สิ้นสุดอายุการอนุญาตพร้อมกัน
2.ราคามูลค่าคลื่นความถี่ยังคงไว้เท่าเดิมที่ 19,890 ล้านบาท
3.ราคาเริ่มต้นการประมูลที่กำหนดไว้เดิม 70% เปลี่ยนแปลงเป็น 80% คือกำหนดไว้ที่ราคา 15,912 ล้านบาท
4.หากมีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นจะเป็น 100% ของมูลค่าคลื่นความถี่ และในการประมูลจะต้องมีการเคาะราคาอย่างน้อย 1 ครั้ง
5.เมื่อเปิดให้บริการแล้วอัตราค่าบริการทั่วไปจะต้องถูกลงกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของอัตราค่าบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHZ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และต้องมีแพ็คเกจพิเศษที่มีราคาถูกกว่าปกติสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส
6.ผู้รับใบอนุญาตจะต้องมีการกำกับดูแลคุณภาพของการให้บริการด้วย โดยคุณภาพการให้บริการต้องไม่ต่ำกว่าคุณภาพการให้บริการเฉลี่ยของการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHZ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
7.ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดการจัดให้มีโครงข่ายเพื่อให้บริการอย่างน้อย 40% ภายใน 4 ปี และเพื่อเป็นการประกันการใช้งานคลื่นความถี่และให้มีการกระจายบริการให้ทั่วถึงเพิ่มขึ้น จึงได้กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีโครงข่ายไม่น้อยกว่า 50% ภายใน 8 ปี
8.ไม่มีการจำกัดการถือครองคลื่นความถี่ (Overall Spectrum Cap) แล้ว
9.ในเงื่อนไขของการประมูลหากกระบวนการคืนคลื่นความถี่ของ CAT หรือ DTAC คืนกลับมาไม่ทันสำนักงาน กสทช. จะประมูลคลื่นคลื่นความถี่ด้วยคลื่นความถี่ขนาด 12.5 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาตต่อไป“ร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม กสทช. ในครั้งนี้ เป็นร่างที่สร้างดุลยภาพในการใช้คลื่นความถี่ การแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เน้นผลประโยชน์รัฐ และคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก” นายฐากร กล่าว