รีวิว Voyo V2 Mini PC คอมจิ๋วบอดี้สุดหรูพร้อม Windows 10

by Diew
22 November 2015 - 08:40

สิ่งหนึ่งที่ผมคิดมาตลอดในช่วงปีสองปีมานี้คือ อยากได้คอมจิ๋วหรือคอมตัวเล็ก ๆ ขนาดไม่เกิน Harddisk พกพาทำงานบน Windows ไว้เป็น HTPC หรือพกพาติดตัวตลอดเวลาเผื่อได้ใช้ ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมานี้นอกจาก Intel Compute Stick ที่เปิดตัวและออกมาแล้ว ผมพบว่าไม่มีค่ายใหญ่ยี่ห้อไหนเลยที่ทำออกมาอีก จะเห็นก็มีแต่ข่าวเปิดตัวแค่นั้น (ที่นึกออกก็ Asus Vivo Stick) ซึ่งในภาพรวมแล้วฟังก์ชันต่าง ๆ ที่ให้มาถือว่ายังไม่โดนสักเท่าไร

จนเมื่อหลายเดือนก่อน สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักก็ได้เริ่มลงข่าวแนะนำ Voyo V2 แบรนด์จีนยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งภาพรวมเป็นตัวที่น่าสนใจมากกว่ารุ่นอื่น ๆ ซึ่งมีรายละเอียดเด่น ๆ ดังต่อไปนี้

หากเทียบกับ Intel Compute Stick ที่เหมือนเป็นต้นแบบแล้ว จะเห็นได้ว่าจุดที่เหนือกว่าตัวต้นแบบคือมีช่อง RJ45 มาให้, มาพร้อมแบตเตอรี่ในตัว ซึ่งแบตในตัวนี้ยังสามารถทำหน้าที่เป็น Power bank สำหรับชาร์จอุปกรณ์อื่นได้อีกต่างหาก, นอกจากนี้ยังมาพร้อม Windows 10 Home จากโรงงานเลยทีเดียว (ตัวเครื่องเดิมมาพร้อมกับ Windows 8 แต่ถูกอัพขึ้นมาเป็น 10 ในล็อตหลังสุด)

Voyo V2 มี 2 รุ่นย่อยคือ

  • รุ่นความจุ 32 GB พร้อมแบตเตอรี่ความจุ 8000 mAh
  • รุ่นความจุ 32 GB + 64GB พร้อมแบตเตอรี่ความจุ 5000 mAh โดยรุ่นนี้มีราคาสูงกว่าเล็กน้อย ซึ่งตัวนี้จะเป็นตัวที่รีวิว

หลังจากสั่งของและรอแล้วรออีกนานนับเดือน จากที่กำหนดไว้ 3-4 วัน เลื่อนแล้วเลื่อนอีกจนผมเริ่มโมโห (ทางฝั่งผู้ส่งขอเลื่อนผม 4 ครั้ง ครั้งละ 7-15 วัน) ในที่สุดของก็มาถึงมือ ได้เวลาทดสอบจับมารีวิวสักที

แกะกล่อง

แกะกล่องมาพบตัวเครื่องอัดมาเต็มกล่องพอดีเป๊ะ พร้อมกับมีตัวกันกระแทกคล้ายโฟมละเอียด ๆ อย่างดีหุ้มรอบเครื่องมาอีกชั้น หากสังเกตจะเห็นว่าตัวหุ้มมีส่วนเว้าเว้นไว้ตรงปุ่มเปิดเครื่องพอดิบพอดี ใส่ใจในการออกแบบกล่องดีมาก

หลังจากนั่งแกะอยู่สักพักหนึ่ง เอาของมาวางเรียงให้เรียบร้อยก็ขอสรุปอุปกรณ์สำคัญ ๆ ในเครื่องสักเล็กน้อย

  1. ตัวเครื่อง Voyo V2 Mini PC
  2. อะแดปเตอร์หัวกลม ๆ ไว้ชาร์จไฟเข้า 1 ตัว Input 100-240 V-50/60Hz 0.3A, Output 5V
  3. สาย HDMI ไม่ระบุสเปค
  4. คู่มือภาษาอังกฤษและจีนอย่างย่อ
  5. เหมือนจะเป็นใบรับประกันที่ผมอ่านไม่ออก กับกระดาษกลม ๆ ที่ผมไม่แน่ใจว่าคืออะไร

