เดือนที่แล้ว IBM เปิดตัว LinuxOne เมนเฟรมสายเลือดใหม่พลังลินุกซ์ วันนี้ผมได้รับเชิญจาก IBM ประเทศไทย มาร่วมงานสัมมนา IBM Connect 2015 ที่ประเทศสิงคโปร์ ในงานมีหัวข้อเกี่ยวกับ LinuxOne พอดี เลยนำข้อมูล พร้อมภาพ LinuxOne ตัวจริงๆ มาฝากกันครับ
ในภาพรวมแล้ว LinuxOne คือการนำเมนเฟรมตระกูล System z ของ IBM ในปัจจุบัน มาดัดแปลงเป็นเวอร์ชันเฉพาะสำหรับลินุกซ์ล้วนๆ ไม่ต้องมี zOS มาเจือปน เป้าหมายของ IBM เพื่อจับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้งานแอพพลิเคชันแบบเดิมๆ (เช่น ภาษา COBOL) แต่ต้องการสมรรถนะแบบเมนเฟรม
จุดขายของ LinuxOne จึงเป็นเรื่องสมรรถนะที่เหนือกว่าเซิร์ฟเวอร์ตามท้องตลาดทั่วไป ทั้งซีพียูที่ทำงานได้ "เร็วที่สุดในโลก", สมรรถนะของ IO และฟีเจอร์ระดับสูงอย่างหน่วยประมวลผลการเข้ารหัส (cryptographic processor) ที่ช่วยให้ประมวลผลการเข้ารหัสเร็วขึ้นสูงสุด 28 เท่า ซึ่งฟีเจอร์พวกนี้ไม่มีในเซิร์ฟเวอร์ตามท้องตลาดทั่วไป
อย่างไรก็ตาม สมรรถนะของ LinuxOne ใกล้เคียงกับเมนเฟรม z13 เดิม ไม่ได้เป็นของใหม่ทั้งหมด 100% ซึ่งสิ่งที่ IBM ทำคือการแยกสายเมนเฟรมออกเป็นสองสายให้ชัดเจน โดยกลุ่ม System z จะจับตลาดลูกค้าเดิมต่อไป (เช่น กลุ่มธนาคาร) ส่วน LinuxOne จับตลาดลูกค้าใหม่ ที่ต้องใช้งานประมวลผลข้อมูลสมรรถนะสูง เช่น Hadoop หรือ Spark
ลูกค้ากลุ่มนี้อาจไม่ต้องการรันงานบนคลัสเตอร์หรือคลาวด์ และต้องการเซิร์ฟเวอร์สมรรถนะสูงเพียงระบบเดียวโดดๆ ซึ่ง LinuxOne เข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือวิธีคิดเงินแบบใหม่ที่ IBM เรียกว่า Elastic Pricing ที่คล้ายกับการเช่าใช้งานคลาวด์ โดยลูกค้า LinuxOne ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเครื่องทั้งหมดตั้งแต่แรก แต่จ่ายเป็นรายเดือนเฉพาะเท่าที่ใช้งาน (ติดสัญญาใช้งานขั้นต่ำ 1 ปี) ทางตัวแทนของ IBM บอกว่าแนวทางการคิดเงินแบบนี้จะช่วยให้ลูกค้าเข้าถึง LinuxOne ได้มากขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องมีเงินก้อนใหญ่ซื้อเครื่องขาดตั้งแต่แรกแบบที่เคยทำมา
สุดท้ายคือ IBM พยายามโปรโมทแพลตฟอร์ม LinuxOne โดยตั้งกลุ่ม Open Mainframe Project ดึงพลังชุมชนโอเพนซอร์ส รวมถึงเปิดบริการ LinuxOne Community Cloud ให้หน่วยงานภาคการศึกษา หรือหน่วยงานที่สนใจมารันงานบน LinuxOne สามารถทดสอบระบบได้ฟรีบนคลาวด์ที่ IBM สร้างด้วย LinuxOne ด้วย
ปิดท้ายด้วยภาพ LinuxOne ที่ IBM นำมาตั้งโชว์ในงานครับ