Single Gateway เป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง

by mk
1 October 2015 - 14:31

ประเด็นเรื่อง Single Gateway กลายเป็นประเด็นร้อนของสังคมไทยในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังรัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายสร้าง Single Gateway ด้วยเหตุผลเรื่อง "ความมั่นคง"

อินเทอร์เน็ต ถูกออกแบบมาด้วยสถาปัตยกรรมแบบกระจายศูนย์ ไม่มีจุดกลางมาตั้งแต่ต้น ทนทานต่อการถูกทำลายจุดใดจุดหนึ่งแล้วล่มไปทั้งระบบ (จริงๆ แล้วอินเทอร์เน็ตหรือ ARPANET ออกแบบมาให้ทนทานต่อสงครามนิวเคลียร์ ในกรณีสหรัฐเปิดสงครามกับโซเวียต และประเทศถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธนิวเคลียร์)

ภาพประกอบ: แผนที่อินเทอร์เน็ตจากโครงการ Opte

สถาปัตยกรรมแบบโครงข่าย และวัฒนธรรมความเสรีของอินเทอร์เน็ต กลายเป็นโลกที่ซ้อนทับกับสภาพสังคมในโลกจริง (ที่อาจไม่เสรีเท่ากับในเน็ต) ผลจึงออกมาเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่ท่องไปอย่างเสรีในโลกไซเบอร์ และกลุ่มสภาพสังคมเดิม (status quo) ที่ดำรงมาตั้งแต่โลกก่อนมีไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันเชิงสังคมอย่างศาสนา วัฒนธรรม ไปจนถึง "รัฐ" ในฐานะผู้ปกครองสังคมนั้น

ตัวอย่างความขัดแย้งระหว่างโลกอินเทอร์เน็ตกับโลกความเป็นจริงมีให้เห็นมากมายนับไม่ถ้วน สิ่งที่อาจดูปกติบนเน็ตที่พรมแดนพร่าเลือน กลับกลายเป็นเรื่องต้องห้าม (taboo) ในบางสภาพสังคม

ความพยายามของรัฐในการควบคุมอินเทอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องใหม่ หน่วยงานภาครัฐทั่วโลกพยายามเข้ามา "คุม" อินเทอร์เน็ตเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน เราจึงเห็นข่าวความพยายามลักษณะนี้ของรัฐบาลทั่วโลก การบล็อคหรือปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงอาจกลายเป็นสิ่งธรรมดาที่พบได้ทั่วไป แต่วิธีการควบคุมอื่นๆ ยังมีเรื่องการดักฟังหรือสกัดจับข้อมูล ดังที่เกิดมาแล้วในกรณี NSA ของสหรัฐ หรือ GCHQ ของสหราชอาณาจักร ที่ดักจับข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต "ที่เชื่อได้ว่า" เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐนั้น (รายละเอียดในบทความ ทำไมรัฐไทยถึงต้องทำ Single Gateway: มุมมองจากรัฐศาสตร์ โดย nrad6949)

ในกรณีของประเทศไทยเอง ความพยายามควบคุมอินเทอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เราคงจำกรณีการบล็อค YouTube ในปี 2007 ที่เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกได้ หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีความพยายามด้านการบล็อค "เว็บไม่เหมาะสม" อีกนับไม่ถ้วน (ไม่เว้นแม้แต่ปริศนาดำมืดอย่างเว็บหนังสือพิมพ์ Daily Mail ว่าถูกบล็อคจากเหตุผลใด)

เราอาจมองว่าโครงการ Single Gateway ถือเป็นพัฒนาการขั้นล่าสุดของความพยายามควบคุมอินเทอร์เน็ตของรัฐไทย ซึ่งในแง่การนำไปปฏิบัติได้จริง เรื่องนี้ยังเป็นที่น่ากังขา ว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน

คำอธิบายของรัฐไทยในการผลักดัน Single Gateway ครั้งนี้มีด้วยกัน 2 ข้อใหญ่ๆ

อย่างแรกคือ "ความมั่นคง" ซึ่งอธิบายด้วยเหตุผลทางรัฐศาสตร์ข้างต้น เหตุผลข้อนี้ถูกหักล้างได้อย่างง่ายดาย เพราะ "ความมั่นคงของรัฐ" ไม่เคยตรงกับ "ความมั่นคงของประชาชน" อยู่เสมอมา และในภาวะที่ไม่มีภัยคุกคามใดที่จับต้องได้ (อีกทั้งนิยามของ "ภัยคุกคาม" ในปัจจุบัน เปลี่ยนรูปไปมากจากภัยคุกคามในสมัยสงครามเย็น ที่ดูเหมือนว่ารัฐไทยยังติดกรอบวิธีคิดในยุคนั้นอยู่)

