รีวิว Mi Pad - หน้าจอคมชัด ซีพียูทรงพลัง ในราคาย่อมเยา

by tekkasit
27 September 2015 - 17:19

ถ้าให้พูดถึงอุปกรณ์ในสายแอนดรอยด์ก็อาจจะมีหลายยี่ห้อในดวงใจใครหลายคน แต่ยี่ห้อหนึ่งที่มีชื่อเสียงในแง่ความคุ้มค่าคุ้มราคาก็คือ Xiaomi หรือชื่อที่ใช้ในตลาดตะวันตกคือ Mi ส่วนตัวผลิตภัณฑ์ที่ผมจะรีวิวนี้คือ Mi Pad ซึ่งพอดีเมื่อต้นเดือนสิงหาคมมีการลดราคาในสิงคโปร์ลงเหลือเพียง 249 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 6,300 บาท) ประกอบกับเจ้า Nook HD เดิมของผมก็มีปัญหากับ Wi-Fi อยู่เนืองๆ ก็เลยถือโอกาสจัดมาใช้ทดแทนของเดิม พอดีได้เริ่มใช้งานมาสักพัก จึงเอามาเขียนรีวิวให้อ่านกันครับ

คำเตือน: รูปเยอะมากนะครับ

แกะกล่อง


เจ้า Mi Pad มาในกล่องกระดาษไม่ฟอกสี ด้านหน้าปราศจากลวดลายใดๆ มีเพียงโลโก้ Mi ที่มุมขวาบน


ด้านหลัง ที่ด้านบนก็มีซีลปิด ด้านล่างก็คำบรรยายสเป็คเครื่องและอุปกรณ์ที่มาในกล่อง


เปิดกล่องก็จะพบ Mi Pad ที่ถูกห่อมาในพลาสติกนอนมาเต็มกล่อง


หลังจากหาทางเอาเจ้า Mi Pad ออกไปอย่างระมัดระวัง (เพราะกลัวตก -_-') ด้านล่างเป็นอะแดปเตอร์แปลงไฟห่อพลาสติกอยู่ ห่อกระดาษแข็งตรงกลางคือข้อมูลการรับประกัน และ microSD card ejector pin ใต้ห่อกระดาษลงไปจะเป็นสาย micro USB ซึ่งไม่ได้ถ่ายมา


อันนี้เป็นภาพของทั้งหมดในกล่อง ได้แก่ MiPad สีขาว, อะแดปเตอร์แปลงไฟแบบสองขา (Type C) ขนาด 2,000 mAh, ข้อมูลการรับประกัน, ใบแนะนำการใช้งานอย่างย่อ และ microSD card ejector pin ขาดแต่ micro USB 2.0 ที่ไม่อยู่ในรูป

ตัวเครื่อง


ความรู้สึกแรกคือเหมือน iPad Mini อย่างมาก ถ้าเปรียบกับสเป็คของ iPad mini 4 จะพบว่าความกว้างยาวเกือบเท่ากัน แต่เจ้า MiPad จะหนากว่าเพียงเล็กน้อยและหนักมากกว่ากันอยู่ 61 กรัม ซึ่งถ้าเอามาถือเทียบกันจะรู้สึกว่าหนักกว่าพอสมควร ถ้าถือมือเดียวเป็นเวลานานๆ ก็อาจจะมีเมื่อยนิดหน่อย แต่ถ้าถือสองมือเพื่ออ่านหนังสือ ท่องเว็บก็ไม่มีประเด็นอะไร


หน้าจอใช้เทคโนโลยี IPS ขนาด 7.9” ละเอียดสูงถึง 1536x2048 (326 PPI) คมชัดอย่างมาก หน้าจอสีสันสดใส ใช้ท่องเว็บ อ่านหนังสือ PDF ขนาดปกติได้อย่างสบาย

มุมบนซ้ายมีโลโก้ MI (ถ้าไม่มีโลโก้นี้ คนเห็นก็คงนึกว่า iPad mini) ไฟแสดงสถานะ เซนเซอร์วัดแสง (ambient light sensor) ตรงกลางเป็นกล้องหน้า 5 MP ด้านล่างใต้จอภาพจะมี capacitive button ที่เรืองแสงได้ ประกอบด้วยปุ่ม Recents, Home และ Back ลำดับ ตามมาตรฐาน Android ตัวเครื่องรองรับปกแม่เหล็ก


ด้านบนมีช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรทั่วไป


ด้านล่าง ตรงกลางมีช่อง micro USB 2.0 และรองรับ On-The-Go (OTG) แต่ไม่รองรับ MHL นะครับ


