ศึกยักษ์ชนยักษ์ รีวิวบริการดูหนังออนไลน์: iflix vs HOOQ vs PrimeTime vs Hollywood HD

by Blltz
23 November 2015 - 09:00

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความเร็วของอินเทอร์เน็ตทั้งในบ้าน และนอกบ้านของประเทศไทยกำลังเติบโตด้วยความเร็วระดับก้าวกระโดด ผลักให้เกิดบริการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้ด้วยความเร็วอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น หนึ่งในบริการที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นบริการดูวิดีโอออนไลน์ที่เริ่มต้นด้วยการเป็นช่องทางใหม่ในการดูทีวีออนไลน์ ก่อนจะขยับไปสู่การเป็นช่องทางใหม่สำหรับดูหนังแบบตามสั่ง (on-demand) ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน

แน่นอนว่าด้วยความนิยมของคนฝั่งคนดูที่ล้มหลาม ทำให้ผู้เล่นในตลาดวิดีโอออนไลน์นั้นแข่งขันกันอย่างคึกคักมาก มีบริการแนวนี้เปิดมาในประเทศไทยจำนวนมาก (นับรายเล็กรายน้อยแล้วเกิน 10 ไปไกล) ทาง Blognone จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะหยิบบริการดูวิดีโอออนไลน์รายใหญ่ๆ มาชนกันในทุกๆ มุม เพื่อจะได้ช่วยให้คนที่คิดว่าจะใช้งานแนวนี้ หาตัวเลือกที่ถูกใจได้ง่ายขึ้น (คำเตือน: รูปเยอะมาก)

ปัจจัยในการทดสอบจะมีทั้งหมด 5 หัวข้อใหญ่ๆ พร้อมรายละเอียดปลีกย่อยดังนี้

  • เว็บไซต์หลัก - วิเคราะห์การออกแบบหน้าเว็บ การจัดเนื้อหาวิดีโอ การแนะนำวิดีโอ การค้นหา และประสบการณ์ใช้งาน
  • คุณภาพวิดีโอ - ความละเอียดของวิดีโอที่รับชม รูปแบบของปลั๊กอินที่ใช้ อินเทอร์เฟซของตัวเล่นวิดีโอ และประสบการณ์รับชม
  • ประเภทของเนื้อหา - เน้นเนื้อหาแนวไหนบ้าง (ภาพยนตร์ไทย-เทศ, ซีรีส์เกาหลี, ซีรีส์ตะวันตก, หนังไทย ฯลฯ) มีภาพยนตร์ยอดนิยม หรือภาพยนตร์ชิงรางวัลมากน้อยแค่ไหน
  • การใช้งานบนมือถือ - ฟีเจอร์เท่าเว็บไซต์ไหม ประสบการณ์รับชมผ่านมือถือเป็นอย่างไร มีฟีเจอร์พิเศษอะไรบ้าง
  • ราคา - เทียบราคากับคู่แข่ง แพ็คเกจ และข้อจำกัดต่างๆ

จากปัจจัยการทดสอบทั้งห้าข้อที่ตั้งไว้นี้ จะถูกนำไปทดสอบกับบริการดูวิดีโอออนไลน์รายใหญ่ในประเทศไทยทั้ง 4 เจ้า ได้แก่ iflix, HOOQ, PrimeTime และ Hollywood HD ลำดับการรีวิวจะเรียงแบบสุ่ม ไม่ได้เอื้อให้เจ้าใดเป็นพิเศษ ว่าแล้วก็ไปดูกันเลย :)

เริ่มชนด้วยเว็บไซต์หลัก

iflix

เริ่มต้นกันที่น้องใหม่อันดับ 2 อย่าง iflix ที่จุดขายค่อนข้างต่างจากเจ้าอื่นๆ โดยนอกจากจะมีหนังฮอลลีวูดให้ดูแล้ว ยังเน้นซีรีส์หนักพอๆ กับฝั่งภาพยนตร์ เปิดมาหน้าแรกของเว็บไซต์จะพบกับโปสเตอร์โฆษณาซีรีส์-ภาพยนตร์ที่กำลังฉายอยู่ขนาดใหญ่ก่อนสิ่งอื่นใด

ตัวเนื้อหาใน iflix จะแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ คือ รายการทีวี, ภาพยนตร์ และช่องสำหรับเด็ก โดยวิธีการจัดเรียงเนื้อหาจะมีทั้งแบ่งตามประเภท (ในเมนู) และจัดกลุ่มโดยทีมงานที่เลือกภาพยนตร์แนวเดียวกันมาไว้ด้วยกัน

ระบบค้นหาของ iflix สามารถเข้าถึงได้จากมุมขวาบนของแถบเมนู ซึ่งจะติดตามผู้ใช้ไปทุกเวลา ทดสอบค้นหาแล้วพบว่าแม่นยำดี ใช้รูปแบบการแสดงผลการค้นหาเหมือนกับหน้าเว็บไซต์หลักเป๊ะๆ ได้คะแนนบวกด้านความสม่ำเสมอของ UX ไป

