สัมภาษณ์คนไทยในซิลิคอนวัลเลย์ - ภูวรัฐ หน่อชูเวช กับงานวิเคราะห์ข้อมูลที่ Airbnb

by mk
12 December 2015 - 15:55

กลับมาอีกครั้งกับซีรีส์สัมภาษณ์ "คนไทยในซิลิคอนวัลเลย์" คราวนี้เปลี่ยนบรรยากาศมาคุยกับคนไอทีที่เติบโตมาด้านสายงานวิเคราะห์ข้อมูล (analytics) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในโลกไอทีฝั่งตะวันตก

แขกรับเชิญคราวนี้คือคุณภูวรัฐ หน่อชูเวช หรือคุณปาล์ม นักวิเคราะห์ที่ทำงานอยู่ใน Airbnb สตาร์ตอัพแชร์ห้องพักที่เติบโตอย่างรวดเร็ว คุณภูวรัฐยังเคยมีประสบการณ์ด้าน social media กับ SAP และยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซอย่าง eBay ด้วยครับ

ประวัติความเป็นมา แนะนำตัว

สวัสดีครับ ชื่อ “ปาล์ม” ภูวรัฐ หน่อชูเวช ครับ ผมย้ายมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่จบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมหิดล คณะนานาชาติ สาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์

ตอนที่ผมย้ายมาอยู่ที่สหรัฐ ผมอยู่ที่นิวยอร์กก่อน ช่วงนั้นเป็นช่วงวิกฤตกาณ์ Hamburger พอดี เลยหางานค่อนข้างยากมาก แต่ผมไม่ได้เลือกงานมากเลยได้งานภายในหนึ่งเดือน มาทำ Frontend developer ให้กับ ecommerce store ของบริษัทกระเป๋าแห่งหนึ่ง

พอทำงานได้ประมาณสองปี เก็บเกี่ยวประสบการณ์แล้วก็ย้ายมาอยู่ฝั่งซานฟรานซิสโก เพื่อมาเรียนต่อด้าน MBA ที่ University of San Francisco ครับ

ระหว่างเรียนปีแรก ผมได้ฝึกงานที่ SAP พอเรียนจบเลยทำงานต่อที่ SAP อีกปีครึ่ง ช่วงนั้นกระแสโซเชียลมีเดียกำลังมาแรง เลยได้เรียนรู้เรื่องการทำ content marketing และวางแผนการใช้โซเชียลสำหรับธุรกิจแบบ B2B, การใช้โซเชียลสำหรับงาน event, การสร้าง online experience และ การใช้เครื่องมือวัดผลความสำเร็จของ แคมเปญออนไลน์

หลังจากนั้นผมมีโอกาสเข้าร่วม Silicon Valley Enterprise Social Media Council (SVESMC) และไปพูดแชร์ความรู้สองสามครั้ง และได้รู้จักกับผู้บริหารที่ eBay ซึ่งกำลังเริ่มสร้างทีมนักวิเคราะห์ (analyst) เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ด้านโซเชียล เค้าเลยชวนไปทำด้วย

ผมเลยได้ย้ายมาอยู่ที่ eBay โดยเป็น analyst คนแรกของทีมโซเชียลครับ หน้าที่คือวิเคราะห์ข้อมูลจากโซเชียล และการปฏิสัมพันธ์ (engagement) ของผลิตภัณฑ์แต่ละตัวบน eBay การมาทำงานตำแหน่งนี้มีโอกาสได้ไปอยู่ที่อังกฤษและเยอรมนี แห่งละ 6 เดือน และได้เรียนรู้กระบวนธุรกิจส่วนต่างๆ มากมาย

ล่าสุดย้ายมาอยู่กับบริษัท Airbnb ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพชื่อดังที่หลายคนคงรู้จักกันดีครับ

