วิเคราะห์การประมูลคลื่น 900MHz - แรงจูงใจ และสาเหตุที่ราคาคลื่นจบลงเป็นประวัติศาสตร์

by arjin
18 December 2015 - 20:39

การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ของ กสทช. ที่กินเวลายาวนานอย่างเหลือเชื่อถึง 4 วันได้จบลงไปแล้วเมื่อเที่ยงคืนที่ผ่านมา พร้อมกับตัวเลขที่ทำสถิติเป็นประวัติการณ์ถึง 151,952 ล้านบาท โดยราคาต่อสล็อตสูงถึงมากกว่า 75,000 ล้านบาท มากมายยิ่งนักเมื่อเทียบกับการประมูล 1800 MHz ที่ยอดรวมสองสล็อตอยู่ที่ 80,778 ล้านบาท พร้อมผู้ชนะที่ว่ากันว่าพลิกโผทุกสำนักคือ Jas และ True

คำถามใหม่ที่เกิดขึ้นหลังการประมูลครั้งนี้ก็คือ อะไรเป็นสาเหตุให้ราคาคลื่นพุ่งสูงได้มากขนาดนี้ และผลที่ออกมาเช่นนี้จะเกิดอะไรกับอุตสาหกรรมและผู้เล่นแต่ละรายต่อไป บทวิเคราะห์นี้เกิดจากการรวมรวมข้อมูล ทั้งจังหวะการประมูล บทวิเคราะห์ทั้งหลาย รวมถึงความเห็นข้อสังเกตตลอด 4 วันจากมิตรสหายหลายท่านของผู้เขียนครับ ต้องขอบคุณมา ณ ที่นี้

การประมูลนี้สำคัญยิ่งเพราะ (อาจ) เป็นโอกาสสุดท้าย

เป็นคำอธิบายเดียวกันกับบทวิเคราะห์ของ mk เมื่อตอน 1800 MHz นั่นคือ ทำไมต้องแย่งคลื่นกัน ซึ่งคำอธิบายในรอบ 900 MHz นี้ก็ไม่ต่างกัน เพราะทรัพยากรคลื่นมีอยู่จำกัด การสะสมคลื่นจึงเป็นเรื่องสำคัญในการอยู่รอดของโอเปอเรเตอร์

ที่สำคัญกว่าคือเมื่อจบการประมูลคลื่น 900 MHz นี้แล้ว คลื่นในอนาคตที่มีโอกาสจะนำมาประมูลในระยะอันใกล้ ก็มีเพียง 850 MHz / 1800 MHz ของ Dtac ซึ่งจะหมดสัมปทานปี 2561 หรืออีกสามปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่ผ่านมานั้นคงไม่มีโอเปอเรเตอร์รายใดมั่นใจเต็มร้อยว่าจะมีคลื่นให้ประมูลในปี 2561 แบบแน่นอน การคว้าอะไรใกล้มือให้ได้จึงสำคัญ

เพราะเรียนรู้จึงเดินหน้าลุยไม่กลัวเจ็บ

ถ้าหากสังเกตจังหวะในการประมูลครั้งนี้ จะพบว่าแตกต่างจากตอน 1800 MHz มาก เพราะผู้ร่วมประมูลเดินหน้าเสนอราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดนานถึง 83 รอบ จึงเริ่มเกิดการหยุดเคาะราคาเพิ่ม เพื่อดูเชิงคู่แข่ง เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นผลจากการประมูล 1800 MHz ที่แสดงให้เห็นว่าคู่แข่งต่างพร้อมสู้ในราคาที่สูง ทุกคนจึงเดินหน้าลุยโดยไม่ต้องหวังว่าจะมีใครยอมแพ้รวดเร็ว

แต่ถึงแม้จะพร้อมลุยแค่ไหน ทุกบริษัทก็น่าจะมีราคาสูงสุดที่ยอมรับได้ในใจ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม AIS และ Dtac จึงไม่ชนะการประมูลครั้งนี้ ด้วยตัวเลขผลการประมูลคือ

  • Jas 75,654 ล้านบาท (สล็อต 1)
  • True 76,298 ล้านบาท (สล็อต 2)
  • AIS 75,976 ล้านบาท (ราคาสุดท้ายที่สล็อต 2)
  • Dtac 70,180 ล้านบาท (ราคาสุดท้ายที่สล็อต 1)

จากตัวเลขทำให้พอเห็นภาพว่า AIS มีราคาในใจสูงสุดราว 75,000 ล้านบาท ขณะที่ Dtac เตรียมไว้ 70,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่า AIS นั้นดูจะต้องการสล็อต 2 (905 – 915 MHz/950 – 960 MHz) เท่านั้น เพราะราคานี้ยังสามารถไปประมูลแย่งสล็อต 1 จาก Jas ต่อได้ แต่ AIS ไม่ได้ทำ

