เริ่มแล้ว การยุติโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกสู่การออกอากาศระบบดิจิทัล เริ่มจากสมุยและไชยปราการ

by magnamonkun
4 December 2015 - 10:42

ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ถือว่าเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ของวงการวิทยุโทรทัศน์ของประเทศไทย เมื่อองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมกับ สำนักงาน กสทช. ประกาศความร่วมมือในการยุติระบบการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก เพื่อก้าวเข้าสู่การออกอากาศโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลแบบเต็มตัวอย่างเป็นทางการ โดยเริ่มจากอำเภอเกาะสมุย และอำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมถึงอำเภอฝาง อำเภอแม่อาย และอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่แรกเมื่อคืนวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เวลา 0.00 น. ที่ผ่านมา

สาเหตุของการปิดระบบแอนะล็อก

สำหรับสาเหตุหลักที่จำเป็นต้องปิดการออกอากาศในระบบแอนะล็อกโดยไม่ออกอากาศแบบคู่ขนาน เกิดจากปัญหาคลื่นทับซ้อนกันเป็นหลัก ซึ่งทาง กสทช. ก็มีทางเลือกสองแนวทางคือ (1) ยุติโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกและเริ่มออกอากาศโทรทัศน์ระบบดิจิทัลทันที หรือ (2) ใช้งานความถี่ชั่วคราว โดยเมื่อวิเคราะห์ผลกระทบแล้วจึงดำเนินการตามทางเลือกที่หนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ความถี่ชั่วคราวซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงเครื่องส่งและจูนสัญญาณใหม่ในภายหลัง นอกจากนี้มีอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือพื้นที่เกาะสมุย และพื้นที่เกาะพะงันทั้งสองแห่งมีการตั้งสถานีสำหรับการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกเพียงสองสถานี คือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) ณ สถานีโทรคมนาคมเกาะสมุย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

ซึ่งในพื้นที่เกาะสมุยและเกาะพะงันเองก็ได้มีการออกอากาศช่องไทยพีบีเอสในระบบแอนะล็อกที่ช่องสัญญาณ UHF 34 โดยพื้นที่ส่วนอื่นในเกาะก็เลือกรับสัญญาณจากทางฝั่งอำเภอดอนสัก ซึ่งก็สามารถรับสัญญาณได้บ้างแต่ก็ไม่ได้คมชัดเท่าพื้นที่ในฝั่งอำเภอดอนสัก ประกอบกับการที่สำนักงาน กสทช. มีแผนการใช้คลื่นความถี่ในการออกอากาศโทรทัศน์ระบบดิจิทัลในส่วนของอุปกรณ์ของไทยพีบีเอส (ไทยพีบีเอส, ช่อง 3 HD, ช่อง 3 SD, ช่อง 3 Family, ช่อง 8) ในพื้นที่เกาะสมุยที่ช่องสัญญาณ UHF 34 เหมือนกันโดยเป็นแผนความถี่สำหรับภายหลังยุติการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก ปัญหานี้จึงกลายเป็นปัญหาคลื่นทับซ้อนหากไม่ใช้งานคลื่นความถี่ชั่วคราวทดแทนช่องสัญญาณ UHF 34 ในช่วงก่อนยุติโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก ดังนั้นทางไทยพีบีเอสจึงลงสำรวจพื้นที่และได้ข้อสรุปว่าจะเริ่มดำเนินการปิดระบบแอนะล็อกเพื่อสลับสัญญาณเป็นระบบดิจิทัลอย่างเป็นทางการที่เกาะสมุยเป็นที่แรก

รูปแบบการส่งสัญญาณในเกาะสมุย

สำหรับพื้นที่เกาะสมุย ไทยพีบีเอสจะใช้สถานีย่อยที่ตั้งอยู่ที่ สถานีโทรคมนาคม เกาะสมุย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริเวณเขาป้อมเป็นสถานีแห่งที่หนึ่ง สำหรับใช้ส่งสัญญาณในช่วงฝั่งท่าเรือ (ฝั่งตรงข้ามอำเภอดอนสัก) และจะดำเนินการก่อสร้างสถานีอีกหนึ่งแห่งในพื้นที่ฝั่งอ่าวเฉวง (ตำบลบ่อผุด) เนื่องจากพื้นที่เกาะสมุยเป็นพื้นหุบเขา และมีภูเขาบังทิศทางการส่งสัญญาณ จึงทำให้ส่งสัญญาณได้ไม่ครบ 100% ตั้งแต่แรก

เสาไม่สูง แต่ที่ตั้งสูง 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล ก็น้องๆ ตึก 100 ชั้นนั่นแหละครับ

