รีวิว ZenFone 2 Laser (ZE550KL) สมาร์ทโฟนจอใหญ่ราคาเบาๆ กล้องโฟกัสด้วยเลเซอร์

by Blltz
26 November 2015 - 10:32

จากการอัดสเปคหนักๆ ใส่เข้าไปใน ZenFone 2 ทำให้ปีนี้ราคาของอดีตสมาร์ทโฟนสุดคุ้มเมื่อปีก่อนดูจะแพงขึ้นพอสมควร เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ทุกกลุ่มราคา ทาง ASUS จึงเปิดตัวสมาร์ทโฟนซีรีส์ ZenFone 2 Laser รุ่นเล็กจัดเต็มกล้องโฟกัสเลเซอร์เพื่อมาเติมเต็มเมื่อช่วงปลางปีที่ผ่านมา

ZenFone 2 Laser เพิ่งเปิดตัว และเริ่มวางขายในประเทศไทยไปเมื่อไม่นานมานี้ ออกมาทั้งหมด 2 โมเดล 3 รุ่นย่อยที่หน้าจอตั้งแต่ 5" ไปจนถึง 5.5" พร้อมสเปคภายในที่ต่างกัน โดยรุ่นที่ได้รับมารีวิวจะเป็นรหัส ZE550KL รุ่นสเปคสูงสุดของขนาดหน้าจอ 5.5" ซึ่งมีสเปคคร่าวๆ คือใช้ซีพียู Snapdragon 410 (MSM8916), ความจุ 16GB แรม 2GB, กล้องหลัง 13 เมกะพิกเซล, รองรับ 4G, แบตเตอรี่จุ 3000 mAh ว่าแล้วก็ไปดูตัวเครื่องจริงกัน

แกะกล่อง ลองจับตัวเครื่อง

เริ่มต้นการรีวิวกันด้วยการแกะกล่องของเจ้า ZenFone 2 Laser ซึ่งใช้กล่องพื้นสีขาว ตัดกับสีของตัวเครื่องภายใน ในที่นี้ได้เครื่องสีแดงมา ตัวกล่อง และสีฟอนต์ก็จะเป็นสีแดงตามภาพ

พลิกไปด้านข้างกล่องจะเจาะรูบอกคุณสมบัติเด่นของรุ่นนี้เอาไว้ ตั้งแต่ฟีเจอร์กล้อง รองรับ 4G หน้าจอ HD กระจกกันรอย Gorilla Glass 4 ฯลฯ

เปิดกล่องมาดูภายในจะมีอุปกรณ์เสริมเพียงแค่คู่มือ แท่นชาร์จ และสาย microUSB เท่านั้น ไม่มีหูฟังแถมมาให้

การจะแยก Zenfone 2 Laser ออกจาก ZenFone 2 รุ่นปกติเรียกได้ว่ายากมากๆ เพราะใช้แนวทางการออกแบบเหมือนกันเป๊ะๆ แม้แต่ตำแหน่งการวางกล้องหน้าก็อยู่จุดเดียวกัน

หน้าจอ 5.5" ของ ZenFone 2 Laser แม้ว่าจะไม่ได้ความละเอียดระดับ 1080p แต่ความคมชัดก็ทิ้งกันไม่มาก เรื่องความจัดของสีเรียกได้ว่าไม่น้อยหน้ารุ่นเรือนหมื่นที่เดียว (ตามสเปคเป็นหน้าจอ IPS)

ในรุ่นนี้ ASUS เลือกที่จะตัดปุ่มด้านข้างตัวเครื่องออกทั้งหมด แล้วย้ายไปด้านหลังแทน เพื่อให้สามารถทำขอบหน้าจอบางลงได้ และทำให้ขอบตัวเครื่องโล่งเตียนแบบนี้ และบางสุดเพียง 3.9 มม. (หนาสุด 10.8 มม.)

