สองปรมาจารย์ Usability วิจารณ์แนวทางออกแบบของแอปเปิล "เน้นแค่สวย แต่ใช้งานยาก"

by mk
17 November 2015 - 16:33

ในแวดวงผู้สนใจวิชาการออกแบบและ usability คงไม่มีใครไม่รู้จัก Don Norman ผู้เขียนหนังสือคลาสสิค The Design of Everyday Things และ Bruce Tognazzini หรือ "Tog" ผู้เขียนหนังสือ Tog on Interface

ทั้งสองคนเคยเป็นพนักงานของแอปเปิลในยุคต้นๆ และมีบทบาทอย่างสูงเรื่องการบุกเบิกวิชาออกแบบส่วนติดต่อผู้ใช้แบบ GUI ที่เป็นของใหม่ในยุคนั้น ตัวของ Tog เข้ามาทันยุคสตีฟ จ็อบส์ช่วงแรก ผลงานสำคัญของเขาคือเขียนเอกสาร Apple Human Interface Guidelines ที่เป็นคำแนะนำด้านการออกแบบ GUI บนระบบปฏิบัติการแมคอินทอช ส่วน Don ตามเข้าแอปเปิลมาทีหลัง แต่ก็เป็นพนักงานแอปเปิลคนแรกที่มีคำว่า User Experience อยู่ในชื่อตำแหน่ง

แต่ล่าสุด อดีตพนักงานแอปเปิลทั้งสองคนที่ได้ชื่อว่าเป็น "ตำนาน" ของการออกแบบส่วนติดต่อผู้ใช้ ออกมาวิจารณ์แอปเปิลยุคปัจจุบันว่า "ดีแต่สวย แต่ใช้งานยากขึ้นเยอะ"

ทั้งสองคนวิจารณ์ว่าแอปเปิลในอดีต เน้นการออกแบบเพื่อให้ "ง่าย" ผู้ใช้เรียนรู้วิธีการใช้งานง่าย ค้นหาสิ่งต่างๆ บนหน้าจอได้ง่าย เห็นแล้วรู้ทันทีว่าควรมีปฏิสัมพันธ์กับมันอย่างไร ซึ่งกรอบคิดแบบนี้เกิดจากหลักการและทฤษฎีเชิงวิทยาศาสตร์หลายข้อ คอยกำหนดแนวทางการออกแบบมาโดยตลอด

แต่แอปเปิลในยุคปัจจุบัน กลับเน้นความ "สวย" เป็นหลัก เน้นความ minimal มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทิ้งหลักการเดิมๆ ที่บริษัทเคยยึดถือมาโดยตลอด

  • เน้นความเรียบง่ายเมื่อมองเห็นด้วยตา (visual simplicity) และความหรูหรา (elegance) แต่ทิ้งเรื่องการเรียนรู้ได้ง่าย (learnability) การใช้ง่าย (usability) และผลิตภาพ (productivity) ลง
  • ใช้ฟอนต์ตัวเล็ก ขนาดบาง คอนทราสต์ต่ำ ทำให้คนที่มีปัญหาด้านสายตาหรือคนที่เริ่มมีอายุ มองเห็นวัตถุบนจอได้ยากขึ้น
  • แอปเปิลลดปัจจัยด้าน "การค้นพบได้ง่าย" (discoverability) ลง หันมาเน้นการสั่งงานด้วย gesture ที่ผู้ใช้ต้องเรียนรู้เองในครั้งแรก ไม่สามารถมองเห็นแล้วใช้งานได้เลย และต้องจำรูปแบบของ gesture จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
  • การถอยกลับ (recoverability) ในโลกของแอปเปิลทำได้ยาก ผู้ใช้ไม่มีวิธีง่ายๆ ในการยกเลิกการกระทำล่าสุด ตรงนี้ฝั่งของ Android ทำได้ดีกว่าเพราะมีปุ่ม Back ชัดเจน แต่ปุ่ม Back ของฝั่งแอปเปิลอยู่ไม่เป็นที่ และบางครั้งก็ไม่มีให้กด
  • ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลเรียบง่ายจนเกินไป เอาปุ่มออกไปเยอะจนผู้ใช้เสียอำนาจในการ "ควบคุม" การลดจำนวนปุ่มเหลือเพียงปุ่มเดียวในหลายครั้ง ส่งผลให้ต้องแฝงวิธีใช้ปุ่มหลายรูปแบบ เช่น กดสองที กดสามที หรือใช้หลายนิ้วพร้อมกัน
  • (เดิมที) ปุ่มบนคีย์บอร์ดของ iOS ใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ (uppercase) ตลอดเวลา ไม่ว่าจะพิมพ์ตัวเล็กหรือใหญ่ก็ตาม ซึ่งตรงนี้ Android ทำได้ตรงไปตรงมากว่า

ทั้งคู่วิจารณ์ว่า "ความสวย" เป็นแค่มิติหนึ่งของการออกแบบเท่านั้น วงการออกแบบในปัจจุบันไปไกลกว่าแค่เรื่องสวย และนำการออกแบบมาใช้แก้ปัญหาใหญ่ๆ เช่น ความซับซ้อนของเมืองหรือระบบการจราจร

พวกเขาบอกว่าผลลัพธ์คือผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลสวยงาม และเมื่อผู้ใช้ไม่สามารถใช้งานผลิตภัณฑ์ได้ ก็จะโทษตัวเองว่าใช้ไม่เป็นแทนการโทษแอปเปิลซะด้วย เมื่อแอปเปิลเป็นผู้นำทิศทางโลกการออกแบบในปัจจุบัน บริษัทอื่นก็พยายามทำตามโดยไม่เข้าใจหลักการพื้นฐานว่าทำไปทำไม

ทั้งคู่ไม่ได้วิจารณ์แค่แอปเปิลเพียงรายเดียว แต่ยังวิจารณ์กูเกิลว่าผลิตภัณฑ์อย่าง Android และ Google Maps สวยขึ้นทุกเวอร์ชัน แต่ก็ใช้งานยากขึ้นเช่นกัน ส่วนไมโครซอฟท์ทำได้ดีกับ Windows 8 ที่แก้ปัญหาเรื่องการออกแบบหลายอย่าง แต่กลับพลาดเรื่องการทำให้ผู้ใช้เดสก์ท็อปเดิมสามารถใช้งานระบบใหม่ได้ง่าย (ทั้งคู่บอกว่ายังใช้ Windows 10 ไม่เยอะพอที่จะวิจารณ์ได้)

ทั้งคู่ยังวิจารณ์คำอ้างของแอปเปิลยุคปัจจุบัน ที่ชอบอ้างวาทะของ Dieter Rams นักออกแบบชาวเยอรมัน (แบรนด์ Braun) ที่ว่า "Good design is as little design as possible" ว่าคำพูดนี้เป็นหลักการข้อที่ 10 ของ Rams เท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว Rams พูดหลักการอื่นๆ ไว้อีก 9 ข้อที่แอปเปิลไม่ได้ปฏิบัติตาม และเลือกหยิบหลักการเพียงบางข้อมาใช้งานแบบเข้าข้างตัวเอง ในเอกสาร Human Interface Guidelines ของแอปเปิล มีหลักการหลายข้อที่ดี แต่แอปเปิลกลับเป็นฝ่ายไม่ยอมทำตามเสียเอง

ใครที่สนใจหลักวิชาด้านออกแบบและ usability แนะนำให้อ่านบทความฉบับเต็มครับ ระดับปรมาจารย์ออกมาเอง

ที่มา - Fast Company

Blognone Jobs Premium