ร่างกฎหมาย Investigatory Powers Bill (IPB) ที่รวมเอากฎหมายความมั่นคงด้านการดักฟังเข้าสู่การพิจารณาของสภาอังกฤษในวันนี้ เสียงตอบรับจากฝั่งสื่อมวลชนและองค์กรสิทธิไม่ดีนัก ตัวร่างกฎหมายถูกตั้งชื่อเล่นเป็น Snooper's Charter หรือร่างก่อตั้งหน่วยงานดักฟัง
Theresa May รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษ ผู้ผลักดันกฎหมายฉบับนี้พยายามเน้นว่ากฎหมายฉบับนี้มีช่องทางการตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างรัดกุม โดยการดำเนินการทั้งหมดต้องได้หมายจากตัวรัฐมนตรีเองพร้อมกับตรวจสอบซ้ำจากตุลาการ และอนุญาตได้ครั้งละไม่เกิน 6 เดือน ยกเว้นภาวะฉุกเฉินที่ให้อำนาจรัฐมนตรีโดยตรงอนุญาตได้ไม่เกิน 5 วัน
อำนาจถูกแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ การดักฟัง, การขอข้อมูลการสื่อสาร, การเข้ารบกวนอุปกรณ์ (แฮก), การดักฟังเป็นชุด, และการขอข้อมูลส่วนบุคคลเป็นชุด โดยสามอำนาจแรกจะให้กับหน่วยงานดูแลกฎหมายทั่วไป ส่วนสองอำนาจหลังจะให้กับหน่วยงานด้านความมั่นคงเท่านั้น
May แก้ข้อกล่าวหาที่ระบุว่ากฎหมายฉบับนี้จะห้ามไม่ให้มีการเข้ารหัสแบบ end-to-end โดยระบุว่ากฎหมายบังคับให้ผู้ให้บริการต้องช่วยเหลือหน่วยงานสอบสวน "อย่างสมเหตุสมผล" เท่านั้น
หลังการเปิดเผยเอกสารจำนวนมากของ Edward Snowden หน่วยงานด้านความมั่นคงสำคัญอย่าง NSA และ GCHQ พยายามปกป้องการดักฟังของตัวเองว่าสมเหตุสมผลและมีการตรวจสอบ เพื่อขอความชอบธรรมให้กับกิจกรรมการดักฟังของหน่วยงาน กฎหมาย IPB ก็ออกมาพร้อมกับรายงานความโปร่งใส และยอมรับว่าที่ผ่านมากระบวนการดักฟังเองก็มีความผิดพลาด เช่นในปี 2014 มีการตรวจสอบพบความผิดพลาด 60 กรณี เช่น ดักฟังผิดตัว, ข้อมูลมากเกินความจำเป็น, เก็บข้อมูลไว้โดยไม่มีอำนาจ, ไม่ทำตามกระบวนการยกเลิกการดักฟังอย่างถูกต้อง เป็นต้น
ที่มา - ร่างกฎหมาย IPB, The Guardian, ArsTechnica