ครม. อนุมัติมาตรการ SME/Startup - ตั้งกองทุนร่วมลงทุน, เว้นภาษีบริษัทจดใหม่ 5 ปี, ลดภาษีบริษัทเหลือ 10% นาน 2 ปี

by mk
8 September 2015 - 14:48

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (8 กันยายน 2558) อนุมัติมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีประเด็นที่เกี่ยวกับธุรกิจเกิดใหม่ (startup ทุกประเภทไม่จำกัดเฉพาะไอที) ดังนี้

  • จัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน 2,000 ล้านบาท จำนวน 3 กองทุนโดย 3 ธนาคารคือ ออมสิน กรุงไทย และ SME Bank เพื่อร่วมลงทุนใน SME ระยะเริ่มต้นที่มีศักยภาพสูง กองทุนจะตั้งเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558
  • นโยบายลดภาษีเงินได้สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่มีกำไร 300,001 บาทขึ้นไป (เดิมทีเสียภาษี 15% ลดเหลือ 10%), ถ้ามีกำไร 3,000,001 บาทขึ้นไป (เดิมทีเสีย 20% ลดเหลือ 10%) เป็นเวลา 2 รอบปีบัญชีคือ 2558-2559
  • มาตรการยกเว้นภาษีส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ 31 ตุลาคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559 และเป็นผู้ประกอบการกลุ่ม New Engine of Growth ของประเทศ เช่น เกษตรแปรรูป เทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง ดิจิทัล วิจัย-พัฒนา จะได้ยกเว้นภาษีนิติบุคคลนาน 5 รอบระยะบัญชี ทั้งนี้ต้องรอกฎเกณฑ์จากกรมสรรพากรอีกครั้งหนึ่ง

นอกจาก 3 มาตรการข้างต้น ยังมีมาตรการเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 4% ของธนาคารออมสินและธนาคารพาณิชย์อื่นๆ และมาตรการปรับหลักเกณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อสำหรับ SME ที่ขาดหลักประกันค้ำเงินกู้ ไม่เกินรายละ 40 ล้านบาทอีกด้วย

ที่มา - Thaigov.go.th, ประชาชาติธุรกิจ, ภาพประกอบจาก Thaigov.go.th

มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในระยะเร่งด่วน

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบกิจการ SMEs และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินโครงการเป็นวงเงินรวมไม่เกิน 20,020 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี โดยให้ธนาคารออมสินทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในรายละเอียดต่อไป
2. ทบทวนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อโครงการ  PGS ระยะที่ 5 เดิมที่เคยได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 และอนุมัติหลักเกณฑ์และเงื่อนไข และอนุมัติงบประมาณการชดเชยความเสียหายตามที่เสนอ  ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณส่วนที่เหลือจากกรอบเงินงบประมาณจำนวน 13,800 ล้านบาท ของโครงการ PGS-5 ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 มกราคม 2556 ก่อนเป็นลำดับแรก สำหรับงบประมาณส่วนที่เหลือให้ บสย. ทำความตกลงในการเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวตามภาระที่เกิดขึ้นจริงกับสำนักงบประมาณต่อไป
3. เห็นชอบการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีกำไรสุทธิตั้งแต่ 300,001 บาทขึ้นไป จากเดิมร้อยละ 15 และ 20 ของกำไรสุทธิ เป็นร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ เป็นเวลา 2 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 31 ธันวาคม 2559
4. เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จดทะเบียนพาณิชย์ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559 เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
5. มอบหมายให้กรมสรรพากรดำเนินการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มาตรการ
ตามข้อ 3 และ 4 มีผลบังคับใช้โดยเร็วต่อไป

สาระสำคัญของมาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบกิจการ SMEs มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

