Sharing Economy ประสบการณ์เศรษฐกิจแบ่งปัน จากคนเคยทำ Airbnb, UberX, Lalamove

by mk
9 November 2015 - 04:56

สรุปเนื้อหาจาก งานเสวนา Sharing Economy 'เศรษฐกิจแบ่งปัน' เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2558 ที่ร้าน Books&Belongings สุขุมวิท 91 ร่วมจัดโดย กลุ่ม Digital Culture Thailand ร่วมกับมูลนิธิ Heinrich Böll Stiftung และ Siam Intelligence Unit

ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ คุณสันทิต จีรวงศ์ไกรสร ตัวแทนจาก lalamove ผู้ให้บริการรถขนส่งสินค้า, คุณวาลัด เสน่ห์ ผู้มีประสบการณ์ในการเข้าไปร่วมขับรถกับ UberX, คุณทิวารัตน์ ไพศาลวิภัชพงศ์ ผู้ที่ทำธุรกิจให้เช่าที่พักอาศัย ผ่าน Airbnb และคุณอธิป จิตฤกษ์ นักวิชาการอิสระ ดำเนินรายการโดยคุณกิตติพล สรัคคานนท์

อะไรคือ Sharing Economy

คุณอธิป จิตฤกษ์ นักวิชาการอิสระ อธิบายว่า Sharing เป็นคำที่เริ่มพูดถึงกันได้ไม่นานมานี้ เป็นที่สงสัยกันว่าคำนี้เป็นนิยามที่ใหม่จริงหรือเปล่า เพราะการแชร์นั้นมีมาตั้งนานแล้ว โดยทุกวันนี้สิ่งที่แตกต่างคือทรัพยากรที่ใช้ร่วมกัน ซึ่งในอดีตเมื่อพูดถึงก็จะเป็นเพียงทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น

แต่พอเป็น Sharing Economy ในยุคนี้เอกชนหลายเจ้ามีการใช้ทรัพยากรร่วมกันภายใต้กติการ่วมกัน คำนี้เกิดขึ้นมาเพราะว่ามีปรากฏการณ์บางอย่างในทางเศรษฐกิจ โดยเริ่มมีธุรกิจแบบใหม่ที่บริษัทหลายๆ บริษัทประกอบธุรกิจโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีสินค้าเป็นของตัวเอง เป็นการให้บริการที่ให้ผู้ผลิตมาพบกับผู้บริโภคโดยตรง บริษัทที่โด่งดังได้แก่ ebay, Uber, Airbnb บริษัทเหล่านี้จะแตกต่างจากบริษัทไอทีเดิมๆ ที่ยังมีสินค้าเป็นพื้นฐาน

คำนี้เกิดขึ้นมาเพราะบริษัทใหม่เหล่านี้เติบโตเร็วมากและมีการเข้าสู่ตลาดหุ้น พอมาถึงจุดนี้หลายๆ ฝ่ายก็เริ่มมีปฏิกิริยา ว่าเป็นการประกอบธุรกิจที่เป็นธรรมหรือเปล่า เพราะไม่ได้มีการเก็บภาษีในช่วงแรก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้รัฐเองก็เริ่มต้นทำความรู้จักไปพร้อมๆ กันในการหาวิธีจัดการกับธุรกิจแชร์ริ่งนี้

ก่อนจะมาเป็นธุรกิจแชร์ริ่งต้องกล่าวย้อนไปถึงระบบตลาดทุนนิยมสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 บนฐานของการผลิตแบบอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมหาศาล จึงไม่ได้มีนายทุนเพียงเจ้าเดียวแต่ร่วมลงทุนกันหลายเจ้า และเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 20 ที่ภาคบริการมีการขยายขนาดที่ใหญ่กว่าภาคการผลิต โดยบางคนอาจเรียกว่าเป็นภาวะหลังอุตสาหกรรม ที่มีทั้งคนที่ให้บริการและผู้รับบริการต่างกระจายตัวออกไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่เจ้าใดเจ้าหนึ่ง

เมื่อกลายมาเป็น Sharing Economy การเป็นลูกจ้างก็จะไม่มีอีกต่อไป คล้ายกับเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกัน วิธีคิดตรงนี้ส่งผลโดยตรงต่อแนวคิดเรื่องสหภาพแรงงานซึ่งเกิดขึ้นในยุคอุตสาหกรรม และรัฐเองก็อยากจะหาวิธีให้แนวคิดนี้กลับไปอยู่ในระเบียบที่สามารถจัดการได้

ประสบการณ์ทำ Airbnb กับการให้เช่าห้องคอนโด

คุณทิวารัตน์ ผู้มีประสบการณ์ให้เช่าห้องผ่าน Airbnb เล่าว่าแรกเริ่มเกิดจากได้รับคำแนะนำของน้องชายที่อยู่ในซานฟรานซิสโก ซึ่งไปเห็นการให้เช่าที่นอนหรือโซฟาจากกรณีโรงแรมเต็มหากมีการจัดงานใหญ่ๆ ขึ้น จึงได้ลองทำธุรกิจตรงนี้ดู เพราะมีตึกซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ไม่ได้ถูกใช้อยู่แล้ว

