iPhone SDK กับทิศทางซอฟต์แวร์บนมือถือ

by mk
10 March 2008 - 21:36

บทความนี้ผมตั้งใจเขียนให้เป็นภาคต่อของ Android Developer Challenge โอกาสทองของเด็กไทย ซึ่งลงใน Blognone ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

เป้าหมายหลักของบทความนี้ (รวมถึงบทความ Android) คือตอบคำถามที่ว่า โทรศัพท์มือถือเป็นอนาคตของการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือเปล่า และถ้าเป็น แพลตฟอร์มที่เราควรเลือกคืออะไร บทความนี้ไม่ได้ตั้งใจจะมาเป็นการให้ข้อมูลของ iPhone SDK ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถหาอ่านได้จากแหล่งข้อมูลอื่นๆ บนอินเทอร์เน็ต กลุ่มผู้อ่านเป้าหมายคือนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์เฮาส์หรือนักเรียนนักศึกษาที่มีความฝันจะเปิดบริษัทซอฟต์แวร์ก็ตาม

เกณฑ์การประเมินแพลตฟอร์มของผมมีอยู่ 2 ข้อใหญ่ๆ คือด้านเทคโนโลยี และโอกาสทางธุรกิจ โดยผมให้คะแนนค่อนมาทางอย่างหลังมากกว่าเล็กน้อย เอาว่าอัตราส่วนประมาณ 40:60 ละกัน ผมยก Android มาประเมินให้ดูแบบสั้นๆ อีกรอบ จะได้เห็นภาพ

Android

เทคโนโลยี

ในบทความ Android ผมเขียนไปว่าสถาปัตยกรรมทางเทคนิค (เน้นว่าเฉพาะทางเทคนิค) ของ Android น่าดึงดูดให้เราไปพัฒนามาก ถ้าว่ากันแบบคร่าวๆ เราแยกส่วนเทคโนโลยีของ Android ได้เป็น 3 อย่าง

  1. ภาษา - จาวา
  2. ไลบรารี - ไลบรารีเฉพาะของ Android เอง
  3. เครื่องมือ - เริ่มต้นนั้นใช้ Eclipse

จะเห็นว่าข้อ 1 และ 3 นั้นเป็นของที่ใช้กันอยู่อย่างกว้างขวางในวงการซอฟต์แวร์อยู่แล้ว (ยกเว้นคุณจะมาสาย .NET/Visual Studio เพียวๆ โดยไม่สนใจอย่างอื่นเลย) สิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มมีแค่ไลบรารีของ Android เท่านั้น (ถึงแม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่าในชุด SDK รุ่นปัจจุบันของ Android จะยังไม่สมบูรณ์มากนักก็ตาม)​โดยสรุปก็คือถ้าคุณเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วไป มีพื้นจาวา/Eclipse มาบ้าง การเรียนรู้ Android ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย

ธุรกิจ

ส่วนเรื่องโอกาสทางธุรกิจเป็นอะไรที่ต่างออกไป Android เป็นแพลตฟอร์มที่ไม่เหมือนใครและคงไม่มีใครอยากเหมือน เพราะนับตั้งแต่เปิดตัวจนถึงปัจจุบันที่เขียน ยังไม่มีตัวฮาร์ดแวร์จริงที่รัน Android ในท้องตลาดแม้แต่เครื่องเดียว และถึงแม้ว่ากูเกิลจะรวบรวมบริษัทพันธมิตรมาได้มากมายใต้ชื่อ Open Handset Alliance (OHA) แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าพันธมิตรเหล่านี้จะไม่หักหลัง ถ้าแนวโน้มตลาดดูไม่ดี จะยอมร่วมตายกับกูเกิลทำไม

ในมุมมองของผู้ประกอบกิจการ เราต้องมั่นใจก่อนว่าถ้าลงทุนพัฒนาไปแล้วของจะขายได้คุ้มทุน เกิดรายได้มาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว แต่ในเมื่อ Android ยังไม่มีตลาดจริงๆ การคาดการณ์อนาคตจึงทำได้ยากมาก เคสของ Android นี้เราได้แต่เชื่อมั่น (แบบแอบหวั่นอยู่ลึกๆ) ว่าถ้าระดับกูเกิลลุยเองแล้ว หวังว่ามันคงจะสำเร็จ นี่ยังไม่ต้องมองไปไกลถึงวิธีการทำตลาด โปรโมทซอฟต์แวร์ของเราเมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ อีกที