1. มาตรการการเงิน
   1.1 โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบกิจการ SMEs มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
       1.1.1 วัตถุประสงค์ของโครงการ : เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการ SMEs บรรเทาปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาขาดสภาพคล่องให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ และธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบกิจการ SMEs เฉพาะการปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยมีเงื่อนไขไม่ให้ Refinance หนี้เดิม วงเงินโครงการรวม 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องนำตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยผู้ประกอบกิจการ SMEs เพื่อประกอบการเบิกเงินกู้จากธนาคารออมสิน
       1.1.2 อัตราดอกเบี้ยและระยะเวลา : กำหนดให้ธนาคารออมสินให้สินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 ต่อปี และธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบกิจการ SMEs ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาให้สินเชื่อไม่เกิน 7 ปี โดยผู้ประกอบกิจการสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ภายใน 31 ธันวาคม 2558 หรือจนกว่าวงเงินที่กำหนดไว้จะถูกจัดสรรหมด แล้วแต่อย่างใดอย่างหนึ่งถึงก่อน
       1.1.3 การใช้วงเงินโครงการของธนาคารออมสิน : ธนาคารออมสินสามารถใช้วงเงินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ตามโครงการสินเชื่อของธนาคารออมสิน ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือชาวประมง “ประมงไทยก้าวไกลสู่สากล” 2) โครงการสินเชื่อ SMEs เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการประหยัดพลังงาน 3) โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ 4) โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อผู้รับเหมางานภาครัฐ 5) โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่อง
       1.1.4 การชดเชย : รัฐบาลชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้กับธนาคารออมสินในอัตราเท่ากับต้นทุนทางการเงินของธนาคาร (ร้อยละ 2.21 ต่อปี) บวก ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ร้อยละ 0.75 ต่อปี) หัก อัตราผลตอบแทนจากการให้สถาบันการเงินกู้ร้อยละ 0.1 ต่อปี เท่ากับร้อยละ 2.86 ต่อปี ดังนั้น ประมาณการค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องชดเชยเป็นจำนวน 2,860 ล้านบาทต่อปี งบประมาณชดเชยรวม 7 ปี 20,020 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง
   1.2 การปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อโครงการ PGS-5 มีรายละเอียด ดังนี้
       1.2.1 วงเงินค้ำประกัน 100,000 ล้านบาท
       1.2.2 วงเงินค้ำประกันต่อรายสูงสุด 40 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน
       1.2.3 อายุการค้ำประกันไม่เกิน 7 ปี
       1.2.4 สิ้นสุดระยะเวลารับคำขอค้ำประกันวันที่ 30 มิถุนายน 2559
       1.2.5 ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันร้อยละ 1.75 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อตลอดอายุโครงการโดยรัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการดังนี้
             (1)  จ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 1.75 ในปีที่ 1
             (2)  จ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 1.25 ในปีที่ 2
(ผู้ประกอบการรับภาระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 0.5)
             (3)  จ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 0.75 ในปีที่ 3 (ผู้ประกอบการรับภาระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 1)
             (4)  จ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 0.25 ในปีที่ 4
(ผู้ประกอบการรับภาระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 1.5)
       1.2.6 การจ่ายค่าประกันชดเชยของ บสย.
             (1)  จ่ายค่าประกันชดเชยกรณีที่เป็น NPGs ทั้งโครงการรวมทั้งสิ้น ไม่เกินร้อยละ 30 ของภาระค้ำประกัน
             (2)  จ่ายค่าประกันชดเชยตามภาระค้ำประกัน SMEs แต่ละราย (Coverage Ratio per SMEs) เป็นสัดส่วนร้อยละ 100 ของภาระค้ำประกัน SMEs แต่ละราย ในสัดส่วนร้อยละ 15 แรกของภาระค้ำประกัน ที่เป็น NPGs ส่วนที่เหลือจ่ายค่าประกันชดเชยร้อยละ 50 ของภาระค้ำประกัน SMEs แต่ละราย
             (3)  จ่ายค่าประกันชดเชยตามภาระค้ำประกันในแต่ละ Portfolio (Coverage Ratio per Portfolio) สูงสุดไม่เกินร้อยละ 22.5 ของภาระค้ำประกันเฉลี่ยตลอดระยะเวลาโครงการ
       1.2.7 การชดเชยจากรัฐบาล การดำเนินการตามโครงการดังกล่าว บสย. จำเป็นต้องขอรับการชดเชย
ความเสียหายจากรัฐบาลตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเป็นเงินจำนวน 14,250 ล้านบาท ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
             (1)  ชดเชยค่าธรรมเนียมค้ำประกันใน 4 ปีแรก เป็นเงินจำนวน 4,000 ล้านบาท ((ร้อยละ 1.75 + ร้อยละ 1.25 + ร้อยละ 0.75 + ร้อยละ 0.25) x 100,000)
             (2)  ชดเชยการจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดอายุโครงการ 7 ปี เป็นเงินจำนวน 10,250 ล้านบาท [((ร้อยละ 22.5) - (ร้อยละ 1.75 x 7)) x 100,000 ล้านบาท]
             (3) ให้ บสย. ค้ำประกันตามเงื่อนไขโครงการ PGS-5 ที่ปรับปรุงใหม่นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ
   1.3 มาตรการสนับสนุน SMEs ผ่านการร่วมลงทุน ธนาคารออมสิน ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนแห่งละ 2,000 ล้านบาท รวมจำนวน 6,000 ล้านบาท เพื่อร่วมลงทุนกับ SMEs (ลงทุนในส่วนของทุน) ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการลงทุนที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย โดยรูปแบบของกองทุนที่จะจัดตั้งขึ้นอยู่กับความสามารถและความเหมาะสมในการบริหารจัดการของแต่ละสถาบันการเงิน ทั้งนี้ กองทุนร่วมลงทุนดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมลงทุนใน SMEs ระยะเริ่มต้น (Start-up) ที่มีศักยภาพสูง หรือมีโอกาสในการเติบโต หรืออยู่ในกลุ่มธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือเป็น Supplier ธุรกิจภาครัฐและภาคเอกชนขนาดใหญ่ หรือเป็นสมาชิกของสภาหอการค้าไทยหรือหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ สถาบันการเงินแต่ละแห่งสามารถให้ SMEs ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายกู้เงินเพิ่มเติมจากส่วนที่สถาบันการเงินเข้าไปร่วมลงทุนได้ โดยทั้ง 3 สถาบันการเงินจะดำเนินการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวภายใน 31 ธันวาคม 2558 เพื่อดำเนินการร่วมลงทุนกับ SMEs ตามพันธกิจของกองทุนต่อไป

