สัมภาษณ์คนไทยในซิลิคอนวัลเลย์ - อิทธิโชค จ่างใจมนต์ วิศวกรซอฟต์แวร์ Arista Networks

by mk
20 September 2015 - 04:45

กลับมาอีกครั้งกับซีรีส์ "สัมภาษณ์คนไทยในซิลิคอนวัลเลย์" ตอนที่แปด มาดูงานสายเครือข่ายกันบ้าง บริษัทที่เราสนใจในตอนนี้คือ Arista Networks บริษัทด้านอุปกรณ์-ซอฟต์แวร์เครือข่ายที่กำลังมาแรง เพิ่งขายหุ้น IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อปีที่แล้ว รวมถึงติดอันดับบริษัทที่น่าทำงานที่สุดในสายตาพนักงานจาก Glassdoor อีกด้วย

คราวนี้เราได้ คุณอิทธิโชค จ่างใจมนต์ วิศวกรคนไทยในบริษัท Arista Networks จะมาเล่าประสบการณ์การทำงานสายนี้ รวมถึงเทคนิคการหาทุนเรียนต่อ และการหางานด้านไอทีในสหรัฐอเมริกาอย่างละเอียดด้วยครับ

ประวัติความเป็นมา แนะนำตัวแบบคร่าวๆ

สวัสดีครับ ผมชื่อแบงค์ อิทธิโชค จ่างใจมนต์ ปัจจุบันเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์อยู่ที่บริษัท Arista Networks ครับ

การศึกษา ประถม:โรงเรียนพรประสาทวิทยา มัธยม:โรงเรียนวัดราชโอรส ปริญญาตรี:วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หลังจากจบ ป.ตรี ผมไปทำงานสั้น ๆ ที่ศูนย์วิจัยแห่งชาติ AIST ที่ญี่ปุ่น แล้วกลับมาทำงานวิจัยและดูแลระบบที่ศูนย์ไทยกริดแห่งชาติกับ อ. ภุชงค์ อุทโยภาศ ประมาณ 2 ปีครับ จากนั้นไปเรียนต่อป.โท-เอกในสหรัฐที่ University of Louisiana at Lafayette (ชื่อเดิมคือ University of Southwestern Louisiana) งานวิจัยที่ทำคือ Fault Tolerance สำหรับ Distributed Systems และ Cloud Computing

อยากให้ขยายความงานวิจัยตอน ป.เอก สักหน่อยครับ

หนึ่งในปัญหาสำคัญของระบบประมวลผลขนาดใหญ่คือเรื่องของเสถียรภาพของระบบ เนื่องจากมีอุปกรณ์เป็นจำนวนมาก (เป็นแสนชิ้น) จึงมักมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสียเสมอทั้งในระดับซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ (เคยมีงานวิจัยประเมินว่าบางระบบมีปัญหาทุก ๆ 13 ชม. อ้างอิง)

เทคนิคหนึ่งที่ใช้กันคือการ checkpoint (เชคพอยต์) เทคนิคนี้จะเซฟข้อมูลของโปรเซสที่รันอยู่ออกมาเป็นไฟล์ เวลาเกิดปัญหาแทนที่เราจะรันโปรเซสใหม่ตั้งแต่ต้น เราสามารถรีสตาร์ทโปรเซสใหม่จากไฟล์เชคพอยต์ ตัวโปรเซสจะรันต่อจากสถานะที่เซฟไว้ในไฟล์เลย มีประโยชน์มากกับโปรแกรมที่รันนาน ๆ เช่น รันมาแล้วหลายชั่วโมงหรือระดับเดือน

ประเด็นคือระหว่างที่เชคพอยต์ โปรเซสจะต้องหยุดทำงาน (บางครั้งไม่ได้หยุดสั้น ๆ ซะด้วย) ส่วนไฟล์ที่เซฟไว้ บางครั้งก็จำเป็นต้องส่งไปเก็บข้ามเครื่องเผื่อเครื่องที่รันอยู่ตาย ทำให้เปลืองทรัพยากรทั้งแบนด์วิธและพื้นที่เก็บข้อมูล งานวิจัยของผมใช้สารพัดวิธีมาทำให้เชคพอยต์เสร็จเร็วขึ้น สิ้นเปลืองทรัพยากรน้อยลง และทนต่อปัญหาที่รุนแรงหลายระดับ

ตัวชูโรงคือเรามีโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่บอกได้ว่าเราควรเช็คพอยต์เมื่อใด ถึงจะเสร็จเร็วและไม่เปลืองทรัพยากร (ของถูกและเร็วมีอยู่จริงในงานวิจัยนี้ครับ ฮา) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ (เปเปอร์งานปี 2013)

ตัวอย่างศูนย์ข้อมูลของ Google

นอกจากนี้ เราสามารถใช้เชคพอยต์ในงานที่รันบนระบบคลาวด์ได้เช่นกันครับ ที่มีประโยชน์ชัด ๆ คืองานที่รันบน Spot Instance ของอเมซอนซึ่งเป็นบริการที่ให้ผู้เช่าสามารถ bid ราคาเครื่องได้ โดยราคากลางจะเปลี่ยนไปตาม supply-demand เมื่อไหร่ที่ราคากลางต่ำกว่าราคาที่เรา bid ไว้ เราก็จะได้เครื่องไปรันงาน แต่เมื่อไหร่ที่ราคากลางขึ้นไปสูงกว่าเราก็จะเสียเครื่องนั้นไป (รวมถึงงานที่รันอยู่ด้วย)

ข้อดีคือส่วนใหญ่ราคาที่จ่ายจะต่ำกว่าราคาแบบ fixed price มาก แต่ข้อเสียก็คือเราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ราคาเครื่องจะเปลี่ยนไป จนสูงเกินกว่าราคา bid ของเรา งานวิจัยของผมเลยพัฒนาโมเดลคณิตศาสตร์สำหรับ spot instance โดยเฉพาะเพื่อทำนายว่าเมื่อไหร่เราควรจะเชคพอยต์งานที่รันอยู่ (เผื่อราคากลางขึ้น)

โมเดลนี้แม่นและเร็วกว่าโมเดลที่พัฒนามาก่อนหน้ามาก ผลก็คือนอกจากทำให้รันงานเสร็จเร็วขึ้นแล้ว ค่าใช้จ่ายก็ลดลงมากเช่นกัน (คอนเซปต์เดิมครับ ถูกและเร็ว!) สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ (เปเปอร์งานปี 2015)

ล่าสุด Google เองก็เพิ่งออก Preemptible Instances (ข่าวเก่า) เราสามารถนำงานนี้ไปประยุกต์ใช้ได้เช่นกันครับ (แต่ต้องเก็บข้อมูลและปรับโมเดลนะ)

มาอยู่ที่อเมริกาได้อย่างไร และมาทำงานที่บริษัทปัจจุบันได้อย่างไร

ช่วงที่ตัดสินใจเรียนต่อลังเลเหมือนกันครับว่าจะไปญี่ปุ่นหรืออเมริกาดี เพราะว่างานวิจัยที่ทำอยู่ช่วงนั้น (Grid Computing) คนเก่ง ๆ อยู่ที่ญี่ปุ่นก็เยอะครับ สุดท้ายตัดสินใจมาอเมริกาเพราะอยากผจญโลกกว้าง ก็เลยขอยืมเงินผู้มีพระคุณกะว่าจะมาเรียนโทแล้วทำงานหาเงินคืน ปรากฏว่าไปเรียนเดือนแรกอาจารย์ที่นี่ถูกใจให้ทุนยาวไปถึง ป. เอกเลย ก็เลยตัดสินใจต่อเอกครับเพราะอยากรู้ว่าเป็นยังไง (บวกกับอาจารย์ภุชงค์ยุด้วยครับ ฮา) เงินที่ยืมมาก็ใช้คืนหมดตั้งแต่สองสามเดือนแรก

พอใกล้จบเอก ผมอยากทำงานในภาคอุตสาหกรรมบ้าง เพราะทำงานแต่สายวิชาการมาตลอด เลยเริ่มหางานโดยคัดบริษัทจากอันดับความน่าทำงานในเว็บไซต์ Glassdoor ครับ ผมสมัครตรงเกือบทุกที่ เพราะว่ารู้จักรุ่นพี่ที่ทำงานในบริษัทที่เล็งไว้ไม่เยอะ บินไปสัมภาษณ์หลายที่เหมือนกันจนมาลงเอยที่ Arista Networks

