ศาลสูงยุโรปห้ามบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐส่งข้อมูลผู้ใช้กลับสหรัฐ

by nismod
7 October 2015 - 10:06

คณะตุลาการของศาลยุติธรรมยุโรปหรือ ECJ ได้มีคำพิพากษาให้ข้อตกลง เซฟ ฮาร์เบอร์ (Safe Harbour) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ว่าด้วยการอนุญาตให้บริษัทต่างๆ ของสหรัฐ สามารถส่งข้อมูลส่วนตัวพื้นฐานของผู้ใช้และลูกค้าชาวยุโรป กลับไปยังเซิร์ฟเวอร์ ณ ประเทศแม่ มีผลเป็นโมฆะ

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่นักศึกษาด้านกฎหมายชาวออสเตรีย ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมาธิการด้านการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของรัฐบาลไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานเฟซบุ๊คในยุโรป ให้ตรวจสอบว่าเฟซบุ๊คว่าส่งข้อมูลใดกลับไปยังสหรัฐบ้าง แต่ทางการไอร์แลนด์ปฏิเสธคำร้องดังกล่าว โดยอ้างอำนาจของข้อตกลงเซฟ ฮาร์เบอร์ ทำให้นักศึกษาด้านกฎหมายผู้นี้ยื่นเรื่องต่อศาลยุติธรรมยุโรปแทน

คำตัดสินของคณะตุลาการครั้งนี้ ทำให้บริษัททั้งหลายของสหรัฐ ไม่เฉพาะบริษัทด้านเทคโนโลยี ที่มีการส่งข้อมูลของลูกค้าและผู้ใช้ในยุโรปกลับไปยังประเทศแม่ ต้องเผชิญกับข้อกฎหมายด้านการควบคุมข้อมูลของแต่ละประเทศโดยตรง เนื่องจากพิพากษาของ ICJ ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อได้ ซึ่งอาจส่งผลให้บริษัทที่มีข้อมูลของผู้ใช้เป็นจำนวนมหาศาลอย่างเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์หรือแม้แต่กูเกิล อาจจะต้องตั้งเซิร์ฟเวอร์ในยุโรปแทน

ทั้งนี้ข้อตกลงเซฟ ฮาร์เบอร์ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) กับรัฐบาลสหรัฐ ได้ก่อให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างหนักในยุโรป เนื่องจากเกรงว่าข้อมูลของชาวยุโรปที่ถูกเก็บอยู่ในประเทศสหรัฐนั้น อาจไม่รอดจากการถูกสอดแนม นับตั้งแต่นายเอ็ดเวิร์ด สโนวเดน อดีตเจ้าหน้าที่ NSA ของสหรัฐ เปิดโปงระบบโครงข่ายสอดแนมของรัฐบาลสหรัฐจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลกเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ที่มา - Business Insider

Blognone Jobs Premium