ทดลองขับ Ford Everest ที่มาพร้อมระบบสั่งงานด้วยเสียง, ระบบช่วยจอดอัตโนมัติ, Adaptive Cruise Control

by BlackMiracle
17 December 2015 - 14:40

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา Blognone ได้รับเชิญจากฟอร์ดประเทศไทยให้ไปทดลองขับ Ford Everest ซึ่งเป็นรถยนต์ SUV รุ่นใหม่ล่าสุดจากฟอร์ด โดยผมและคุณ SainTKK รับอาสาไปร่วมงาน และกลับมาเขียนเล่าประสบการณ์กันครับ

ในส่วนแรกของข่าวนี้ผมจะเป็นคนเขียน และส่วนที่สองคุณ SainTKK จะเป็นคนเขียนครับ

ราคาของ Ford Everest

Ford Everest วางตัวเป็น premium SUV 7 ที่นั่ง จัดเต็มในด้านออปชั่นต่างๆ ซึ่งในประเทศไทยวางจำหน่ายด้วยกัน 3 รุ่นย่อย ดังนี้

  • 2.2L Titanium 4x2 AT ราคา 1,389,000 บาท
  • 3.2L Titanium 4x4 AT ราคา 1,599,000 บาท
  • 3.2L Titanium+ 4x4 AT ราคา 1,749,000 บาท

*เป็นราคาที่ปรับขึ้นตามอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ปี 2559 แล้ว

ผมขอไม่กล่าวถึงสเปก และรายละเอียดทางเทคนิคต่างๆ เนื่องจากสามารถหาดูได้จากเว็บไซต์ของฟอร์ดประเทศไทยได้อยู่แล้วนะครับ (ดาวน์โหลดโบรชัวร์)

งานทดลองขับ

งานทดลองขับครั้งนี้ ฟอร์ดนัดเจอสื่อที่โรงแรม W Bangkok ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสช่องนนทรี มีการพูดบรีฟรายละเอียดตัวรถนิดหน่อย จากนั้นก็พามาดูตัวรถและอธิบายรายละเอียดเบื้องต้น และจัดคิวว่าใครได้ไปคันไหน ทีม Blognone ได้รถคันแรกเลย เป็นรุ่น 3.2L Titanium+ ตัวท็อป ซึ่งเราจะเดินทางไปที่ร้านอาหาร Villa De Bear ถนนราชพฤกษ์ โดยคุณ SainTKK เป็นคนขับก่อน ผมนั่งข้างๆ

ความรู้สึกภายในห้องโดยสารคือหรูหราทีเดียว วัสดุต่างๆ ทำออกมาดี แต่ยังมีบางจุดที่การประกอบยังไม่ค่อยเรียบร้อยนัก ผมได้ทดลองโทรศัพท์ผ่านระบบบลูทูธ พูดด้วยเสียงปกติ คู่สายบอกว่าเสียงชัดเจนดี หลังจากนั้นก็ลองเล่นเพลงจากแอพ Joox เสียงที่ได้อยู่ในเกณฑ์ดี มีมิติครับ ใช้เวลาไม่นานขบวนของเราก็เดินทางมาถึงร้าน Villa De Bear และรับประทานอาหารร่วมกัน ร้านน่ารักทีเดียว รสชาติอาหารก็ใช้ได้ครับ

หลังจากรับประทานอาหารเสร็จ เจ้าหน้าที่ของฟอร์ดได้แบ่งกลุ่มของเราออกเป็นสองกลุ่ม เพื่อแยกไปทดสอบระบบต่างๆ ของรถยนต์ และสลับกันภายหลัง ซึ่ง Blognone ได้ไปด่านทดสอบระบบช่วยจอดอัจฉริยะ (Active Park Assist) และระบบตรวจจับรถขณะออกจากซองจอด (Cross Traffic Alert) ก่อน จากนั้นค่อยสลับมาทดลองระบบสั่งงานด้วยเสียง SYNC 2 ครับ