ตัวเครื่อง

ด้านบน
เป็นกระจกเงาวับที่จับแล้วรู้สึกเย็นเฉียบ แถมยังสกรีนยี่ห้อมาอย่างสวยงาม

ด้านหน้า
มีเพียงปุ่มเดียวคือปุ่มเปิดปิดเครื่อง โดยเวลาที่ไม่ได้เปิดเครื่องและชาร์จไฟปุ่มจะเป็นสีแดง ส่วนเวลาเปิดเครื่องอยู่ปุ่มจะเป็นสีเขียว ส่วนตัวขอบเครื่องรวมถึงด้านใต้เครื่องจะเป็นโลหะด้านสีทอง unibody ขึ้นรูปมาอย่างสวยงาม

ด้านซ้ายและขวา
ช่องเสียบเกือบทุกอย่างจะถูกรวมมาไว้ที่ด้านซ้ายนี้ หากไล่จากซ้ายมาขวาจะประกอบด้วย

  • Micro USB ไว้ชาร์จไฟเข้าหรือไว้ถ่ายข้อมูลปกติ
  • DC ไว้ชาร์จไฟเข้า
  • RJ45 10/100/1000
  • HDMI ไว้ออกหน้าจอ/TV
  • ช่องเสียบหูฟัง 3.5mm

ส่วนด้านขวาโล่ง ๆ ครับ ไม่มีอะไร

ด้านหลัง
ช่องเสียบ USB 2.0 ช่องเดียวครับ

สรุปได้ว่างานประกอบและวัสดุภายนอกรวม ๆ ผมถือว่าประกอบมาเรียบร้อยกว่าที่คิด พอร์ตเสียบต่าง ๆ ดูแล้วมาตรฐานช่องเสียบไม่บูด ๆ เบี้ยว ๆ แบบของจีนทั่วไป น้ำหนักก็ประมาณ Power Bank (ประมาณ 300 กรัม) บอดีก็เป็น unibody และกระจก ถือว่าดูดีเลยทีเดียว

เปิดเครื่อง

จุดนี้ยังปกติ ไล่เสียบสายไฟให้ตรงช่อง พบว่าสายเริ่มพันกันรกรอบ ๆ เครื่อง หลังจากกดปุ่ม power ไป 1 ที ผมพบว่าผมเปิดไม่ติด... ผมจึงพยายามกดรัว ๆ ไปหลายทีก็ยังไม่ติดเช่นเดิม (เริ่มใจไม่ดี) หลังจากนั้นผมมาทราบทีหลังว่าเวลาเปิดเครื่องให้กดปุ่ม power ค้างไว้ประมาณ 3 วินาที เครื่องถึงจะถูกเปิด (ไฟเขียวขึ้น) ซึ่งก็แปลกดี

หลังจากเปิดเครื่องเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ผมพบและรู้สึกแปลกกว่าปกติคือเครื่องจะถูก login เข้ามาโดยใช้ user Voyo โดยทันที ไม่มีให้ตั้งค่าเลือกภาษาอะไรทั้งนั้น อาจเป็นเพราะเครื่องถูกเปิดมาจากโรงงานแล้วอัพเดตจาก Windows 8 มาเป็น 10 ก่อนกลับลงกล่องหรือเปล่า ผมก็มิอาจทราบได้

จากนั้นผมจึงอัพเดต Windows 10 build ล่าสุด พร้อมกับ refresh แบบ remove everything เพื่อเอาซาก Windows 8 ที่โรงงานอัพเดตขึ้นมาหรือ user Voyo ที่อาจตั้งค่าอะไรแปลก ๆ ไว้ออกไปให้หมดผมก็พบว่าผมเจอปัญหาหาเล็กน้อยคือ boot กลับมาแล้ว driver ส่วนมากหายเรียบทำให้ต้องเสียเวลาเดือดร้อนวิ่งหาอยู่พักใหญ่ จึงกลับมาเป็นปกติได้

โดยกระบวนการข้างต้นนี้ ผมพบรายละเอียดหยุมหยิมของเจ้าตัวเครื่องนี้อีกมาก เช่น

  • bios มี dual boot หลายแบบให้เลือกสลับ OS ประกอบไปด้วย Windows, Android, Ubuntu และ SteamOS
  • bios ไม่รองรับ boot แบบ USB, network ใด ๆ ทั้งสิ้นทำให้วุ่นวายสำหรับใครที่จะคิดมาติดตั้งระบบแบบใหม่เอี่ยมหรือย้ายไปลง Windows รุ่นอื่น แต่โชคยังดีที่ผมพบว่าสามารถเรียกไฟล์ใน USB ผ่าน cmd ใน recovery mode ของ windows 10 ทำให้สามารถติดตั้งใหม่หมดได้อยู่แต่ต้องพิมพ์มือเอาทั้งหมด

