มินิรีวิว Intel Core i7-6700K ซีพียู Skylake ตัวแรงสุดในปัจจุบัน

by Blltz
10 November 2015 - 10:10

ให้หลังจากการเปิดตัวซีพียูรุ่นใหม่รหัส Skylake ไปเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน เมื่อสัปดาห์ก่อนทางอินเทลประเทศไทยได้ส่งซีพียูรุ่นแรงสุดในปัจจุบันอย่าง Core i7-6700K มาให้ทาง Blognone ทดสอบ พร้อมกับชุดคิตอย่างเมนบอร์ด แรม DDR4 และ SSD ตัวแรงอย่าง 750 Series

ก่อนจะไปดูผลรีวิว ก็มาพูดถึงสเปค และฟีเจอร์ใหม่ที่มาพร้อมกับ Skylake กันก่อน โดยรุ่นนี้นับเป็นช่วง "tock" ที่จะเปลี่ยนสถาปัตยกรรมไปใช้แบบใหม่ แต่ยังคงขนาดไว้ที่ 14 นาโนเมตรเท่ากับ Broadwell โดยในรุ่นนี้ตัวซีพียู และจีพียูจะประหยัดไฟมากขึ้น, รองรับแรมทั้ง DDR3L และ DDR4, รองรับ PCIe 3.0 และ Thunderbolt 3 พร้อมฟีเจอร์ในการโอเวอร์คล็อกที่ละเอียดยิ่งขึ้น รวมถึงเปลี่ยนไปใช้บอร์ดใหม่รหัส Z170 ในซ็อกเก็ต LGA1151 อีกด้วย โดยรายละเอียดของชุดคิตที่รีวิวมีดังนี้ครับ

  • ซีพียู Core i7-6700K ควอดคอร์ ความถี่ 4GHz
  • เมนบอร์ด ASUS Z170-A
  • แรม Kingston HyperX Fury DDR4-2400 16GB (8GBx2)
  • SSD 750 Series ความจุ 400GB

    ก่อนไปดูรีวิว ก็เป็นเวลาโชว์อุปกรณ์ที่ได้มาครับ

เมนบอร์ด ASUS Z170-A รุ่นกลางๆ แต่ฟีเจอร์ครบครัน ตัวบอร์ดเป็น ATX ขนาดเต็ม

พระเอกของงานนี้ Core i7-6700K ก่อนทำความสะอาด

นี่คือหน้าตาของซ็อกเก็ตใหม่ LGA1151 แต่ไม่ใช่ OC Socket ที่จะมีขาพินมากกว่าปกติ ช่วยให้โอเวอร์คล็อกได้ดุดันยิ่งขึ้น

ทำความสะอาดและประกอบร่างเรียบร้อย สังเกตดีๆ จะเห็นว่าบอร์ดรุ่นนี้มีตัวช่วยสำหรับใส่ซีพียูลงสล็อตง่ายขึ้นด้วย (กรอบพลาสติกสีดำรอบๆ)

พัดลมระบายความร้อนที่ทางอินเทลส่งมาให้จะใหญ่กว่าพัดลมแบบมาตรฐานเล็กน้อย รวมถึงส่วนของฮีทซิงก์ก็ใหญ่กว่าเช่นกัน (อย่าลืมว่าซีพียูซีรีส์ K ไม่แถมฮีทซิงก์นะ!)

SSD 750 Series ตัวแรง ส่วนแรมนั้นลืมถ่ายรูปมาครับ :(

เริ่มทดสอบ!

การทดสอบซีพียูในครั้งนี้จะเน้นไปที่กำลังประมวลผลของตัวซีพียูเป็นหลัก มีผลการทดสอบของ Intel HD 530 ที่บันเดิลมากับตัวซีพียูเล็กน้อย โดยจะเปรียบเทียบกับรุ่นก่อนหน้าในไลน์ใกล้เคียงกันอย่าง Core i7-4790K (Devil's Canyon) และ Core i7-3790K (Ivy Bridge) เป็นหลักว่าประสิทธิภาพเหนือกว่าแค่ไหนแบบไม่โอเวอร์คล็อก

เริ่มต้นกันที่ CINEBENCH R15 ชุดทดสอบสำหรับเรนเดอร์ภาพสามมิติด้วยซีพียู โดยแบ่งเป็นสองผลลัพธ์คือแบบใช้คอร์เดียวในการเรนเดอร์ และใช้หลายคอร์ ผลทดสอบแบบคอร์เดี่ยวแสดงศักยภาพของ Skylake ออกมาอย่างชัดเจนด้วยการทิ้งห่างรุ่นก่อนหน้าอย่าง Devil's Canyon ไปราว 10% ด้วยกัน ก่อนจะพ่ายให้กับ 3930X (Sandy Bridge-E) ที่มีจำนวนคอร์มากกว่า (6 คอร์/12 เธรด) ในผลการทดสอบแบบหลายคอร์