ระบบช่วยจอดอัจฉริยะ

ในส่วนของผมจะกล่าวถึงระบบช่วยจอดอัจฉริยะ โดยรถสามารถจอดเทียบขนานกับฟุตบาทริมทางได้อัตโนมัติ ผู้ขับควบคุมแค่เบรกอย่างเดียว ขั้นตอนการใช้งานคือให้ผู้ขับกดปุ่มเริ่มการทำงานของระบบที่บริเวณใกล้ๆ เกียร์ จากนั้นให้ปล่อยรถไหลไปเรื่อยๆ รถจะทำการสแกนพื้นที่ด้านข้าง ซ้ายหรือขวา เพื่อหาที่ว่างและเข้าจอด หากต้องการจอดชิดซ้ายให้เปิดไฟเลี้ยวซ้าย และหากต้องการจอดชิดขวาให้เปิดไฟเลี้ยวขวา ดูวิดีโอด้านล่างได้ครับ


กดปุ่มที่มีสัญลักษณ์ P ข้างๆ รูปพวงมาลัย เพื่อเริ่มการทำงาน

เมื่อรถพบที่ว่างที่ยาวพอจะเข้าจอดได้ หน้าจอจะเตือนให้เบรก และเข้าเกียร์ถอยหลัง จากนั้นให้ปล่อยมือจากพวงมาลัย และปล่อยรถไหล รถจะหักพวงมาลัยถอยเลี้ยวเข้าเทียบฟุตบาทให้อัตโนมัติ เมื่อถอยไปใกล้คันด้านหลัง ระบบก็เตือนให้เบรกและเข้าเกียร์เดินหน้าเพื่อขยับให้รถอยู่กลางช่อง เมื่อพอดีแล้วก็เบรกอีกครั้งและเข้าเกียร์ P เป็นอันเสร็จสิ้น ระหว่างนี้หากผู้ขับจับพวงมาลัยและขืนแม้เพียงนิดเดียว ระบบจะหยุดทันที และไม่สามารถทำงานต่อได้ ต้องออกไปเริ่มใหม่

ความยาวของช่องจอดที่เจ้าหน้าที่จัดไว้

ความรู้สึกโดยรวมคือสะดวก และลื่นไหลดีมาก รถไม่มีอาการกระตุกหรือหยุดคิดแต่อย่างใด ใช้เวลาประมาณ 1 นาทีนิดๆ ก็เข้าจอดได้เรียบร้อย

หลังจากนี้เป็นการทดสอบระบบตรวจจับรถขณะออกจากซองจอด และระบบสั่งงานด้วยเสียง SYNC 2 ซึ่งอยู่ด้านล่าง ในส่วนของผมขอข้ามไปตอนเดินทางกลับเลยนะครับ

ก่อนเดินทางกลับ เจ้าหน้าที่ฟอร์ดแจ้งว่ารถที่ได้มาทดสอบทั้งหมดมีทั้งรุ่น 2.2 ลิตร และ 3.2 ลิตร ปนๆ กันมา ใครได้ขับรุ่นท็อปตอนขามาแล้วก็ให้คนที่ขับรุ่นรองได้มาขับบ้าง แต่จัดคิวไปมากลายเป็นว่าเหลือรุ่นท็อปอยู่คันสุดท้าย ซึ่งพวกผมก็ได้ไป แต่เป็นคนละคันกับที่ขับมา ผมจะกล่าวถึงความรู้สึกขณะขับขี่บ้าง ว่าเป็นอย่างไร