สรุปสั้นๆ คือในแง่ธุรกิจแล้ว Android ต่างจากด้านเทคนิค คือยังลูกผีลูกคนอยู่มาก แต่อย่างที่ผมเขียนไปในบทความชิ้นก่อน นั่นคือข้อเสียนี้ถูกชดเชยไปเกือบหมดด้วย Android Developer Challenge นั่นคือเขียนโปรแกรมหวังฟันเงินรางวัลจากกูเกิลก่อน ได้เงินมาแล้วจะทำตลาดต่อหรือไม่ค่อยว่ากัน เอาเข้าจริงตลาดอาจไม่เกิด แต่ 10 ล้านเหรียญตามสัญญานี่การันตีแน่นอน แถมถ้าตลาดดันไปได้ดี โปรแกรมที่ชนะรางวัลมาก็ได้เปรียบชาวบ้านหลายช่วงตัวแล้ว

iPhone SDK

เทคโนโลยี

กลับมาดู iPhone ซึ่งเป็นหัวข้อหลักกันบ้าง เริ่มต้นกันด้วยเรื่องเทคนิคเหมือนกัน

  1. ภาษา - Objective-C เท่านั้น
  2. ไลบรารี - เอาพื้นฐานมาจาก Mac OS X ผสมของใหม่สำหรับ iPhone อย่าง Cocoa Touch นิดหน่อย
  3. เครื่องมือ - Xcode 3.1

ผมเชื่อว่ามีผู้อ่านจำนวนมากอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ต้องงงว่าไอ้ Objective-C นี่มันอะไร ไม่ต้องซีเรียสครับ ยิ่งงงยิ่งทำให้เราประเมินสถานการณ์ตัวเองกับแพลตฟอร์ม iPhone ได้ดียิ่งขึ้น (รายละเอียดของ Obj-C อ่านตามลิงก์)

ชุดพัฒนาของ iPhone ยกของเก่าจาก Mac OS X มาแทบทั้งหมด (ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ iPhone ใช้ OS X) ไม่ว่าจะเป็นตัวภาษา Objective-C เอง, ไลบรารี (อย่างพวกตระกูล Core สารพัด) ไปจนถึงตัว IDE ก็ใช้ตัวเดียวกับการพัฒนาโปรแกรมบนแมค นั่นคือ Xcode

การที่แอปเปิลเลือกองค์ประกอบทางเทคโนโลยีแบบนี้ก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือเทคโนโลยีที่ใช้ใน iPhone เป็นเทคโนโลยีที่พิสูจน์แล้วว่าสมบูรณ์ มั่นคง แข็งแรง บั๊กน้อย (ภาษาอังกฤษเรียก mature) แถมประหยัดสตางค์ของแอปเปิลเอง เพราะจ้างนักพัฒนาเขียนไลบรารีครั้งเดียว ใช้ได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์ และ iPhone (รวมถึง iPod touch ดังจะกล่าวต่อไป) นักพัฒนาที่คุ้นเคยกับแมคอยู่แล้วก็สบาย แทบไม่ต้องเรียนรู้อะไรใหม่ยกเว้น Cocoa Touch กับเทคโนโลยีเฉพาะของ iPhone อย่างอื่นอีกเล็กน้อยเท่านั้น

แต่ข้อเสียก็มาพร้อมกัน คือนักพัฒนาบนแมคที่ว่าเนี่ย มันมีอยู่สักกี่คนกันเชียว การเรียนรู้ชุดเครื่องมือเหล่านี้ต้องลงทุนสูงพอสมควร อย่างน้อยๆ ต้องซื้อเครื่องแมคมาใช้ ตามอัพเดตใช้ซอฟต์แวร์เวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอ (iPhone SDK รันได้เฉพาะบน Leopard 10.5.2 ขึ้นไป และฮาร์ดแวร์อินเทลเท่านั้น) แถมพัฒนาซอฟต์แวร์บนแพลตฟอร์มนี้แล้วก็รันได้แต่บนแมค ตลาดมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับพีซี ยิ่งในประเทศไทย จะหาคนที่พัฒนาซอฟต์แวร์บนแมคเพื่อเลี้ยงชีพนี่แทบนับนิ้วได้