ปัจจัยที่น่าจะส่งผลให้ราคาทำสถิติโลก

ราคาคลื่นซึ่งจบลงที่มากกว่า 75,000 ล้านบาท ถือเป็นราคาที่สูงที่สุดในโลก (แม้ กสทช. จะบอกว่ายังไม่ใช่หากคิดตามปริมาณความถี่) อย่างไรก็ตามแค่เพราะความต้องการคลื่น ก็ดูไม่น่าทำให้ราคาประมูลดุเดือดมาได้ขนาดนี้ เหตุผลหนึ่งที่มีน้ำหนักพออธิบายได้ก็คือข้อกำหนดในการชำระเงินที่เปลี่ยนไป

ในการประมูลความถี่ 1800 MHz นั้น กสทช. กำหนดให้ผู้ชนะประมูลต้องจ่ายเงินงวดแรก 50% ของราคาที่เสนอภายใน 90 วัน หลังชนะประมูล และปีที่สองและสามอีกปีละ 25% เท่ากับว่าผู้ชนะต้องจ่ายเงินครบตามที่ประมูลจบตั้งแต่ 3 ปีแรก อย่างกรณีของ AIS งวดแรกก็ต้องจ่ายถึง 20,493 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขดังกล่าวมีข้อเสีย ที่ทำให้ กสทช. ต้องมาแก้เงื่อนไขในการประมูล 900 MHz เพราะการต้องหาเงินเป็นหมื่นล้านมาจ่ายใน 90 วันนั้น คงไม่มีหนทางอื่นนอกจากไปกู้จากธนาคาร แต่ธนาคารเองก็ต้องการทราบวงเงินที่จะใช้เบื้องต้น ซึ่ง กสทช. มองว่าทำให้ผู้ร่วมประมูลต้องเปิดเผยราคาเป้าหมายในใจก่อนการประมูล ซึ่งไม่เป็นผลดีนัก

เงื่อนไขการชำระเงินของ 900 MHz จึงเปลี่ยนไป โดยปีแรก ชำระเงิน 8,040 ล้านบาท (50% ของมูลค่าคลื่นเริ่มต้น) ปีที่สองและสามอีกปีละ 25% คือ 4,020 ล้านบาท แล้วส่วนที่เหลือให้ไปชำระทั้งหมดในปีที่ 4 การกำหนดเงื่อนไขแบบนี้ ทำให้ผู้ประมูลทุกคนมีภาระหาเงินมาเตรียมจ่าย 3 ปีแรกเท่ากัน ขณะที่เงินก้อนใหญ่ในปีที่ 4 นั้น สามารถเจรจากับธนาคาร-สถาบันการเงินได้ในภายหลัง

ตรงนี้ทำให้เห็นว่า Jas และ True จะจ่ายเงินใบอนุญาตใน 3 ปีแรกรวม 16,080 ล้านบาทเท่านั้น ถูกกว่าที่ AIS จ่ายในปีแรกปีเดียวกับ 1800 MHz เสียอีก ฉะนั้น 3 ปีแรกก็น่าจะเป็นโอกาสในการตักตวงสร้างกระแสเงินสดให้มากที่สุด ส่วนปีที่ 4 ซึ่งเป็นภาระก้อนใหญ่นั้น ก็ค่อยหาหนทางกู้จากสถาบันการเงินเอาต่อไป เพราะยังมีเวลา

ด้วยเหตุผลว่าใน 3 ปีแรก วงเงินที่ต้องจ่ายถูกกำหนดไว้แล้ว ไม่ว่าราคาประมูลจะจบที่เท่าใด แถมไม่สูงมากด้วย ก็น่าจะเป็นเหตุผลมากพอให้บริษัทกล้าเดิมพันกับราคาประมูลที่มากขึ้นนั่นเอง

แต่ละบริษัทน่าจะมีแถลงการณ์ถึงการประมูลที่เกิดขึ้น แต่ดูจากตอนนี้ก็พอจะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดังนี้

True - เท่าไหร่เท่ากันคว้าให้หมด

หลายคนที่ติดตามล้วนมองว่า True ดูมีความอยากได้คลื่นน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับรายอื่น เพราะ True มีคลื่นในมือมากที่สุดทั้ง 2100 MHz, 1800 MHz และ 850 MHz (สัญญาร่วม CAT) แต่ True ก็ตัดสินใจประมูล 900 MHz ให้ชนะอีก

คงไม่มีคำอธิบายใดมากกว่านี่คือเกมการสะสมคลื่นตุนไว้ให้มากที่สุด ส่วนคำถามว่าด้วยสถานะทางการเงินปัจจุบัน (เงินสด 11,000 ล้านบาท หนี้สินกว่า 7 หมื่นล้านบาท) True จะหาเงินจากไหนมาจ่าย ทั้งคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz อันนี้คงต้องถามคนถือหุ้น True ทุกท่านเอาเอง