พลิกมาขอบด้านบนจะเจอปุ่มเปิดเครื่อง ข้างๆ กันมีพอร์ต 3.5 มม. และไมโครโฟนสำหรับถ่ายวิดีโอเสียงสเตอริโอ ส่วนขอบด้านล่างมีเพียงพอร์ต microUSB โดดๆ

พลิกมาด้านหลังจะพบกับกล้องหลังตัวหลักความละเอียด 13 เมกะพิกเซล ขนาบข้างด้วยแฟลชคู่ทูโทน และเลเซอร์โฟกัส ใกล้ๆ กันมีปุ่มปรับเสียงที่โดนโยกมาด้านหลัง และด้านล่างเป็นลำโพงแบบโมโน

ผิวสัมัสฝาหลังของ ZenFone 2 Laser จะขึ้นอยู่กับสีที่เลือก โดยสีแดงจะเป็นพลาสติกเคลือบผิวด้าน ส่วนสีเทาที่วางข้างกัน จะเป็นผิวมันกว่า ทดสอบขูดแล้วเป็นรอยยากทั้งคู่ (ผิวแบบสีแดงเป็นรอยง่ายกว่านิดหน่อย)

วิธีแกะฝาหลังให้เริ่มจากงานงัดตรงพอร์ต microUSB แล้วค่อยๆ ขยับไปทีละนิด เมื่อเสร็จแล้วจะพบกับด้านในแบบนี้

ด้านบน ข้างปุ่มปรับเสียงมีถาดใส่ซิมสองแห่ง โดยซิมแรกต้องถอดแบตเตอรี่ออกก่อนจึงจะสามารถใส่ซิมได้ ส่วน microSD สามารถใส่ทับตัวซิมไปได้เลย ตัวแบตเตอรี่สามารถถอดเปลี่ยนได้ (ดูหน้าตาตอนแรกคิดว่าถอดไม่ได้)

ภาพรวมตัวเครื่อง ZenFone 2 Laser เป็นพลาสติกทั้งหมด แต่ก็ประกอบมาได้แน่นหนาดี ไม่มีเสียงกรอบแกรบ ฝาหลังออกจะแน่นไปด้วยซ้ำ (ไม่มีเล็บโปรดระวัง) ขนาดหน้าจอ 5.5" ที่กลายเป็นมาตรฐานของยุคนี้ไปเสียแล้ว บวกกับขอบหน้าจอที่มีพอสมควร การใช้มือเดียวค่อนข้างจำกัด โชคดีที่ ASUS ใส่โหมดสำหรับใช้งานมือเดียวมาด้วย ซึ่งจะพูดถึงในภายหลัง

ประสบการณ์ใช้งานซอฟต์แวร์

ZenFone 2 Laser ที่ได้มารัน Android 5.0.2 Lollipop ครอบทับด้วย ZenUI 2.0 ซึ่งภาพรวมแล้วหน้าตาไม่ต่างจากรุ่นก่อนหน้า (และ stock) มากนัก เราจะค่อยๆ ดูกันว่า ZenUI 2.0 นั้นมีฟีเจอร์อะไรน่าสนใจบ้าง

เริ่มกันที่หน้าแรกใช้แนวทางเดียวกันกับ stock เป๊ะๆ ค่ามาตรฐานมีพื้นที่ด้านล่างสำหรับวางแอพใช้งานบ่อยข้างปุ่มเรียกแอพทั้งหมด (drawer) หน้าแจ้งเตือน+ทางลัดตั้งค่าเป็นแบบสองชั้นตามแนวทางของ Lollipop

ทางลัดสำหรับตั้งค่าของ ZenUI จะให้มาเยอะกว่ารุ่นปกติ โดยสามารถไปเลือกปิด โยกย้ายตำแหน่งได้จากปุ่มตั้งค่าด้านซ้ายสุดของเมนูด้านบน

ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าทางลัดตั้งค่าจะมีสองสีคือเขียว และฟ้า โดยสีฟ้าจะเป็นการตั้งค่าตัวเครื่องทั่วไป ส่วนสีเขียวจะเป็นทางลัดไปสู่ฟีเจอร์พิเศษที่ใส่เข้ามาใน ZenUI สองฟีเจอร์น่าสนใจจะมี Auto-start Manager สำหรับคุมการเปิดตัวเองอัตโนมัติของแอพ และ Power & Boost ซึ่งจะบอกจำนวนแรมที่เหลือ และใช้เรียกแรมกลับมาได้่

หน้ารวมแอพ (drawer) ของ ZenUI ทำมาไม่ต่างจาก Android ปกติ ต่างตรงที่มีฟีเจอร์เสริมกันรกอย่าง Smart group ที่ช่วยจัดแแอพเข้าโฟลเดอร์อัตโนมัติ รวมถึงแอพที่เพิ่งติดตั้งใหม่ด้วย ส่วนตัวค่อนข้างชอบฟีเจอร์นี้มาก :D

