รู้จัก BonAppetour แพลตฟอร์มเปิดบ้านกินอาหารฝีมือคนท้องถิ่น

by nrad6949
1 November 2015 - 07:39

ที่ผ่านมา เรารู้จักแพลตฟอร์มภายใต้ “เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน” (sharing economy) มาพอสมควร อย่างเช่น Uber หรือ AirBNB มาคราวนี้เราจะมารู้จักกับแพลตฟอร์มที่ใช้แนวคิดนี้ แต่ไปเน้นที่เรื่องของ “อาหาร” แทน ซึ่งก็คือแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า BonAppetour ครับ

แนวคิดของแพลตฟอร์ม

BonAppetour เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้แนวคิดแบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (sharing economy) แบบเดียวกับ AirBNB หรือ Uber แต่จุดเน้นของ BonAppetour จะไปอยู่ที่เรื่องของการ “เปิดบ้าน” ให้คนที่สนใจ เข้าไปทานอาหารกับคนในท้องถิ่นนั้นๆ ที่ปรุงเองจากครัวในบ้าน แล้วคิดเงินกับลูกค้านั่นเอง หากกล่าวให้ง่ายที่สุดก็คือเป็นการ เปิดบ้านทำร้านอาหารไปในตัวนั่นเอง (หากจุดเน้นของ Uber คือการขับรถ, AirBNB คือหาห้องเช่า, BonAppetour คือการขายประสบการณ์และรสมือจากครัว)

ลองดูวิดีโอนี้ได้เผื่อจะเข้าใจได้มากขึ้นครับ

แนวทางนี้ผู้ใช้งานที่สนใจ จะกดเข้าไปดูในรายละเอียด เห็นเมนูและราคาที่กำหนดไว้ (คิดเป็นต่อคน) ประวัติของเชฟ (หรือเจ้าของฝีมือ) รวมถึงบริเวณและสถานที่แถวบ้านหลังนั้นๆ ด้วย ซึ่งถ้าสนใจก็สามารถจองและชำระเงินในรายละเอียดได้ทันที โดย BonAppetour จะตรวจสอบเจ้าบ้าน (host) อย่างละเอียด เพื่อทดสอบว่าได้มาตรฐานจริงๆ และลูกค้าจะไม่ได้รับประสบการณ์ที่แย่กลับไป (ถึงขั้นบังคับให้เชื่อมโยงเข้ากับ Facebook)

สำหรับคนที่ต้องการเปิดบ้าน นอกจากจะมีอิสระในการกำหนดเมนูได้แล้ว ยังรวมไปถึงการกำหนดราคาที่ต้องให้ผู้ใช้บริการจ่าย ก็สามารถทำได้อย่างเต็มที่ด้วยเช่นเดียวกัน

ปัจจุบัน BonAppetour มีกระจายตามเมืองสำคัญๆ อย่างเช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง กรุงเทพ (มีสามเจ้า ณ วันที่เขียนบทความนี้) เมลเบิร์น ปารีส และอื่นๆ โดยมีเจ้าบ้าน (host) มากกว่า 500 ราย ใน 30 เมือง

ที่มาของแพลตฟอร์ม

แพลตฟอร์ม BonAppetour ก่อตั้งโดย Giovanni Casinelli ชาวอิตาเลียนที่เรียนจบในสาขาด้านไอทีจาก Politecnico di Milano (ถ้าแปลเป็นภาษาไทยคือ มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคแห่งมิลาน), Rinita Vanjre Ravi ชาวสิงคโปร์ และ Inez Wihardjo ชาวอินโดนีเซียซึ่งผ่านงานด้านไอทีมาหลากหลาย โดย Rinita และ Inez เรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์มาในคณะเดียวกัน ส่วน Cassinelli มีประสบการณ์เคยฝึกงานกับบริษัทซอฟต์แวร์ที่สวีเดน ก่อนจะย้ายมาเปิดสตาร์ทอัพ Asteriod ที่ใช้เทคโนโลยี iBeacon กับร้านค้าเพื่อให้ส่วนลดที่สิงคโปร์ ปัจจุบันเขาไม่ได้ทำงานให้แล้วและย้ายมาทำงานเต็มเวลาที่ BonAppetour แทน

ผู้ก่อตั้ง (จากซ้ายไปขวา: Rinita, Inez และ Cassinelli)

จากบทสัมภาษณ์ใน The Straits Times ระบุว่า Inez และ Rinita ออกเดินทางไปยังกรุงปารีสในช่วงวันหยุดคริสต์มาสเพื่อท่องเที่ยว แต่ก็ต้องพบว่าร้านอาหารต่างๆ ในกรุงปารีสปิดในช่วงเทศกาลคริสต์มาส แต่พวกเธอสองคนได้ยินเสียงการเฉลิมฉลองจากครอบครัวละแวกแถวนั้น จึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของ BonAppetour ก่อนที่จะได้ Casinelli มาเสริมทัพในภายหลัง