iPhone มีสถาปัตยกรรมทางเทคนิคที่ยอดเยี่ยม สมบูรณ์ มีเครื่องมีอครบครัน (เมื่อเทียบกับ Android) แต่มันกลับเป็นแพลตฟอร์มที่คนส่วนใหญ่ไม่ใช้กัน ดังนั้นถ้าจะมาผูกสัมพันธ์กับ iPhone คนส่วนมากต้องเรียนรู้ใหม่หมด ซึ่งมันก็หนักเอาการ สรุปว่าผมให้คะแนน Android เหนือกว่าสำหรับด้านเทคนิคอย่างเดียว

ธุรกิจ

อย่างไรก็ตามเหตุผลด้านเทคนิคไม่ใช่ทุกอย่าง เรามาดูโอกาสธุรกิจของ iPhone กันว่าเป็นอย่างไร เริ่มจากขนาดของตลาดก่อน

ถ้าย้อนไปตั้งแต่การเปิดตัวในงาน MacWorld เดือนมกราคม 2007 ไล่มาถึงการวางจำหน่ายจริงในสหรัฐอเมริกาเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน นับถึงวันนี้ต้องยอมรับว่า iPhone เป็นมือถือที่แรงที่สุดแห่งยุคไม่มีใครเกิน ลงข่าวสม่ำเสมอในสื่อทุกชนิดไม่เฉพาะสื่อไอที และถ้าลองถามคนรอบๆ ตัวว่าอยากได้ iPhone หรือเปล่า น่าจะพอคาดเดาคำตอบได้ไม่ยาก

iPhone ขายออกไปแล้วประมาณ 5 ล้านเครื่อง ถึงแม้ล่าสุดในงานเปิดตัว SDK นั้นแอปเปิลยังยืนยันเป้าหมาย 10 ล้านเครื่องภายในปี 2008 แต่ถ้าเทียบกับยอดขายมือถือของโนเกียที่ 400-500 ล้านเครื่องต่อปี ยอดขายของ iPhone ถือว่าเล็กมาก แต่แน่นอนว่ากลุ่มผู้ใช้ iPhone นั้นมีลักษณะเฉพาะ กำลังซื้อสูง สนใจติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ และเป็นกลุ่มที่น่าจะยอมรับการซื้อเพลง หนัง เกม และซอฟต์แวร์ผ่านทางออนไลน์ได้มากกว่าใครเพื่อน

ปัจจุบัน iPhone ยังไม่ทำตลาดอย่างเป็นทางการในประเทศไทย (และทุกประเทศในทวีปเอเชีย) มีขายเฉพาะในสหรัฐและบางประเทศในยุโรปเท่านั้น ราคาของ iPhone ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับโทรศัพท์ทั่วไป และมีนโยบายว่าตัวเครื่องต้องผูกติดกับเครือข่าย ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการซื้อหา iPhone มาใช้พอสมควร

นอกจาก iPhone แล้ว เรายังต้องไม่ลืม iPod touch ซึ่งแทบเหมือนกันทุกประการ ยอดขายของ iPod นั้นดีกว่า iPhone หลายเท่า (เดือนละประมาณ 10 ล้านเครื่อง) และเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และทุกคนคงเดากันได้ว่าแอปเปิลจะทยอยเปลี่ยน iPod ทุกซีรีย์ยกเว้น iPod shuffle ให้มาใช้อินเทอร์เฟซแบบ touch ในช่วงปีสองปีข้างหน้านี้ ดังนั้นเราสามารถพยากรณ์ได้ค่อนข้างแน่ว่าจำนวนอุปกรณ์แบบแพลตฟอร์ม iPhone/Cocoa Touch จะทวีจำนวนขึ้นมาก นั่นแปลว่าโอกาสขายซอฟต์แวร์ย่อมมากขึ้นตามไปด้วย

