คุยกับคุณสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท กับบริการ mPAY Gateway บริการรับจ่ายเงินสำหรับร้านค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์

by lew
28 November 2015 - 21:16

วันนี้ผมได้รับเชิญไปงานสาธิต mPAY Gateway ที่เพิ่งเปิดตัวไปในสัปดาห์นี้ และได้พูดคุยกับคุณสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด ถึงความแตกต่างของ mPAY Gateway กับผู้ให้บริการายอื่นๆ ในตลาดบ้านเราตอนนี้ และพัฒนาการของบริการเกตเวย์ในอนาคต

ข้อมูลเปิดเผย ในงานสาธิตผมได้รับเงินจำนวนหนึ่งโอนเข้าบัญชี mPAY Wallet เพื่อทดสอบการใช้งาน

ข้อมูลเบื้องต้นของ mPAY Gateway คุณสุปรีชา ระบุว่าแม้จะเปิดบริการหลังผู้ให้บริการรายอื่น แต่ก็เชื่อว่ามีแข่งขันได้ เพราะมีจุดเด่นสำคัญคือ มีฐานลูกค้า mPAY สูงกว่า 1.5 ล้านคนเป็นทุนเดิม และบริการนี้จะโอนเงินกลับสู่ร้านค้าในเวลาเพียงหนึ่งวัน เร็วกว่าบริการอื่นๆ ที่มักต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์

ค่าบริการของ mPAY Gateway ประกาศไว้ที่ 15 บาทต่อรายการสำหรับการจ่ายผ่านจุดจ่าย, mPAY Wallet, และผ่านธนาคาร ส่วนการจ่ายผ่านบัตรเครดิตจะมีค่าธรรมเนียม 3% แต่ตอนนี้ใช้อัตราโปรโมชั่นที่จ่ายผ่าน mPAY Wallet ฟรี และช่องทางธนาคารและจุดรับจ่ายจะอยู่ที่ 10 บาทต่อรายการ

กระบวนการโอนเงินรวดเร็วเช่นนี้ไม่กังวลเรื่องการฉ้อโกงหรือ

การฉ้อโกงมีสองแบบ ทั้งการฉ้อโกงทางเทคนิคที่แฮกเกอร์เข้ามาเจาะระบบ ที่ผ่านมาระบบ mPAY ยังไม่เคยถูกแฮกได้สำเร็จ จุดสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ mPAY ไม่ได้เก็บข้อมูลบัตรเครดิตไว้ที่ mPAY เลย เมื่อรับบัตรเครดิตข้อมูลจะถูกส่งไปที่ธนาคารกสิกรไทยโดยตรง

สำหรับการฉ้อโกงจากร้านค้าแม้จะมีการเก็บเงินเอาไว้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าหากมีรายงานเข้ามาจะสามารถโอนเงินคืนลูกค้าได้ตามใจ การจัดการฉ้อโกงในกรณีนั้นต้องอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย

ในระยะยาวหากเก็บค่าธรรมเนียมต่อรายการจะมีผลต่อการรับจ่ายเงินจำนวนน้อยๆ ไหม

ในกรณีการจ่ายเงินจำนวนน้อยๆ เรามีทางเลือกให้คิดค่าธรรมเนียมเป็นเปอร์เซ็นต์แทนที่การคิดค่าธรรมเนียมต่อครั้ง โดยเฉพาะ mPAY Wallet ที่ร้านค้าสามารถเลือกได้ว่าจะคิด 1.5% จากยอดซื้อขาย หรือ 15 บาทต่อครั้ง ขึ้นกับอย่างไหนจะคุ้มกว่า และการจ่ายผ่านบัตรเครดิตก็คิด 3% ต่อครั้งอยู่แล้ว

ค่าธรรมเนียมอัตราโปรโมชั่นมีกำหนดถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2559 หลังจากนั้นมีแนวทางจะต่อโปรโมชั่นไปไหม