เมื่อกดเลือกภาพยนตร์ที่ต้องการแล้วจะมีรายละเอียดมาให้ตั้งแต่ เรื่องย่อ เรตผู้ชม ความยาว ปีที่ฉาย ซับไตเติลที่รองรับ ซึ่งเกือบจะครบแล้ว ขาดนิดหน่อยตรงที่ไม่บอกว่าให้ความละเอียดระดับไหน

แน่นอนว่ามีแนะนำภาพยนตร์แนวเดียวกันมาให้ด้วย

ปิดท้ายฝั่งเว็บไซต์ของ iflix Kids รวมเนื้อหาสำหรับเด็กที่ใช้โทนสีคนละแนวกับเว็บไซต์หลักเลย แถมยังมีให้เลือกวิดีโอได้จากตัวละครอีกด้วย

ภาพรวมเว็บไซต์ iflix ทำออกมาได้เรียบง่าย และจัดวางฟังก์ชันต่างๆ ได้อย่างเป็นสัดส่วน และวางสามเนื้อหาหลักให้เข้าถึงได้อย่างชัดเจน ตัวเมนูวางไว้ด้านซ้ายสุดต้องกดก่อนจึงจะขยายออกมาอาจดูวุ่นวายเล็กน้อย แต่การใช้คำว่า Menu ตรงๆ ช่วยให้เข้าใจง่ายได้มากขึ้น รวมถึงช่องค้นหาที่เข้าถึงได้ตลอด และปรับภาษาได้ทั้งไทย-อังกฤษ เรียกได้ว่าทำเว็บไซต์ออกมาได้ดีทีเดียว

HOOQ

น้องใหม่สุดของวงการอย่าง HOOQ ที่พาร์ทเนอร์รายใหญ่อย่าง AIS มาร่วมแจมนั้น จัดวางหน้าเว็บไซต์ได้ต่างจากของรายก่อนหน้าอย่าง iflix อย่างสิ้นเชิง อินเทอร์เฟซพื้นฐานจะวางในรูปแบบของบล็อก เน้นรูปภาพขนาดใหญ่เป็นหลัก

วิธีการจัดกลุ่มเนื้อหาจะแบ่งตามชุดของภาพยนตร์-ซีรีส์นั้นๆ แทนที่จะแบ่งตามประเภทไปตรงๆ

เมนูหลักถูกวางไว้ตรงปุ่มสามขีดข้างโลโก้ กดแล้วจะขยายออกมา โดยมีฟีเจอร์หลักๆ คือเป็นช่องค้นหา และบอกภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่ดูไปด้วย

พอเริ่มพิมพ์ค้นหา ช่องทั้งหมดจะกลายร่างเป็นพื้นที่สำหรับแสดงผลการค้นหาแทน

กดเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมของภาพยนตร์ บอกมาค่อนข้างครบถ้วนทั้งเรตผู้ชม รายชื่อนักแสดง เรื่องย่อ โดยเรื่องที่มีพากย์ไทยจะมีแถบคาดสีเหลืองติดอยู่บนโปสเตอร์หนังด้วย (หักคะแนนไม่บอกซับไตเติล ความยาว และความละเอียด)

ภาพรวมเว็บไซต์ของ HOOQ เน้นภาพประกอบเป็นหลัก สำหรับคนที่ใช้ฟีเจอร์ค้นหาชื่อหนังจากเบราว์เซอร์จะลำบากขึ้นหน่อย การแยกเมนูเป็นสองส่วนค่อนข้างสับสนเล็กน้อย (ฝั่งซ้ายเป็นเมนูรับชม ฝั่งขวาเป็นเมนูบัญชีผู้ใช้) ฟังก์ชันค้นหาทำงานได้ค่อนข้างแม่นยำดี

ความเห็นส่วนตัว สีพื้นหลังสีม่วงเข้มไม่ค่อยสบายตาเท่าไรครับ แต่ส่วนที่แย่คือไม่บอกว่ามีซับไตเติลภาษาอะไรบ้างนี่ล่ะ

PrimeTime

เจ้าที่เกือบจะเก่าสุดจากในรายชื่อที่เลือกมาอย่าง PrimeTime ใช้เว็บไซต์หลักเป็นสีฟ้าอ่อน พื้นหลังสีเทาใกล้เคียงกับโลโกของตัวเอง วิธีการจัดวางจะคล้ายกับ iflix ตรงที่มีโปสเตอร์หลักสำหรับโชว์โปรโมชัน (ไม่ได้มีแค่รายละเอียดภาพยนตร์-ซีรีส์เหมือน iflix) การแสดงผลจะมีทั้งภาพโปสเตอร์ ชื่อ และปีที่ฉายให้ด้วย

วิธีการจัดเรียงเนื้อหาของ PrimeTime เริ่มจากภาพยนตร์แนะนำ ตามมาด้วยภาพยนตร์ที่ดูค้างไว้ ก่อนจะเริ่มแสดงภาพยนตร์ที่จัดกลุ่มรวมให้อีกที วิธีการจัดกลุ่มจะเป็นชุดของเนื้อหาเช่น ภาพยนตร์ต่างประเทศ ภาพยนตร์ไทย ภาพยนตร์เช่า ภาพยนตร์ในแพ็คเกจบุฟเฟต์ เป็นต้น อินเทอร์เฟซที่ใช้จะคล้ายกับใน App Store ของแอปเปิล