ด้านซ้าย มีปุ่มเปิด/ปิด และ volume rocker


ด้านขวาราบเรียบ มีเพียงถาดใส่ micro SD ที่รองรับได้สูงสุดถึง 128 GB (Mi Pad ไม่รองรับซิมการ์ดแต่อย่างใด)


บอดี้ด้านหลังเป็นพลาสติกสีขาวเรียบลื่นไม่ทิ้งลายนิ้วมือแต่ก็หยิบจับได้ง่ายไม่กลัวที่จะลื่นหลุด ขอบมนทั้งสี่ด้าน มุมบนซ้ายคือกล้องความละเอียด 8MP f/2.0 ไม่มีแฟลช รูเล็กๆทั้งสองตัวใต้เลนส์กล้องกับตรงกลางบนของเครื่องคือไมโครโฟน ส่วนด้านล่าง มีลำโพงสเตอริโออยู่ตอนล่างจำนวนสองตัว ซึ่งถึงแม้วางหงายเปิดเพลงฟัง แม้เสียงที่ได้ยินก็ค่อยลงไปบ้าง แต่ก็ยังดังชัดใช้ได้อยู่

หลังจากใช้งานอยู่เกือบสัปดาห์โดยใส่เคสแต่ไม่ติดฟิล์มกันรอย พบว่าถ้าใช้นอกห้องโดยเฉพาะกับแอพที่มีพื้นหลังมืดหน่อยจะสังเกตเงาสะท้อนได้ชัด ดังนั้นถ้าใครจะใช้นอกห้องเช่นเอาไปถ่ายรูปเล่นกลางแดดอาจจะต้องเร่งความสว่างเพิ่มขึ้นจากปกติเพื่อให้ใช้งานได้กลางแดด ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาของจอ LCD

ซอฟต์แวร์

ซอฟต์แวร์รุ่นที่ผมทดสอบคือ Global ROM v6.7.2.0 ที่อยู่บนพื้นฐาน Android 4.4.4 ครอบด้วย MIUI 6 ทับอีกที ซึ่งสำหรับคนที่ไม่เคยใช้ MIUI อย่างผมก็ต้องปรับตัวเล็กน้อย

ภาษา

รอม MIUI Global นั้นรองรับเมนูทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ดังนั้นคนที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษก็สามารถเลือกใช้ภาษาไทยได้ตามถนัดครับ

Home Screen

แนวคิดของ MIUI จะคล้ายกับ iOS กล่าวคือ ไม่มี app drawer มีแต่เพียง Home Screen เท่านั้น แอพทั้งหมดที่ติดตั้งจะปรากฏไอคอนตั้งแต่หน้าสองขึ้นไป และไอคอนบน Home Screen ต้องจัดเรียงเองด้วยมือเท่านั้น ไม่สามารถจัดเรียงไอคอนตามพจนานุกรมอัตโนมัติได้

ส่วนหน้าแรกซ้ายสุดใช้สำหรับแสดง widget เท่านั้น ผู้ใช้สามารถปรับแต่งได้โดยการกดปุ่ม Recents ค้างเพื่อเริ่มเข้าโหมดปรับแก้แล้วลาก widget จาก tray ข้างล่าง

Settings


เช็ตติ้งของแอพที่มากับ MIUI เช่น Contacts, Mail, Camera, Gallery, Notes, Calendar จะมารวมศูนย์อยู่ใน Settings กลางของระบบเหมือนกับใน iOS แต่โดยส่วนตัวซึ่งยังรู้สึกว่าไม่มีความแน่นอนนัก เพราะแอพของ MIUI ส่วนมากสามารถเข้าถึงหน้า Settings ของตัวเองได้จากในตัวแอพเอง แต่ก็มีหลายแอพเช่น Camera, Notes, Calendar ไม่สามารถเรียกหน้า settings/options ได้ในตัวแอพเลย ต้องเข้าถึงผ่านหน้า Settings กลางเท่านั้น ซึ่งบ่อยครั้งก็สับสนและไม่มั่นใจว่าแอพจะมีทางให้ปรับตัวเลือกไหม ต้องมาดูที่ Settings กลางอีกครั้งเพื่อให้มั่นใจ

เว็บเบราว์เซอร์

ตัว MIUI มี MIUI Browser ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บน Chrome ใช้งานได้ดี ไม่มีปัญหากับเว็บไซต์ภาษาไทย