เมื่อออกรถได้เพียงไม่กี่นาที ผมพบความผิดปกติบางอย่างเกี่ยวกับรถคันนี้ที่ไม่เหมือนคันที่นั่งมาตอนแรก นั่นคือเมื่อผมขับเข้าไปใกล้รถคันข้างหน้าเมื่อไหร่ จะมีไฟจากหลอด LED สีแดงเรียงเป็นแถวฉายขึ้นมาที่กระจกหน้า และดับไปเมื่อทิ้งระยะห่าง … ใช่แล้วครับ รถคันนี้เป็นรุ่นใหม่ที่ฟอร์ดประเทศไทยจะขายหลังจากปรับอัตราภาษีสรรพสามิตนั่นเอง โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้บอกพวกเราแต่อย่างใดว่าได้นำมาให้ทดลองกันในงานนี้

ในรุ่นใหม่นี้ได้มีการเพิ่มฟีเจอร์ที่น่าตื่นเต้นเข้ามาหลายอย่าง ดังนี้

  • ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ (Adaptive Cruise Control) จะกล่าวถึงต่อไป
  • ระบบเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Warning System) คือแสงสีแดงที่ผมเจอ
  • ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง (Lane Keeping System) พยายามลอง แต่เดาว่าความเร็วรถไม่พอ ทำให้ระบบยังไม่ทำงาน
  • ระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัจฉริยะ (Auto High Beam Control) ไม่ได้ลอง
  • ระบบแจ้งเตือนการขับขี่ (Driver Alert System) ไม่ได้ลอง

การขับขี่โดยรวมของ Ford Everest เครื่อง 3.2 ลิตร ต้องบอกว่าไม่ได้แรงอย่างที่คิด เนื่องมาจากการปรับจูนที่อยากให้ประหยัดน้ำมันหรืออะไรก็แล้วแต่ ลองเหยียบเต็มๆ ก็ไม่ได้พุ่งมากอย่างที่คาดไว้ แต่สามารถทำความเร็วไต่ขึ้นไปได้เรื่อยๆ อย่างไม่ยากเย็นนัก มุมมองโดยรวมถือว่าดีตามประสารถยกสูงทั่วไป

ระบบช่วงล่างค่อนข้างกระเทือนตามระเบียบ แต่อาจเป็นเพราะล้อขนาด 20 นิ้วด้วย ทำให้รู้สึกแข็งกระด้างเมื่อขับผ่านหลุมหรือทางขรุขระ และมีอาการเต้นเล็กน้อย (รุ่นรองและรุ่นล่างเป็นล้อ 18 นิ้ว) ผมได้สอบถามว่าได้เติมลมยางมากี่ปอนด์ เจ้าหน้าที่บอกว่าเติมตามมาตรฐาน ซึ่งผมก็ไม่ได้ไปเช็คว่ามาตรฐานของรถรุ่นนี้อยู่ที่กี่ปอนด์ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ฟอร์ดเคลมว่า Everest นั้นนุ่มนวลที่สุดในรถคลาสเดียวกันแล้ว

ส่วนเสียงรบกวนภายในห้องโดยสารแทบไม่ได้ยิน เพราะรถรุ่นนี้มีระบบตัดเสียงรบกวนแบบที่หูฟังแพงๆ ใช้กัน ในรถมีไมโครโฟนติดตั้งไว้ที่เพดานอย่างน้อย 2 ตัว และลำโพงจะปล่อยคลื่นเสียงออกมาหักล้างเสียงเครื่องยนต์และเสียงรบกวนอื่นๆ ทำให้ภายในรถเงียบทีเดียว แต่ยังไม่เงียบจนอึดอัด

Adaptive Cruise Control

ผมไม่มีโอกาสได้ลองการขับด้วยความเร็วสูงเป็นเวลานาน เนื่องจากขาเข้าเมืองตอนบ่ายรถค่อนข้างเยอะ ขับได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น

ต่อไปเป็นการทดสอบระบบ Adaptive Cruise Control ที่เป็นของใหม่ในรุ่นนี้ โดยระบบรักษาความเร็วอัตโนมัติหรือ Cruise Control มีกันมานานแล้ว และพัฒนาต่อมาให้ปรับเปลี่ยนอัตโนมัติได้ภายหลังโดยการตรวจจับระยะห่างจากรถยนต์คันข้างหน้า และปรับความเร็วคันเราให้เท่ากัน