สำหรับตัวอุปกรณ์ของที่สมุยจะไม่แตกต่างจากของทางกรุงเทพมหานครมากเท่าใดนักแต่จะแตกต่างที่กำลังส่งซึ่งสถานีที่เขาป้อมจะมีกำลังส่งที่ 100 วัตต์ และไม่มีการทวนสัญญาณให้เข้มขึ้น จึงทำให้กำลังส่งน้อยกว่าที่กรุงเทพมหานครพอสมควร แต่ก็ครอบคลุมพื้นที่ได้กว่า 70% ของทั้งเกาะสมุย

รูปแบบอุปกรณ์ที่ไม่แตกต่างจากทางกรุงเทพมหานคร

พื้นที่การให้บริการในพื้นที่เกาะสมุย ณ วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ผลกระทบในการยุติการออกอากาศ

ไทยพีบีเอสกล่าวว่า การยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกในพื้นที่เกาะสมุยในครั้งนี้น่าจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรมาก เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่รับชมผ่านจานดาวเทียมกับเคเบิลเกือบทั้งหมด เพราะพื้นที่เกาะสมุยสามารถรับชมโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกได้เพียงช่องเดียวจาก 6 ช่อง ดังนั้นการเปลี่ยนระบบเป็นดิจิทัลที่ทำให้ออกอากาศได้ 48 ช่อง (ปัจจุบันออกอากาศ 28 ช่อง) ถือว่าคุ้มค่ากว่าในระยะยาว

ประกอบกับก่อนหน้านี้ที่ ททบ.5, อสมท., และกรมประชาสัมพันธ์ ได้เริ่มออกอากาศโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลไปบ้างแล้ว การยุติระบบแอนะล็อกของไทยพีบีเอสในครั้งนี้ที่ทำให้พื้นที่เกาะสมุยเป็นพื้นที่แรกในประเทศที่ออกอากาศในระบบดิจิทัล 100% นั้น ยังเป็นการสร้างความตื่นเต้นให้กับประชาชนในท้องที่เป็นจำนวนมากอีกด้วย เพราะของเดิมที่รับชมผ่านทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีนั้น มีปัญหาที่สามารถชมได้ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง และเมื่อฝนตกก็ไม่สามารถรับชมได้ แต่เมื่อเป็นระบบดิจิทัลก็จะสามารถชมช่องรายการที่ตนเองสนใจได้อย่างชัดเจน

ก่อนหน้าที่จะเริ่มดำเนินการ ไทยพีบีเอส ได้ออกประชาสัมพันธ์หลายช่องทางด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นตัววิ่งทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส การตั้งป้ายโฆษณา สปอตโฆษณาทางโทรทัศน์ และประกาศเสียงทางวิทยุ ซึ่งก็ได้ผลดีและไม่สร้างผลกระทบต่อการยุติการดำเนินการมากนัก เพราะทำให้ประชาชนตื่นตัวพอสมควรในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

ผลตอบรับจากประชาชน

หลังจากตัดสัญญาณเพื่อออกอากาศจริงในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 คณะผู้บริหารของไทยพีบีเอส และกรรมการ กสทช. บางท่านก็ได้ออกเดินทางไปตรวจวัดคุณภาพสัญญาณ รวมถึงลงพื้นที่สอบถามความเห็นจากประชาชนที่เริ่มรับชมทีวีดิจิทัลไปบ้างแล้ว

คำตอบคือประชาชนส่วนใหญ่พอใจกับระบบการออกอากาศทีวีดิจิทัล เพราะทำให้ได้รับชมช่องรายการที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน รวมถึงได้รับชมด้วยภาพที่คมชัดกว่าสมัยการชมด้วยทีวีดาวเทียมมาก

แผนการยุติโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกในอนาคต

ในปีหน้าไทยพีบีเอสจะเริ่มทยอยยุติโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มตัว โดยเริ่มจากพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดร้อยเอ็ดที่มีปัญหาเรื่องคลื่นความถี่ทับซ้อนเช่นเดียวกับที่สมุย ซึ่งทั้งสองพื้นที่มีการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลมานานแล้ว แต่ยุติโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกให้เร็วขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนกับสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลของพื้นที่ข้างเคียงซึ่งมีกำหนดการขยายโครงข่ายในปีหน้า และก็จะดำเนินการตามแผนการยุติโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกยาวไปจนถึงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ที่จะยุติการออกอากาศที่สถานีในกรุงเทพมหานครเป็นสถานีสุดท้าย

เชื่อว่าหลังจากนี้เราน่าจะได้เห็นการเปลี่ยนผ่านระบบการออกอากาศกันมากขึ้น เพราะในปีหน้าเราก็จะได้เห็นการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกกันมากขึ้น (เฉพาะของไทยพีบีเอส 26 สถานี) จนถึงวันที่เปลี่ยนผ่านเสร็จสมบูรณ์ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 กันนั่นเองครับ

Blognone Jobs Premium