เราหลายๆ คนในเว็บนี้ที่อ่านนิยายวิทยาศาสตร์กันเป็นประจำน่าจะเคยได้ยินชื่อของคอมพิวเตอร์ควันตัม เช่นในเรื่อง Digital Fortress ของแดน บราวน์นักเขียนผู้โด่งดังกันมาบ้างแล้ว และคงคิดสงสัยกันว่าในวันหนึ่งแล้วโลกของเราจะล่มสลายลงจากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ควันตัมนี้หรือไม่
ในบลอคล่าสุดของ Bruce Schneier นักเขียนและที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ได้ระบุถึงเรื่องนี้อย่างน่าสนใจว่าแม้ว่าคอมพิวเตอร์ควันตัมนั้นจะมีความสามารถในการแยกตัวประกอบ (Factorize) ได้ด้วยความเร็วที่สูงมาก ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วระบบการเข้ารหัสแทบทั้งหมดในโลกตอนนี้อาศัยความจริงพื้นฐานที่ว่าคอมพิวเตอร์ไม่สามารถแยกตัวประกอบได้ในเวลาที่สมเหตุผล แต่ต้องใช้เวลามากเป็น Exponential ดังนั้นหากคอมพิวเตอร์ควันตัมสามารถแยกตัวประกอบได้ในภายในเวลาที่รวดเร็วแล้ว นั่นก็หมายความว่าการถอดรหัสโดยไม่รู้แม่กุญแจก็สามารถใช้เวลาสั้นๆ ถอดรหัสได้เช่นกัน
แต่บทความในบลอคนี้ก็พูดถึงข้อจำกัดของคอมพิวเตอร์ควันตัมไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้คอมพิวเตอร์ควันตัมจะแยกตัวประกอบได้เร็วมาก แต่เทคโนโลยีที่จะสร้างคอมพิวเตอร์ควันตัมที่ซับซ้อนพอที่จะใช้ถอดรหัสที่เข้าไว้อย่างแน่นหนาในทุกวันนี้นั้นจำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกยาวนาน โดยยกตัวอย่างการเข้ารหัส 4096 บิตที่หากการพัฒนาคอมพิวเตอร์ควันตัมทำได้อย่างต่อเนื่องเท่าๆ กับคอมพิวเตอร์ซิลิกอนปรกติแล้ว จะใช้เวลาถึง 45 ปีทีเดียว
อย่างไรก็ตามตอนนี้เองก็เริ่มมีการวิจัยถึงการเข้ารหัสแบบใหม่ๆ ที่สันนิษฐานว่าจะมีการสร้างคอมพิวเตอร์ควันตัมที่ซับซ้อนมากกันแล้ว
บทความนี้อ้างถึงบทความในนิตยสาร Scientific American เล่มล่าสุดที่พูดถึงคอมพิวเตอร์ควันตัมพื้นฐานไว้อย่างน่าสนใจ พอดีผมได้อ่านแล้วแนะนำให้ทุกคนไปหามาอ่านกันครับ ส่วนหนังสือของ Bruce Schneier นั้นมีแปลเป็นภาษาไทยแล้วเล่มหนึ่งคือ "ความลับและกลลวงในโลกเน็ตเวิร์ค" เป็นหนังสือที่พูดถึงระบบความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ไว้แบบคร่าวๆ โดยไม่ต้องอาศัยความรู้คณิตศาสตร์ชั้นสูง แนะนำให้อ่านอีกเช่นกัน
ที่มา - Emergent Chaos