มีจัดชุดภาพยนตร์ที่มีภาคต่อไว้รวมกันด้วย

สำหรับฟังก์ชันอื่นๆ ของเว็บไซต์จะมีเมนูรวมภาพยนตร์ตามแพ็คเกจด้านบนสุด และแถบสำหรับค้นหาด้านขวามือ ที่ออกจะรกไปนิดหน่อย

อินเทอร์เฟซสำหรับแสดงผลการค้นหาใช้เหมือนกับหน้าหลักเป๊ะๆ รายละเอียดภาพยนตร์ออกไว้ครบถ้วนทั้งซับไตเติล ความยาว เรตติง เรื่องย่อ ไม่มีความละเอียดบอกเช่นเคย

ความต่างจากบริการทั่วไปคือ PrimeTime มีระบบเช่าด้วย โดยคิดราคาแยกจากแพ็คเกจบุฟเฟต์อีกที ตัวภาพยนตร์เข้าใหม่จะมีหน้าตาต่างจากภาพยนตร์อื่นๆ โดยสามารถดูได้ 48 ชั่วโมงนับตั้งแต่เริ่มเช่า

ภาพรวมเว็บไซต์ของ PrimeTime ทำมาได้สะอาด และใช้งานได้ง่าย แม้จะมีเมนูยุ่บยั่บอยู่ด้านบนก็ตาม ข้อด้อยที่เจอคือเว็บไซต์กินทรัพยากรเอาเรื่อง เป็นเจ้าเดียวที่โหลดช้ากว่าใครไปเสียได้

Hollywood HD

ปิดท้ายกันด้วยพี่ใหญ่ในวงการอย่าง Hollywood HD ที่ออกแบบเว็บไซต์หลักแนวทางเดียวกับทั้ง iflix และ PrimeTime ด้วยการใช้โปสเตอร์ขนาดใหญ่ ผสมกับชุดภาพยนตร์ที่จัดไว้

ส่วนที่น่าสนใจ และรายอื่นไม่มีคือ Hollywoo HD มีหมวดรวมภาพยนตร์รางวัลออสการ์ด้วย

ฟังก์ชันค้นหาสามารถเข้าได้จากปุ่มค้นหาข้างปุ่มเมนู เมื่อกดไปแล้วจะมีช่องขนาดใหญ่ขึ้นมาให้กรอก ผลลัพธ์ที่ได้นอกจากจะมีรายชื่อภาพยนตร์แล้ว ยังสามารถเรียงตามปีได้ด้วย (แต่ไม่ค่อยจะแม่นเท่าไร)

หน้ารายละเอียดภาพยนตร์ทำได้ค่อนข้างดี มีรายละเอียดครบถ้วนทั้งเรตผู้ใช้ เรตติง ซับไตเติล เสียง รายละเอียดภาพยนตร์ เช่นเคย ไม่มีความละเอียดมาบอก

ภาพรวมของเว็บไซต์ Hollywood HD สามารถเลือกดูภาพยนตร์ได้ค่อนข้างง่าย ไปตกม้าตายตรงฟังก์ชันค้นหาที่วุ่นวายไปหน่อย เว็บไซต์ค่อนข้างช้าเช่นกัน

สรุปยกแรกด้านเว็บไซต์คะแนนของทั้ง iflix และ PrimeTime ค่อนข้างสูสี แต่ฝั่ง iflix เร็วกว่า เข้าใจง่ายกว่า เป็นผู้ชนะไปครับ

มาดูวิดีโอกันเถอะ

เกริ่นน้ำจิ้มไปยาวมาก ทีนี้ก็ถึงคิวของหนึ่งในอาหารจานหลักอย่างการชมวิดิโอบนเว็บไซต์ว่าเจ้าไหนมีฟังก์ชันการใช้งานเป็นไงบ้าง

ตัวเล่นวิดีโอของ iflix

จากภาพตัวอย่าง ตัวเล่นวิดีโอของ iflix จะมีลูกเล่นตรงที่ใช้โลโก้ iflix เป็นปุ่มสำหรับเลิกดูด้วย ส่วนฟีเจอร์หลักอื่นๆ เลือกซับไตเติล เลือกเสียง ปรับเสียง ปรับการเล่นวิดีโอนั้นมีมาให้ครบถ้วน ถ้าหากดูซีรีส์จะมีปุ่มสำหรับเลือกตอนมาให้ด้วย (วางไว้ข้างปุ่มหยุดเล่น)

การวางซับไตเติลของ iflix จะวางไว้เหนือแถบเลื่อนการเล่นวิดีโอ ใช้ฟอนต์สีขาวขนาดใหญ่ มีพื้นหลังสีดำโปร่งแสงมาให้ อ่านง่ายมาก ซับไตเติลแปลได้ค่อนข้างดีในกลุ่มของภาพยนตร์ที่คนดูเยอะๆ (ไม่ได้ทดลองดูซีรีส์เลย)

ความละเอียดของวิดีโอจะค่อยๆ ปรับตามความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่ใช้ เท่าที่สุ่มทดลองดูจะได้ความละเอียดที่ราว 480p-720p ซึ่งอยู่ในระดับที่รับชมได้ดี บัฟเฟอร์ค่อนข้างไว ดูยาวๆ ได้โดยไม่ติดขัด ติดตรงที่พลังเสียงค่อนข้างเบา และไร้มิติไปเสียหน่อย

