นักวิจัย MIT สร้างผลงานการพิมพ์ 3 มิติ โดยใช้แก้วเป็นวัสดุการพิมพ์

by ตะโร่งโต้ง
22 August 2015 - 08:05

ทีมวิจัย Mediated Matter จาก MIT ได้ปรับปรุงเทคนิคการพิมพ์ 3 มิติ จนสามารถสร้างงานพิมพ์โดยใช้แก้วเป็นวัสดุได้สำเร็จ พร้อมตั้งชื่อเทคนิคการพิมพ์นี้ว่า G3DP (Glass 3D Printing)

การพิมพ์ G3DP นี้จะใช้เนื้อแก้วที่ผ่านการหลอมละลายด้วยเตาเผามาก่อนแล้ว เติมลงสู่ถังพักของเครื่องพิมพ์ที่ออกแบบมาพิเศษทำจากเซรามิกฝังขดลวดทำความร้อนไว้ข้างใน เพื่อเลี้ยงเนื้อแก้วให้คงอุณหภูมิไว้ในช่วง 480 - 515 องศาเซลเซียส ส่วนหัวพิมพ์ซึ่งทำจากเซรามิกฝังขดลวดทำความร้อนไว้ข้างในเช่นกัน จะทำหน้าที่ฉีดขึ้นรูปชิ้นงานบนแท่นวางชิ้นงานที่อยู่บริเวณด้านล่างใต้หัวฉีด

การพิมพ์ G3DP สามารถปรับขนาดของเส้นแก้วที่ถูกฉีดผ่านออกมาทางหัวพิมพ์ได้ ซึ่งเป็นปัจจัยในการควบคุมความหนาของชิ้นงาน ส่งผลให้สามารถออกแบบให้ชิ้นงานมีคุณสมบัติความโปร่งใส รวมทั้งการสะท้อนและการหักเหของแสงผ่านชิ้นงานที่แตกต่างกันได้ด้วย นอกจากนี้ในการพิมพ์ยังสามารถผสมสีลงในเนื้อแก้วที่อยู่ในถังพัก ทำให้ได้ผลงานพิมพ์เป็นเนื้อแก้วแบบมีสีสันได้ด้วย

ผลงานวิจัยนี้ไม่เพียงแต่ให้ผลลัพธ์เป็นเครื่องแก้วเพื่อชื่นชมความสวยงามเท่านั้น ในทางเทคนิคแล้ว มันสามารถต่อยอดไปเพื่อพัฒนาการออกแบบเส้นใยแก้วนำแสงแบบใหม่ได้ในอนาคต และอาจเพิ่มทางเลือกในการติดตั้งใยแก้วนำแสงเข้าในชิ้นส่วนโครงสร้างอาคารได้โดยตรงด้วย

ผู้ที่สนใจอ่านเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัยนี้ สามารถศึกษาได้จากที่นี่

ที่มา - SlashGear

GLASS from Mediated Matter Group on Vimeo.

Blognone Jobs Premium