ปกติเราอาจเคยเห็นหุ่นยนต์รูปร่างพิลึกแบบหกขาหรือสี่ขามาแล้ว แต่ก็ยังวิ่งเดินโดยที่มีมนุษย์ควบคุมอยู่ดี และปัจจุบันในเมืองใหญ่ๆ ส่วนมากก็มีพวกโดรนขนาดเล็กบินร่อนเต็มไปหมด ต่อจากนี้ทั้งสองก็จะรวมตัวกันแล้วครับ
จากการทดสอบใหม่ได้พยายามนำทั้งสองมาทำงานร่วมกัน ช่วยให้หุ่นยนต์ภาคพื้นดินมีความเหนือชั้นมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการเดินทางไปยังพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคยได้ โดยใช้โดรนที่เปรียบเสมือนตาทิพย์บนท้องฟ้า
หุ่นยนต์ตัวนี้สร้างโดยทีมงานวิจัยที่ ETH Zurich ระบบทำงานโดยการปล่อยให้โดรนบินนำหน้าไปเพื่อทำเส้นทางแผนที่ โดยสร้างแผนที่ระดับความสูงของสภาพแวดล้อมที่มีความละเอียดสูง หลังจากสร้างแผนที่เสร็จแล้ว ข้อมูลจะถูกส่งไปยังหุ่นยนต์ภาคพื้นดิน ซึ่งจะช่วยให้หุ่นยนต์สร้างเส้นทางและเดินทางได้อย่างง่ายดายแม้มีสิ่งกีดขวางรอบด้านก็ตาม รวมถึงเดินทางบนพื้นผิวขรุขระและลาดชันได้อย่างสบาย
เนื่องจากมีเซ็นเซอร์ออนบอร์ดที่ทำการวัดระยะด้วยเลเซอร์ ช่วยให้หุ่นยนต์ปรับปรุงข้อมูลภาคพื้นดินให้สัมพันธ์กับตำแหน่งของตัวเองได้ดีขึ้น จึงทำให้หุ่นยนต์สามารถเดินทางเองได้โดยไม่ต้องพึ่งมนุษย์เลยก็ว่าได้ แนวคิดนี้เองทำให้หุ่นยนต์ประสบความสำเร็จในการสำรวจเส้นทางและเดินทางในที่ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อนได้ดี
ดูที่วิดีโอ (ด้านบน) แสดงให้เห็นถึงการเดินทางของหุ่นยนต์สี่ขาถึงแม้จะยังเดินได้ช้า แต่ก็ยังเดินทางได้ถูกต้องและน่าประทับใจมาก
หากใครเคยดูภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 2000 เรื่อง Mission to Mars จะมีหุ่นยนต์ตัวเด่นของเรื่องที่มีความสามารถคล้ายกันนี้อยู่ ในเนื้อเรื่องหุ่นยนต์ All-terrain (Amme) ส่งโดรนขนาดเล็กบินไปสำรวจสภาพแวดล้อมบริเวณใกล้เคียง
แน่นอนครับว่าหุ่นยนต์ของ ETH Zurich ยังห่างไกลเรื่องความสามารถอีกมากเมื่อเปรียบเทียบกับหุ่นยนต์ในภาพยนตร์ แต่อย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หากดูลักษณะของหุ่นยนต์ตอนนี้ เทคโนโลยีจากที่เป็นแนวคิดกลายเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ เหลือเพียงแค่เพิ่มประสิทธิภาพให้โดรนกับหุ่นยนต์ทำงานร่วมกันให้ดียิ่งขึ้นในอนาคตนั่นเอง
ที่มา: mashable