[Blognone Workplace] ‘วงใน’ ไม่ได้มีแค่ร้านอาหาร

by workplace
26 October 2015 - 06:05

มาถึงวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “วงใน” สตาร์ตอัพชั้นแนวหน้าของไทย ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 2 ล้านคน มีข้อมูลร้านอาหาร-ร้านค้า-ความงาม เป็นหลักแสน

เมื่อพูดถึง “วงใน” สิ่งแรกที่ทุกคนนึกถึงคงเป็นร้านอาหารและของกินจำนวนมาก แต่เอาเข้าจริงแล้ว วงในก็ยังเป็นบริษัทไอทีที่ก้าวหน้ามาก มีปัญหาและความท้าทายในเชิงซอฟต์แวร์มากมายรออยู่ หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่าจริงๆ แล้ว วงในถือเป็นทั้งโซเชียลเน็ตเวิร์ค (social network) และระบบค้นหา (search engine) ขนาดใหญ่ของประเทศไทย

ประวัติความเป็นมาของ “วงใน”

ก่อนจะมาเป็นวงใน หนึ่งในทีมก่อตั้งอย่าง ยอด ชินสุภัคกุล สนใจในวงการสตาร์ทอัพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และในปี 2009 ในระหว่างที่เรียน MBA ที่อเมริกา เปิดเว็บไซต์ชื่อว่า TrustBeat ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ได้ประสบการณ์จากความล้มเหลวทั้งการใช้เงินจำนวนมากในการจ้างคน โดยเฉพาะโปรแกรมเมอร์ การมีเครือข่ายที่ยังไม่มากพอ ทำให้ตัวบริการออกมาไม่ถึงเป้าหมายที่คาดหวังไว้ แต่ก็ตั้งใจว่าจะทำสตาร์ทอัพต่อไป และจะเป็นบริการในประเทศไทยแน่ๆ

เมื่อเรียนรู้จากความล้มเหลวแล้ว ทีมวงในเริ่มรวมตัวกันในปี 2010 จากแนวคิดการทำรีวิวร้านอาหารของ Yelp.com ที่ยอดซึ่งยังเรียนอยู่ที่อเมริกา ใช้งานอยู่เป็นประจำ แล้วพบว่าเมืองไทยไม่มีบริการที่มาตอบโจทย์การหาร้านอาหาร หรือคำถามโลกแตกที่ว่า "วันนี้จะกินอะไรดี" โดยมี บอย ภัทราวุธ ซื่อสัตยาศิลป์ เพื่อนร่วมชั้นที่เพิ่งเรียนจบจากอเมริกามาช่วย ก่อนจะพัฒนาจริงจังในช่วงที่ยอดบินกลับมาเมืองไทย ตอนนั้นได้ บอย ศุภฤทธิ์ กฤตยาเกียรณ์ และ ป่าน วรวีร์ สัตยวินิจ ซึ่งเก่งเขียนโค้ดทั้งคู่มาร่วมทีม

พอรวมทีมได้ครบ งานพัฒนาก็เริ่มเดินเครื่อง ตอนนั้นวงในยังเริ่มพัฒนาในช่วงเวลาเลิกงาน เพราะสมาชิกในทีมยังทำงานประจำ แต่ก็มีประชุมกันรายวัน ใช้เวลา 6 เดือนตัวเว็บไซต์วงในก็พร้อมให้บริการ ช่วงนั้นสมาชิกทีมก็เริ่มทยอยลาออกจากงานประจำมาทำงานเต็มเวลาให้กับวงในด้วย ปัจจุบันนี้มีพนักงานทั้งหมด 66 คนแล้ว

สำหรับผู้ที่สนใจตำนานการก่อตั้งบริษัทวงใน สามารถอ่านเพิ่มได้จาก บล็อกของคุณบอย ภัทราวุธ ที่กำลังเขียนเรื่องนี้เป็นซีรีส์

ผู้บริหารของบริษัท: วรวีร์ สัตยวินิจ (Product Manager) ภัทราวุธ ซื่อสัตยาศิลป์ (CTO), ยอด ชินสุภัคกุล (CEO), ศุภฤทธิ์ กฤตยาเกียรณ์ (Software Architect), เอกลักษณ์ วิริยะโกวิทยา (COO)

วงในไม่ได้มีแค่ร้านอาหาร แต่เป็นบริษัทไอทีที่ท้าทาย

ธุรกิจหลักของวงในคือการค้นหาและรีวิวร้านอาหาร แต่ภายหลังก็เริ่มขยายไปยังข้อมูลสถานที่ประเภทอื่นๆ เช่น บริการความสวยความงาม (วงในบิวตี้) เมื่อปี 2014