Arista ติดอันดับอยู่ใน top 50 ที่ทำงานที่ดีที่สุดในสหรัฐใน Glassdoor ปีปัจจุบัน

แนะนำ Arista Networks สักหน่อย

Arista Networks เป็นบริษัทน้องใหม่ในตลาดหุ้นสหรัฐ (เพิ่ง IPO ไปหมาด ๆ เมื่อปีก่อน) ธุรกิจหลักคือขาย Network switch ให้กับศูนย์ข้อมูล Cloud ขนาดใหญ่ (ระดับถึงแสนเครื่อง) ซึ่งศูนย์ข้อมูลระดับนี้ต้องการทั้งประสิทธิภาพที่สูง ระบบการจัดการที่ดี และระบบที่ฟื้นตัวได้เอง อีกจุดเด่นของผลิตภัณฑ์คือเป็นระบบเปิด ทำให้ลูกค้าสามารถโปรแกรม switch ให้เข้ากับระบบต่าง ๆ ของตัวเองได้รวดเร็วและหลากหลาย

ลูกค้าหลัก ๆ ของ Arista จะเป็นพวก Tech Savvy ที่มีความเชี่ยวชาญและใหญ่พอจนต้องพัฒนาระบบขึ้นมาเป็นของตัวเอง เช่น Microsoft, Google, Facebook, eBay, Netflix และสถาบันการเงินต่าง ๆ

เกร็ดน่าสนใจคือผู้ก่อตั้ง Andy Bechtolsheim และ David Cheriton เป็นคู่หูที่ตั้งบริษัทด้วยกันมาแล้ว 3 บริษัท ที่ดัง ๆ ก็คือ Sun Microsystems

นอกจากนี้ Andy ยังเป็นนักลงทุนคนแรกที่ลงทุนกับ Google อีกด้วย โดยในปี 2541 Andy เขียนเช็ค 100,000 ดอลลาร์ให้ Sergey Brin กับ Larry Page แต่ทั้งสองคนยังเอาเงินไปขึ้นไม่ได้เพราะ Google ยังไม่มีบัญชีธนาคาร ฮา (อ้างอิง)

Andy Bechtolsheim ผู้ก่อตั้ง Arista Networks

สี่ผู้ก่อตั้ง Sun Microsystems จากซ้าย Vinod Khosla, Bill Joy, Andy Bechtolsheim, Scott McNealy
(ภาพจาก Sun Microsystems, ที่มา: New York Times)

งานที่ทำอยู่ใน Arista Networks ตอนนี้ ทำอะไรบ้าง

ขออธิบายสถาปัตยกรรมคร่าว ๆ ก่อนนะครับ ระบบซอฟต์แวร์ของ Arista เป็น publish-subscribe system แบ่งการทำงานแต่ละส่วนออกเป็นโปรเซสต่าง ๆ ซึ่งรับผิดชอบหน้าที่ไม่เหมือนกัน (สมมติเช่น โปรเซสควบคุมพัดลม โปรเซสควบคุม LED) แต่ละโปรเซสจะสนใจข้อมูลบางอย่าง (เช่นอุณหภูมิ) และผลิตข้อมูลบางอย่างที่โปรเซสอื่นสนใจ (เช่น ความเร็วพัดลม) โปรเซสทั้งหลายจะติดต่อผ่านระบบกลางที่เก็บข้อมูลทั้งหมด โดยจะ subscribe ข้อมูลที่สนใจ และ publish ข้อมูลที่โปรเซสอื่นสนใจ สวิตซ์ของ Arista รันอยู่บน Linux มีโปรเซสแบบนี้อยู่หลายร้อยโปรเซสครับ (อ้างอิง)