ตัวเล่นวิดีโอของ HOOQ

HOOQ ยังคงยืนหยัดใช้สีม่วงต่อไป โดยตัวเครื่องเล่นวิดีโอของ HOOQ จะวางปุ่มสำหรับตั้งค่าไว้ด้านขวาทั้งหมด เลือกปรับได้ตั้งแต่ ซับไตเติล เสียง และคุณภาพวิดีโอ (ไม่บอกความละเอียด)

ซับไตเติลของ HOOQ ใช้ฟอนต์ค่อนข้างอ่านยาก และขนาดเล็กเอาเรื่อง ไม่มีพื้นหลังใดๆ วางไว้ติดกับขอบล่างของวิดีโอ แปลว่าเมื่อจะตั้งค่าหรือมือลื่นไปโดนเมาส์ จะมองไม่เห็นซับไตเติลทันที ซับไตเติลแปลไม่ค่อยดีเท่าไร

ความละเอียดของวิดีโอที่ระดับ High คาดว่าอยู่ราวๆ 480p-720p เช่นกัน แต่บิตเรตจะต่ำกว่าคู่แข่งพอสมควร เมื่อถึงฉากเคลื่อนไหวมากๆ เตรียมรับกับภาพแตกทันที

ตัวเล่นวิดีโอของ PrimeTime

PrimeTime ใช้อินเทอร์เฟซเครื่องเล่นใกล้เคียงกับ iflix (ที่ตัดโลโกออกไป) ปุ่มตั้งค่าถูกวางไว้ขวาสุดทั้งซับไตเติล และเสียงภาษา ตัวเครื่องเล่นเมื่อเริ่มดูจะเป็นหน้าต่างแยกออกมา สามารถปรับขนาดได้ตามชอบ

ซับไตเติลของ PrimeTime ใหญ่กว่า HOOQ เล็กน้อย ไม่มีพื้นหลังเช่นกัน แต่ดีกว่าตรงที่ไม่ถูกบัง เมื่อเลือกใช้เมนู แปลซับไตเติลค่อนข้างดีทีเดียว

คุณภาพของวิดีโอจะขึ้นอยู่กับประเภท และความใหม่ โดยภาพยนตร์เช่าส่วนมากจะเป็น 1080p ส่วนภาพยนตร์บุฟเฟต์จะ 720p ลงมา ข่าวร้ายคือดูบนเว็บไซต์ค่อนข้างติดขัด มีปัญหากับบางวิดีโอที่ความละเอียดสูง (เช่น Inside Out ในภาพ) บัฟเฟอร์ไม่ทัน หรือแม้แต่เสียงไม่ตรงกับปากก็มี ในขณะที่คุณภาพเสียงของ PrimeTime จัดว่าดีทีเดียว

ตัวเล่นวิดีโอของ Hollywood HD

แว้บแรกที่เห็นวิดีโอของ Hollywood HD แทบทุกคนต้องแอบคิดว่า "นี่มัน YouTube ชัดๆ" (เวอร์ชันเก่าด้วย) ซึ่งในความที่เหมือนกับ YouTube น่าจะช่วยให้ผู้ใช้ค่อนข้างคุ้นเคยกับอินเทอร์เฟซได้ไว สามารถปรับได้ตั้งแต่ซับไตเติล ภาษา และความละเอียด! บอกละเอียดถึงระดับบิตเรตเลยทีเดียว (ปรบมือสามที)

ซับไตเติลของ Hollywood HD ใช้ฟอนต์บางตัวใหญ่ มีพื้นหลังสีดำจางๆ ไม่ถูกบังจากเมนู ภาษาที่ใช้แปลซับไตเติลออกจะลิเกไปหน่อย (อย่างน้อยก็ใน The Lord of The Rings) ตรงนี้เลยจัดว่าเกือบดี

คุณภาพวิดีโอมีตั้งแต่ 480p-720p ตรงนี้ดูง่ายเพราะมีบอกชัดเจน ด้านคุณภาพเสียงจัดว่าดีมากๆ

ในยกที่สองแต่ละเจ้าทำคะแนนค่อนข้างสูสีกันมาก ถ้าวัดจากตัวเครื่องเล่นอย่างเดียว Hollywood HD จะมาวิน แต่ถ้าดูภาพรวม (วิดีโอ ซับไตเติล เสียง) ยกนี้จะตกเป็นของ PrimeTime ที่ภาพรวมทำได้ดีกว่ามาก

