ระดมพลนักแปล: ตอนที่ 3 (KDE)

by DrRider
12 April 2008 - 09:07

Previously on ระดมพลนักแปล:

mk ได้ทำการเกริ่นนำเกี่ยวกับเรื่อง Localization เอาไว้แล้วใน ตอนที่ 1 ส่วนคุณ thep ก็ได้พูดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการแปล GNOME เอาไว้ใน ตอนที่ 2

สำหรับตอนนี้เราจะมาดูกันเกี่ยวกับเรื่องการแปล KDE กันครับ

Workflow

การร่วมแปล KDE เริ่มจากการเลือกแพ็คเกจที่ต้องการจะแปลก่อนโดยให้เข้าไปดูที่หน้าสถิติการแปล [1,2] ว่ามีแพ็คเกจไหนที่ยังไม่ได้มีการแปล โดย KDE มีอยู่สองรุ่น ได้แก่รุ่นที่เป็น stable (4.0.x) และ trunk (4.1.x หรือ development) การเลือกแปลแพ็คเกจนั้นในตอนนี้เปิดโอกาสให้สามารถเลือกแปลได้ทั้ง stable และ trunk ครับ

การแปลงาน stable นั้น ผลงานแปลก็จะออกมากับ Service release เช่น 4.0.1, 4.0.2,... ไปเรื่อยๆ จนกว่าทาง KDE จะหยุดการพัฒนาหรือการสนับสนุนตรง ส่วนนี้ไป นอกจากนี้การแปลในส่วนของ stable นั้นจะมีการแปลแต่แพ็คเกจหลักๆ ของ KDE เท่านั้น โปรแกรมจากบุคคลที่สาม (Third party) หรือส่วนของ extragear ต่างๆ (เช่น Amarok, digiKam) จะไม่มารวมอยู่ตรงนี้ด้วย เนื่องจากโปรแกรมเหล่านี้จะมี cycle การออกรุ่นของตัวเอง แต่ว่าการแปลแพ็คเกจต่างๆ เหล่านี้จะไปรวมอยู่กับ trunk แทน

ส่วนการแปลในส่วน trunk งานจะออกมากับ Major release ได้แก่รุ่น 4.1 เป็นต้นไปในตอนนี้ (หากว่า 4.1 ออกมาอย่างเป็นทางการส่วนนี้ก็จะเลื่อนไปเป็น stable และ 4.2 ก็จะมาเป็น trunk แทน) และรวมทั้งโปรแกรมสำหรับ KDE ที่พัฒนาโดยบุคคลที่สามด้วย (extragears)

เมื่อเลือกแพ็คเกจที่ต้องการแปลได้แล้ว ขอให้ติดต่อกับผู้ประสานงาน [3] ว่าต้องการจะแปลแพ็คเกจนั้นๆ เพื่อไม่ให้มีการทำงานซ้ำซ้อน จากนั้นจึงดาวน์โหลด template จาก svn เพื่อเริ่มงานแปล

การดาวน์โหลด

การดาวน์โหลดจาก svn นั้น อาจทำได้โดยการใช้โปรแกรม svn [4] เพื่อทำการดาวน์โหลด หรือสามารถดาวน์โหลดได้จาก web interface (websvn) [5,6] ของ KDE ก็ได้ (ถ้าไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับ command line การดาวน์โหลดจาก websvn ก็จะสะดวกที่สุด)

แฟ้มการแปลของ KDE นั้นจะใช้แฟ้มแบบ GNU PO/POT เหมือนของ GNOME แต่ต่างกันเล็กน้อยตรงที่ชื่อแฟ้มนั้นจะเป็นชื่อโปรแกรม เช่น dolphin.po แต่ของ GNOME จะใช้ th.po เป็นแฟ้มสำหรับการคอมไพล์เพื่อทำ localisation

ให้เลือกดาวน์โหลดแฟ้ม template (*.pot) มาเพื่อทำการแปล

ลงมือแปล

เครื่องมือที่แนะนำให้ใช้

  • KBabel (รวมอยู่ในชุด KDevelop package)
  • โปรแกรมช่วยทำการแปลอื่นๆ ดูของ คุณเทพ ได้ครับ (แต่ผมไม่เคยใช้นะ)
  • เครื่องมือตรวจสอบและคอมไพล์การแปล GNU gettext (msgfmt)

แหล่งข้อมูลช่วยในการแปล ดูของ คุณเทพ เช่นกันครับ

เมื่อแปลเสร็จแล้วให้บันทึกเป็นแฟ้ม po เช่น dolphin.po

ข้อแนะนำสำหรับ KBabel

  1. เนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษาที่ไม่มีรูปแบบพหูพจน์ ดังนั้นจึงของให้ตั้งค่านี้เอาไว้ในส่วนการตั้งค่า Project ของ KBabel ด้วย:

    • Number of singular/plural forms: 1
    • GNU Plural form header: nplurals=1; plural=0;
  2. บางครั้งในส่วนของ string ที่ให้มาจะมีรูปแบบพหูพจน์สองแบบ คือแบบเอกพจน์ และพหูพจน์เช่น "Printing one page" และ "Printing %1 pages" ให้เลือกแปลตัวที่มี argument placeholder ในที่นี้ได้แก่ "กำลังพิมพ์ %1 หน้า" เป็นต้น และอาจต้องทำการลบ 'msgstr[1]' ในแฟ้ม po เองด้วยมือ (คือเปิด text editor แล้วลบเอา) ไม่อย่างนั้นโปรแกรม KBabel จะแจ้งข้อผิดพลาดขึ้นมา (เรื่องนี้เขียนมาถามกันได้ครับ)

การใส่ credit

เมื่อคุณเป็นคนแปลคุณก็ควรจะได้รับเครดิตในส่วนนี้ แฟ้มที่แปลส่วนใหญ่จะมีที่ให้ใส่ตรงนี้อยู่แล้ว คือตรงที่มีคำให้แปลว่า "Your names" และ "Your emails" ขอให้ใส่ชื่อของคุณและอีเมลลงไปได้เลยจะได้ตามว่าถูกว่าใครแปล (ล้อเล่น :P) ถ้ามีการแปลมากกว่าหนึ่งคนให้ใส่ ชื่อตามกันไปคั่นด้วยเครื่องหมายจุลภาค เช่น อาโออิ โซระ, มาเรีย โอซาว่า เป็นต้น

ส่งงานแปล

ยังไม่เคยรับส่งงานแปลทาง mailing list แต่คิดว่าถ้าใครต้องการส่งทาง mailing list ก็ได้ครับ

ส่งงานให้ coordinator (ผมเองและคุณ donga) ซึ่งผมและ/หรือคุณ donga จะเป็นคนตรวจทานแล้วส่งขึ้น svn ของ kde ให้

Resources:

  1. kde4-stable statistic page
  2. kde4-trunk statistic page
  3. drrider_AT_gmail_dot_com, donga.nb_AT_gmail_dot_com
  4. subversion
  5. kde websvn for stable
  6. kde websvn for trunk

ปล. มีข่าวว่า KDE 4.1 อาจจะออกช่วงเดือนกรกฎาคมปีนี้ หากต้องการร่วมแปลผมขอแนะนำให้แปลส่วน trunk ดีกว่าครับ ขอบคุณมาก :)

Blognone Jobs Premium