การแยกงานออกเป็นโปรเซสย่อย ๆ มีข้อดีคือทำให้ระบบเสถียรขึ้นมาก เพราะโปรเซสแต่ละตัวตายแยกกันได้ ส่วนการแยกข้อมูลเก็บแยกออกจากโปรเซสก็ทำให้โปรเซสที่ตายไปฟื้นตัวได้รวดเร็ว เพราะเมื่อโปรเซสเกิดขึ้นมาใหม่แล้วก็สามารถทำงานต่อจากสถานะล่าสุดที่เก็บไว้ในระบบกลางได้เลย

งานที่ผมทำอยู่เป็น framework ที่รองรับระบบ publish-subscribe ดังกล่าว ส่วนใหญ่เน้นไปที่วิเคราะห์และปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบ เขียนเครื่องมือตรวจจับข้อผิดพลาดที่พบได้บ่อย ๆ หรือเขียนระบบอัตโนมัติเพื่อแก้โค้ดของโปรเซสทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผลิตภัณฑ์ของ Arista บริษัทวางตัวเองเป็น Software-driven Cloud Networking

ประสบการณ์การทำงานในสหรัฐ วัฒนธรรมการทำงานแตกต่างกับเมืองไทยแค่ไหน

เนื่องจากผมไม่เคยทำงานภาคอุตสาหกรรมที่ไทย จึงเปรียบเทียบแบบเป๊ะ ๆ ไม่ได้นะครับ

หลัก ๆ แล้วที่ประทับใจคือที่นี่เป็นระบบเปิดครับ พนักงานเข้าถึงโค้ดที่บริษัทเป็นเจ้าของได้ง่ายมาก ๆ คือถ้าขยันนี่มีโค้ดดี ๆ ให้เรียนรู้เพียบครับ อีกข้อนึงคือทีมต่างๆ ค่อนข้างเปิดกว้าง ถ้าเราเห็นอะไรไม่ดีเราสามารถช่วยเค้าแก้โค้ดได้เลย (แน่นอนว่าต้องคุยกันก่อนและผ่านกระบวนการรีวิว) วัฒนธรรมแบบนี้ทำให้เวลาเราเจอบักหรือฟีเจอร์อะไรที่กระทบกับเรามาก ๆ เราสามารถช่วยแก้ไขหรือพัฒนาขึ้นมาได้เลยไม่ต้องรอให้ทีมเจ้าของโค้ดมีเวลา ทีมเจ้าของก็ได้ประโยชน์เพราะมีคนมาช่วยพัฒนาโค้ดของตัวเอง win-win ครับ ที่ไทยอาจจะไม่เปิดเท่านี้

ส่วนเรื่องที่ว่าทำงานที่ไทยผู้คนสนิทกันมากกว่าอันนี้ก็จริงบางส่วนครับ คือที่นี่ถ้าใครอยากทำงานอย่างเดียวไม่สุงสิงกับใครก็ได้ครับ แต่ถ้าอยากสังสรรค์หาเพื่อนก็มีช่องทางครับ คือทางบริษัทมีงบให้สำหรับกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กลุ่มฟุตบอล กลุ่มบอร์ดเกม ผมเองก็ไปเล่นด้วยบ่อย ๆ เพราะทำให้ได้คุยกับคนจากทีมอื่นและเราได้บริหารร่างกายและสมองครับ แต่ถ้าเป็นที่ไทยผมว่าไม่ต้องใช้ความพยายามครับ มาถึงจับกลุ่มสนิทกันเองอย่างรวดเร็ว น่ารักไปอีกแบบครับ ฮา

อีกเรื่องที่อยากเล่าให้ฟังคือประสบการณ์ในบริษัทสตาร์ตอัพที่ผ่านกระบวนการเข้าตลาดหุ้น (IPO) ครับ ผมเองโชคดีเข้าบริษัทก่อนเข้าตลาดหุ้นประมาณ 3-4 เดือน ช่วงกำลังจะเข้าตลาดหุ้นทุกคนตื่นเต้นกันมาก เพราะส่วนใหญ่แล้วพนักงานจะได้หุ้นบริษัท (แบบให้เปล่า หรือซื้อในราคาถูก) ตั้งแต่ก่อน IPO อยู่แล้ว พอบริษัทเข้าตลาดหุ้นก็เป็นหนทางที่จะขายทำกำไรออกมา เรียกได้ว่าหลายคนทำงานมาหลายปีเพื่อสิ่งนี้ คืนก่อนวัน IPO บริษัทผมเลยจัด hackathon ข้ามคืนฉลองซะเลย ผมเองก็จัดทีมกับเพื่อนอยู่ลุยด้วย ตอนเช้ากลับบ้านอาบน้ำแล้วกลับมาฉลองกันต่อที่บริษัท มีถ่ายทอดสดจากตลาดหุ้นนิวยอร์ค และกิจกรรมต่าง ๆ บรรยากาศฮึกเหิมมากครับ