อีกหนึ่งฟีเจอร์ตามเทรนด์อย่างระบบธีม เป็นส่วนที่ทำได้ละเอียดขึ้นในรุ่นนี้เช่นกัน ผู้ใช้สามารถเลือกดูหน้าตาธีม และรายละเอียดได้จากแอพในเครื่อง แต่เมื่อดาวน์โหลดจะโดนโยกไปบน Play Store แทน ซึ่งตรงนี้ง่ายกว่าเมื่อยามต้องอัพเดตธีมในอนาคต

หน้าตาหลังติดตั้งจะได้ดังนี้

การใช้งานทั่วไปของตัวเครื่องจะเหลือแรมอยู่ราวๆ 500MB ซึ่งเป็นอานิสงส์จากการที่มีแรมมากถึง 2GB ส่วนความจุในตัวเครื่องหลังลงแอพไปพอสมควร ยังเหลือมากกว่า 10GB ด้วยกัน

ด้วยความที่สเปคของ ZenFone 2 Laser ค่อนข้างเก่า (Snapdragon 410) เมื่อเทียบกับรุ่นราคาไล่ๆ กันในตลาด ผลทดสอบสเปคจึงออกมาไม่ค่อยสวยนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ ZenFone 2 รุ่นพี่

ที่แปลกคือ แม้สเปคจะด้อยกว่า แต่การใช้งานทั่วไปทำได้ลื่นไหลกว่า ZenFone รุ่นที่ใช้งานชิป Atom อย่างสังเกตได้ (ถึงกระนั้นเล่นเกมหนักๆ ก็กระตุกอยู่ดี)

ฟีเจอร์เสริมอื่นๆ ที่ควรค่าแก่การพูดถึงจะมีตั้งแต่โหมดใช้งานมือเดียว ที่สามารถปรับขนาดหน้าจอได้ตามชอบ ส่วนตัวชอบโหมดนี้เพราะมีปุ่มเมนูบนหน้าจอมาให้ใช้ด้วย

โหมดประหยัดพลังงานสี่ระดับซึ่งสามารถตั้งค่าให้เปลี่ยนได้อัตโนมัติด้วย

อีกฟีเจอร์คือ Easy mode สำหรับจำกัดให้เหลือการใช้งานอย่างง่าย แปลงร่างอินเทอร์เฟซทั้งหมดให้ขนาดใหญ่ขึ้น ลดทอนฟีเจอร์ยากๆ กลายเป็นไอคอนเข้าใจง่ายแทน

เพิ่มแอพที่ปุ่ม + หรือจะกด More Apps ก็ได้

ฟีเจอร์ยิบย่อยอย่าง แตะหน้าจอสองครั้งเพื่อปลดล็อก และวาดตัวอักษรบนหน้าจอเพื่อเปิดแอพด่วนก็มีเช่นกัน รวมถึงโหมดลดแสงสีฟ้าซึ่งเก็บภาพไม่ได้ก็ให้มา

ภาพรวมของ ZenUI 2.0 เปลี่ยนไปจากรุ่นเดิม และ stock ไม่มากนัก พร้อมกับเพิ่มแอพในกลุ่ม ZenLink สำหรับใช้งานร่วมกับพีซีเข้ามา (อ่านได้จากรีวิว ZenPad) โดยรวมทำมาใช้งานได้เข้าใจง่าย รวมถึงมีโหมดสำหรับการใช้งานเฉพาะทางอย่างมือเดียว และโหมดใช้ง่ายมาเสริมอีก

ประสบการณ์ใช้งานทั่วไป ZenFone 2 Laser

ตามที่บอกไปข้างต้นว่าสเปคของ ZenFone 2 Laser ค่อนข้างจะต่ำกว่าคู่แข่ง แต่กลับไม่มีปัญหาในการใช้งานทั่วไป ยกเว้นเจอแอพที่ต้องการประสิทธิภาพในการใช้งานสูงจริงๆ (เช่นเกมสามมิติ)

การจับสัญญาณต่างๆ ในเครื่องทำได้ค่อนข้างดีทั้ง 3G และ GPS ที่จับได้ไวตามประสาเครื่องที่ใช้ชิป Snapdragon แต่มีปัญหาการจับสัญญาณ 4G ให้เห็นเรื่อยๆ (ทดสอบกับอีกรุ่นที่ใช้งาน 4G ได้ บนเครือข่ายเดียวกัน)