อ่านมาถึงตรงนี้เราสรุปได้ว่า iPhone มีตลาดจริงแล้ว ถึงแม้ตลาดจะยังไม่ใหญ่มาก แต่ก็โตขึ้นเรื่อยๆ และกลุ่มผู้ใช้มีลักษณะเฉพาะตัวที่เอื้อต่อธุรกิจซอฟต์แวร์ เทียบกับ Android แล้วดีกว่ามาก

นอกจากปัจจัยด้านขนาดตลาดซึ่งเป็นปัจจัยหลักแล้ว iPhone ยังมีสิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษอีก 2 เรื่อง

อย่างแรกเทียบได้กับ Android Developer Challenge คือการให้ทุนจูงใจนักพัฒนาให้สนใจในแพลตฟอร์มของตัวเอง ใน Keynote ของ iPhone SDK มีการประกาศกองทุน iFund ซึ่งจะลงทุนในบริษัทที่เขียนซอฟต์แวร์บน iPhone หน้าใหม่ที่มีศักยภาพ เม็ดเงินของกองทุน iFund คือ 100 ล้านดอลลาร์ (เทียบกับ 10 ล้านของ Android แต่แน่นอนว่ารูปแบบต่างกันมาก) ในเว็บไซต์ของ iFund ระบุว่ามูลค่าการลงทุนจะอยู่ระหว่าง 1 แสน-15 ล้านเหรียญขึ้นกับความเหมาะสม และเพื่อความชัวร์ว่าถึงแม้อยู่เมืองไทยก็ไม่พลาดโอกาสนี้ ผมอีเมลสอบถามไปยัง iFund ซึ่งได้คำตอบตามที่ยกมาข้างใต้นี้

We have investment professionals in India and China, so those geographies are clearly easier for us to address. We are also open to investing anywhere in the world if we believe the opportunity has global appeal and has demonstrated viral growth. I mention the last criteria for international opportunities as it will be more difficult to address seed stage opportunities remotely.

แปลว่าไม่ปิดโอกาสสำหรับคนไทย ถึงแม้จะได้เงินยากหน่อยก็ตาม

ส่วนปัจจัยที่สองเป็นประเด็นที่พูดกันมากหลังงานแถลงข่าว SDK นั่นคือวิธีการจำหน่ายและแจกจ่ายโปรแกรมสำหรับ iPhone นั้นจะต้องผ่าน App Store ทั้งหมด แบบเดียวกับการขายเกมบน iPod ในปัจจุบัน (ผู้ใช้ดาวน์โหลดผ่านเว็บมาติดตั้งเองไม่ได้) รายได้จากค่าซอฟต์แวร์นั้นแอปเปิลจะคิดหัวคิว 30% (ไม่คิดถ้าเกิดว่าเป็นฟรีแวร์) และนักพัฒนาต้องเสียค่าแรกเข้า 99 ดอลลาร์ล่วงหน้าด้วย

โมเดล App Store นี้ถือเป็นจุดต่างของ iPhone SDK อย่างแท้จริง มองในแง่หนึ่งมันอาจเป็นการผูกขาดธุรกิจ และจำกัดสิทธิ์ของผู้บริโภคในการติดตั้งซอฟต์แวร์บนอุปกรณ์ของตนเอง แต่มองในอีกแง่ โมเดลนี้ส่งผลดีต่อผู้พัฒนาซอฟต์แวร์หลายอย่างเช่นกัน

  • ตัดปัญหาเรื่องการอัพเดตซอฟต์แวร์ในอนาคต ไม่ต้องทำระบบอัพเดตเอง ทุกโปรแกรมใช้ระบบของ App Store หมด
  • ตัดปัญหาเรื่องทำระบบจ่ายเงินหรือข้อมูลลูกค้า
  • ตัดปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
  • ลดภาระด้านการตลาด เพราะลูกค้าจะมีโอกาสรับรู้และเลือกหาซอฟต์แวร์ทุกตัวอย่างเท่าเทียมกัน โอกาสที่จะค้นเจอโปรแกรมของเราบน App Store เมื่อเทียบกับโปรแกรมชื่อดังอื่นๆ ไม่ต่างกัน
  • ผู้ใช้เองก็สะดวก มีล็อกอิน iTunes เพียงอันเดียวไม่ต้องยุ่งยาก อาจช่วยให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น

