กสทช. ยืนยัน เดินหน้าเปิดประมูลคลื่น 900 MHz ถ้าไม่มีคำสั่งจากศาลปกครอง หรือ คสช.

by magnamonkun
6 October 2015 - 08:08

จริงๆ ข่าวนี้มาก่อนข่าวแสดงจุดยืนของทีโอที (เพราะเป็นข่าวเดียวกันกับข่าวประกาศผู้ยื่นซองเข้าประมูลคลื่น 1800 MHz) เลยนำเอามาเสนอในอีกมุมของกรณีพิพาทในเรื่องนี้ครับ

คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เผยว่า จากกรณีพิพาทเรื่องที่ สหภาพฯ ทีโอที ต้องการล้มประมูลเพื่อเอาสิทธิ์การถือครองคลื่นความถี่ 900 MHz กลับมาเป็นของทีโอทีนั้น กสทช. ขอยืนยันว่าจะดำเนินการเปิดประมูลคลื่น 900 MHz ต่อไปตามแผนงานที่ได้วางไว้ ซึ่งถ้าไม่มีคำสั่งจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ ศาลปกครอง ก็จะไม่หยุดดำเนินการในเรื่องนี้

ทั้งนี้ คุณฐากรยังระบุว่า หลังจากหมดสัมปทานกับทีโอทีแล้ว กสทช. ได้ออกข้อกำหนดให้เอไอเอสทำการดูแลลูกค้าในระบบต่อไป และทำการจ่ายค่าเช่าใช้โครงข่ายให้กับ กสทช. ต่อจนกว่าจะได้ผู้ถือครองคลื่นความถี่รายใหม่ ซึ่งกรณีนี้จะเหมือนกับคลื่น 1800 MHz ที่ยังอยู่ในระหว่างการคุ้มครองเช่นกัน

นอกจากนี้ คุณฐากรยังได้พูดถึงกรณีที่มีกลุ่มคนที่ต้องการล้มประมูลรอบนี้ด้วย ซึ่งคุณฐากรได้ถามกลับในเรื่องนี้ด้วยหลังจากที่ได้รับหนังสือจากทีโอที (ที่ทีโอทีบอกว่าไม่มีความคืบหน้า) ว่าการนำคลื่นกลับไปบริหารเองนั้น จะทำให้คลื่น 900 MHz ที่ต้องการเปิดให้บริการ 2G นั้นมีสภาพที่เหมือนกับที่ทีโอทีให้บริการ 3G จนอยู่ในสภาวะโคม่าในปัจจุบันเมื่อเทียบกับการประมูลคลื่นด้วยหรือไม่

อีกทั้งคุณฐากรยังเผยคร่าวๆ ว่า สิ่งที่ทีโอทีต้องการนั้น ไม่ได้สร้างผลประโยขน์ให้กับประเทศด้วย และบอกถึงผลเสียที่ประเทศจะได้รับออกมาดังนี้ครับ

  1. ทำให้รัฐฯ เสียโอกาสในการสร้างรายได้เข้าประเทศจากการประมูลคลื่นความถี่กว่าหลายหมื่นล้านบาท
  2. อุตสาหกรรมขาดโอกาสในการลงทุนการสร้างโครงข่ายเนื่องจากปิดกั้นการถือครองคลื่นความถี่ 900 MHz (เพราะถ้าทีโอทีลงทุนเอง ค่าใช้จ่ายจะกลายเป็นหนี้สาธารณะและสร้างภาระเพิ่มเติมให้กับรัฐบาล) รวมถึงปิดกั้นโอกาสในการจ้างงานในตำแหน่งใหม่ๆ กว่าหลายพันตำแหน่ง
  3. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจะขาดโอกาสในการขยายพื้นที่บริการบนโครงข่ายใหม่ อันจะสร้างความเสียหายเป็นมูลค่ากว่าหลายแสนล้านบาท และปิดกั้นการสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ กว่าหมื่นตำแหน่ง
  4. ก่อให้เกิดปัญหาการกักตุนคลื่นความถี่ เพราะปัจจุบันทีโอทีถือครองคลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz ที่เปิดให้บริการ 3G อยู่ และมีจำนวนลูกค้าอยู่ที่ 400,000 ราย, คลื่น 1900 MHz จำนวน 15 MHz (ของเดิมจาก Thai Mobile) และคลื่น 2300 MHz จำนวน 64 MHz ที่ไม่ได้ใช้งาน ซึ่งสองคลื่นหลังสามารถนำมาเปิดให้บริการ 4G TD-LTE ได้ด้วย
  5. เกิดความแตกต่างในเรื่องค่าให้บริการ ซึ่งจะเกิดความเหลื่อมล้ำในการให้บริการและการแข่งขัน

ที่มา - ผู้จัดการออนไลน์

Blognone Jobs Premium