ช่วงแรกที่ทำ Airbnb พบว่ามีผู้เข้าอาศัยอย่างต่อเนื่อง แต่ซาลงหลังผ่านปีแรกเพราะเริ่มมีคนเปิดแข่งมากขึ้น ยุคนี้ผู้คนส่วนหนึ่งก็เริ่มมีการลงทุนทางที่อยู่อาศัย การนำห้องมาให้เช่าจึงเป็นวิธีการสร้างรายได้แบบหนึ่ง โดยมี Airbnb เปรียบเสมือนหน้าร้านให้คนค้นหาห้องเช่าของเราเจอ

ประสบการณ์ขับรถกับ UberX

คุณวารัดเป็นผู้ที่เข้าไปลองขับรถให้ UberX โดยเกิดจากความสนใจส่วนตัว กระบวนการสมัครต้องเตรียมหลักฐาน เช่น สำเนาทะเบียนรถ ใบขับขี่ ไปใช้ในการสมัคร โดยใช้รถยนต์ส่วนตัวเข้าไปร่วมขับได้เลย

ส่วนวิธีการรับผู้โดยสารเป็นการเรียกผ่านแอพ มีระบบควบคุมพาร์ทเนอร์ผ่านการโหวตของผู้โดยสาร รายได้จากการขับ จะมีระบบสร้างแรงจูงใจว่าถ้ายิ่งขับได้เที่ยวมากจะได้เงินกินเปล่ามากขึ้น

มุมมองฝั่งบริษัทจาก lalamove

คุณสันทิต ตัวแทนจาก lalamove พูดในมุมของผู้ประกอบการ ว่าจะต้องบริหารการให้บริการระหว่างลูกค้ากับคนขับรถ ซึ่งไม่ใช่การเข้าไปควบคุมคนขับรถ แต่จะต้องให้คนขับรถสามารถเลือกได้ว่าจะรับหรือไม่รับงานอะไร ตรงนี้ การบริหารจัดการมีลักษณะเป็นระบบเอเจนต์ (agent) มากกว่า

ประเด็นเรื่องการรักษาคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ตอบสนองได้ตรงความต้องการของลูกค้า ส่วนคนที่เข้ามาขับรถให้จะมีลักษณะของคนที่มีเวลาว่างสามารถเลือกช่วงเวลาได้ เลือกรับงานได้ ในทางกลับกันการเข้ามาทำตรงนี้ก็จะไม่ได้เบี้ยเลี้ยงเหมือนพนักงานประจำ

อะไรคือปัญหาของ Sharing Economy?

ผู้ร่วมเสวนาทั้ง 3 รายเห็นปัญหาของ Sharing Economy ตรงกันว่า ในแง่ของกฎหมายที่ยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าธุรกิจประเภทนี้จะจำแนกให้ชัดเจนได้อย่างไร ส่วนผู้ให้บริการเองก็อาจยังไม่มั่นใจได้ว่าระบบที่มีช่องว่างนี้ ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมา ตัวบริษัทอาจไม่สามารถรับประกันได้เต็มที่ การเกิดขึ้นของธุรกิจนี้มีที่มาจากช่องวางของการให้บริการในระบบหลัก แต่เมื่อเป็นระบบทางเลือกก็จำเป็นต้องมีการควบคุมคุณภาพให้คงที่

บทสรุป

จุดเริ่มของ Sharing Economy เริ่มขึ้นจากการแชร์ข้อมูลในอินเทอร์เน็ต จะยังไม่มีใครนึกถึงกิจกรรมอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ตามความเข้าใจของคนทั่วไปในขั้นแรกมักจะคิดว่าการแชร์ข้อมูลอย่างมากมายนี้จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ แต่หลังจากมีการแชร์ที่เพิ่มมากขึ้นก็จะมีส่วนอื่นมารองรับระบบโดยที่อุตสาหกรรมไม่ได้พังอย่างที่คิดกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้วางอยู่ในวิธีคิดที่ว่า คนต้องการเข้าถึงบางอย่าง โดยไม่ได้ต้องการเป็นเจ้าของอีกต่อไปแล้ว

ปัญหาที่ผู้ผลิตเหล่านี้ต้องเจอก็คือปัญหาลิขสิทธิ์เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการผลิต ไม่ได้ครอบคลุมถึงช่องทางการแชร์ สิ่งที่ผู้คนต้องการในการรับบริการจาก Sharing Economy คือการรับประกันเมื่อเกิดความผิดพลาด

อย่างไรก็ตาม การรับประกันของเป็นวัตถุ (material) ก็ย่อมแตกต่างจากของที่เป็น "อวัตถุ" (immaterial) หากเป็นการแชร์ไฟล์แล้วพบว่าไฟล์เสียก็แก้ไขง่ายๆ โดยการส่งไฟล์ใหม่ แต่ถ้าเป็นสิ่งของที่ถูกส่งไปแล้วเกิดความเสียหายขึ้น คนที่อยู่ในระบบก็ต้องการการรับผิดชอบเช่นเดียวกัน ดังนั้นแล้ว แนวโน้มของสิ่งที่เป็นวัตถุกับไม่ใช่วัตถุ ในระบบ Sharing Economy จึงย่อมแตกต่างกัน

คลิปบันทึกการเสวนา (มี 3 ตอน)

ดัดแปลงจากการเผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บ Siam Intelligence และเพจ Digital Culture Thailand

Blognone Jobs Premium