ประเภทของเนื้อหา

ยกนี้จะมาวัดกันว่า แต่ละบริการที่เลือกมาทดสอบ เน้นเนื้อหาประเภทไหนมานำเสนอแก่ผู้ชมบ้าง ช่วงท้ายจะมียกส่วนภาพยนตร์ทำเงิน และชิงรางวัลมาเทียบด้วยว่ารายไหนมีมากกว่ากัน เพื่อให้เข้าใจง่าย จะจัดเป็นข้อๆ ไปครับ

iflix
  • เนื้อหาโดยรวมเป็นภาพยนตร์ + ทีวีซีรีส์ต่างประเทศ
  • iflix จะเน้นโปรโมตหนักไปที่ทีวีซีรีส์เป็นหลัก จากการที่ได้หลายเรื่องมาแบบเอ็กซ์คลูซีฟ
  • ทีวีซีรีส์จะมีหลากหลาย ตั้งแต่ฝั่งตะวันตก ไปจนถึงเกาหลี (มีแอนิเมชันด้วยเล็กน้อย)
  • ภาพยนตร์แทบทั้งหมดมาจากฮอลลีวูด ไม่ค่อยมีภาพยนตร์ไทย ไม่เน้นภาพยนตร์ใหม่
HOOQ
  • มีทั้งภาพยนตร์ และทีวีซีรีส์ต่างประเทศ
  • ถัวเฉลี่ยกันระหว่างภาพยนตร์ และทีวีซีรีส์
  • มีภาพยนตร์ไทยพอสมควร มีภาพยนตร์ต่างประเทศแบบพากย์ไทย และซีรีส์เอ็กซ์คลูซีฟ
  • ภาพยนตร์ไม่ค่อยใหม่เท่าไร ทั้งต่างประเทศ และในประเทศ
PrimeTime
  • มีทั้งภาพยนตร์ และทีวีซีรีส์ต่างประเทศ (แยกแพ็คเกจบุฟเฟต์กัน)
  • เน้นโปรโมตหนักไปที่ภาพยนตร์ โดยเฉพาะเรื่องใหม่ชนโรง
  • จำนวนภาพยนตร์เยอะที่สุดในทุกบริการในหยิบมา เน้นเฉพาะเรื่องที่ดังติดกระแส
  • ทีวีซีรีส์แม้จะมีของต่างประเทศด้วย แต่หลักๆ เน้นไปที่ทีวีซีรีส์ในประเทศไทยมากกว่า (GTH มาเต็ม)
  • มีวิดีโอบันทึกคอนเสิร์ตให้ชม
  • ดูทีวีได้
Hollywood HD
  • มีทั้งภาพยนตร์ และทีวีซีรีส์เอเชีย
  • ถัวเฉลี่ยเนื้อหาค่อนข้างดี มีทั้งหนังเก่า (บุฟเฟต์) หนังใหม่ (เช่า และซื้อ) และทีวีซีรีส์เอเชียพากย์ไทย
  • มีการ์ตูนแอนิเมชันเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องที่ฉายในประเทศไทย เช่น โคนัน
  • มีหนังสั้นของ Disney ด้วย! (และแอนิเมชันของ Makoto Shinkai อีกจำนวนหนึ่ง)
  • มีหมวดหนังทำเงิน และหนังชิงรางวัล
  • ดูทีวีได้

การใช้งานบนมือถือ

ดูกันบนเดสก์ท็อปไปแล้วก็ถึงเวลาไปดูต่อกันบนมือถือบ้าง โชคดีที่ทุกเจ้าที่หยิบมาทดสอบในครั้งนี้ มีแอพของตัวเองกันหมด ปัจจัยตัดสินจะพูดคร่าวๆ ถึงหน้าตาแอพโดยรวม ฟีเจอร์ทัดเทียมเว็บไซต์หรือไม่ วิดีโอเป็นอย่างไร มีฟีเจอร์พิเศษอะไรบ้าง

แอพ iflix

เริ่มต้นกันที่ iflix ที่ทำแอพมาเหมือนกับจับเว็บไซต์มาย่อส่วนเป๊ะๆ (ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี) รวมถึงการจัดกลุ่มประเภทของภาพยนตร์ด้วย ฟีเจอร์ที่มีเหมือนกัน (และวางไว้ตำแหน่งเดียวกัน) คือการดูค้างจากที่ดูไว้ มีแถบสีบอกระยะเวลาที่เหลือเรียบร้อย

การวางเมนูของแอพ iflix ก็เหมือนกับเว็บไซต์เช่นกัน รวมถึงปุ่มค้นหาที่จะอยู่กับเมนูด้านบนที่ให้ผลการค้นหาค่อนข้างแม่นยำ (พิมพ์ผิดยังหาเจอ)

สำหรับเรื่องที่ดูค้างไว้จากบนเดสก์ท็อป ถ้าหากกดไปเล่นต่อ จะมีขึ้นมาถามว่าจะเล่นต่อจากเดิมเลยหรือไม่

ตัวเล่นวิดีโอในแอพทำหน้าตาคล้ายกับบนเว็บไซต์เช่นกัน น่าเสียดายที่ตัวแอพป้องกันไม่ให้เก็บภาพหน้าจอส่วนวิดีโอ จึงจะเน้นเฉพาะส่วนอินเทอร์เฟซเป็นหลัก ซึ่งข้อติจริงๆ ก็มีแค่ซับไตเติลถูกแถบเลื่อนเวลาของวิดีโอบังเท่านั้นเอง

คุณภาพภาพ และเสียงทำได้ใกล้เคียงกับเวอร์ชันเว็บไซต์ โดยเฉพาะเสียงที่เบากว่าบริการอื่นก็ยังติดมาด้วย ส่วนการบัฟเฟอร์ ทำได้รวดเร็วดี ดูได้ไม่กระตุก แถบเมนูบนหน้าจอของ Android จะโผล่มาเฉพาะตอนกดหน้าจอเพื่อเปิดเมนูเท่านั้น และหายไปพร้อมกับเมนู ไม่อยู่ค้างบังหน้าจอแต่อย่างใด