ข้อดีอีกข้อของบริษัทที่ยังไม่ใหญ่มากคือเรามีโอกาสได้เจอ CTO, VP, Founder บ่อย ๆ ครับ นาน ๆ ทีก็จะมานั่งกินข้าวด้วยกัน ทำให้เรามีโอกาสได้เรียนรู้จากเค้าครับ ถ้ามีเรื่องอะไรก็เดินไปคุยได้ง่าย Andy เองก็โผล่มาคุยกับพนักงานเสมอในงานเลี้ยง (ล่าสุดคุยกันเรื่องน้ำบาดาล) ว่างๆ ผมว่าจะเลียนแบบ Sergey กับ Larry เดินไปขอเช็คจาก Andy บ้างเหมือนกัน :-)

Arista IPO ที่ตลาดหุ้น New York เมื่อปีที่แล้ว Andy ยืนอยู่ตรงกลางในรูป คู่กับ Jayshree (CEO คนปัจจุบัน)

ถ้ามีคำแนะนำให้น้องๆ รุ่นหลังที่อยากมาทำงานด้านเกี่ยวกับไอทีในสหรัฐ มีอะไรบ้าง

ผมขอเล่าเรื่องวีซ่าการทำงานในสหรัฐคร่าว ๆ ก่อนนะครับ แล้วเรามาดูกันว่าเราจะไปทางไหนได้บ้าง (ขอย้ำว่าคร่าว ๆ นะครับ ตรวจสอบความถูกต้องหรือหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Working in the US หรือปรึกษาทนายครับ)

  • F1 เป็นวีซ่านักเรียน หลังจากจบการศึกษาสามารถทำงานในสหรัฐ 1 ปี สำหรับสายวิทยาศาตร์สามารถขยายเพิ่มได้อีก 17 เดือน (กฎข้อนี้ศาลเพิ่งตัดสินให้ยกเลิก แต่มีเวลาถึงกุมภาปีหน้าที่จะตั้งกฎใหม่ให้ถูกกระบวนการ อ้างอิง)
  • H1B เป็นวีซ่าทำงานชั่วคราวได้ 6 ปี โดยบริษัทในสหรัฐต้องขอให้ ประเด็นคือสหรัฐมีโควต้า H1B จำกัดที่ 85,000 คนในแต่ละปี แต่จำนวนผู้สมัครมีเยอะกว่ามาก (172,500 ในปีนี้) ทำให้ต้องจับสลากในแต่ละปี ถ้าปีนี้ไม่ได้ก็สมัครใหม่ปีหน้าไปเรื่อย ๆ
  • L1 เป็นวีซ่าทำงานชั่วคราวสำหรับผู้มีความสามารถเฉพาะทางหรือผู้จัดการ เงื่อนไขคือต้องทำงานอยู่ในบริษัทนานาชาติและอยากย้ายเข้ามาทำงานในสาขาสหรัฐ