หลังจากเครื่องทำงานเป็นปกติ ก็กลับมาอัพเดตแอพใน Windows Store ทุกอย่างขึ้นมาเป็นปัจจุบันตั้งค่าส่วนตัวของผมอีกเล็กน้อย สรุปจากภาพจะเห็นได้ว่าตัวระบบกินเนื้อที่ไปทั้งหมดประมาณ 11 GB ซึ่งหากเอาแบบแกะกล่องอัพเดตเพียว ๆ ไม่มีอะไรแปลกปลอมจะกินพื้นที่ไปประมาณ 8-9 GB เหลือให้ใช้ 20GB พอดี แต่ผมไม่ได้จับภาพตอนนั้นไว้

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือไม่มีชุด Office 2013 รวมมาให้ด้วยนะครับ

Benchmark

ไม่ได้แย่ แต่ก็ไม่มีอะไรโดดเด่น ผลทดสอบช้ากว่า Dell Venue 8 Pro ที่ผมเคยรีวิวไปเล็กน้อย

ความเร็วของ eMMC บน Drive C ถือว่าพอใช้ได้ ส่วนความจุที่ได้เพิ่มมาจาก SSD 64GB ที่เขียนไว้ตามโพยนั้นความเร็ว เหมือนจะต่ำไปหน่อย สืบทราบมาได้ว่าอุปกรณ์ภายในเครื่องเป็น mini SSD ของ KingShare ความเร็ว 150/80 ที่ต่อผ่าน interface USB 2.0 ภายใน ทำให้เกิดเป็นคอขวดได้สุด ๆ แค่นั้น… ซึ่งส่วนตัวผมไม่ได้สนใจจุดนี้เท่าไรเพราะความเร็วถือว่าพอเพียงสำหรับการถ่ายไฟล์จากสายแลนพอดิบพอดี

ภาพรวมการใช้งาน

หลังจากที่ผมใช้มาเกือบ 2 อาทิตย์ ทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ คือดูหนัง ฟังเพลง เปิดทิ้งเปิดขว้าง ทำเอกสารบ้างนั่นนี่ รวมถึงตัดต่อทำภาพเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็พบว่าตัวมันเองทำงานได้ดีมีหน่วงบ้าง ขอแยกรายละเอียดเป็นส่วน ๆ

ดูหนังฟังเพลง

ผมทดสอบดูหนังบนโปรแกรม MPC-HC กับไฟล์หนังหลาย ๆ ประเภท ผ่านทั้งทาง USB, micro USB แปลงเป็น USB (ใช้สาย OTG) แม้กระทั่งผ่าน NAS วิ่งมาทาง RJ45 และ wireless จุดนี้ตอบได้เลยว่าไม่ขาดตกบกพร่องเพราะว่ามันถูกออกแบบมาทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว สิ่งที่ผมไม่ได้ทดสอบคือหนัง 4K เพราะรู้สึกว่ามันเกินจำเป็นเลยไม่มีให้ลอง อีกเรื่องคือผมยังไม่ได้จับลง Kodi เพราะไม่มีเวลา แต่คิดว่าคงไม่น่ามีปัญหาอะไร

เล่น Internet

ผ่าน Edge และ Firefox ผมเปิดแต่ Blognone, Google กับเว็บหลักผมประจำไม่กี่เว็บซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไรนอกจากนี้ก็ไม่ได้ลองอะไรมากมาย

ทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ

ปัญหาหลักเดิม ๆ คือช่องเสียบ USB มีไม่พอ ควรมี Hub 4 port รองรับไว้ด้วย เพราะว่าแค่ Mouse และ Keyboard ช่องเสียบก็ไม่เหลือแล้ว ยกเว้นจะใช้สาย OTG แปลงช่องเสียบมาเป็น USB ก็จะได้อีก 1 ช่อง

