ครม. เห็นชอบ มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับ Venture Capital ด้านเทคโนโลยี

by mk
14 October 2015 - 20:55

การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 มีมติเห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เรื่องมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) สำหรับการลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการประกอบธุรกิจ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

  • กรณีขององค์กร Venture Capital จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินปันผล/รายได้จากการโอนหุ้นที่รับจากบริษัทเป้าหมาย นาน 10 รอบบัญชี (10 ปี)
  • กรณีของผู้ร่วมลงทุนกับ Venture Capital ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา/ภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินปันผล/รายได้จากการโอนหุ้นที่จ่ายโดยบริษัท VC

เงื่อนไขของการยกเว้นภาษี

บริษัทเป้าหมาย

บริษัทเป้าหมายที่จะไปลงทุน ต้องเป็น "บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งประกอบกิจการที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการทำธุรกิจไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และไม่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย"

บริษัทที่เข้าข่าย "กิจการที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในการทำธุรกิจ" จะต้องใช้เทคโนโลยีกลุ่มที่ สวทช. กำหนด, อยู่ในอุตสาหกรรม 10 กลุ่มตามรายชื่อ, และต้องขอการรับรองจาก สวทช. ด้วย

  1. อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร
  2. อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงานผลิตพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด
  3. อุตสาหกรรมฐานเทคโนโลยีชีวภาพ
  4. อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข
  5. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
  6. อุตสาหกรรมวัสดุก้าวหน้า
  7. อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับ
  8. อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
  9. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ และบริการสารสนเทศ
  10. อุตสาหกรรมฐานการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมหรืออุตสาหกรรมใหม่

กิจการร่วมลงทุน

  • ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วขั้นต่ำ 20 ล้านบาท และกรณีทรัตส์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน ต้องมีมูลค่าเงินทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท
  • จดแจ้งการเป็นกิจการเงินร่วมลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 หรือ
  • เป็นทรัสต์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559

รายละเอียดของการงดเว้นภาษีมีเงื่อนไขย่อยๆ อีกเยอะ โปรดอ่านข้อความต้นฉบับเพื่อความชัวร์ครับ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดเบื้องหลังมาตรการนี้ว่า

“ตั้งแต่อดีตพูดกันเรื่องเวนเจอร์แคปปิตอลมานานมากแต่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ยาก เพราะดีมานด์ในขณะนั้นยังไม่เกิด แต่ขณะนี้สิ่งแวดล้อมต่างกัน มีสตาร์ตอัพใหม่ๆเกิดขึ้นจำนวนมาก จึงหารือกับ รมว.คลัง ต้องพยายามทำให้เกิดขึ้นมา ปัญหาเรื่องภาษีเป็นตัวกีดกันอยู่ จึงต้องปลดล็อกตรงนี้ก่อน และจะดูว่าได้ผลหรือไม่ได้ผลแค่ไหนมีอะไรที่ต้องช่วยเหลือกันอีกบ้าง ในอนาคตอยากดึงให้บริษัทใหญ่ๆเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นคอปอเรตเวนเจอร์ เข้ามาถือหุ้นในเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพใหม่ๆ ซึ่งในต่างประเทศมีคอปอเรตเวนเจอร์มาก เช่น ที่สิงคโปร์ เรื่องเหล่านี้เป็นแนวโน้มของโลก”

ที่มา - Thaigov.go.th, Thairath

Blognone Jobs Premium