โมเดลขาย license แล้วกินหัวคิวนี้ใช้กันมานานแล้วในวงการเกมคอนโซล แต่ยังถือว่าใหม่สำหรับวงการพีซีหรือโทรศัพท์มือถือ เมื่อเทียบกับโมเดลธุรกิจซอฟต์แวร์ของ Windows Mobile หรือ Symbian ซึ่งออกไปทางการบันเดิลจากผู้ให้บริการมือถือ และแบ่งรายได้กันนั้น ก็ไม่ต่างกันนักในแง่ส่วนแบ่งรายได้ ถือเสียว่า 30% เป็นค่าบริหารจัดการให้เราได้ 70% เพิ่มเข้ามาอีกมากๆ

สรุปอีกรอบ ผมประเมินว่าเขียนซอฟต์แวร์บน iPhone มีโอกาสทางธุรกิจเหนือกว่า Android มาก (เมื่อเทียบกับด้านเทคนิคที่ด้อยกว่า) มีข้อจำกัดเฉพาะหน้าเล็กน้อยตรงที่ App Stores จะเริ่มจริงเดือนมิถุนายน และยังจำกัดเฉพาะในสหรัฐเท่านั้น แต่ถ้าอยากลุยธุรกิจนี้จริงๆ ผมเชื่อว่าการหานอมินีในสหรัฐให้ช่วยดำเนินการก็ไม่ใช่เรื่องเกินความสามารถ

ข้อจำกัดอื่นๆ

ผมนั่งอ่านเงื่อนไขการพัฒนาซอฟต์แวร์บน iPhone SDK อย่างละเอียด มีสิ่งที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ควรรู้ดังต่อไปนี้ (อยู่ในหัวข้อ 3.3 ถ้าใครจะตามไปอ่าน)

  • ห้ามเขียนโปรแกรมแฮก หรือยุ่งกับซิมการ์ด
  • โปรแกรม VoIP ใช้ได้เฉพาะ Wi-Fi เท่านั้น ห้ามยุ่งกับเครือข่ายมือถือ
  • โปรแกรมใช้งานเครือข่ายได้ตามสมควรเท่านั้น พวกกินโหลดเยอะๆ ไปทำเครือข่ายพังก็ไม่ผ่าน
  • โปรแกรมทุกตัวรันในโหมด sandbox มีพื้นที่เก็บข้อมูลของตัวเอง และเรียกข้อมูลของโปรแกรมอื่นไม่ได้
  • ไม่มี multitask แปลว่าโปรแกรมรันในแบ็คกราวน์ไม่ได้ สมมติว่าเป็นโปรแกรม IM ต้องเปิดค้างไว้ตลอด
  • โปรแกรมห้ามดาวน์โหลดไบนารีจากที่อื่นๆ มาติดตั้งเพิ่มเติม และใช้ได้เฉพาะ API ที่แอปเปิลเผยแพร่เท่านั้น
  • เพื่อหน้าตาที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โปรแกรมต้องยึดตาม Human Interface Guidelines ของ iPhone

และแน่นอนว่าแอปเปิลจะเช็คเงื่อนไขเหล่านี้ก่อนเผยแพร่โปรแกรมของเราไปบน App Stores

อนาคตซอฟต์แวร์บนมือถือ

ผมย้อนกลับไปตอบคำถามแรกสุดว่า โทรศัพท์มือถือเป็นอนาคตของการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือเปล่า อันนี้ตอบแบบฟันธงได้เลยว่า แน่นอน

ถ้าลองสังเกตแนวโน้มเทคโนโลยีรอบตัว จะเห็นว่าคอมพิวเตอร์พีซีเริ่มลดความสำคัญลงเรื่อยๆ เราเห็นอุปกรณ์แปลกใหม่พิสดารออกมาเยอะแยะมากมาย ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นเพลงพกพา พีดีเอ หรือเกมคอนโซล ต่างต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ใช้งานเว็บ อีเมล ดูหนังได้ไม่ต่างอะไรกับคอมพิวเตอร์ และถ้าให้เลือกอุปกรณ์เพียงชิ้นเดียว เกือบทุกคนคงเลือกโทรศัพท์มือถืออย่างไม่ต้องสงสัย

