เชื่อว่าหลายๆ ท่านจะเคยเจอกับประเด็นปัญหาที่เป็นทางสองแพร่งทางจริยธรรม (Ethical Dilemma) เช่น หากสามารถช่วยได้เพียงคนเดียว จะเลือกช่วยใครระหว่างภรรยากับแม่? ประเด็นที่เป็นทางสองแพร่งเช่นนี้ อาจถกเถียงกันได้ไม่ตกในแง่ของหลักการหรือในเชิงของปรัชญา ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีคำตอบที่ถูกและผิดที่ตายตัว
ขณะที่ต่อให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นจริง ก็เชื่อว่าน่าจะคิดไม่ตกเช่นกัน แต่ผู้ผลิตรถยนต์ไร้คนขับอาจจะต้องขบคิดกับสถานการณ์เช่นนี้ ตั้งแต่ขั้นพัฒนาอัลกอริธึมของระบบด้วยซ้ำไป เพราะต่อให้รถไร้คนขับจะสามารถป้องกันและแก้ปัญหาสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดีแค่ไหน ก็คงต้องเผื่อกับสถานการณ์อุบัติเหตุที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
หากรถไร้คนขับต้องเจอกับสถานการณ์ที่ต้องเลือกระหว่างชนคนข้ามถนนหลายสิบคน (ที่ยังไงก็ต้องชน เบรคไม่อยู่) กับหักหลบแล้วทำให้คนที่อยู่ในรถบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ตัวรถควรจะทำอย่างไร? หักหลบเพื่อคร่าชีวิตให้น้อยที่สุด หรือชนเพื่อรักษาชีวิตผู้โดยสาร?
ซึ่งหากคิดในแง่ของศีลธรรมล้วนๆ แล้วอาจจะได้คำตอบว่า ทำให้เกิดการเสียชีวิตน้อยที่สุดสิ ถึงจะดี แต่หากหักหลบ แล้วใครเล่าจะซื้อรถไร้คนขับมาใช้ ในเมื่อมันไม่ได้ช่วยปกป้องผู้โดยสาร หากจะชนคนข้ามถนน ก็จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของระบบไร้คนขับ
ประเด็นนี้ ช็อง ฟร็องซัว บ็อนฟอง นักวิจัยที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งตูลูส (Toulouse School of Economics) ประเทศฝรั่งเศสและทีมงานคิดว่า ในเมื่อมันไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด ความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ (Public Opinion) จะกลายเป็นตัวตัดสินถึงการยอมรับรถไร้คนขับ
พวกเขาจึงทดสอบเพื่อหาความคิดเห็นส่วนใหญ่จากคนงานของ Amazon's Mechanical Turk โดยคนงานเหล่านี้จะเจอบททดสอบภายใต้สถานการณ์ข้างต้นว่าจะชนคนข้ามถนน หรือหักหลบชนกำแพงแล้วผู้โดยสารเสียชีวิต แต่ก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปเช่น จำนวนคนข้ามถนนที่จะเสียชีวิต หรือแม้แต่สมมติให้ผู้เข้าร่วมทดสอบเป็นคนข้ามถนนเสียเอง
ผลการทดสอบ เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า รถไร้คนขับควรถูกโปรแกรมให้ลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด ซึ่งก็คือหักหลบ แต่ผู้ร่วมทดสอบก็แสดงความเห็นว่า พวกเขาอยากให้คนอื่นซื้อรถไร้คนขับมาใช้ มากกว่าที่จะซื้อมาขับเอง (ย้อนแย้งในตัวเอง)
บ็อนฟองและทีมงานชี้ว่า การวิจัยของเขาเป็นเพียงก้าวแรกที่จะนำไปสู่เขาวงกตทางศีลธรรมที่สลับซับซ้อนสำหรับการพัฒนารถไร้คนขับ ที่จะมีเงื่อนไขอื่นๆ เข้ามาเพิ่มอีกเช่นความไม่แน่นอนของสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ หรือแม้แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว ใครเป็นคนผิด?
คิดแล้วก็นึกถึงภาพยนตร์เรื่อง I, Robot ชอบกล
ที่มา - Technology Review, อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่นี่ (PDF)