แนะนำองค์กร Airbnb

Airbnb เป็น “ตลาดกลาง” หรือ marketplace ให้นักท่องเที่ยวค้นหาบ้านพัก หรือห้องในบ้านเพื่อพักอาศัย โดยใครก็ตามสามารถแสดงรายชื่อห้องพักบนเว็บไซต์ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ประกอบการแต่อย่างใด

จุดเด่นของการมาพักกับ Airbnb คือประสบการณ์แบบคนท้องถิ่น (local experience) โดย Airbnb เชื่อว่าการไปเที่ยวที่แท้จริงคือการไปสัมผัสประสบการณ์เดียวกับที่คนท้องถิ่นพบเจอ ไม่ใช่การไปถ่ายรูปตามสถานที่ท่องเที่ยวดังๆ หรือเร่งรีบทำแต้ม ไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวให้มากที่สุดแล้วกลับประเทศ การพักกับโฮสต์หรือเจ้าบ้าน จึงเป็นการเรียนรู้ชีวิตประจำวัน และวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นอย่างเต็มที่ ปัจจัยนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ Airbnb เติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะมีสภาพ ‘network effect’ หรือการบอกต่อจากผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แบบเดียวกับที่ Facebook และ Twitter มี

ผมยื่นใบสมัครตรงเข้ามาที่ Airbnb เลย เพราะส่วนตัวก็ชอบและใช้งานอยู่แล้ว พอมาอยูที่นี่พบว่าเป็นบริษัทที่มีเอกลักษณ์ของตัวเองสูงมาก มีวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างจากบริษัทไอทีอื่นๆ ทั่วไป

งานที่ทำอยู่ใน Airbnb ตอนนี้เป็นการวิเคราะห์ประสิทธิภาพและสภาพการเงิน อธิบายแบบคร่าวๆ คือดูความเคลื่อนไหวของข้อมูลทั้งบริษัท แล้วเขียนอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะสาเหตุใด โดยรายงานที่เขียนจะส่งให้กับผู้บริหารและซีอีโอทราบครับ ส่วนงานรองอีกชิ้นคือวิเคราะห์หาโอกาสธุรกิจใหม่ๆ เพื่อนำเสนอกับผู้จัดการผลิตภัณฑ์แต่ละด้าน เพื่อนำไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์แต่ละส่วน

Airbnb เป็นบริษัทที่มาแรง ในฐานะที่เคยทำงานมาหลายที่ เห็นความแตกต่างอะไรของบริษัทนี้จากบริษัทอื่นบ้าง

อย่างแรกคือ “Speed” องค์กรมีวัฒนธรรมการทำงานที่รวดเร็ว ตัวบริษัทเองถือเป็นสตาร์ตอัพกลุ่ม Unicorn ที่เติบโตเร็วมาก กระบวนการทำงานภายในจึงต้องเร็ว การตัดสินใจทำผลิตภัณฑ์จะค่อนข้าง lean กว่าบริษัทไอทีอื่นๆ

บริษัทยังให้ความสำคัญเรื่องวัฒนธรรมองค์กรมาก ซึ่งมีความแตกต่างจากบริษัทไอทีพวก Google, eBay, Facebook พอสมควร การสัมภาษณ์งานมีขั้นตรวจสอบว่าเข้ากับวัฒนธรรมภายในได้หรือไม่ (culture fit) ซึ่งต้องสัมภาษณ์ถึงสองรอบ และให้ความสำคัญเท่ากับการสัมภาษณ์ความรู้เชิงเทคนิค สิ่งที่บริษัทสนใจตอนสัมภาษณ์งานคือวิธีทำงาน ไลฟ์สไตล์ รวมถึงความรู้และความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทเองยังมีทีมเฉพาะกิจที่ดูแลเรื่องวัฒนธรรมและความสุขของพนักงานด้วย

