แอปเปิล vs กูเกิล - ความแตกต่างที่ลงลึกตั้งแต่ปรัชญารากฐานของบริษัท

by mk
18 September 2015 - 01:05

ช่วงนี้มีวิวาทะ iPhone vs Android กลับมาอีกครั้ง (ดูบทความต้นทางที่ Droidsans) เรื่องแบบนี้เถียงกันไปยังไงก็ไม่มีทางจบ

คำถามที่น่าสนใจกว่าคือทำไมสาวกและแฟนบอยทั้งสองค่ายถึงเถียงกันอยู่ตลอดเวลา คำตอบที่ผมพยายามอธิบายคือความต่างระหว่าง 2 ค่ายนี้ มันเป็นความแตกต่างที่ลงไปลึกถึงระดับปรัชญาหรือรากฐาน (fundamentalism) ของบริษัทที่คงไม่มีใครถูกผิด (และประสบความสำเร็จกันทั้งคู่) ส่วนรายละเอียดของความแตกต่างจะอธิบายในบทความนี้

แอปเปิล: Materialism

ฝั่งของแอปเปิลมีปรัชญารากฐานที่สรุปได้ในคำเดียวว่า "materialism" หรือการนิยมสิ่งที่เป็นวัตถุจับต้องได้ ที่ผ่านมาเราจึงเห็นแอปเปิลนิยมนำเสนอจุดเด่นของตัวเองในเชิง enthusiastic ต่อตัววัตถุในทุกมิติ เช่น วัสดุดีกว่า หรูหรามีระดับ ประสบการณ์ใช้งานดีกว่า หน้าสวยกว่า UI ลื่นกว่า ฯลฯ สรุปคือในภาพรวมแล้วมันเป็น "ที่สุดของ material" ที่หาใครสู้ได้ยากนั่นเอง

ตัวอย่างที่ดีที่สุดของการแสดงออกเรื่อง materialism ของแอปเปิล คือทุกครั้งที่มีเปิดตัวสินค้าใหม่ เราจะเห็นวิดีโอบรรยายสรรพคุณโดย Jonathan Ive นี่ล่ะครับ ใช่เลย

โมเดลธุรกิจทั้งหมดของแอปเปิลจึงมุ่งเข้าสู่การขายวัตถุ (ฮาร์ดแวร์) เป็นหลัก เพราะพื้นฐานของบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ "ความเป็นวัตถุ" นั่นเอง เราจึงเห็นแอปเปิลเลิกคิดเงินค่าซอฟต์แวร์ (ยกเว้นบริการเพียงบางตัว เช่น iTunes ที่ถือว่าเป็นสัดส่วนรายได้ส่วนน้อยของบริษัท) และมองซอฟต์แวร์ในฐานะตัวสร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) ให้แพ็กเกจฮาร์ดแวร์ของตัวเองแตกต่างจากคู่แข่ง (differentiation) และสามารถขายในราคาที่สูงขึ้นได้

กูเกิล: Immaterialism

ส่วนกูเกิลนั้นกลับทิศกันเลย แนวคิดของกูเกิลคือไร้สิ้นซึ่งวัตถุใดๆ และทุกสิ่งอย่างในโลกหล้าจงดึงมาจากคลาวด์ของกูเกิลเท่านั้นเป็นพอ ผมขอใช้คำว่า immaterialism ของคุณอธิป จิตตฤกษ์ มานิยามแนวคิดนี้ (อ่านเพิ่ม, วิดีโอประกอบการบรรยาย)

ฮาร์ดแวร์ Android ในสายตาของกูเกิลจึงมีค่าเป็นแค่ dumb terminal หรืออุปกรณ์ง่ายๆ ราคาถูก ตัวมันเองไม่ต้องมีความฉลาดหรือความสามารถมากนัก แต่ภารกิจสำคัญของมันคือเปิดทางให้คนเข้าสู่โลกออนไลน์ที่ไร้ซึ่งวัตถุของกูเกิลได้

ถ้าเรียกภาษาเศรษฐศาสตร์ กูเกิลมองฮาร์ดแวร์เป็น commodity ที่ใครก็ผลิตขึ้นมาได้ (ไม่จำเป็นต้องเป็นซัมซุง จะเป็นโรงงานเสิ่นเจิ้นก็ได้ หรือเดี๋ยวนี้อินเดีย-บราซิลก็เริ่มตั้งโรงงานเองแล้ว) โครงการ Nexus ถือเป็นแค่ การทดลองในวงกว้างเพื่อผลักดันความก้าวหน้าของแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์เท่านั้น เราจึงไม่เห็นแนวคิดเรื่อง enthusiastic ใดๆ ฝั่งอยู่ใน Nexus เลย (Eric Schmidt เคยพูดไว้นานแล้วว่ากล้อง Nexus จะเทพในไม่ช้า ตอนนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง) ในขณะที่โครงการ Android One เป็นการสร้าง standardized dumb terminal ให้กระจายตัวกว้างขวางมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