วิธีใช้คือเปิดการทำงานจากปุ่มควบคุมบริเวณพวงมาลัย สัญลักษณ์บนจอจะติดขึ้นมา ให้ผู้ขับเลือกความเร็วที่ต้องการ เช่น 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วรถจะเร่งขึ้นไปและรักษาความเร็วไว้ตามนั้น จากนั้นให้เลือกว่าอยากให้รถเราห่างจากคันข้างหน้าแค่ไหน บนหน้าจอเป็นรูปตัวรถ และมีขีดแนวนอนอยู่ 4 ขีด ถ้าผู้ขับเลือกขีดเดียว รถจะเข้าไปใกล้ประมาณ 1-2 ช่วงรถ ไม่ได้จี้มาก และถ้าเลือก 4 ขีดคือห่างประมาณ 4-5 ช่วงรถเลยทีเดียว อารมณ์ประมาณขับทางไกลเร็วๆ แล้วเรารักษาระยะห่างจากคันข้างหน้าไว้พอสมควร

เมื่อคันข้างหน้าเบรก รถจะลดความเร็วลงตาม โดยใช้ engine brake กล่าวคือเป็นการใช้เครื่องยนต์หน่วงเพื่อลดความเร็ว ผมไม่แน่ใจว่าไฟเบรกติดหรือไม่ และเมื่อเบรกมากขึ้นรถจะใช้เบรกตามปกติ เมื่อใกล้หยุดนิ่งรถจะส่งเสียงเตือนดัง “ติ๊ง” ให้ผู้ขับเหยียบเบรกเพื่อหยุดนิ่ง ผมลองไม่เบรกหลังมีเสียงเตือน พบว่ารถไหลเข้าไปใกล้คันข้างหน้ามาก สรุปได้ว่าถ้าไม่เบรกเองก็ชนแน่นอน

ระหว่างทางกลับผมพบปัญหานึงที่น่ารำคาญ อาจจะเนื่องด้วยรถที่ได้ทดลองยังไม่ใช่เวอร์ชั่นขายจริงก็เป็นได้ คือจู่ๆ เซ็นเซอร์ด้านหน้าก็ร้องเตือนว่ามีวัตถุเข้ามาใกล้รถ ทั้งๆ ที่ขับอยู่ตามปกติ ไม่ได้เข้าใกล้อะไรเลย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อยมาก แต่ผมไม่ได้สอบถามทางฟอร์ดว่ามันคืออะไร ดูภาพนี้นะครับ จะเห็นว่ารถไม่ได้จี้ท้ายค้นข้างหน้า และมุมซ้ายขวาก็โล่ง แต่หน้าจอกลับเตือนว่ามีวัตถุอยู่ใกล้มาก (สีแดง) ร้องเตือนอยู่ครู่เดียวก็หายไปเอง

ระบบตรวจจับรถขณะถอยออกจากซองจอด

ส่วนนี้เป็นส่วนของคุณ SainTKK นะครับ

ระบบตรวจจับรถขณะถอยออกจากซองจอด (Cross Traffic Alert) ระบบนี้ทำงานโดยอาศัยเซ็นเซอร์ (จากที่สอบถามมาใช้หลักการโซนาร์) ด้านท้ายรถจำนวน 4 จุด ในการตรวจจับรถที่แล่นผ่านทางด้านหลังในขณะที่เกียร์อยู่ในตำแหน่ง R เมื่อมีวัตถุ เช่น รถยนต์แล่นผ่านระบบจะเตือนผู้ขับขี่ด้วยเสียง และมีไฟสีเหลืองในตำแหน่งเดียวกับระบบตรวจจับรถในจุดบอด (Blind Spot Information System) ในกระจกมองข้างด้านที่มีรถยนต์แล่นมาสว่างขึ้น และข้อความเตือนแสดงขึ้นบนหน้าจอข้อมูลของคนขับอีกจุดหนึ่ง

