สำนักข่าว Reuters ห้ามช่างภาพอิสระถ่ายรูปไฟล์ RAW เพื่อรักษาความเป็นจริงของสถานการณ์

by BlackMiracle
19 November 2015 - 15:48

การถ่ายรูปเป็นไฟล์ RAW ได้รับความนิยมอย่างสูงจากนักถ่ายภาพระดับโปรและผู้สนใจทั่วไป เนื่องจากในไฟล์จะเก็บรายละเอียดของภาพไว้เยอะกว่าแบบ JPEG มาก ทำให้ช่างภาพสามารถแต่งภาพได้อย่างอิสระในภายหลัง ซึ่งถ้าใครเคยเห็นจะทราบว่าภาพที่กล้องถ่ายได้ กับภาพที่ผ่านการแต่งอาจดูเป็นคนละภาพเลยก็ได้ เรียกได้ว่าถ่ายมาเสียแค่ไหนก็แต่งให้ดูดีได้เลย

ประเด็นนี้ทำให้สำนักข่าว Reuters กังวลว่าภาพที่ช่างภาพถ่ายมาเป็นไฟล์ RAW แล้วเอามาแต่งทีหลัง จากนั้นค่อยส่งภาพให้ Reuters อาจไม่แสดงถึงความเป็นจริงของสถานการณ์ ณ ขณะนั้นก็เป็นได้ โดยสำนักข่าวได้ส่งข้อความถึงช่างภาพอิสระ ดังนี้

เราต้องการแจ้งช่างภาพอิสระของเราเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายทั่วโลก ต่อไปนี้กรุณาอย่าส่งภาพมาที่ Reuters หากภาพเหล่านั้นได้ผ่านการตกแต่งแก้ไขจากไฟล์ RAW หรือ CR2 โดยหากพวกคุณอยากถ่ายเป็น RAW ยังสามารถทำได้ แต่ขอให้ถ่ายแบบ JPEG มาพร้อมกันด้วย กรุณาส่งภาพที่ถ่ายมาเป็น JPEG และผ่านการแก้ไขเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่นการครอป หรือปรับระดับความเอียงของภาพ ฯลฯ

โฆษกของ Reuters เปิดเผยว่ารูปภาพของบริษัทต้องนำเสนอความเป็นจริง

ประเด็นที่ว่าการตกแต่งแก้ไขภาพผิดจรรยาบรรณของสื่อหรือไม่ เป็นที่ถกเถียงกันมากในระยะหลัง องค์กรไม่แสวงผลกำไร World Press Photo ได้ตัดสิทธิ์รูปภาพถึง 20% จากการเข้าประกวดในปีนี้ หลังจากเปรียบเทียบกับรูปภาพที่ไม่ผ่านการแก้ไขหรือแก้ไขน้อย โดยผู้อำนวยการด้านภาพถ่ายของ New York Times และกรรมการของ World Press Photo ชื่อ Michele McNally ระบุว่ารูปภาพจำนวนมากถูกปฏิเสธเนื่องจากมีการแก้ไขเยอะเกินไป เช่นถมดำจนวัตถุบางอย่างหายไปจากภาพเลย หรือมีการเพิ่มหรือลบวัตถุใดๆ ในภาพถ่าย

อย่างไรก็ตาม การประกาศครั้งนี้ของ Reuters ถือว่ามีผลมากต่อวงการภาพถ่าย โดยเฉพาะด้านสื่อ เนื่องจากช่างภาพต้องคิดมากขึ้นก่อนจะถ่ายภาพ เช่นต้องตั้งสมดุลแสงขาว (white balance) ให้เหมาะสม เพราะแก้ไขภายหลังยาก แต่ถ้าเป็นไฟล์ RAW ก็ไม่มีปัญหา ซึ่งการตั้งค่ากล้องอาจทำได้ยาก หรือทำไม่ทัน หากสถานการณ์ตอนนั้นมีการเคลื่อนที่เร็วหรืออยู่ในอันตราย

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Reuters ตัดสินใจข้างต้นคือเรื่องความเร็ว เนื่องจากไฟล์ RAW มีขนาดใหญ่มาก ทำให้ส่งไฟล์ไม่สะดวกหรือกินเวลานาน และการทำข่าวในพื้นที่ส่วนใหญ่ต้องการความเร็วในการรายงานข่าว ซึ่ง Reuters ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก และถ้าต้องมารอช่างภาพแต่งรูปอีกก็อาจทำให้รายงานข่าวได้ช้านั่นเอง เมื่อเทียบกับรูป JPEG ที่จบหลังกล้องพร้อมใช้ทันทีก็ช้ากว่าชัดเจน

หลังจากนี้คอยดูรูปจากข่าวของ Reuters กันนะครับ ว่าคุณภาพจะเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร

ที่มา - The Verge

Blognone Jobs Premium