ปัจจุบันวงในมีผู้ใช้มากกว่า 2 ล้านราย มีร้านอาหารในระบบ 180,000 ร้าน มีรีวิวมากกว่า 500,000 รีวิว และมีการเข้าใช้งานเว็บไซต์ (ทราฟฟิก) มากกว่า 7.5 ล้านครั้งต่อเดือน

เป้าหมายต่อไปที่วงในวาดภาพไว้ไม่ใช่แค่การเป็นบริการหาร้านอาหาร รีวิวร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุด แต่เป็นช่องทางในการหาร้าน และศูนย์ให้บริการทุกรูปแบบ เพื่อไปถึงจุดนั้นวงในจึงต้องพัฒนาระบบ infrastructure ที่ดีพอจะรับจำนวนข้อมูล และผู้ใช้ปริมาณมหาศาลได้ และมีระบบที่คัดสรรร้านได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าไปพร้อมกัน

ระบบ infrastructure ของวงในอยู่บนกลุ่มเมฆของ Amazon ทั้งหมด โดยเริ่มเปลี่ยนมาใช้คลาวด์เมื่อ 3 ปีก่อนแทนที่เครื่องเซิร์ฟเวอร์เดิม ด้วยเหตุผลที่ว่าวงในต้องส่งอีเมลข่าวสารหาผู้ใช้จำนวนหลักแสนคนเป็นประจำทุกสัปดาห์ ซึ่งกินพลังประมวลผล-แบนด์วิดท์ของเซิร์ฟเวอร์เดิม ต้องใช้เวลานานเป็นวันๆ กว่าจะส่งครบ

ทีมงานเรียนรู้ว่า Amazon มีบริการส่งเมลผ่านกลุ่มเมฆคือ Simple Email Service (SES) จึงหันมาใช้งานระบบเมลก่อน และเมื่อเซิร์ฟเวอร์หลักเริ่มใช้งานไม่เพียงพอ จึงย้ายระบบเซิร์ฟเวอร์มาเป็น AWS ทั้งหมดในภายหลัง ซึ่งก็สามารถย้ายระบบโดยไม่มีดาวน์ไทม์ ความท้าทายในตอนนั้นคือการย้ายรูปภาพขนาดใหญ่จำนวนมากๆ พร้อมกัน

วงในคือโซเชียลเน็ตเวิร์คขนาดใหญ่ของไทย

ถึงแม้ภาพลักษณ์ของวงในจะเป็นเว็บ-แอพรวมข้อมูลด้านราคาอาหาร แต่ในแง่ซอฟต์แวร์ วงในมีสมาชิกมากถึง 2 ล้านคน และมีระบบลักษณะเดียวกับโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทั้งระบบ feed, profile, follow ทำให้การแสดงผลข้อมูลต้องปรับแต่งตามผู้ใช้แต่ละคน (personalized) ไม่สามารถทำ feed ข่าวกลางอันเดียวให้กับผู้ใช้ทุกคนได้

ในแง่นี้ วงในจึงเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คที่มีขนาดใหญ่มากแห่งหนึ่งของไทย มีฐานผู้ใช้งาน 2 ล้านคน มีงานด้านข้อมูลให้ทำอีกมาก ทั้งการส่งอีเมลเป็นล้านฉบับ การส่งข้อความแจ้งเตือนหลายแสนให้ถึงครบถ้วน ไปถึงระบบระดับสูงอย่างระบบแนะนำจากการวิเคราะห์ข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ (Data Science) ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับคนที่อยากทำงานประเภทโซเชียลเน็ตเวิร์ค ซึ่งบ้านเราไม่ค่อยจะมีอะไรแบบนี้กันมากนัก

อัลกอริทึมสำหรับค้นหาและคัดเลือกร้านอาหาร

ในอีกทางหนึ่ง วงในก็ทำตัวเป็นเครื่องมือค้นหา (search engine) เพราะต้องรับคำค้นหาร้านค้า-ร้านอาหารจากผู้ใช้งาน (ที่ถามตัวเองว่า “วันนี้จะกินอะไรดี”) จำนวนมหาศาลทุกวัน