คีย์บอร์ด

ตัว MIUI ไม่มีการพัฒนาคีย์บอร์ดขึ้นเอง ใช้ Google Keyboard ทำให้ไม่มีลูกเล่นสักเท่าไร ปรับแต่งไม่ได้ ข้อเสียที่เห็นได้ชัดคือ swift ภาษาไทยไม่ได้

การฟังเพลง


MIUI มีแอพ Music ที่สามารถเล่นเพลง MP3, M4A, FLAC ได้ แต่ทว่าแอพ Music ที่มาด้วยกันกลับมีฟีเจอร์ค่อนข้างจำกัดจนน่าหงุดหงิด


ตัว Music รองรับการแสดงรายชื่อเพลงในสองรูปแบบเท่านั้น ได้แก่เรียงตามชื่อเพลงรวมทั้งเครื่อง หรือเรียงตามชื่อศิลปินเท่านั้น ไม่มีตัวเลือกแบ่งตามโฟลเดอร์หรือตามประเภทของเพลง (genre)

ในแง่การแสดงรูปปกก็แปลกๆ ในลิสต์วิวไม่แสดงรูปปกอัลบัมที่ฝังในเพลง แต่เวลาเล่นเพลงกลับแสดงปกเพลงได้ และไม่แสดงเนื้อเพลงที่ฝังลงในไฟล์


ในแง่ภาษาไทย ระบบก็รองรับการแสดงชื่อเพลงภาษาไทยที่บันทึกไว้ได้ตามปกติ

ในแง่ลูกเล่นปรับแต่งเสียง MIUI ก็มีฟีเจอร์แต่งเสียง equalizer ก็มีให้ปรับแต่งได้ 7 band หรือจะเลือกใช้จากค่า preset จากโรงงาน เช่น Rock, Jazz, Classical เป็นต้น

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีให้เลือกโปรไฟล์ของหูฟัง ได้แก่

  • General
  • General In-Ear
  • Mi Earbuds
  • Mi In-Ear
  • Mi Piston-1
  • Mi Piston-2
  • Basic Edition
  • Standard Edition
  • Youth Edition
  • Mi Headphones

การดูหนัง


ตัว Mi Pad รองรับการเล่นไฟล์หนัง AVI, MP4, MKV ผ่านแอพ Video Player
แต่ปัญหา Video Player คือไม่มีไอคอน เวลาจะเปิดวิดีโอต้องเปิดผ่าน File Explorer ซึ่งอาจจะสับสนหน่อย ตัว Video Player ตัวเครื่องรองรับไฟล์วิดีโอที่เข้ารหัส (codec) แบบ MPEG4, H.263 และ H.264 ซึ่งครอบคลุมการใช้งานทั่วไป และรองรับการปรับแต่งเสียง (Enhanced audio) แต่ไม่รองรับซับไตเติล

กล้อง

ด้านล่างเป็นตัวอย่างรูปถ่ายจากกล้องนะครับ

โดยความรู้สึกส่วนตัว คิดว่าน่าเสียดายที่ MiPad มีฮาร์ดแวร์ที่ดีมีศักยภาพ แต่ฟีเจอร์แอพกล้องถ่ายรูปที่ติดเครื่องมาด้วยกลับแทบไม่มีลูกเล่นเลย มีเพียงโหมดหน้าสวย (highlight screen tone) สำหรับสาวๆ ก็เท่านั้น

พอใช้ไปสักครู่ พบข้อจำกัดของแอพ Camera ดังนี้

  • ไม่มี self-timer
  • ผู้ใช้ไม่สามารถกำหนดความละเอียดภาพการถ่ายรูป รูปที่ได้จะมีความละเอียดเดียวคือ 3264x2448, 1944x2592 สำหรับกล้องหลังและกล้องหน้าตามลำดับ ในสัดส่วน 4:3 เสมอ
  • มีโหมดถ่ายภาพน้อยมาก และไม่มีโหมดอื่นๆ เช่น Panorama, Night Mode, HDR, Slow motion เป็นต้น

ซึ่งถ้าเราไม่พอใจแล้วมีทางเลือกอื่นไหม ตอบแบบกำปั้นทุบดินคือ ก็ไปโหลดแอพกล้องตัวอื่นที่มีลูกเล่นให้ปรับแต่งได้มากกว่านี้ อย่าง Google Camera มาใช้แทนซะ จบ! (-_-')

Benchmark

AnTuTu

ผลทดสอบจาก AnTuTu Benchmark v5.7.1 จากการรัน 9 ครั้ง คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 48,500 ±1,300 และ 49,000 ±1,770 ในโหมด Balanced และ Performance ตามลำดับ ซึ่งต่างกันไม่มากนัก แต่ในการทดสอบเจอปัญหาคือ มักจะเฟลในระหว่างที่ทดสอบ 3D ในซีนที่สองเกือบครึ่งหนึ่งของการทดสอบทั้งหมด และในโหมด Performance ดูเหมือนจะเฟลมากกว่า ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าสาเหตุเกิดจากอะไร

