ประเด็นในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาบนโลกอินเทอร์เน็ตของไทยที่กล่าวถึงกันมาก คือเรื่องของมติคณะรัฐมนตรีที่ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำระบบ Single Gateway หรือกล่าวอย่างง่ายคือ รวม Gateway ของประเทศที่ออกไปต่างประเทศมาอยู่จุดเดียว เหตุผลหลักคือเรื่องของความมั่นคงเป็นหลัก และหลายภาคส่วนเริ่มต้นกล่าวถึงประเด็นเหล่านี้บ้างแล้ว
บทความขนาดสั้นชิ้นนี้จะให้มุมมองอีกด้านหนึ่งที่มาจากรัฐศาสตร์ แม้จะไม่นำเสนอว่าควรจะทำอย่างไร แต่จะเป็นฐานของความเข้าใจว่าเรากำลังเจออะไรอยู่ครับ
ทำไมรัฐถึงต้องการควบคุมอินเทอร์เน็ต?
เหตุผลประการสำคัญที่สุดคือเรื่องของ “ความไม่แน่นอน” เป็นหลัก ไม่ใช่รัฐไทยเท่านั้นที่เจอสถานการณ์เช่นนี้ แต่เป็นรัฐทั่วโลกที่ต้องเจอปัญหาเหล่านี้ สำหรับภาครัฐ อินเทอร์เน็ตถือเป็นพรมแดนที่ไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ กล่าวในภาษาทางวิชาการคือเป็นพื้นที่ซึ่งรัฐเข้าไปวางหลักการและกำหนดกติกาของสังคมแบบพื้นที่อื่นๆ ไม่ได้
ในกรณีของสหรัฐอเมริกา ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นในการถกเถียงในสภาคองเกรสอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่นการออกกฎหมายว่าด้วยเรื่องการควบคุมสื่อลามกอนาจารในเด็ก มีการถกเถียงกันว่า จะบังคับใช้กฎหมายอย่างไร แนวทางในการดำเนินการเป็นอย่างไร และขอบเขตอยู่ตรงไหน เพราะอินเทอร์เน็ตไม่มีขอบเขตและพรมแดนที่เราเห็นได้แน่นอน กล่าวอีกอย่างคือ ผู้ใช้งานสามารถกระโดดข้ามพรมแดนระหว่างรัฐไปมาได้อย่างสะดวกนั่นเอง
นอกจากนั้นแล้ว ความไม่แน่นอนในพื้นที่ของอินเทอร์เน็ต เป็นช่องทางให้มีการไหลของข้อมูลต่างๆ ซึ่งภาครัฐมองว่านี่เป็นเรื่องไม่พึงประสงค์ ตลอดจนถึงเป็นการท้าทายตัวโครงสร้างของรัฐ ซึ่งระบบของข้อมูลภาครัฐใช้แนวทางแบบ broadcast หรือการกระจายข้อมูลจากจุดหนึ่ง ผิดกับแนวทางอินเทอร์เน็ต ที่เป็นการกระจายข้อมูลระหว่างผู้ใช้งาน (self-communications) ระหว่างกัน การควบคุมแนวทางของข้อมูลจึงเป็นไปได้ยากกว่ากันมาก
ด้วยเหตุผลโดยคร่าวสองส่วนข้างต้น รัฐจึงอาศัยสิ่งที่เรียกว่า Raison d’Etat หรือ Reason of the State ที่แปลว่าเหตุผลของรัฐเข้ามาจัดการ Raison d’Etat มีความหมายว่า “เหตุผลทางการเมืองสำหรับการกระทำหรือตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความยุติธรรม ความเปิดเผย (openness) หรือความตรงไปตรงมานั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง” สำหรับนักวิชาการอย่าง Michel Foucault สิ่งที่รัฐตัดสินใจทำอิงอยู่บนหลัก “ความจำเป็น” ในการ “รักษาตัวรัฐให้อยู่รอด” มากกว่าสิ่งอื่นใด
ความหวาดกลัวของรัฐในข้อนี้ เมื่อมาปรับใช้กับแนวทางแบบ Single Gateway แล้ว ก็ย่อมทำให้รัฐรู้สึกได้ว่ามีความมั่นคง เพราะตัวเองใช้กลไกในการควบคุมการสื่อสารข้อมูล และสร้างความมั่นใจว่าข้อมูลที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบจากรัฐนั้น จะทำให้รัฐไม่ถูกท้าทาย ในเวลาเดียวกัน เมื่อถึงยามจำเป็น รัฐก็สามารถ “ตัดขาด” การเชื่อมต่อภายนอกได้ด้วยความรวดเร็ว
ทำไมรัฐไทยต้องสร้าง single gateway?