ปิดท้ายด้วยโหมดสำหรับเด็กก็ยังคงมีอยู่เช่นกัน

แอพ HOOQ

เช่นเดียวกับ iflix ทาง HOOQ เลือกที่จะออกแบบแอพบนสมาร์ทโฟนให้หน้าตาเหมือนกับเดสก์ท็อปเช่นกัน สิ่งที่ต่างคือเมนูจากเดิมที่เป็นหน้าต่างเปิดทับเว็บไซต์ จะกลายเป็นแถบขนาดใหญ่จากด้านซ้ายแทน ตามแนวทางของแอพบนสมาร์ทโฟนทั่วไป

ในหน้าเมนูจะมีเรื่องที่ดูล่าสุดอยู่เช่นเคย แต่ฟีเจอร์ที่เพิ่มเข้ามาคือ ในแอพของ HOOQ สามารถดาวน์โหลดภาพยนตร์มาเก็บไว้ดูแบบออฟไลน์ได้ด้วย

หน้ารายละเอียดของ HOOQ ในแอพให้รายละเอียดน้อยเท่าๆ กันกับในเว็บไซต์ ต่างตรงเมนูดาวน์โหลดดูออฟไลน์ที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งสามารถเลือกความละเอียดได้สามระดับด้วยกัน (แบบ High ของเรื่องนี้ได้ที่ 480p)

พอกดดาวน์โหลดเรียบร้อย ตัวภาพยนตร์ที่เลือกจะเด้งมาอยู่ที่ในหน้า My Library ใต้แถบ My Downloads ซึ่งจะบอกระยะเวลาดาวน์โหลดให้เสร็จสรรพ

การตั้งค่าของตัวแอพจะละเอียดกว่าบนเดสก์ท็อปพอสมควร โดยตัวเลือกที่เพิ่มขึ้นมาทั้งหมดจะเกี่ยวกับการดูผ่าน 3G, ดูออฟไลน์ และการเลือกคุณภาพภาพยนตร์ที่จะดาวน์โหลดเข้ามาไว้ในเครื่อง ส่วนสามตัวเลือกด้านล่างจะมีเหมือนกับบนเดสก์ท็อป

เครื่องเล่นวิดีโอในของ HOOQ จะป้องกันการเก็บภาพหน้าจอแบบเต็มรูปแบบ เลยต้องใช้การถ่ายภาพหน้าจอมาแทน ตัวเครื่องเล่นวางวิดีโอไว้ด้านล่างสุด (แน่นอนว่าถูกบังโดยเมนู)

ปุ่มตั้งค่าวิดีโอในระหว่างเล่น ถูกรวบเป็นปุ่มเดียวเหมือนบนเว็บไซต์ กดแล้วจะมีตัวเลือกให้ปรับตั้งแต่ ซับไตเติล ภาพ และความละเอียดวิดีโอ การเล่นวิดีโอผ่านแอพ HOOQ ทำได้ค่อนข้างดีกว่าบนเดสก์ท็อป แม้ว่าซับไตเติลจะขนาดใกล้เคียงกัน แต่พอมาอยู่บนหน้าจอสมาร์ทโฟนแล้วกลับกลายเป็นขนาดที่กำลังดี ฟีเจอร์ที่เพิ่มเข้ามาคือบอกว่าเครือข่ายที่เชื่อมต่ออยู่ในขณะนั้น สัญญาณดีหรือไม่ (ในภาพคือดี เป็นวงกลมสีเขียว)

แอพ PrimeTime

PrimeTime ก็เป็นอีกเจ้าที่เลือกทำแอพหน้าตาใกล้เคียงกับเว็บไซต์ ต่างกันตรงที่ไม่หนืดเหมือนกับบนเดสก์ท็อปแล้ว แถบเมนูวางไว้ด้านซ้ายสุด แทนที่จะกองรวมไว้ด้านบนเหมือนกับเว็บไซต์

รายละเอียดของภาพยนตร์ยังคงบอกอย่างครบถ้วน

สิ่งที่น่าประทับใจของแอพ PrimeTime คือทำตัวเล่นวิดีโอได้ค่อนข้างดีมาก (ดีกว่าบนเว็บไซต์) สามารถเล่นวิดีโอความละเอียดสูงได้อย่างต่อเนื่อง แต่มีชะงักโหลดบัฟเฟอร์เล็กน้อยกับเรื่องที่มีความละเอียด 1080p (ต่ำกว่านี้ไม่มีบัฟเฟอร์เลย)

เมนูทั้งหมดถูกวางไว้ด้านบน ต่างกับบนเว็บไซต์ที่วางไว้ด้านล่าง สามารถปรับได้ทั้งซับไตเติล และเสียง

การวางซับไตเติล จะอยู่ตำแหน่งล่างสุดของหน้าจอ แม้จะถูกบังด้วยเมนู แต่ก็เป็นเมนูแบบโปร่งใส สามารถมองทะลุไปเห็นซับไตเติลได้