แต่วิสัยทัศน์เชิงซอฟต์แวร์ของกูเกิลนั้นลึกล้ำมาก แนวคิดของกูเกิลคือสร้างความฉลาดของจักรกล (machine intelligence) ซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่งหนึ่งบนโลก แล้วให้จักรกลที่ว่านี้แก้ปัญหาให้ผู้ใช้งาน โดยที่ไม่ต้องเห็นหน้าค่าตาหรือสัมผัสเชิงกายภาพกันเลย

เราจะเห็นแนวคิดนี้ถูกผลิตซ้ำอยู่ในผลิตภัณฑ์แทบทุกตัวของกูเกิล ตั้งแต่

  • Google Search ที่เป็นต้นกำเนิดของบริษัท และฉลาดขึ้นเรื่อยๆ จากโครงการ Knowledge Graph
  • Google Now ที่ไร้บุคลิก ต่างจาก Siri/Cortana
  • รถยนต์ไร้คนขับ ที่ให้ความรู้สึกว่ามี machine อะไรบางอย่างขับรถให้เรา
  • Google Glass มี machine อะไรสักอย่างสแกนข้อมูลรอบตัว แล้วช่วยแสดงข้อมูลให้เรา

วิดีโอสาธิต Google Self-Driving Car อันนี้ น่าจะสะท้อนแนวคิดเรื่อง "ไร้ตัวตน" ของกูเกิลได้ดีที่สุดครับ

ถ้าลองเปรียบเทียบกับ "การเดินทาง" แล้ว ฝั่งแอปเปิลจะใส่ใจรายละเอียดระหว่างทาง ในขณะที่กูเกิลจะสนใจพาเราวาร์ปจากต้นทางไปโผล่ปลายทางให้เร็วที่สุด อะไรประมาณนี้ครับ

โมเดลธุรกิจของกูเกิลจึงไม่สนใจฮาร์ดแวร์อย่างสิ้นเชิง และผลักดันทุกอย่างให้อยู่ภายใต้การหารายได้จากโฆษณา (ads) หรือบริการแบบสมัครสมาชิก (subscription) ให้หมดนั่นเอง

ทีนี้ใครจะชอบแนวทางไหน ก็ขึ้นกับปรัชญาการใช้ชีวิตของแต่ละคนแล้วว่าจะเป็นสาย immaterial หรือ material ครับ (เหมือนกับคนเชียร์บาร์เซโลนาต้อง tiki taka ส่วนคนเชียร์เชลซี ชอบนั่งรถบัส อะไรแบบนั้น คนละแนวทางแต่เป็นแชมป์ยุโรปได้เหมือนกัน)

อีกประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือขนาดของตลาด ลูกค้าที่มีกำลังซื้อสินค้าของแอปเปิล อาจมีอย่างมากสัก 300-500 ล้านคน (อันนี้ตัวเลขเดามั่วๆ แบบไร้หลักการ) แต่เป็นลูกค้าชั้นดีที่มีกำลังจ่าย พอคูณส่วนต่างกำไร (margin) แล้วส่งผลให้แอปเปิลทำกำไรมหาศาล และกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกในปัจจุบัน ตอบโจทย์แง่ธุรกิจเป็นอย่างมาก

แต่ที่น่ากลัวมากคือกูเกิล ที่คาดว่ามองไกลระดับฐานลูกค้าจำนวน three to five billions ในแง่กำไรระยะสั้น คูณออกมาแล้วอาจได้เยอะไม่เท่า แต่ในแง่อิทธิพลการครอบงำโลกนั้นเยอะกว่าอย่างเทียบไม่ติด

เมื่อครั้งที่กูเกิลตั้งบริษัท Alphabet Holding มีบทความฝรั่งบางรายเปรียบเทียบว่า ความยิ่งใหญ่ของมันจะเทียบเท่ากับบริษัทอินดีสตะวันออก (East India Company) ของชาติมหาอำนาจยุโรปในยุคล่าอาณานิคมเอเชียเลยทีเดียว

ไอคอนประกอบจาก Dribble โดย Alexander Zhuravskiy

Blognone Jobs Premium