คำตอบที่ได้มีอยู่สองมิติ มิติแรกคือเรื่องของการสถาปนาอำนาจที่ต่อเนื่องมาจากแนวทางหลังรัฐประหารปี 2549 กับแบบที่สองคือเรื่องของฐานคิดแบบอำนาจนิยม
มิติแรกคือเรื่องของการสถาปนาอำนาจอย่างต่อเนื่อง ในบทความที่มีชื่อว่า “State Repression in Cyberspace: The Case of Thailand” ของ เอม สินเพ็ง อาจารย์ประจำภาควิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ระบุอย่างชัดเจนว่า รัฐไทยมีความพยายามในการสถาปนาอำนาจบนพื้นที่ของอินเทอร์เน็ต นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ความพยายามนี้ไม่ใช่แค่การปิดกั้นหรือเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นเหม่ต่อความมั่นคง หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสร้างองค์กร หน่วยงานสนับสนุน และโครงสร้าง อย่างเช่น การออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่อง แม้ในสมัยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุกรัฐบาลก็ตาม
แนวทางการสร้าง single gateway จึงเป็นเสมือนพัฒนาการของการทำระบบควบคุมหรือสั่งการ ซึ่งต่อเนื่องมาจากแนวทางสมัยรัฐประหารเมื่อปี 2549 ซึ่งวางรากฐานไว้อยู่แล้ว
มิติที่สองเป็นเรื่องของฐานคิดแบบอำนาจนิยม ดังจะเห็นได้จากในส่วนกรอบคำอธิบายเรื่อง “เหตุผลของรัฐ” สิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้สภาวะปัจจุบันที่อำนาจทั้งหมด ถูกรวบขึ้นไปที่ คสช. ย่อมทำให้การตัดสินใจสร้าง single gateway เป็นเรื่องที่มีความชอบธรรม เพื่อรักษาฐานอำนาจของรัฐ ซึ่งสอดคล้องแนวปฏิบัติหรือกรอบกฎหมายอย่างมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราวในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังสะท้อนแนวคิดของกองทัพที่ดูแลเรื่องของความมั่นคง
มิตินี้จึงมองได้ว่า การเกิดขึ้นของ single gateway จึงเป็นการแสดงตัวตนและสะท้อนแนวคิดของกองทัพบก ในฐานะผู้ใช้อำนาจ ณ ปัจจุบัน
ทั้งสองมิตินี้แม้อาจจะสะท้อนความจำเป็นในการสร้าง single gateway ได้ไม่หมด แต่น่าจะถือเป็นสองปัจจัยหลักในการที่ผลักดันภาครัฐให้ตัดสินใจเช่นนี้
ใช้งานได้จริง?
ปัญหาที่รัฐไทยต้องเผชิญอย่างหนึ่งนั่นก็คือ โครงสร้างของโลกอินเทอร์เน็ตหรือ Cyberspace นั้นมีโครงสร้างที่ยืดหยุ่นและไม่แน่นอนสูงมาก ในปัจจุบัน ไทยมี Gateway อินเทอร์เน็ตรวมแล้วเกินกว่า 10 ที่ (จากข้อมูลของ NECTEC) และโครงสร้างเหล่านี้จะ “ขยาย” หรือ “หดตัว” ก็ได้ตามแต่ที่จะต้องการ คำถามคือ มีหลักประกันอะไรหรือไม่ที่ภาครัฐจะมั่นใจได้อย่างไรว่า โครงสร้างอินเทอร์เน็ตจะไม่เปลี่ยนแปลง หากเกิดสมมติว่ามีภาคเอกชนต้องการแอบตั้ง gateway ตัวเองอย่างลับๆ และพร้อมที่จะ “สลับ” ระบบไปมา เพื่อหลบหลีกภาครัฐ
นอกจากนั้นแล้ว ภาครัฐเองยังต้องเผชิญหน้ากับกระบวนการเข้ารหัส ตลอดจนถึงการปลอมตัวตน (anonymity) เพื่อรับส่งข้อมูลต่างๆ อีกมาก ทั้งหมดนี้แม้เป็นเรื่องทางเทคนิค แต่ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายว่าจะสามารถ “ใช้ได้ผลจริง” หรือไม่ (policy execution and action) ในระดับปฏิบัติ นี่ยังไม่รวมถึงปริมาณข้อมูลมหาศาลที่จะต้องสร้างและทุ่มการลงทุนเพื่อทำให้เกตเวย์แห่งชาติเป็นจริงนั้น ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลและกำลังคนที่เยอะตามไปด้วย
