Injong Rhee ผู้บริหารของซัมซุงที่ดูแล Samsung Pay ให้สัมภาษณ์กับ ZDNet มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
- คู่แข่งของ Samsung Pay ไม่ใช่ Apple Pay หรือ Android Pay แต่เป็นการแข่งขันกับบัตรเครดิต บัตรของขวัญ บัตรสมาชิกต่างๆ ในแบบดั้งเดิม
- Samsung Pay ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเกาหลีใต้ มีผู้ใช้ 1 ล้านราย มูลค่าธุรกรรม 1 แสนล้านวอน (88 ล้านดอลลาร์) แต่ในอเมริกา สภาพตลาดต่างออกไป มีคู่แข่งหลายราย ซึ่งซัมซุงพยายามชูจุดขายเรื่องการใช้งานกับเครื่องอ่านแถบแม่เหล็ก (Magnetic Secure Transmission หรือ MST) ที่คู่แข่งไม่มี
- ในเร็วๆ นี้ แอพ Samsung Pay จะรองรับบัตรของขวัญ บัตรเครดิต และการซื้อสินค้าภายในแอพ เพื่อตอบรับเทศกาลจับจ่ายช่วงปลายปี
- จากนั้น Samsung Pay จะขยายไปยังมือถือระดับกลาง-ล่างของซัมซุง จากปัจจุบันที่ใช้ได้เฉพาะรุ่นท็อปๆ เท่านั้น ซัมซุงพบว่าในเกาหลีใต้ ยอดขายมือถือที่รองรับ Samsung Pay กลับมาเพิ่มสูงขึ้น ฝ่ายขายของซัมซุงเริ่มเห็นประโยชน์ และเป็นฝ่ายเรียกร้องให้บริษัทแม่รีบพัฒนาให้ใช้งานกับมือถือหลากรุ่นมากขึ้น
- อย่างไรก็ตาม Samsung Gear S2 ไม่รองรับ Samsung Pay เพราะมีแค่ NFC แต่ไม่รองรับ MST ด้วยข้อจำกัดเรื่องการออกแบบและต้นทุน (การใส่ MST จะทำให้เครื่องหนาขึ้น) แต่ซัมซุงจะปรับปรุงในอุปกรณ์สวมใส่ได้รุ่นถัดไป
- ความสำเร็จของ Samsung Pay เกิดจากการซื้อบริษัท LoopPay ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี MST ทีมงานที่เป็นผู้ผลักดันการซื้อกิจการคือศูนย์วิจัย Global Innovation Center (GIC) ที่อยู่ในซานฟรานซิสโก คิดแบบสตาร์ตอัพฝรั่ง และอยู่เบื้องหลังการซื้อ SmartThings, Boxee รวมถึงการพัฒนา Gear VR ร่วมกับ Oculus ด้วย
ที่มา - ZDNet