กฎหมายสื่อลามกอนาจารเด็กเป็นกฎหมายที่ผลักดันกันมานาน ก่อนหน้านี้มีการผลักดันให้เข้ามาอยู่ในพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่ล่าสุดกฎหมายนี้ก็เป็น พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
ตามกฎหมายนี้ ให้นิยามสื่อลามกอนาจารเด็ก ดังนี้ "วัตถุหรือสิ่งที่แสดงให้รู้หรือเห็นถึงการกระทําทางเพศของเด็กหรือกับเด็กซึ่งมีอายุไม่เกินสิบแปดปี โดยรูป เรื่อง หรือลักษณะสามารถสื่อไปในทางลามกอนาจาร ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของเอกสาร ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ หรือรูปแบบอื่นใด ในลักษณะทํานองเดียวกัน และให้หมายความรวมถึงวัตถุหรือสิ่งต่างๆ ข้างต้นที่จัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์ หรือในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นที่สามารถแสดงผลให้เข้าใจความหมายได้"
กฎหมายแบบเดียวกันนี้มีอยู่ในหลายประเทศ แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีประเด็นปลีกย่อยที่เป็นข้อถกเถียงกัน โดยเฉพาะในกรณีภาพวาดหรือภาพกราฟิกที่ไม่มีตัวตนจริง กลางปีที่แล้วญี่ปุ่นก็เพิ่งออกกฎหมายห้ามครอบครองภาพอนาจารเด็กแต่ยกเว้นภาพการ์ตูน บางกรณีเองก็มีประเด็นที่เยาวชนถ่ายภาพตัวเอง เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเด็กชายชาวอังกฤษอายุ 14 ถูกบันทึกประวัติเพราะถ่ายภาพอนาจารของตัวเองส่งไปให้กับเพื่อนสาว อย่างไรก็ดีทางตำรวจตัดสินใจไม่ดำเนินคดี ในกรณีของไทยตามกฎหมายนี้ก็ไม่มีข้อยกเว้นเยาวชนที่ถ่ายภาพตัวเอง
ผมสัมภาษณ์อาจารย์สาวตรี สุขศรี ระบุว่าในประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองเด็กแบบนี้มานานมีรายละเอียดปลีกย่อยไปอีกมาก นอกจากภาพอนาจารเด็กตรงๆ เช่น สื่อลามกอนาจารที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นเด็ก, ภาพจินตนาการอย่างการ์ตูน, ข้อความไม่มีภาพ, ภาพกราฟิกที่เหมือนจริงมากจนเหมือนภาพถ่าย ตัวอย่างเช่นเยอรมันนั้นมีการปรับกฎหมาย เพื่อห้ามครอบครองภาพถ่ายและภาพกราฟิกที่เหมือนจริง สำหรับการเผยแพร่จะห้ามเพิ่มเติมไปถึงภาพการ์ตูนไปด้วย อย่างไรก็ดีกรณีกฎหมายของไทยนั้นเขียนไว้ไม่ชัดเจนนัก แต่หากตีความอย่างเคร่งครัดตามหลักอาญา นิยามของกฎหมายนี้ก็ควรจะหมายถึงภาพที่เป็นเด็กจริงๆ เท่านั้น
ที่มา - ราชกิจจานุเบกษา, iLaw
update: เพิ่มตัวหนาความเห็นของอ.สาวตรี จากความเห็นในข่าวที่ดูจะไปคนละทางกับความเห็นของอาจารย์ทางกฎหมาย