ปุ่ม dts ที่เห็นข้างปุ่มตั้งค่าซับไตเติล มีไว้สำหรับจูนเสียงเข้ากับหูฟังโดยเฉพาะ เมื่อกดไปแล้วแอพจะถามว่าใช้หูฟังอะไรอยู่ (ด้านล่างคือรายชื่อรุ่นดังที่แอพแนะนำ)

พอเลือกชนิดหูฟังเรียบร้อยแล้ว ตัวเลือกต่อมาคือเลือกประเภทของเสียงที่ต้องการ ซึ่งมีสามแบบคือ Wide สำหรับคนที่ต้องการเสียงกว้างๆ เหมือนในโรงภาพยนตร์ In-Front สำหรับคนที่อยากฟังเสียงชัดๆ และ Traditional สำหรับคนที่อยากได้เสียงแบบปกติ ซึ่งต้องไม่ลืมว่าจะต้องกดให้ตัวเลือกตรงกลางของ dts Headphone เป็น ON ด้วย

แอพ Hollywood HD

มาถึงเจ้าสุดท้ายอย่าง Hollywood HD พี่ใหญ่ของวงการที่ทำแอพมาต่างกับบนเว็บไซต์เล็กน้อย ด้วยการเพิ่มแถบเมนูด้านล่างที่แยกการใช้งานอย่างชัดเจน ระหว่างหมวดภาพยนตร์บุฟเฟต์ และภาพยนตร์ให้เช่า (ตรงกลางเป็นปุ่มสำหรับกลับหน้าแรก) ส่วนการวางตำแหน่ง การจัดหมวดภาพยนตร์ยังเหมือนเดิมเป๊ะ

ตัว Hollywood HD นอกจากจะมีระบบเช่าเหมือนกับ PrimeTime แล้ว ยังมีระบบให้ซื้อขาดอีกด้วย โดยราคาจะแปรผันไปตามความใหม่ และความดังของเรื่องนั้นๆ ราคาซื้อขาดจะอยู่ที่ราว 149 - 299 บาท

ส่วนราคาเช่าจะตายตัวอยู่ที่ 60 บาท แต่สำหรับบางเรื่องที่ออกมาใหม่จะยังไม่มีตัวเลือกให้เช่า เช่น Inside Out ด้านบน

รายละเอียดของภาพยนตร์ในแอพ Hollywood HD ทำมาค่อนข้างละเอียด บอกครบเหมือนบนเว็บไซต์ แต่จัดใส่ตารางให้อ่านง่ายขึ้น

ตัวเครื่องเล่นวิดีโอ แม้ไม่ได้ทำให้เหมือน YouTube แบบบนเว็บไซต์ แต่ก็ทำให้เข้าใจได้ง่าย มีปุ่มให้ปรับแยกกันตั้งแต่ซับไตเติล เสียง และคุณภาพวิดีโอ

ข้อเสียที่เจอของเครื่องเล่นวิดีโอในแอพ Hollywood HD คือตัววิดีโอเริ่มเล่นมาโดยไม่มีปุ่มเมนูของ Android (สามปุ่มบนหน้าจอ) แต่ถ้ากดหน้าจอเพื่อจะตั้งค่าใดๆ ก็ตาม ปุ่มเมนูของ Android จะค้างอยู่แบบนั้นจนกว่าจะเปิดดูใหม่อีกครั้ง

ฟีเจอร์ค้นหา (ไม่ได้เก็บภาพหน้าจอมา) พอมาอยู่บนแอพแล้วดูดีขึ้น เนื่องจากโชว์ผลการค้นหาอย่างเดียว ถ้าหากจะดูเพิ่มเติม อย่างการแยกประเภท แยกปี จะต้องกดปุ่มเพิ่มเติม ซึ่งดูดีกว่าบนเว็บไซต์ แม้ว่าจะยังให้ผลค้นหางงๆ อยู่ก็ตาม

ในยกที่สี่ด้านการทำแอพบนสมาร์ทโฟนนั้น PrimeTime เรียกได้ว่าทำคะแนนเหนือกว่าคู่แข่งเกือบทุกด้าน ทั้งการเพิ่มฟีเจอร์ระบบเสียง และซับไตเติลที่ไม่โดนบังด้วยเมนู ภาพรวมดูดีกว่าบนเว็บไซต์ด้วยซ้ำ ตามมาด้วย HOOQ ที่ให้ฟีเจอร์ที่หลายคนอยากได้อย่างการดาวน์โหลดวิดีโอไว้ดูออฟไลน์นั่นเอง
สำหรับเทรนด์การทำแอพบนสมาร์ทโฟน แทบทุกเจ้าเน้นออกแบบให้คล้ายกับบนเว็บไซต์นั้นเป็นเรื่องที่ดีแล้ว ผู้ใช้น่าจะปรับตัวมาเล่นแอพได้ไม่ยาก

ราคา แพ็คเกจ และข้อจำกัด

ในที่สุดเราก็มาถึงบทสุดท้ายของการรีวิว ว่าด้วยสิ่งสำคัญที่สุดอย่างค่าใช้จ่ายรายเดือนของแต่ละเจ้า รวมถึงข้อจำกัดเช่น ใช้งานพร้อมกันได้หรือไม่ ใช้ได้พร้อมกันกี่เครื่อง รวมถึงการแบ่งแพ็คเกจว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง สรุปสั้นๆ เป็นข้อๆ ได้ตามนี้

ifilx

  • เดือนละ 100 บาท รายปี ลดไป 17% เหลือ 1,000 บาท
  • ใช้ได้สูงสุด 5 เครื่อง
  • ดูได้ทั้งภาพยนตร์ และทีวีซีรีส์
  • ไม่มีระบบเช่าภาพยนตร์