มี เราดูจากเสียงตอบรับกันต่อไป แต่เราก็พร้อมสู้ค่าบริการกับผู้ให้บริการรายอื่นที่ระบุว่าเป็น zero MDR (merchant discount rate)

อย่างนี้แล้วจะทำกำไรได้หรือ เพราะมีช่องทางจ่ายเงินฟรีผ่าน mPAY Wallet

เรายังมีค่าธรรมเนียมจากช่องทางอื่นๆ ที่ทำกำไรได้ และผู้ใช้จำนวนมากที่เคยชินกับการจ่ายเงินผ่านช่องทางที่เขาคุ้นชินอยู่แล้วอย่างบัตรเครดิต ก็มักจะพยายามจ่ายเงินในช่องทางเดิม โดยรวมแล้วเราก็น่าจะทำกำไรได้

mPAY Wallet รับเงินไว้ในบัญชีได้แค่ไหน

เราแบ่งบัญชีออกเป็น 3 ระดับ ลูกค้าเปิดบัญชีออนไลน์ธรรมดารับเงินได้ 5,000 บาท ลูกค้าที่กรอกข้อมูลเพิ่มเติม รับเงินได้ 30,000 บาท และลูกค้าที่ส่งเอกสารครบถ้วนจะรับเงินได้ 100,000 บาท

ยอดเงินที่เก็บไว้ได้ไม่สูงนัก แต่ร้านค้าจะได้รับการแจ้งเตือนตลอดเวลาว่ามีเงินเข้า เมื่อยอดเงินสูงๆ ร้านค้าก็สามารถเอาเงินโอนออกไปได้ภายในวันเดียว

ทำไมทาง AIS ถึงไม่รวมบริการ mPAY เข้ากับการจ่ายบิลของ AIS ที่เดียว

เป็นเรื่องของข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดว่าบริษัทที่ให้บริการรับจ่ายเงินต้องไม่ทำธุรกิจอื่น ขณะธุรกิจอื่นๆ ที่รับเติมเงินจะสามารถนำเงินที่เติมเข้ามาขายสินค้าของตัวเองได้เท่านั้น แบบเดียวกับศูนย์อาหารที่มีบัตรเติมเงินที่ใช้ในศูนย์ได้อย่างเดียว ที่ผ่านมามีการผ่อนปรนบ้างเช่นการซื้อแอปผ่าน Google Play ที่จ่ายผ่านบิลได้แล้ว แต่บริการอื่นก็ยังต้องแยกบริษัทรับจ่ายเงินอยู่

ในกรณีของ mPAY MasterCard ตอนนี้ยังใช้งานกับบริการต่างประเทศไม่ได้ มีแนวโน้มว่าจะจ่ายได้เมื่อใด

ขั้นตอนการอนุญาตตอนนี้อยู่ที่คณะกรรมการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากผ่านประชาพิจารณ์มาสามรอบแล้ว ตอนนี้คงรอให้ทางคณะกรรมการประชุมอนุมัติและประกาศลงราชกิจจานุเบกษา

หลังจากกฎหมายส่วนนี้ผ่าน เราน่าจะเปิดบริการได้ในวันเดียว เพราะระบบส่วนนี้ทำเสร็จแล้วรอเปิดการใช้งานเพียงอย่างเดียว

คาดว่าถ้าเปิดบริการบัตรเครดิตเสมือนได้ทั่วโลกจะมีโปรโมชั่นอื่นๆ เพิ่มเติมไหม

เชื่อว่ามี เพราะตอนนี้ข้อจำกัดการซื้อสินค้าต่างประเทศไม่ได้เป็นข้อจำกัดใหญ่ เพราะลูกค้ามีช่องทางอื่นๆ ในการจ่ายอยู่แล้ว การใช้บัตรเครดิตเสมือนมีข้อดีสำคัญคือการจ่ายค่าบริการได้ทั่วโลก ถ้าสินค้าของเราพร้อมให้บริการครบก็คงพิจารณาทำโปรโมชั่นเช่นการเก็บแต้มกันต่อไป

Blognone Jobs Premium