2. มาตรการการคลัง
   2.1 มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs
       2.1.1 ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีกำไรสุทธิตั้งแต่ 300,001 บาทขึ้นไป จากเดิมร้อยละ 15 และ 20 ของกำไรสุทธิ เป็นร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ เป็นเวลา 2 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ ซึ่งจะทำให้โครงสร้างอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SMEs เป็นดังนี้

กำไรสุทธิของ SMEs             ปัจจุบัน      ข้อเสนอ
0-300,000 บาท             ยกเว้น        ยกเว้น
300,001-3,000,000 บาท     15%       10%
3,000,001 บาทขึ้นไป         ร้อยละ 20   ร้อยละ 10 

       2.1.2 ผลกระทบ
             (1) คาดว่าการลงทุนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3,800 ล้านบาท และการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 960 ล้านบาทจากกรณีปกติ
             (2) รัฐบาลจะสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ดี มาตรการนี้ จะส่งผลให้การจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในอนาคตชดเชยรายได้ภาษีที่สูญเสียไป เนื่องจากเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น
   2.2  มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up)
       2.2.1 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ประกอบกิจการ
ที่จดทะเบียนพาณิชย์ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559 เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี
ต่อเนื่องกัน โดยผู้ประกอบการ SMEs ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
             (1) เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Engine of Growth) เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ดิจิตอล และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
             (2) จะต้องจดแจ้งการขอใช้สิทธิกับกรมสรรพากร
             (3) ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
             (4) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
Blognone Jobs Premium