ที่หนักที่สุดคือเรื่องของความมั่นคงของอินเทอร์เน็ตโดยรวม ทุกวันนี้ภาคเอกชนโดยเฉพาะธนาคารของไทย ล้วนแล้วแต่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของอินเทอร์เน็ตในการติดต่อสื่อสารแทบทั้งสิ้น การแขวนชะตากรรมของบริษัทหรือการดำเนินธุรกรรมไว้เพียงจุดเดียว หากเกิดเหตุการณ์ล่มไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเสียหายทางธุรกิจนับร้อยล้านบาททั้งสิ้น นโยบายนี้จึงเต็มไปด้วยปัญหา แม้ว่าการตัดสินใจจะวางรากฐานอยู่บนหลักความมั่นคงและเหตุผลของรัฐก็ตาม
ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ วิกฤตการณ์ความเชื่อมั่นและปัญหาทางการเมืองในระยะยาว เพราะเศรษฐกิจและการเมืองนั้น เชื่อมโยงกันอย่างชัดเจนและหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวอย่างง่ายที่สุด การสร้างความมั่นคงให้กับรัฐด้วยการสร้าง single gateway หาใช่การสร้างความมั่นคงและมั่นใจในระบบอินเทอร์เน็ตโดยรวมของประเทศไม่
ประชาชนอย่างเราต้องทำอย่างไร?
หากเงื่อนไขของประเทศเป็นประชาธิปไตย ภาคประชาชนจะต้องเข้าไปมีเสียงและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจครั้งสำคัญในครั้งนี้อย่างแน่นอน และเป็นสิ่งที่สมควรจะทำอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม ภายใต้เงื่อนไขและสภาวะปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามผลักดันของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรหลายฝ่ายที่อยู่กับภาครัฐ จะเห็นได้ว่า ความพยายามคัดค้านของภาคประชาชนแทบจะไร้ผล อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะถูกดำเนินคดีตามมาอย่างไม่จำเป็น
หนทางเดียวที่อาจจะพอทำได้ คือการภาวนาอย่างลึกๆ ว่าในที่สุดแล้วความเห็นนี้จะประสบปัญหาจนยากที่จะดำเนินการในความเป็นจริงดังที่ได้ชี้ให้เห็นแล้วในส่วนที่สาม ซึ่งทั้งหมดนี้ก็แล้วแต่ว่าท่านผู้อ่านจะมองเห็นประเด็นนี้อย่างไร
อ้างอิง
Castells, M. (2007). Communication, Power and Counter-power in the Network Society. International Journal of Communication(1).
Foucault, M., & Davidson, A. I. (2009). Security, Territory, Population (G. Burchell, Trans. M. Senellart, F. Ewald, & A. Fontana Eds. Paperback ed.). Basingstoke: Palgrave Macmillan.
Hobson, A. (2004). The Oxford Dictionary of Difficult Words: Oxford University Press.
Johnson, D. R., & Post, D. (1996). Law and borders: The rise of law in cyberspace. Stanford Law Review, 1367-1402.
Limudomporn, P. (2015). Why the Thai government hates online social networks: a theoretical approach examination. Paper presented at the The Sixth Annual Debating Internet Communities and Social Networks Conference, Online. http://networkconference.netstudies.org/2015Bentley/thailand-online-social-networks/
Sinpeng, A. (2013). State Repression in Cyberspace: The Case of Thailand. Asian Politics & Policy, 5(3), 421-440.
Sinpeng, A. (2014). The Cyber Coup. Fieldsights - Hot Spots, Cultural Anthropology Online. Retrieved April 2, 2015, from http://www.culanth.org/fieldsights/568-the-cyber-coup
Skinner, Q. (2010). The sovereign state: a genealogy. In H. Kalmo & Q. Skinner (Eds.), Sovereignty in Fragments. Cambridge: Cambridge University Press.
Villeneuve, N. (2006). The filtering matrix: Integrated mechanisms of information control and the demarcation of borders in cyberspace. First Monday, 11(1).