ระบบค้นหาข้อมูลของวงในใช้ Apache Solr เป็นหลัก แต่ก็ไม่ใช่แค่การค้นหาข้อความให้ตรงกับคำค้นเท่านั้น เพราะการค้นหาร้านอาหารจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องพิกัดและระยะการเดินทางด้วย ไม่ใช่แค่การนำร้านที่ใกล้ที่สุดจากกว่า 180,000 ร้านมาแสดงผล แต่คิดให้ลึกไปกว่านั้นเช่น ผู้ใช้ในกทม. จะได้ร้านที่ระยะทางใกล้กว่าในละแวก 1 กิโลเมตรด้วยตัวแปรจากสภาพจราจร ส่วนผู้ใช้ต่างจังหวัดจะแนะนำร้านที่ไกลกว่า 1-5 กิโลเมตรได้

ระบบจัดลำดับ (ranking) เป็นส่วนที่ทีมวงในคิดมาเยอะมากก่อนจะเปิดให้ใช้งาน มีตัวแปรมากมายที่ทำให้ร้านนั้นถูกจัดอันดับไว้สูงกว่า ทั้งจำนวนรีวิว คะแนนรีวิว ระยะเวลารีวิว จำนวนรูป จำนวนเช็คอิน โปรโมชัน และรวมไปถึงใครมารีวิวด้วย โดยผู้ใช้ที่มีระดับชั้นสูงๆ จะมีอิทธิพลกับระบบจัดลำดับนี้มากเพื่อป้องกันบรรดาหน้าม้า และลดข้อมูลที่มารบกวนการจัดลำดับไปในตัว

ในแง่นี้ คนที่อยากทำงานด้าน search ก็สามารถมาทำงานที่วงในได้ เพราะยังมีงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (data analysis) การจัดลำดับการค้นหา (search ranking) ให้เล่นอีกเยอะ โดยที่เป็นข้อมูลจริงทั้งหมด

มองหาคนแบบไหนมาร่วมทีม

วงในมองหาคนที่มีความพร้อมด้านทักษะในฟิลด์ที่รับผิดชอบ และมีความเป็นเด็กอยู่ในตัว พร้อมจะเรียนรู้ต่อไป รวมถึงมีสี่ด้านที่เพิ่มคุณค่าให้กับคนนั้นๆ ดังนี้

  • Impact - มาทำงานที่วงใน และได้สร้างอะไรให้กับโลกใบนี้ได้
  • Passion - มีความมุ่งมั่นในสิ่งที่ทำ ตื่นเต้นไปกับสิ่งที่ทำหรือไม่
  • Speed - ตัดสินใจทำงานโดยใช้เวลาเป็นหลัก ใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • Flexible - ทำงานได้อย่างยืดหยุ่น สามารถทำงานจากที่บ้าน นอกสำนักงานได้ สามารถโยกไปทำงานอื่นเพื่อให้ทำงานได้หลากหลายขึ้นได้

สำหรับตำแหน่งที่วงในกำลังมองหาอยู่ในตอนนี้จะเป็นนักพัฒนาทั้งสามแพลตฟอร์ม เว็บไซต์ และอุปกรณ์พกพาทั้ง iOS และ Android เพื่อมาเติมทีมพัฒนาที่ตอนนี้มี 13 คน โดยตั้งเป้าจะเพิ่มเป็นสองเท่า อย่างน้อย 25 คน

แต่ถ้าคิดว่างานยังไม่ตรงสายก็ไม่ใช่ปัญหา ผู้บริหารวงในระบุว่าถ้าสนใจตำแหน่งด้านวิศวกรรมก็เข้ามาคุยได้เลย สามารถจัดสรรตำแหน่งงานให้เหมาะสมตามความสามารถได้เสมอ

วัฒนธรรมการทำงานในบริษัท

การทำงานในวงในยึดตามแนวทางสตาร์ตอัพ มีความเป็นกันเองสูง พนักงานที่นี่อายุไล่เลี่ยกัน สามารถปรึกษากันได้โดยไม่มีการแบ่งความอาวุโส สามารถพูดคุยกับผู้บริหารเมื่อสงสัยได้ มีการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ตัวผู้บริหารก็พร้อมฝึกอบรมพนักงานในแง่การทำธุรกิจ ถ้าหากพนักงานมีไอเดียจะทำธุรกิจของตัวเอง ทางบริษัทก็ยินดีสนับสนุน เพราะคุณยอด ซีอีโอก็ให้คำแนะนำกับธุรกิจสตาร์ตอัพบ่อยๆ อยู่แล้ว