แกนกลางที่สำคัญสำหรับ BonAppetour อยู่ที่เรื่องของชุมชน (community) และเรื่องของความไว้วางใจกัน Cassinelli ระบุว่าเป็นประเด็นหลัก ทำให้ต้องมีระบบตรวจสอบที่เข้มข้นอย่างมาก ส่วน Inez ระบุว่ามีสองสิ่งที่ทำให้ BonAppetour แตกต่างจากคนอื่น สิ่งแรกคือการขายประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับคนในท้องถิ่นรวมถึงทานอาหารร่วมกัน และอีกสิ่งหนึ่งคือการที่นักท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวไป จากที่ต้องไปสถานที่สำคัญๆ กลายเป็นการเข้าไปรู้จักกับวัฒนธรรมต่างๆ มากขึ้น

Cassinelli เองระบุว่าปัญหาสำคัญสำหรับ BonAppetour คือการทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพราะวัฒนธรรมแบบยุโรปมักจะเปิดกว้างที่จะให้คนต่างถิ่นเข้ามาทานอาหารในบ้านตัวเอง ซึ่งผิดไปจากเอเชียที่จะมีความอนุรักษ์นิยมและไม่เปิดบ้านต้อนรับคนแปลกหน้าง่ายๆ

จากข้อมูลที่ระบุใน Tech In Asia ระบุว่า BonAppetour ได้รับเงินทุนตั้งต้นจากโครงการ ACE Startups Grant จากรัฐบาลสิงคโปร์ เป็นจำนวนเงิน 50,000 ดอลลาร์สิงคโปร์

แรงเสียดทาน, ความไม่พอใจ และคู่แข่ง

ถึงแม้ว่าจะมีแนวคิดที่ดีแบบเดียวกับ Uber และ AirBNB แต่ BonAppetour ก็ต้องเจอกับสถานการณ์ที่เป็นการต่อต้านแบบเดียวกัน ในกรณีของฝรั่งเศส สมาพันธ์ผู้ประกอบการร้านอาหาร (Synhorcat) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลฝรั่งเศสจัดการกับแพลตฟอร์มอย่าง BonAppetour โดยระบุว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการคุกคามธุรกิจร้านอาหารแบบเดิม และจะกลายเป็นหายนะในที่สุด

ข้อถกเถียงของ Synhorcat มีอยู่สองประการ ประการแรกคือการชี้ว่าแอพอย่าง BonAppetour เป็นการสร้างตลาดมืดให้กับวงการร้านอาหาร เพราะร้านอาหารปกติมีต้นทุนในการดำเนินงาน ทั้งการจ้างงานและการจ่ายภาษีในอัตราธุรกิจ ขณะที่ร้านอาหาร (หรือในที่นี้คือบ้านคน) บนแพลตฟอร์มอย่าง BonAppetour กลับไม่ต้องอยู่ในสภาพที่เสียภาษีและไม่มีต้นทุน อีกประการหนึ่งคือเรื่องของความสะอาดและสุขอนามัยของร้านอาหารที่มีมากกว่าเชฟบนแพลตฟอร์มอย่าง BonAppetour นั่นเอง

จะเห็นได้ว่าข้อถกเถียงดังกล่าวนี้ ยืนอยู่บนฐานคิดแบบเดียวกับ Uber และ AirBNB ซึ่งมองผ่านกฎเกณฑ์ต่างๆ ในตลาดแบบเดิมไปทั้งสิ้น กล่าวคือ ร้านที่อยู่บนแพลตฟอร์ม BonAppetour ก้าวข้ามกลไกและระเบียบการแบบเดิมๆ ไป ซึ่งทำให้ธุรกิจที่แข่งขันกันในรูปแบบกติกาเดิม ไม่สามารถแข่งขันได้นั่นเอง

ด้านคู่แข่งของ BonAppetour ในตลาดยังถือว่ามีน้อยอยู่ อย่างไรก็ตามหนึ่งในคู่แข่งรายสำคัญก็คงจะหนีไม้พ้นแพลตฟอร์มที่เหมือนกันซึ่งมีชื่อว่า VizEat โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้บริการมากกว่า 2 หมื่นราย และกระจายตัวไปกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ในตลาดยุโรป VizEat ถือว่าเป็นอันดับหนึ่ง ณ เวลานี้ ซึ่งเมื่อเทียบกับขนาดของเมืองที่มีให้บริการในระดับโลกแล้ว BonAppetour ถือว่ายังมีจำนวนเมืองที่มากกว่าอยู่ดี

อนาคตของ BonAppetour

เป็นการยากที่จะตอบในเวลานี้ว่า อนาคตของแพลตฟอร์มอย่าง BonAppetour จะออกมาเป็นอย่างไรบ้าง เพราะเนื่องจากว่ายังถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ค่อนข้างใหม่ แต่ถ้าวัดจากเสียงตอบรับและการเติบโตของร้านหรือคนที่เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ก็นับว่าไม่เลวเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ BonAppetour จะต้องทำยังมีอีกมาก ตัวอย่างเช่นการขยายจำนวนเมืองที่รองรับ (ในไทยเท่าที่ตรวจสอบล่าสุดมีเพียงสามรายเท่านั้น) รวมไปถึงความท้าทายที่จะต้องเผชิญกับแรงต้านจากบรรดาสมาคมร้านอาหารทั้งหลายด้วย

อ้างอิง

Blognone Jobs Premium