พอเข้ามาทำงานแล้วพบว่า วัฒนธรรมของ Airbnb เน้นความเป็นกันเองครับ คนส่วนใหญ่ที่นี่จะทักกันถึงแม้ว่าจะไม่รู้จักกัน นอกเวลางานยังมีการนัดไปเที่ยวหรือออกทริปร่วมกัน แน่นอนว่าพักที่ Airbnb แถมพักฟรีตามโควต้าที่บริษัทมีให้

อายุเฉลี่ยของพนักงานน้อยกว่าบริษัทไอทีอื่นๆ แถมยังมีสัดส่วนของพนักงานผู้หญิงต่อผู้ชายสูงกว่าที่อื่นด้วย บุคลิกของคนที่นี่จะออกแนว Hipster ครับ แต่งตัวแนวๆ ย้อมผม สักแขน แต่ทักษะการเขียนโค้ดกลับเทพมาก ตรงนี้ต่างกับโปรแกรมเมอร์ในกูเกิลหรือเฟซบุ๊กมาก

ซีอีโอเองก็ย้ำในที่ประชุมบริษัทอยู่บ่อยครั้งว่า "Don't fuck up the culture" ครับ

ในแง่การทำงาน บริษัทนี้ให้ความสำคัญกับการดีไซน์เป็นพิเศษครับ (Design-Driven) โดยมุมมองของบริษัทคือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีที่มีคนใช้งานจริง ต้องคำนึงเรื่อง user experience ตั้งแต่ต้นจนจบ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะถูกออกแบบโดย Experience Designer ซึ่งแตกต่างจากบริษัททั่วไปที่ใช้ Product Manager

ถ้าใครเคยอ่านเรื่องราวของ Airbnb สิ่งหนึ่งที่ Airbnb ช่วยกระตุ้นห้คนอยากไปพักคือการจ้างช่างภาพมืออาชีพมาถ่ายรูปให้ห้องพักแต่ละแห่ง เรื่องนี้มีเกร็ดว่า ก่อนที่จะจ้างช่างภาพอาชีพจริงจัง คนที่ทำหน้าที่ช่างภาพ 3 คนแรกของบริษัทคือทีมผู้ก่อตั้งนั่นเอง ทั้งสามคนคุยกับ Paul Graham นักลงทุนและที่ปรึกษาจาก Y Combinator ที่ลงทุนในบริษัทว่าการตัดสินใจทำสิ่งที่ไม่ scale อย่างการไปถ่ายรูปตามบ้านโฮสต์ และการไม่ยอมละเลยเรื่องดีไซน์ ถือเป็นความเชื่อและจุดยืน ซึ่งภายหลังกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ Airbnb ประสบความสำเร็จ

จากการทำงานกับ Airbnb เห็นแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของคนในสังคมกับแนวคิด sharing economy อย่างไรบ้าง

คำตอบคงขึ้นกับแต่ละประเทศครับ ถ้าเป็นคนที่สหรัฐอเมริกา ตอนนี้ถือว่ายอมรับและเข้าใจแนวคิด sharing economy กันมากแล้ว ดังจะเห็นได้ว่าที่นี่มีสตาร์ตอัพมากมายที่ใช้แนวคิด sharing economy เช่น การแชร์ที่จอดรถ แบ่งเช่าพื้นที่เก็บของ การให้เช่ารถส่วนตัว การให้เช่าเครื่องมือใช้สอยต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ยังคนบางกลุ่มที่ยังไม่ยอมรับและต่อต้าน Airbnb อยู่เช่นกัน เมื่อเดือนที่ผ่านมา ก็มีการเสนอร่างกฏหมายใหม่เพื่อจำกัดการให้เช่าห้องรายวันในซานฟรานซิสโก