การใช้ชีวิตในสำนักงานวงในจะอยู่กันแบบสบายๆ ทั้งการแต่งตัว และการเข้างานที่มาเวลาไหนก็ได้ ตราบใดก็ตามที่ทำงานได้ตามเป้าที่วางไว้ พนักงานของวงในมองหาเพื่อนร่วมงานที่ทำงานจริงจัง รับผิดชอบงานของตัวเอง อยู่แบบสบายๆ ได้ และแน่นอนว่าเมื่อธุรกิจหลักของ “วงใน” คือรีวิวร้านอาหาร สำนักงานแห่งนี้ย่อมไม่ขาดเรื่อง “ของกิน” จากร้านอาหารทั่วไทยที่ส่งมาให้ชิม-รีวิวอยู่เสมอ (ถือเป็นจุดเด่นที่บริษัทอื่นต่อกรได้ยาก)

บรรยากาศการทำงานของทีมโปรแกรมเมอร์

และทีมการตลาด

มีโซนเครื่องดื่ม ของขบเคี้ยวไว้บริการตัวเอง

ฝาผนังแผนที่กทม. ขนาดใหญ่ใจกลางสำนักงาน

สำนักงานวงในตั้งอยู่ที่อาคาร ปานจิตต์ทาวเวอร์ ชั้น 10 ซอยสุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) สามารถเดินทางได้สะดวกโดย BTS ลงสถานีทองหล่อ และเดินหรือนั่งมอเตอร์ไซต์เข้ามาได้ไม่ไกลนัก

สิทธิประโยชน์ของพนักงานนอกเหนือจากเงินเดือน

  • มีอาหารฟรีทุกมื้อเที่ยงของวันจันทร์ กำลังจะเพิ่มวันศุกร์เข้ามาอีกวัน
  • ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวมาทำงานได้ มีค่าเสื่อมให้ สามารถทำงานได้จากที่พัก
  • ถ้ามีไอเดียทำธุรกิจ สามารถมารับฟังคำแนะนำจากทีมผู้บริหารได้
  • ส่วนลดซื้อสมาร์ทโฟน 25%
  • วันลาไม่จำกัด แค่แสดงให้เห็นว่ารับผิดชอบกับงานที่มอบหมายได้

มุมมอง-เสียงสะท้อนจากพนักงาน

บดินทร์ ศรีสมพงษ์

Senior Developer

"มาทำงานกับวงในแล้วได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิดในยุคนั้น ได้จับ bootstrap มาทำเว็บไซต์เต็มรูปแบบ ได้คิด criteria เพื่อระบบค้นหาของวงในที่สามารถตอบได้ว่า ‘ภูเก็ตซีฟู้ด’ เป็นชื่อร้าน ไม่ใช่ร้านอาหารที่อยู่ในภูเก็ต"

พณิชย์ สัจจาพิพัฒน์

iOS Developer

"วงในให้โอกาสพนักงานได้ลองผิดลองถูก ทุกคนสามารถเสนอความเห็นไปยังหัวหน้างานได้ ที่ประทับใจคือวงในใช้งานฟีเจอร์ใหม่ๆ ของ iOS ได้อย่างรวดเร็ว แม้แต่การรองรับ watchOS วงในก็ทำเสร็จก่อน Apple Watch จะเปิดตัวเสียอีก"

ธัญธรรศ จุมพรม

Android Developer

"มาทำงานกับวงในแล้วได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เยอะมาก ตอนแรกผมเขียนแอพ Android ไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้มีประสบการณ์ถึงขั้นรื้อแอพเดิมมาเขียนใหม่ หรือจะเพิ่มฟีเจอร์ให้รองรับสมาร์ทโฟน Android หลายรูปแบบก็ทำได้แล้ว"

ลลิดา พรหมสาขา ณ สกลนคร

Graphic Designer

"ตื่นเต้นกับการทำงานกับบริการที่มีคนใช้ระดับล้านคน มีฟีดแบคให้ได้ลับฝีมืออย่างต่อเนื่อง งานทุกอย่างที่เจอยากหมด แต่ก็มีเพื่อนๆ พี่ๆ ในทีมให้คำปรึกษาได้อย่างเป็นกันเอง แชร์ข้อมูล และเรียนรู้ร่วมกัน"

วิริยะ รงค์ทอง

Marketing

"ทำงานที่วงในได้ความท้าทายมากๆ งานใหม่ถาโถมเข้ามาไม่หยุด ได้จับงานตั้งแต่สายวิเคราะห์ออนไลน์ ดูแลโซเชียลเน็ตเวิร์ค จนถึงก้าวข้ามไปยังโลกความจริงเพื่อทำอีเวนท์ด้วย"

สมัครงานกับวงใน

Blognone Jobs Premium