นักวิทยาศาสตร์เกือบกักเก็บแอนติอะตอมได้แล้ว

by Tiggs Boson
8 April 2008 - 18:30

แอนติอะตอมที่พูดถึงนี้ คือแอนติอะตอมแบบง่ายๆ อย่างแอนติไฮโดรเจนอะตอมครับ แอนติอะตอมคืออะตอมเวอร์ชันปฏิสสาร ฉะนั้น แอนติไฮโดรเจนอะตอมจึงประกอบไปด้วย แอนติโปรตอน และโพสิตรอนอย่างละหนึ่งตัวครับ

ปัญหาหนึ่งอยู่ที่แอนติโปรตอน เพราะต้องผลิตมาจากการยิงอนุภาคชนกันด้วยพลังงานสูงในเครื่องเร่งอนุภาค เวลาจะนำมารวมกับโพสิตรอนจึงต้องทำให้พลังงานลดลงก่อน แล้วกักตัวทั้งสองไว้ในกับดักให้ two become one ...

กับดักที่ว่า (Penning trap) ใช้ได้กับอนุภาคที่มีประจุอย่างเดียวครับ เมื่อแอนติโปรตอนประจุลบ รวมกับโพสิตรอนประจุบวกแล้ว ทั้งสองก็จะหนีกันออกมาได้ เพราะเป็นกลางทางไฟฟ้า และยังมีพลังงานจลน์สูงอยู่จากแอนติโปรตอน แต่ไปไหนไม่ได้ไกลก็ไปชนเข้ากับผนังของอุปกรณ์ที่ทดลองซึ่งเป็นสสารปกติ พากันสูญสลายหายไปทั้งคู่สสารและปฏิสสารครับ (annihilation) กลายเป็นอนุภาคอื่นๆ ขึ้นมาแทน

ทำอย่างไรดี

ตามรายงานใน Physical Review Letters ฉบับวันที่ 21 มีนาคม 2008 ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์สร้างกับดักอีกอันสำเร็จแล้วครับ (Ioffe trap) เป็นกับดักแม่เหล็กสี่ขั้ว (quadrupole) ไว้สำหรับกักเก็บแอนติไฮโดรเจนอะตอมที่เป็นกลางทางไฟฟ้า โดยครอบ Penning trap ไว้อีกที ให้ทั้งสองทำงานร่วมกันโดยใช้สนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็กมาควบคุมโมเมนต์แม่เหล็กของเหล่าอนุภาคและอะตอมไม่ให้หนีไปไหน แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากักเก็บไว้ได้ แต่แววก็มาแล้ว เพราะพบว่า เมื่อใดก็ตามที่เปิด Ioffe trap จะพบแอนติไฮโดรเจนอะตอมมากขึ้น

ทีนี้เราก็มาคิดกันว่า กักเก็บไว้ได้แล้วจะเอาไปทำอะไรดีหนอ

ที่มา - Physics News Update
บทคัดย่อ - Physical Review Letters: Antihydrogen Production within a Penning-Ioffe Trap

Blognone Jobs Premium