ตัวมือถือเองก็มีความสามารถเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไล่มาตั้งแต่ยุคมือถือเปลี่ยนเป็นจอสี มีกล้องดิจิทัลในตัว จนมาถึงมือถือมีฮาร์ดดิสก์ขนาดใหญ่ และหน้าจอสัมผัส ถ้าเรามองไปข้างหน้านิดหน่อยไม่ต้องไกลนัก ตัวอย่างชิปตระกูล Atom ของอินเทล (ข่าวเก่า) พลังประมวลผลของมือถือจะเพิ่มขึ้นอีกมากในราคาเครื่องเท่าเดิม มาอยู่ในระดับน้องๆ คอมพิวเตอร์แล้ว

แต่พอมาถึงคำถามที่สองว่า เราควรเลือกแพลตฟอร์มการพัฒนาบนมือถือตัวไหน อันนี้ตอบยากมาก

ยุคนี้ยังเป็นยุคมือถือเพิ่งบูมอยู่ ตลาดเกิดใหม่ยังไม่มีใครครองความเป็นเจ้า บริษัทซอฟต์แวร์ทั้งใหญ่เล็กต่างแห่กันมาสร้างระบบของตัวเอง ถ้าไม่นับ iPhone กับ Android แล้ว รายใหญ่ที่เหลือมี Windows Mobile ของไมโครซอฟท์กับ Symbian ของโนเกีย ส่วนรายเล็กมีอีกเพียบ อย่างเช่น Sony Ericsson หรือ BlackBerry มีระบบของตัวเอง, Motorola บางรุ่นใช้ลินุกซ์, OpenMoko (ถ้ายังจำกันได้) หรือแม้กระทั่ง PalmOS ก็กำลังพยายามกลับมาอีกครั้งอยู่

สำหรับการเปรียบเทียบ 4 แพลตฟอร์มหลัก iPhone, Android, Windows Mobile และ Symbian แนะนำให้ดูชาร์ทของ Engadget ทำได้ดีมาก อ่านเข้าใจง่าย


ภาพประกอบจาก Engadget

แต่ในที่สุดแล้ว ระยะยาวจะมีแต่ผู้ชนะที่อยู่รอดได้ การสร้างแพลตฟอร์มใดๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้ารายรับที่ตามมาไม่คุ้มกับที่ลงทุนไปก็ถึงเวลาต้องม้วนเสื่อ สุดท้ายแล้วสภาพของตลาดมือถือจะคล้ายกับพีซีในปัจจุบัน คือวินโดวส์ครองตลาดส่วนใหญ่เกือบเบ็ดเสร็จ คู่แข่งอย่าง IBM OS/2 ต้องล้มหายตายจากไป และแมคอินทอชก็เหลือแค่ตลาดเฉพาะเล็กๆ เท่านั้น

ดังนั้นการเลือกข้างจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทรัพยากรทั้งบุคคลและเวลาเรามีจำกัด จะกระจายความเสี่ยงโดยการเลือกหลายแพลตฟอร์มคงทำได้ไม่มาก ทีนี้จะให้ผมฟันธงว่าอะไรจะชนะก็คงเป็นไปไม่ได้ (สุดท้ายแล้วอาจมีแพลตฟอร์มใหม่มาเป็นตาอยู่กินรวบก็ได้) ผมทำได้แค่เพียงแยกแยะข้อดีข้อเสียของแต่ละแพลตฟอร์มให้เห็น แต่การตัดสินใจเป็นของตัวคุณเองแล้ว แถมเงื่อนไขเฉพาะบุคคลก็ย่อมแตกต่างกันไป (เช่นว่า คุ้นกับแมคมาก็เลือก iPhone ได้ง่ายขึ้น)

