เผยเบื้องหลังโลโก้ใหม่ของกูเกิล, ลดความซับซ้อน เข้าถึงได้ง่าย

by magnamonkun
2 September 2015 - 12:14

ข่าวใหญ่ของวันนี้คงหนีไม่พ้นประเด็นเรื่องการเปลี่ยนโลโก้ครั้งที่ 6 ของกูเกิลที่แหวกแนวจากเดิมไปพอสมควร และกูเกิลเองก็เชื่อว่าหลายๆ คนอยากรู้คำตอบว่าทำไมกูเกิลถึงเปลี่ยนโลโก้ยกชุดแบบนี้ กูเกิลก็เลยเขียนบล็อกเพื่ออธิบายถึงการเปลี่ยนโลโก้อย่างชัดเจน

กูเกิลอธิบายว่า โจทย์หลักของการทำโลโก้ใหม่ในครั้งนี้ เกิดจากการที่กูเกิลต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยเริ่มจาก Material Design ที่เป็นดีไซน์หลักของผลิตภัณฑ์ของกูเกิลหลายๆ ตัว และเมื่อกูเกิลเห็นว่าดีไซน์นี้มันใช้ได้ กูเกิลจึงตัดสินใจที่จะปรับตัวเองให้สดใสขึ้น เพื่อที่แบรนด์กูเกิลจะได้เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

โครงการโลโก้ใหม่นี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยทีมงานหลักทั้งจาก Creative Lab (ทีมทำ Androidify) และทีม Material Design เป็นหัวหอกหลักของโครงการนี้ โดยกูเกิลหวังว่าการเปลี่ยนโลโก้ในครั้งนี้ จะต้องสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่อันไม่เคยได้สัมผัสที่ไหนมาก่อนกับตัวลูกค้าเป็นหลัก และจุดสำคัญคือนอกจากทีมดีไซน์แล้ว โครงการนี้ยังได้ทีมวิศวกร ทีมวิจัย ทีมผลิตภัณฑ์ต่างๆ และทีมการตลาด ที่เข้ามาช่วยดูแลโครงการอีกทางหนึ่งด้วย

ผลลัพธ์ที่ได้ ก็เลยเป็นโลโก้ใหม่ของกูเกิลที่ดูสดใสขึ้น เข้าถึงผู้ใช้ได้ง่ายขึ้น และดูเป็นมิตรกับทุกคน โดยไม่ขาดจากหลักการออกแบบตามแนวทาง Material Design ตามที่กูเกิลได้ใช้งานมาก่อนหน้านี้แล้ว

โลโก้ใหม่ของกูเกิลถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ

  • Logotype - โลโก้ปกติที่ปรากฎอยู่บนผลิตภัณฑ์ทุกๆ ตัว โลโก้ดังกล่าวจะประกอบไปด้วยแม่สีหลักทั้งสี่สี คือ สีฟ้า (#4285F4) สีเขียว (#34A853) สีเหลือง (#FBBC05) และสีแดง (#EA4355)
  • Dots - จุดสี 4 จุด ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งตัวตรวจจับเสียง ตัววิเคราะห์เสียง ตัวตอบโต้การกระทำ และตัวแจ้งการกระทำ ซึ่งจุดทั้งหมด สามารถแปลงกลับไปกลับมาเป็นทั้งแบบ Logotype และ G type ได้
  • G - สัญลักษณ์ G 4 สีในตัวอักษรเดียว โดยกูเกิลพยายามทำให้เหมือนว่าเรากำลังเหล่ตามองสิ่งๆ หนึ่งอยู่ และนั่นจึงเป็นประเด็นที่โลโก้ดังกล่าวมีพื้นที่สีเหลืองน้อยที่สุด

นอกจากโลโก้หลักแล้ว ในส่วนของโลโก้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น Google Drive, GMail, Google Maps, Google Play, Google Store ก็มีการเปลี่ยนวิธีเขียนแบบใหม่ทั้งหมด โดยใช้ฟอนต์ Google Product Sans เป็นหลัก ซึ่งฟอนต์ดังกล่าวยังรองรับภาษาละติน ภาษากรีก และตัวอักษรแบบ Cyrillic (ใช้ในรัสเซีย) ได้ในตัวด้วย จากเดิมที่ใช้โลโก้ปกติของ Google คู่กับฟอนต์ Roboto

และไม่ใช่แค่นั้น ทีมวิศวกรของกูเกิลยังอธิบายต่อว่า ฟอนต์ดังกล่าวถูกออกแบบในเชิงวิศวกรรมด้วย โดยจุดประสงค์คือลดการใช้แบนด์วิธในการโหลดเพจ เพราะถึงแม้ว่าความเร็วอินเทอร์เน็ตจะไม่เท่ากัน แต่ด้วยขนาดที่ 305 ไบต์ ทำให้โลโก้นี้ถูกโหลดขึ้นมาได้ก่อนข้อมูลอื่นๆ แม้ว่าผู้ใช้จะใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำมากก็ตาม

กูเกิลอธิบายทิ้งท้ายว่าดีไซน์ดังกล่าวยังไม่สิ้นสุดดีพอ ซึ่งกูเกิลก็จะปรับปรุงไปเรื่อยๆ เพื่อให้ถูกใจทั้งผู้ใช้ ลูกค้า และตัวกูเกิลเองครับ

ที่มา - Google Design

Blognone Jobs Premium