ระบบสั่งการด้วยคำสั่งเสียง Ford SYNC 2

ระบบสั่งการด้วยคำสั่งเสียง SYNC 2 ในรถยนต์คันนี้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าระบบสั่งการด้วยเสียงในฟอร์ดเฟียสต้า และการสนทนาโทรศัพท์ผ่านเครื่องเสียงรถยนต์คู่สนทนาของเราได้ยินเสียงที่คมชัดกว่าในฟอร์ดเฟียสต้าอีกเช่นกัน ในส่วนของการทำงานของ SYNC 2 นั้น ทางฟอร์ดมีความพยายามที่จะออกแบบการใช้งาน และคำสั่งให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น แต่ผู้ใช้ยังคงจำเป็นต้องศึกษาแนวทางการใช้งานคำสั่งอยู่บ้าง ซึ่งสามารถเปิดดูวิธีการใช้งานจากหน้าจอระบบอินโฟเทนเมนต์ของรถได้เลยไม่จำเป็นต้องขุดคู่มือรถยนต์มาเปิดดูกันอีกต่อไปแล้ว


หน้าจอหลักของ SYNC 2

คำสั่งต่างๆ ยังคงต้องใช้ภาษาอังกฤษ แต่ไม่ต้องออกเสียงสำเนียงดีๆ เหมือนระบบเก่า และการสั่งงานสามารถรวบรัดได้มากขึ้น เช่น ในระบบเดิมจะเป็น “Radio” > “FM” > “107.5” เท่ากับว่าต้องรอจังหวะเพื่อสั่งการด้วยเสียงถึง 3 ครั้ง ส่วนระบบ SYNC 2 ผู้ใช้สามารถสั่ง “FM 107.5” เพียงครั้งเดียวก็สามารถรับฟังวิทยุเอฟเอ็มคลื่น 107.5 เมกะเฮิร์ตซ์ได้ทันที การเล่นเพลงจากโทรศัพท์มือถือ USB Storage สามารถเรียกชื่อเพลงที่ต้องการได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องบอกชื่อศิลปินก่อน (ถ้ากรณีที่ชื่อเพลงซ้ำระบบน่าจะใส่หมายเลขให้เราเรียก เช่นเดียวกับเบอร์โทรศัพท์ในกรณีที่หนึ่งรายชื่อผู้ติดต่อ มีมากกว่า 1 เบอร์ระบบจะนำทุกหมายเลขมาใส่ลำดับ 1,2,3…) นอกจากสั่งงานความบันเทิงต่างๆ ได้แล้วยังสามารถสั่งควบคุมเครื่องปรับอากาศ สั่งจับคู่กับมือถือ ฯลฯ จุดเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ คือ ระบบใหม่ได้ลดความเยิ่นเย้อโดยการตัดส่วนของหัวข้อคำสั่งออกไป อาจกล่าวได้ว่าระบบประมวลผลคำสั่งเสียงมีความฉลาดมากขึ้น

กล่องจำลองระบบ SYNC 2

นอกจากนี้ตัวรถยังมาพร้อมกับเราเตอร์ไวไฟ แต่ต้องมีการนำ USB Modem หรืออุปกรณ์โมเด็มไปเชื่อมต่อก่อนจึงจะสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้

สุดท้าย Ford Everest มีเต้ารับสามตาแบบขาแบนติดตั้งมาให้ด้วย จ่ายไฟฟ้า 230 โวลต์ กำลังไฟ 150 วัตต์ ติดตั้งอยู่บริเวณที่ปรับแอร์ของผู้โดยสารตอนสอง ช่วยอำนวยความสะดวกระหว่างการเดินทางในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี แต่ต้องระวังอย่าต่อพ่วงมากเกินไป อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบไฟฟ้าของรถได้นะครับ

Blognone Jobs Premium