ชุดทดสอบต่อมาจะเป็น Super PI ยอดนิยมสำหรับทดสอบความเร็วในการคำนวณค่า π ด้วยคอร์เดียว ซึ่งในการทดสอบSuper PI 1M นี้ 6700K จะตามหลัง 4790K อยู่เล็กน้อย (เดี๋ยวนี้ซีพียูตัวแรงๆ ใช้เวลาไม่ถึง 10 วินาทีกันแล้ว)

ดูการประมวลผลไปแล้วก็ถึงการใช้งานในสถานการณ์จริงกันบ้างด้วย x264 HD Benchmark ที่จำลองการเข้ารหัสวิดีโอ 1080p ด้วย x264 หน่วยคะแนนจะเป็น MB/s เลขยิ่งเยอะยิ่งดี ตรงนี้ผลลัพธ์จะชัดเจนว่า 6700K ทำผลงานได้เหนือกว่ารุ่นก่อนหน้า แม้ว่าจะเทียบกับโมเดลที่จำนวนคอร์มากกว่าก็ตาม

ปิดท้ายผลการทดสอบซีพียูกันด้วย Intel XTU ชุดโปรแกรมสำหรับช่วยจูนตัวเครื่องและโอเวอร์คล็อก ซึ่งมาพร้อมกับฟีเจอร์วิเคราะห์ตัวเครื่องเพื่อวัดผลคะแนนด้วย โดยในผลการทดสอบนี้ 6700K ทำคะแนนแซงรุ่นก่อนหน้าไปอย่างชัดเจน

หมดส่วนของซีพียูก็ถึงคราวขยับไปทดสอบจีพียูอย่าง Intel HD 530 กันบ้างว่าประสิทธิภาพดีขึ้นแค่ไหน โดยทดสอบกับเกมเก่าตั้งแต่ปี 2013 ลงมา ที่ความละเอียด 1080p (เท่าที่มีใน Steam ของผู้ทดสอบ)

  • Bioshock Infinite - 56FPS
  • Tomb Raider (reboot) - 28FPS
  • Street Fighter IV - 81FPS

  • Biohazard 6 (720p) - Rank B ประมาณ 20FPS (พอเล่นได้)

  • FFXIV - HW - 2771 แต้ม มากกว่า 30FPS แทบจะตลอดเวลา

ของแถม Ashes of the Singularity ชุดทดสอบ DX12 (กดที่ภาพเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)

ภาพรวมของฝั่งจีพียู Intel HD 530 ใช้เล่นเกมออนไลน์ดังๆ ทั้ง HON, LOL หรือแม้แต่ Dota 2 ได้ไม่มีปัญหา แถมยังสามารถปรับคุณภาพกราฟิกไปถึงระดับสูงสุดด้วยซ้ำ แต่ฝั่งเกมออฟไลน์ AAA ตอนนี้พอจะบอกว่าเล่นได้บ้างแล้ว ซึ่งเมื่อเทียบกับ Iris Pro ก็ยังประสิทธิภาพด้อยกว่าอยู่ดี

สรุป

สำหรับคนที่กำลังลังเลว่าเปลี่ยนมาใช้ 6700K หรือซีพียูในรหัส Skylake จะดีหรือไม่ ให้ย้อนกลับไปดูรุ่นที่ใช้อยู่ก่อนครับ ถ้าหากยังใช้เป็น Haswell ขึ้นไป (ตั้งแต่ Haswell, Devil's Canyon ไปจนถึง Haswell-E) การอัพเกรดมาเป็น Skylake คงไม่ค่อยเห็นผลนัก แต่ถ้าเป็นรุ่นเก่ากว่านั้นตั้งแต่ Ivy Bridge ลงไปจะเห็นผลชัดเจนมาก แถมยังได้เข้าถึงของใหม่ๆ อย่าง M.2 จากบอร์ด Z170 รวมถึงแรม DDR4 ที่ราคาเริ่มถูกลงอีกด้วย

การพัฒนาฝั่งกราฟิกของอินเทลยังคงค่อยๆ ขยับ สำหรับคนที่เน้นทำงาน เล่นเกมออนไลน์เล็กน้อย แทบไม่มีความจำเป็นต้องซื้อการ์ดจอแยกแล้วในตอนนี้ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ อย่างความร้อน อัตราการบริโภคพลังงานนั้นไม่ต่างจากรุ่นก่อนหน้ามากนัก

ไม่ได้ทดสอบ

  • โอเวอร์คล็อก
Blognone Jobs Premium