ส่วนใหญ่เราต้องขอวีซ่าพวกนี้ก่อนถึงจะขอ Green card ให้ทำงานในสหรัฐได้ถาวรครับ

จากข้อมูลข้างต้น ถ้าอยากทำงานไอทีในสหรัฐ มีทางเลือกดังนี้

  1. ทำงานในบริษัทข้ามชาติที่มีสาขาหรือบริษัทแม่ในสหรัฐจนถึงระดับผู้จัดการหรือมีความสามารถเฉพาะทาง แล้วทำเรื่องย้ายไป (วีซ่า L1)
  2. พัฒนาตัวเองจนอยู่ในระดับนานาชาติ อาจจะเป็นการช่วยพัฒนาโอเพนซอร์ส ลงแข่งขันระดับนานาชาติ จากนั้นสมัครตรงไปตามบริษัท ถ้าเค้าถูกใจก็อาจจะทำ H1 ให้ แต่อย่างที่บอกคือ H1 มีโควต้าจำกัดต้องจับสลากวัดดวงทุกปีไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ครับ ซึ่งตรงนี้บางทีบริษัทอาจไม่อยากรอ อีกวิธีที่เห็นคือไปสมัครกับบริษัทที่เป็น contractor ให้บริษัทเป้าหมายของเราก่อน แล้วพอทำไปซักพักถ้าบริษัทเป้าหมายเราถูกใจเค้าก็อาจทำเรื่อง H1 ให้ ถ้าไม่ได้ก็เป็น contractor ไปเรื่อย ๆ
  3. อันนี้เป็นวิธีปกติที่พบบ่อย คือหาทางมาเรียน พอจบแล้วก็หางาน (วีซ่า F1) หลังจากทำงานแล้วบริษัทจะสมัครวีซ่า H1 ให้ แต่ยังต้องลุ้นทุกปีอยู่ดี ถ้าโชคไม่ดีไม่ได้ H1 ก่อนที่เวลา 1 ปี + 17 เดือน จะหมดก็ไม่มีสิทธิ์ทำงานในสหรัฐ ตรงนี้ทางแก้คือถ้าบริษัทที่ทำอยู่มีสาขาที่นอกสหรัฐ บริษัทก็อาจย้ายเราไปที่สาขานั้นก่อนได้ จากนั้นค่อยกลับมาด้วย H1 หรือ L1 อีกครั้ง

อธิบายเพิ่มข้อ 3 นะครับ การมาเรียนในสหรัฐมีค่าใช้จ่ายเยอะพอสมควร ทางหนึ่งที่ช่วยได้คือการขอทุนจากมหาวิทยาลัยที่นี่ (มีทั้ง Research Assistantship, Teaching Asisstantship, และ Fellowship) ซึ่งปกติไม่มีข้อผูกพันหลังเรียนจบ ปกติการสมัครขอทุนจะสมัครพร้อมกับการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย การตัดสินใจจะแยกกัน เช่น มหาวิทยาลัยอาจจะรับเราเข้าเรียน แต่อาจจะให้หรือไม่ให้ทุนเราก็ได้

อีกวิธีคือขอทุนวิจัยจากอาจารย์มหาวิทยาลัยโดยตรงครับ โดยปกติอาจารย์แต่ละท่านมีทุนวิจัยอยู่แล้ว เราสามารถติดต่ออาจารย์ได้โดยตรงครับ เพราะอาจารย์ก็อยากหาเด็กเก่ง ๆ มาทำงานด้วยเหมือนกัน สิ่งที่ได้จากทุนส่วนใหญ่เป็นค่าเทอม (บางส่วนหรือทั้งหมด) และเงินเดือน ถ้าเราเลือกมหาวิทยาลัยที่ค่าครองชีพไม่สูง เราก็เรียนได้สบาย ๆ แถมมีเงินเก็บด้วยครับ

การสร้างโปรไฟล์ก่อนขอทุนเป็นเรื่องสำคัญครับ ก่อนขอทุน ถ้ามีผลงานวิจัยตีพิมพ์ออกมาในงานประชุมวิชาการหรือนิตยสารในระดับนานาชาติจะช่วยได้มาก ส่วนรางวัลการแข่งขันต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ รวมถึงโปรเจคที่น่าสนใจก็ช่วยได้เช่นกัน กรณีที่มีเงินทุนสามารถมาเรียนเองได้ (อาจจะทำงานเก็บเงินก่อน) ผมแนะนำให้หามหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้ ๆ แหล่งที่เราอยากทำงาน หรือมหาวิทยาลัยที่ดังมาก ๆ ไปเลย เพราะจะช่วยให้หางานได้ง่ายครับ

ฝากไว้สุดท้ายคือความเข้าใจจากครอบครัวและคนที่เรารักจะช่วยได้มากครับ ผมโชคดีที่มีทั้งสองอย่าง ขอบคุณครับ :-)

Blognone Jobs Premium