ความร้อน

การที่เครื่องไม่มีพัดลมแถมยังไม่มีช่องระบายอากาศเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมกังวลพอสมควร เมื่อใช้งานหนัก ๆ ตัวเครื่องจะร้อนมาก โดยเฉพาะส่วนโลหะรอบเครื่อง ผมลองใช้ HWMonitor พบว่าความร้อนอาจพุ่งขึ้นไปสูงถึง 90°C ซึ่งจุดนั้นเครื่องอาจมีการ overheat จนทุกอย่างทำงานแทบไม่ได้นอกจากปิดไปเลย ซึ่งเป็นไม่บ่อยนัก ส่วนมากเกิดจากผมมือบอนคลิกทำอะไรพร้อมกันจนเครื่องมันเอาไม่ไหวเองมากกว่า (ในช่วงติดตั้งโปรแกรมช่วงแรก ๆ) แต่ที่การทำงานปกติเช่นดูหนัง 1 เรื่องอะไรทำนองนั้นความร้อนเท่าที่พบไม่เกิน 60°C ส่วนการถ่ายเทความร้อนผมพบว่าหลังจากปิดเครื่องความร้อนถูกถ่ายเทออกไปได้ไวมาก

แบตเตอรี่

2-3 ชั่วโมงที่การใช้งานปกติผมว่าก็คงหมดเกลี้ยงคิดซะว่ามีไว้กันไฟตก จุดขายที่ว่าสามารถเอามาทำ Power bank ได้นั้นผมพบว่าพูดความจริงแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น คือตัวเครื่องจะสามารถปล่อยไฟออกไปชาร์จอุปกรณ์อื่นได้ก็ต่อเมื่อตัว VoYo เปิดอยู่ ดังนั้นจุดนี้ปัดตกไปได้เลย

อีกเรื่องที่สำคัญคือเรื่องการจ่ายไฟให้ตัวเครื่อง สามารถใช้ได้ทั้งผ่าน micro USB หรือช่องอะแดปเตอร์เฉพาะก็ได้ แต่ผมพบว่าหากใช้ช่องอะแดปเตอร์จะจ่ายไฟให้ตัวเครื่องได้ดีกว่า คือหากดูจากไอคอนแบตเตอรี่ใน Windows ผมพบว่าหากใช้ micro USB ผ่านพวกหัวแปลงมือถือ 5v 2A ไฟเหมือนจะไม่เข้าแต่ % ก็จะยังลดลงอยู่อย่างช้า ๆ กว่าแบบไม่ได้ชาร์จไฟ แต่หากใช้อะแดปเตอร์ ไฟจะเข้าปกติ % เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

อื่น ๆ

driver เหมือนจะยังมีปัญหาหยุมหยิมกับ Windows 10 เช่น เวลาสั่ง restart เครื่องจะไม่ยอม restart แต่จะหมุนวน ๆ ขึ้นคำว่า restart อยู่แบบนั้น

สรุป

คอมพิวเตอร์จิ๋ว Voyo V2 หน้าที่หลักถูกออกแบบมาไว้วางหรู ๆ หน้า TV เป็น HTPC หรือเป็นคอมพิวเตอร์ชุดเล็กติดบ้านหรือสำนักงานเพราะภาพรวมแล้วใช้ทำงานทั่วไปได้สบาย ๆ ด้วยจุดแข็งที่มีช่อง RJ45 มาให้ในตัว และมีรุ่นเพิ่มความจุ 64GB ในราคาที่ไม่แตกต่างกับคอมแท่งสาย Windows ทั่วไปแม้แต่นิด ทำให้ตัวมันเองถือว่าเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจกว่าตัวอื่น ๆ

แต่ส่วนตัวผมยังมีจุดกังวลอยู่บ้าง เช่น เรื่องระบายความร้อนที่ผมว่ามันปิดไปหน่อย กับสเปคที่ผมว่ามันควรจะอัพเกรดขึ้นมาเป็น Atom รุ่นใหม่ ๆ ได้แล้ว (เช่น x5 หรือ x7 แบบบน Surface 3) ที่สำคัญคือ ถึงตัวมันเองจะสวยแค่ไหน แต่พอเสียบสายแล้วรู้สึกรกรุงรังไปทันที ดังนั้นสิ่งที่ควรจะนำมาใช้ร่วมกันคงเป็น Mouse และ Keyboard ไร้สายอีกสักชุด จะได้ไม่รู้สึกรกสายตาเวลาลงไปมองครับ

Blognone Jobs Premium