ในเมืองไทย การเปิดรับแนวคิด sharing economy ยังจำกัดและธุรกิจด้านนี้เติบโตได้ช้ากว่ามาก ยกตัวอย่างเช่น โครงการคอนโดหลายแห่งเริ่มออกกฏห้ามไม่ให้เจ้าของห้องปล่อยเช่ารายวัน หรืออย่าง Uber เองก็ไม่สามารถที่จะให้บริการได้อย่างเต็มที่เหมือนในอเมริกา ผมก็ได้แต่หวังว่าในอนาคตแนวคิด sharing economy จะได้รับการยอมรับมากกว่านี้

กระแสเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล (Analytics) กำลังมาแรง ในฐานะที่ทำงานด้านนี้โดยตรง เห็นแนวโน้มอะไรบ้างครับ

ในสหรัฐตอนนี้ แวดวง analytics น่าจะถือว่าเติบโตเต็มที่แล้ว (mature stage) จำนวนคนทำงานด้าน analyst หรือ data scientist ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ตลาดก็ยังขาดบุคลากรด้านนี้อยู่ดี เพราะบริษัทที่ไม่ใช่ไอทีเริ่มตื่นตัวเรื่องนี้กันมากขึ้น ดังนั้นถ้ามีความรู้ในสาขานี้ก็หางานไม่ยากเลยครับ ความต้องการไม่ต่างอะไรกับโปรแกรมเมอร์ใน Silicon Valley เลย

วงการ analytics ถือว่าค่อนข้างกว้างมาก เพราะคนมาทำมาจากหลายสาขา มีทั้งการตลาด การเงิน รวมถึงสถิติ แต่ไม่ว่าจบอะไรมา ทักษะที่จำเป็นต้องมีเหมือนกันหมดคือความอยากรู้อยากเห็น สามารถตั้งคำถามที่ถูกต้อง และต้องสามารถหาข้อมูลดิบ แล้วมาแปลความหมายของข้อมูลไปเป็นการตัดสินใจเชิงธุรกิจ (business decision) ให้ได้

ในระยะยาวแล้ว การมีความรู้ความเข้าใจเรื่องข้อมูล และสามารถใช้ข้อมูลช่วยตัดสินใจทางธุรกิจ จะกลายเป็นพื้นฐานของการทำงานทุกแบบ ไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ การตลาด หรือฝ่ายผลิตภัณฑ์ก็ตาม เพราะการที่เราเข้าถึงข้อมูลได้เอง ส่งผลให้เราได้เปรียบกว่าคนที่ไม่มีความรู้ทางเทคนิคมากพอที่จะดึงข้อมูลออกมาได้

ในวงการเทคโนโลยีที่สหรัฐ คนทำงานที่ไม่ใช่สายโปรแกรมเมอร์โดยตรง จำเป็นต้องมีพื้นฐานด้าน Business Intelligence (BI) และการใช้ Excel ในระดับกลางกันแล้ว ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ระบบการศึกษาเมืองไทย ควรปลูกฝังให้เด็กสนใจเรื่องข้อมูลเชิงสถิติที่ยืนยันได้ แทนการไปสนใจคำคมหรือบทความบนอินเทอร์เน็ตที่เป็นเพียงแค่ความคิดเห็น

การทำงานด้าน analytics จะเจอคำถามที่พบบ่อยว่า ถ้าเราทำสิ่งนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทเรา ดัชนีชี้วัดเพิ่มขึ้นหรือลดลง คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่ลงทุนไปหรือไม่ สำหรับคนที่สนใจเรียนเรื่องนี้ ตอนนี้มีแหล่งเรียนรู้มากมายในอินเทอร์เน็ตครับ แบบฟรีก็เยอะมาก ศึกษากันเองได้เลย

ชีวิตการทำงานที่ฝั่งนิวยอร์กกับซานฟรานซิสโก แตกต่างกันแค่ไหน

วัฒนธรรมการทำงานแตกต่างกันมากครับ ฝั่งนิวยอร์กมีความเร่งรีบ มีแรงกดดันให้ส่งงานตามเส้นตายสูงมาก เราจะรู้สึกว่ายุ่งตลอดเวลา คนจะมีนิสัยตรงไปตรงมาและค่อนข้างดุดันกว่า