3DMark – Ice Storm Unlimited

ผลจากการรันทดสอบ 5 ครั้ง คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 26,000 ±2,200 คะแนน

A1 SD Bench

จากการทดลอง 6 ครั้ง (สำหรับการทดสอบ Internal Memory ใช้วิธี Accurate – with reboot) ผลเฉลี่ยได้ดังนี้
RAM copy: 3,093.56 ±220 MB/s
Internal Memory Read: 143.00 ±2.84 MB/s
Internal Memory Write: 27.97 ±9.22 MB/s

การทดสอบการใช้พลังงาน

เงื่อนไขทั่วไป

  • เฟิร์มแวร์ที่ใช้ทดสอบคือ MIUI Global ROM v6.7.2.0
  • ต่อ Wi-Fi ไว้ตลอดเวลา, เปิด auto-sync, เปิด auto-brightness ปรับความสว่างไว้ที่ประมาณ 20%
  • ทำงานในโหมด Balanced

เล่นเพลง

เงื่อนไข: ชาร์จจนเต็ม 100% เล่นเพลง MP3 ที่บิตเรทประมาณ 256 Kbps ขึ้นไปผ่านแอพ Music ผ่านหูฟัง, เปิด Mi Sound Enhancement แบบ Mi Piston-2, ปิดหน้าจอตลอด เปิดมาเพื่อเช็กระดับแบตทุกๆสามสิบนาทีเท่านั้น

  • ผ่านไป 30 นาที แบตเหลือ 99%
  • พอเข้านาทีที่ 90 แบตเหลือ 98%
  • พอเข้านาทีที่ 150 แบตยังเหลือถึง 97%

เฉลี่ยใช้แบตชั่วโมงละประมาณ 1.5% ในการฟังเพลง MP3

เล่นหนัง

เงื่อนไข: ชาร์จจนเต็ม 100% เปิดวิดีโอโดยใช้แอพ Video Player ที่มากับเครื่อง เล่นหนัง MKV ความละเอียด1280 x 528 ผ่านหูฟัง, ปรับความสว่างหน้าจอไว้ที่ 60% เปิด Mi Sound Enhancement แบบ Mi Piston-2, เปิดหน้าจอไว้ตลอด


พบว่าใช้แบตไปประมาณ 7% ต่อการดูหนังหนึ่งชั่วโมง หรือถ้าแบตเต็มจะสามารถดูหนังต่อเนื่องได้อย่างน้อย 14 ชั่วโมง

การชาร์จ

ทดสอบโดยเริ่มต้นที่ 93% ใช้ที่ชาร์จของ Xiaomi ที่ให้มา ปิดไวไฟ ปิดหน้าจอไว้ตลอด เปิดมาดูอ่านค่าแบตทุกๆ 1-2 นาที


สรุปได้ว่าเครื่องชาร์จ 50% ได้ในเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