ผมหยิบ Android และ iPhone มาเขียนถึงเป็นพิเศษเพราะมองว่ามันเป็นแพลตฟอร์มใหม่ ออกแบบมาสำหรับฮาร์ดแวร์ยุคหน้า หลีกเลี่ยงปัญหาของแพลตฟอร์มที่ออกมาก่อนหน้า และบริษัทที่หนุนหลัง (กูเกิลกับแอปเปิล) เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มาแรงและได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมาก มันมีอนาคตกว่า OpenMoko หรือ PalmOS หลายเท่า การเปิดตัว iPhone SDK ครั้งนี้ตัวซอฟต์แวร์ที่แจกจ่ายค่อนข้างสมบูรณ์ ภาระหนักจะตกไปอยู่กับฝั่งกูเกิลว่าจะแก้เกมขาดฮาร์ดแวร์ได้อย่างไร (ไม่ว่าจะมาแนวไหนก็ตาม มันใช้เวลาอีกพอสมควร กลายเป็นความได้เปรียบของ iPhone ไป) ซึ่งเราต้องคอยดูกันต่อไป

สำหรับฝั่ง Windows Mobile และ Symbian ยังมีท่าทีไม่ชัดเจนนักว่าจะแก้เกมของคู่แข่งหน้าใหม่อย่างไร แต่สิ่งที่ผมคาดการณ์และอยากให้จับตาดูกันในปีนี้ คือโนเกียน่าจะเริ่มทำอะไรบางอย่างกับแพลตฟอร์ม Maemo ที่ทดลองตลาดมาสักระยะในอุปกรณ์ Internet Tablet แล้ว เราอาจเห็นมือถือที่ใช้ Maemo ออกวางขายกันสักที รวมไปถึงการรวม Maemo เข้ากับ Qt ที่เพิ่งซื้อไป (ข่าวเก่า) ด้วยอีกเหมือนกัน

คำแนะนำ

คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้สนใจพัฒนาซอฟต์แวร์บน iPhone

  • ไม่มีอะไรดีไปกว่าการลองของจริง อ่านจบแล้วรีบลง Xcode และดาวน์โหลด iPhone SDK มาลองเล่น ถ้าไม่มีแมคแต่สนใจมากก็ต้องขวนขวาย หยิบยืมซื้อหามาลองสัมผัสจริงดูว่า มันพัฒนาง่ายแค่ไหน โม้หรือเปล่า
  • อ่านเอกสารและดู tutorial รอบนี้แอปเปิลทำดีมาก มีวิดีโอสอนการใช้งานเพียบ ผมนั่งดูมาสองสามอันแล้วโอเคเลยทีเดียว
  • เผยแพร่ให้โลกรู้ว่าฉันก็สนใจ iPhone SDK อยู่นะ วิธีที่ง่ายที่สุดคือบล็อกเก็บไว้ ลองเล่นไปเรื่อยๆ เจออะไรใหม่ๆ ก็เอามาลงบล็อก (ดูตัวอย่าง AIR Developer Notebook) เขียนพอมีเนื้อหาแล้วมาโปรโมทไว้แถวนี้ได้
  • รวบรวมสมัครพรรคพวกก่อการ อย่างน้อยมีชุมชนคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน พูดภาษาไทยเหมือนกัน มันง่ายกว่าเรียนรู้เองคนเดียว (ดูตัวอย่าง Android Group) จะเปิดเป็นเว็บใหม่, ใช้ Google Groups หรือจะมาใช้สาธารณูปโภคแถวๆ นี้ (อย่างเปิด forum ใหม่ใน Codenone, ประกาศหาคนใน Jobs) ก็ยินดีครับ สนใจก็ทิ้งคอมเมนต์ไว้แถวๆ นี้หรือจะติดต่อมาหลังไมค์ก็ได้
  • สุดท้ายอย่าลืมโปรโมท มีกิจกรรมสัมมนามีตติ้งก็เข้าร่วม หรือถ้ามีงานอย่าง BarCamp อีกรอบเร็วๆ นี้ก็อาจลองพูดเรื่อง iPhone SDK ดูบ้าง

ผมขอปิดท้ายบทความนี้ด้วยคำอวยพรว่า ขอให้รวยกับการขายซอฟต์แวร์บนมือถือครับ

หมายเหตุ: ขอบคุณคุณ pruet ที่ช่วยเสนอความเห็นและตรวจคำผิดในร่างฉบับแรกของบทความ

Blognone Jobs Premium