ในขณะที่บริษัทไอทีฝั่งซานฟรานซิสโก ให้ความสำคัญกับ work life balance ค่อนข้างมาก มีกิจกรรมให้ร่วมเยอะ มีความยืดหยุ่นเรื่องเวลางานเยอะกว่า ตรงนี้คงเป็นเพราะความแตกต่างของอุตสาหกรรมด้วย เพราะบริษัทไอทีฝั่งนิวยอร์กมักผูกกับโลกการเงิน ธนาคาร บริษัทลงทุน เลยได้รับแรงกดดันจากภายนอกสูง แต่ถ้าเป็นซานฟรานซิสโก อุตสาหกรรมจะหลากหลายกว่า และถ้าเกิดไปอยู่บริษัทใหญ่แล้ว แถมมีสภาพธุรกิจดี มีผลิตภัณฑ์ทำเงิน แบบนี้เราสามารถทำงานชิวๆ เข้า 9 โมงเลิก 5 โมงทุกวัน หรือจะเลือกทำงานจากบ้านสัปดาห์ละ 3 วันก็ยังได้เลยครับ

ประสบการณ์การทำงานในสหรัฐ วัฒนธรรมการทำงานแตกต่างกับเมืองไทยแค่ไหน

ผมไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานที่เมืองไทย คงเทียบได้ยาก แต่จุดที่ชอบคือบริษัทฝรั่งชอบคนมีความเห็นแตกต่างครับ การเถียงและขัดแย้งกันถือว่าเป็นเรื่องธรรมดามาก แถมจริงๆ แล้ว การถกเถียงกันยิ่งทำให้การประชุมมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลการประชุมถูกกลั่นกรองให้ออกมาดีที่สุด

อีกเรื่องที่ผมชอบคือที่นี่ไม่มีคำว่า “วัยวุฒิ” ครับ ทุกอย่างขึ้นกับความสามารถและความฉลาดอย่างเดียว การจะทำให้คนอื่นยอมรับเราได้ ต้องพูดให้ฟังดูมีเหตมีผล สนับสนุนด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง

ประเด็นสุดท้ายที่ชอบคือการสนับสนุนให้พัฒนาบุคคลากรเรื่อยๆ มีการเทรนนิ่ง การแชร์ความรู้กันตลอดเวลา แถมบริษัทไม่มีพันธะสัญญาว่าถ้าไปอบรมแล้วจะต้องอยู่ต่อนานแค่ไหน เพราะแนวคิดคือถ้าบริษัทดีจริง คนจะไม่อยากลาออกเองครับ

มีคำแนะนำให้น้องๆ รุ่นหลังที่อยากมาทำงานด้านเกี่ยวกับไอทีในสหรัฐอย่างไรบ้าง

ต้องกล้าพูดและแสดงความคิดเห็นครับ ผมคิดว่านี่เป็นจุดด้อยของคนเอเชีย โดยเฉพาะคนที่ทำงานสาไอทีเลยล่ะ

สิ่งที่เราต้องก้าวข้ามให้ได้คือการคิดว่า “คนอื่นจะตัดสินความคิดเรายังไง” แต่ตัวเราเองก็ต้องไตร่ตรองความคิดมาแล้วในระดับหนึ่ง มีเหตุมีผลด้วยเช่นกัน ความคิดของเราอาจจะผิดก็ได้ แต่ถ้าเราสามารถอธิบายเหตุผลหรือหลักการเป็นขั้นเป็นตอนได้ว่าทำไมเราคิดแบบนั้น อธิบายไอเดียหรือตรรกะยากๆ ให้คนฝั่งธุรกิจเข้าใจได้ ก็จะก้าวหน้าได้เร็วกว่าคนที่เก่งแต่เรื่องเทคนิคเพียงอย่างเดียว

Blognone Jobs Premium