ประสบการณ์การใช้งาน

  • ฟีเจอร์ auto brightness จัดแสงให้ค่อนข้างถูกใจ แม้เข้าที่มืดก็รู้สึกไม่สว่างจ้าเกิน: ผมเคยใช้ Galaxy S4 รู้สึกได้ชัดเจน ถึงแม้กำหนด auto brightness ไว้ เวลาเข้าที่มืด แสงจากจอก็สว่างจ้าเกิน เรียกว่าหยิบมือถือขึ้นมาดูในห้องนอนตอนปิดไฟแล้ว ตาแทบบอด จนต้องหาแอพมาช่วยปรับแสงแทน
  • การใช้ Mi Pad ถ่ายรูปดีในเวลากลางวัน แสงเยอะ เมื่อแสงน้อยจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากพอสมควร เหตุผลคือ ตัว Mi Pad ไม่มีเซนเซอร์ที่ไวต่อแสงมาก อีกทั้งตัวเครื่องมีขนาดใหญ่ผนวกกับการที่ไม่มี self-timer ทำให้เวลาจะถ่ายรูปจะต้องเอื้อมนิ้วไปกดปุ่ม ทำให้กล้องจะไหวเล็กน้อย ภาพที่ได้อาจจะไม่คมชัด แต่ถ้าไปใช้แอพอื่นที่รองรับ self-timer เสีย ก็อาจจะบรรเทาอาการนี้ได้ระดับหนึ่ง
  • Mi Pad ขาดแอพ built-in จำนวนมาก: หลังจากค้นคว้าหาข้อมูลในเน็ตก็ยิ่งรู้สึกว่า Mi Pad เป็นลูกเมียน้อย เพราะยังใช้ MIUI v6 อยู่ ในขณะที่อุปกรณ์ตัวอื่นๆ มี MIUI v7 ให้ใช้แล้ว และอีกทั้ง Mi Pad ยังขาดฟีเจอร์จำนวนมากที่ปกติมักจะติดมากับ MIUI ในเครื่องรุ่นอื่นๆ ได้แก่ Security Center, Themes, Scanner, Clock (Alarm, Timer, Count-down), Voice Recorder, (Barcode) Scanner และ Compass คือถามว่าเป็นปัญหาใหญ่ไหมก็คงตอบว่าไม่ เพราะฟีเจอร์เหล่านั้นหลายตัวสามารถหาทดแทนได้จาก Google Play Store แต่รู้สึกหงุดหงิดและน่าสงสัยว่าทำไมถึงตัดทิ้งหรือไม่พัฒนาลงมาในรอม MiPad ทำไม
  • ไม่สามารถย้ายแอพขึ้นบน SD ได้ เพราะเครื่องที่ผมได้มาเป็นรุ่น 16 GB ซึ่งถ้าลงรอม Global จะเหลือพื้นที่ใช้งานจริงเหลือให้ใช้ได้ราว 12 GB นั้น อาจจะเป็นข้อจำกัดในการใช้งานจริง การติดตั้งเกมใหญ่ๆ หลายๆ เกม อาจจะประสบปัญหาพื้นที่ไม่พอใช้งานได้
  • ส่วนเรื่องความปลอดภัย อัพเดตล่าสุดผมรอดจาก Stagefright ครบทุกตัวแล้วครับ

รายละเอียดทางเทคนิค

  • หน้าจอ IPS 7.9 นิ้ว ความละเอียด 1536x2048 @326 PPI อัตราส่วนหน้าจอ 4:3 กระจก Gorilla Glass 3
  • ซีพียู NVIDIA Tegra K1 ARM Cortex-A15 Quad-core 2.2 GHz พร้อมจีพียู Kepler GPU 192 cores
  • แรม 2 GB
  • พื้นที่เก็บข้อมูล 16 GB (ใช้ได้จริง 12.13 GB)
  • รองรับ microSD สูงสุด 128 GB
  • Wi-Fi 802.11 a/b/g/n/ac รองรับทั้ง 2.4 GHz และ 5 GHz
  • Bluetooth 4.0
  • มีเซนเซอร์ Gyroscope, Accelerometer, Digital Compass, Ambient Light sensor, Hall Sensor
  • กล้องหลัง 8 MP เซนเซอร์ BSI (3264x2448) f/2.0 รองรับการถ่ายวิดีโอ 1080p (1920x1080) และกล้องหน้า 5 MP
  • แบตลิเทียมโพลิเมอร์ขนาด 6700 mAh เปลี่ยนไม่ได้
  • ขนาด 20.21 x 13.54 x 0.85 เซนติเมตร น้ำหนัก 360 กรัม

สรุป

ข้อดี

  • หน้าจอที่ถือว่าละเอียดที่สุดในกลุ่มเครื่อง 7.9 นิ้ว ในเวลานี้
  • รองรับ microSD
  • รองรับ Google Play สามารถใช้แอพที่อยู่บน Google Account ได้ทันที
  • ราคาถูกเมื่อเทียบกับสเป็คฮาร์ดแวร์ระดับนี้
  • จากประวัติมีแนวโน้มเชื่อว่าน่าจะมีการอัพเดตซอฟต์แวร์ที่สม่ำเสมอ

ข้อเสีย

  • ไม่มีแฟลช, NFC, GPS, infrared, ไม่รองรับ SIM ไม่รองรับ 2G/3G/4G เหมาะกับการนั่งใช้อยู่กับบ้าน หรือใช้ร่วมกับมือถือเพื่อดึงดาต้า 3G/4G
  • ไม่รองรับ HDMI/MHL
  • แอพระบบ MIUI ที่มาสำหรับ MiPad ค่อนข้างมีฟีเจอร์จำกัดมาก
  • น้ำหนักอาจจะมากไปนิดหน่อย สำหรับมาตรฐานปัจจุบัน
  • ถ้าเล่นเกมหนักๆ อาจจะร้อนหน่อยได้
Blognone Jobs Premium