HOOQ

  • เดือนละ 119 บาท จ่ายเงินผ่าน AIS ได้
  • ต่ออายุอัตโนมัติ ต้องมาเลิกบริการเอง
  • ดูได้ทั้งภาพยนตร์ และทีวีซีรีส์
  • ไม่มีระบบเช่าภาพยนตร์
  • ไม่มีข้อจำกัดจำนวนเครื่องที่รับชม (?) จำกัดการใช้งานสูงสุด 5 เครื่อง

PrimeTime

  • รายเดือนถูกสุดเดือนละ 99 บาท แต่ถ้าจะเข้าถึงชุดบุฟเฟต์ต้องจ่าย 199 บาท มีแพ็คเกจแบบสมัครรายปี แต่ไม่มีส่วนลด
  • ทีวีซีรีส์บุฟเฟต์เดือนละ 299 บาท
  • ตั๋วสำหรับใช้เช่าหนังขายรวมในแพ็คเกจ แพ็คเกจละ 2 ใบในราคา 100 บาท (ถูกกว่าราคาส่วนลดที่ 79 บาท/ใบ) มีโปรโมชันพิเศษ 50 บาท/ใบ เมื่อซื้อด้วยช่องทางที่กำหนด
  • ตั๋วหนังมีอายุ 21 วัน ใช้งานแล้วดูได้ 48 ชั่วโมง
  • ไม่รองรับอุปกรณ์ที่เจลเบรก หรือรูท ฝั่งเว็บไซต์ใช้งานได้กับ Chrome เท่านั้น
  • จำกัดการใช้งานสูงสุด 3 เครื่อง เล่นพร้อมกันไม่ได้

Hollywood HD

  • รายเดือนเริ่มต้นที่ 199 บาท มีแต้มใช้เช่าภาพยนตร์ได้ 1 เรื่อง ต่ออายุอัตโนมัติถ้าจ่ายด้วยบัตรเครดิต/เดบิต (แจ้งยกเลิกต้องบอกล่วงหน้า 7 วัน)
  • ระบบเช่าคิดค่าบริการ 60 บาท/เรื่อง
  • ไม่รองรับอุปกรณ์เจลเบรก และรูท ฝั่งเว็บไซต์ใช้ได้กับ Chrome และ Firefox
  • ใช้งานได้สูงสุด 3 เครื่อง เล่นพร้อมกันไม่ได้ เปลี่ยนแปลงได้เดือนละ 1 ครั้ง

สรุป

ให้ดูรายละเอียดของแต่ละบริการแบบยืดยาวกันมามากแล้ว จะสรุปสั้นๆ สำหรับคนที่ยังตัดสินใจไม่ถูก ตามนี้

  • ชอบซีรีส์ต่างประเทศ - iflix
  • ชอบภาพยนตร์ใหม่ทันกระแส - PrimeTime
  • ชอบเก็บหนังย้อนยุค และคลังการ์ตูน - Hollywood HD
  • เลือกไม่ถูกอยากได้ทุกอย่าง - HOOQ

สำหรับความเห็นคนทดสอบชอบ PrimeTime เป็นพิเศษ แม้ระบบจะจุกจิกไปหน่อย (รวมถึงระบบเช่า) แต่ก็เป็นเจ้าที่ทำตัวเครื่องเล่นวิดีโอได้ดีที่สุดโดยเฉพาะในสมาร์ทโฟน ส่วนรายที่คุ้มค่าที่สุดจะเป็น iflix

ของแถมปิดท้าย

ยังมีอีกหลายผู้ให้บริการที่ได้ทดสอบเล็กๆ น้อยๆ แต่ว่าไม่ได้นำมารวมในรีวิวใหญ่ด้วย เนื่องจากขาดฟีเจอร์ไปหลายอย่าง จะขอสรุปไว้สั้นๆ ตอนท้ายตามนี้ครับ

  • Doonung - บริการดูหนังออนไลน์จากค่าย Mono มีหนังและซีรีส์ต่างประเทศพอสมควร จุดเด่นคือมีสาว A'lure ให้ดูด้วย
  • Doonee - บริการดูซีรีส์ออนไลน์ที่จับมือกับอินเทลประเทศไทยอยู่ แม้จะไม่มีซีรีส์ใหม่ทันกระแส แต่ก็มีจำนวนเยอะมาก
  • Wisplay - บริการดูหนังออนไลน์แบบเหมาโหลที่หาซื้อได้จาก 7-11 จุดเด่นอยู่ที่ราคาถูกมาก (59 บาทต่อชุดดูได้ 49 เรื่อง) แต่เลือกดูหนังได้เฉพาะชุดที่เลือกเท่านั้น งานนี้ตาดีได้ตาร้ายเสีย ล่าสุดเพิ่งอัพเดตใหม่ มีทีวีซีรีส์แล้ว แต่ต้องจ่ายแพงกว่า
Blognone Jobs Premium