การใช้งานแบตเตอรี่ทำมาค่อนข้างดี ใช้เป็นเครื่องหลักตั้งแต่เช้ายันดึก เปิด 3G-4G ตลอด จะเหลือแบตเตอรี่ให้เล่นก่อนนอนประมาณ 20%-30% ตัวเครื่องค่อนข้างร้อนเอาเรื่อง

การรับสาย-โทรออกทำได้ดี แต่ฟีเจอร์กันเสียงรบกวนยังไม่ค่อยดีนัก (ไม่เจ๋งขนาดคุยโทรศัพท์บนมอเตอร์ไซด์ได้) ลำโพงให้เสียงดังเอาเรื่อง แต่เสียงแหลมบาดหูไปหน่อย ไร้มิติ (แน่ล่ะ ก็โมโนนี่)

กล้อง

ปิดท้ายกันด้วยจุดขายของ ZenFone 2 Laser อย่างกล้องที่อัดฟีเจอร์มาหนักในราคาระดับนี้ ทั้งเซ็นเซอร์ความละเอียด 13 เมกะพิกเซล และโฟกัสเลเซอร์ ว่าแล้วไปดูอินเทอร์เฟซกล้องกันก่อน

หน้าตาแอพกล้องทำมาแบบมาตรฐาน มีปุ่มชัตเตอร์ และปุ่มถ่ายวิดีโออยู่ข้างกัน จุดเด่นคือเมื่อแสงน้อย จะมีปุ่มสำหรับปรับไปใช้โหมดถ่ายภาพแสงน้อยให้อัตโนมัติ แต่ละโหมดที่เลือกมีคำอธิบายชัดเจน

โหมดทั้งหมดมีมากถึง 18 โหมดด้วยกัน ตัวเด่นจะมี HDR, Beautification, Low Light (ลดความละเอียดลง) และโหมดถ่ายภาพความละเอียดสูงที่ได้ภาพขนาดถึง 52 เมกะพิกเซลด้วยกัน

ฝั่งกล้องหน้าเมื่อเลือกมา จะปรับเป็นโหมด Beautification อัตโนมัติ พร้อมฟีเจอร์ลากเพื่อตั้งเวลาถ่ายที่ทำมาได้ใช้ง่ายเช่นเคย

มาถึงการใช้งานถ่ายภาพจริง ZenFone 2 Laser โฟกัสได้เร็วมาก (ไม่มีอุปกรณ์วัดว่า 0.2 วินาทีตามที่เคลมไหม) ในสภาพแสงน้อยภาพจะสีซีดลงจากปกตินิดหน่อย ส่วนแสงปกติไม่มีปัญหาใดๆ

โหมดถ่ายภาพแสงน้อยทำผลงานได้ค่อนข้างดี แลกกับความละเอียดที่ลดลง และสัญญาณรบกวนมหาศาล ว่าแล้วก็ดูตัวอย่างภาพกันเลย

แสงจ้า

ในร่ม


แสงน้อย

กลางคืน (ถ่ายปกติ + ถ่ายด้วยโหมดแสงน้อย)


ภาพรวมคุณภาพภ่ายของ ZenFone 2 Laser อยู่ในชั้นกลางๆ แต่ได้ความเร็วในการโฟกัสภาพแทน ถ่ายกลางคืนยังดูไม่ค่อยรู้เรื่องตามประสาสมาร์ทโฟนราคาย่อมเยาต่อไป

สรุป

สำหรับคนที่มองหาสมาร์ทโฟนทนๆ ถึกๆ และคุณภาพระดับอินเตอร์แบรนด์ ZenFone 2 Laser ตอบโจทย์ตรงนี้ได้อย่างครบถ้วน แม้สเปคจะด้อยกว่าคู่แข่งในราคาเท่ากัน (หรือถูกกว่า) แต่การใช้งานทั่วไปลื่นไหลไม่มีกระตุกแน่นอนในค่าตัว 6,990 นี้

ข้อดี

  • ตัวเครื่องสวยงาม ทนทาน
  • ใช้งานลื่นไหล แม้สเปคจะด้อยไปหน่อย
  • กล้องโฟกัสไวมาก!

ข้อเสีย

  • ตัวเครื่องร้อนง่ายไปหน่อย
  • กล้องน่าจะทำได้ดีกว่านี้
  • ราคาค่อนข้างแพง (6,990 บาท) เมื่อเทียบสเปคกับคู่แข่งในตลาด
Blognone Jobs Premium