อย่างที่สองคือ "ช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ" เหตุผลข้อนี้อาจดูน่าฟังกว่า แต่ถ้านำหลักการทางเศรษฐศาสตร์มาอธิบายแล้ว การลดต้นทุนที่ดีที่สุดคือเปิดให้ตลาดมีสภาพการแข่งขันที่สมบูรณ์ (Laissez-faire ในความหมายทางเศรษฐศาสตร์) ต่างหาก ซึ่งในปัจจุบันสภาพตลาดอินเทอร์เน็ตไทย ถือว่ามีสภาพการแข่งขันที่ดีในระดับหนึ่ง บริการอินเทอร์เน็ตภาคเอกชนมีการแข่งขันอย่างสูง ส่งผลให้อินเทอร์เน็ตไทยพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ในแง่อัตราการส่งข้อมูลที่เพิ่มขึ้น และราคาที่ลดลงมากในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมา (รายละเอียดในบทความ พัฒนาการการเปิดเสรีอินเทอร์เน็ตไทย โดย @icez)

หลักการ "เหมาโหลถูกกว่า" เป็นเรื่องจริง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการแชร์เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ของโอเปอเรเตอร์หลายค่ายในไทย ที่ช่วยลดต้นทุนซ้ำซ้อนลงได้

แต่เราต้องไม่ลืมว่าหลักการนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า เอกชนต้องมีสิทธิเลือกรวมตัวกันเพื่อลดต้นทุน (consolidation) อย่างเสรีด้วย ไม่ใช่ถูกบีบบังคับให้รวมตัวกันด้วยเหตุผลอื่น แล้วใช้ข้ออ้างเรื่องลดต้นทุน

เราทราบกันดีว่าหน่วยงานรัฐทั่วโลกไม่สามารถดำเนินธุรกิจหรือบริการได้มีประสิทธิภาพเท่ากับเอกชน ดังนั้นถ้าเอกชนถูกบีบให้รวมกันเช่าช่องสัญญาณเพื่อลดต้นทุนเข้าจริงๆ เราก็สามารถคาดเดาได้ไม่ยากว่า คุณภาพของบริการจะลดลงกว่าต้นทุนอีกหลายเท่า

โดยสรุปแล้ว การนำช่องทางเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกลับมารวมศูนย์ ตามแนวคิด Single Gateway จึงขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับธรรมชาติของอินเทอร์เน็ต ทั้งในแง่เทคนิคและการแข่งขันเชิงธุรกิจ

ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเทคนิคจำนวนมากจะมองว่าโครงการนี้ทำให้เกิดจริงได้ยาก แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นมาก คือ วิธีคิด (mindset) ของรัฐไทยต่ออินเทอร์เน็ต ที่ไม่ว่ารัฐบาลยุคสมัยใด (รวมถึงรัฐบาลจากการเลือกตั้ง) หรือมุมมองระดับข้าราชการประจำ ต่างก็มีมุมมองว่าอินเทอร์เน็ตเป็น "ภัย" ต่อสังคมที่ต้องถูกควบคุมด้วยกันทั้งสิ้น

ต่อให้โครงการ Single Gateway ถูกยกเลิกไป ด้วย mindset ลักษณะนี้ ในอีกไม่ช้า เราสามารถพยากรณ์ได้เลยว่ารัฐไทยจะต้องมี "ไอเดียใหม่" ในการควบคุมอินเทอร์เน็ตโผล่มาอีกเรื่อยๆ

ซึ่งเรารู้ๆ กันอยู่ว่ามันไม่เวิร์คหรอก

คำถามต่อมาคือเราควรรับมือกับอินเทอร์เน็ตอย่างไร?

ยอมรับ และสร้างประโยชน์จากมันครับ

อินเทอร์เน็ตกลายเป็นโครงข่ายระดับโลกที่อยู่เหนือสภาพการควบคุมของรัฐใด (แม้แต่สหรัฐอเมริกาก็ตามที) พลังของอินเทอร์เน็ตยิ่งใหญ่เกินกว่าที่โครงสร้างสังคมใดจะเปลี่ยนแปลงมันได้

สังคมไม่เสรี พยายามควบคุมอินเทอร์เน็ต

แต่สุดท้ายแล้ว

อินเทอร์เน็ตต่างหาก ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้เสรี

Blognone Jobs Premium