Jas - ก็บอกแล้วพี่ไม่ได้มาเล่นๆ

Jas สร้างความประหลาดใจตั้งแต่ประมูล 1800 MHz จากดูเหมือนเป็นไม้ประดับ แต่กลับจริงจังมากและแพ้แบบเฉียดฉิว แต่ในรอบนี้ Jas มีการปรับแผนเล็กน้อยโดยซีอีโอ คุณพิชญ์ โพธารามิก เลือกไม่เข้าห้องประมูลแบบรอบก่อนหน้า หลายคนมองว่าถอดใจ แต่ผลที่ออกมาน่าจะแปลว่า เท่าไหร่เท่ากัน ซีอีโอไม่จำเป็นต้องอยู่ช่วยตัดสินใจมากกว่า

Jas มีธุรกิจหลักคือบริการบรอดแบนด์ 3BB แต่ตอนนี้กำลังจะเป็นโอเปอเรเตอร์รายที่ 4 ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่าเป็นสถานการณ์จำเป็น เพื่อให้ Jas แข่งขันกับ AIS และ True ที่มีทั้งมือถือและบรอดแบรนด์ได้

อย่างไรก็ตามมูลค่าใบอนุญาตที่ Jas ได้มาคงเป็นคำถาม เพราะมูลค่ากิจการของ Jas ตามราคาหุ้นล่าสุดอยู่ที่ 34,000 ล้านบาท แต่ใบอนุญาตนั้นราคา 75,654 ล้านบาท แพงกว่าทั้งบริษัทปัจจุบันเสียอีก ต้องรอดูต่อไปว่า Jas จะทำอย่างไร (คนที่อยู่ในแวดวง อาจพอทราบแล้ว แต่เนื่องจากไม่เป็นทางการก็จะขอไม่พูดถึงตรงนี้)

AIS - มันเกินจะรับไหว

AIS ดูเป็นตัวเก็งอันดับหนึ่งที่น่าจะชนะประมูลรอบนี้ ทั้งความแข็งแกร่งด้านการเงินมากกว่าคู่แข่ง แถมตอนนี้ AIS มีแต่คลื่นสั้น 2100 MHz และ 1800 MHz หากได้คลื่นยาว 900 MHz ก็น่าจะสมบูรณ์แบบดี มองไปมีแต่หนทางสดใส แต่ผลคือ AIS เลือกที่จะแพ้การประมูลแบบที่หลายคนประหลาดใจ

มีคำชี้แจงจากทาง AIS ภายหลังการประมูลเสร็จสิ้นว่า AIS ได้ประเมินราคาสูงสุดของใบอนุญาตที่บริษัทมองว่าเหมาะสมไว้แล้ว แต่ราคาประมูลกลับสูงขึ้นจากราคานั้นมาก AIS จึงต้องหยุดสู้ เพราะจะส่งผลเสียทั้งต่อคุณภาพการบริการลูกค้า และผู้ถือหุ้น

AIS บอกว่าราคานี้แพงเกินไป แต่ True กับ Jas เขาเลือกที่จะเอา ก็ไม่รู้ว่าใครถูกผิดงานนี้

ความเสี่ยงของ AIS จากนี้ก็คือคลื่นที่มีอยู่จะเพียงพอต่อการให้บริการหรือไม่ และ AIS จะมีโอกาสประมูลคลื่นมาเสริมในอนาคตได้หรือไม่

Dtac - คนที่แพ้ก็ต้องดูแลตนเอง

Dtac ทำให้กองเชียร์ประหลาดใจ เพราะเลือกยอมแพ้ในการประมูล 1800 MHz เร็วมาก แต่ก็มีเหตุผลอธิบายได้ เมื่อมาในการประมูล 900 MHz ไม่มีใครรู้ว่า Dtac จะต้องการคลื่นนี้หรือไม่ แต่ผลการประมูลก็ชี้ว่า Dtac ยังต้องการคลื่น พร้อมให้ราคาที่เหมาะสมสูงถึง 7 หมื่นล้านบาท เพียงแต่มันยังน้อยกว่าที่คนอื่นยินดีจ่ายจึงต้องแพ้ไป

สถานการณ์ Dtac ตอนนี้เรียกว่าพอทนไหว เพราะมีคลื่น 2100 MHz ที่อีกนานกว่าจะหมดอายุ และคลื่น 850 MHz / 1800 MHz ที่จะหมดอายุสัมปทานปี 2561 เพียงแต่หลังจาก 2561 แล้ว Dtac จำเป็นต้องได้คลื่นนี้มาเพื่อให้เพียงพอกับการบริการลูกค้า แต่ก็ไม่รู้ว่าถึงเวลานั้นคู่แข่งจะพร้อมจ่ายมากกว่าที่ Dtac ต้องการจ่ายหรือไม่

ถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น สถานการณ์ของ Dtac คงไม่สู้ดีนัก ความกังวลนี้ยังสะท้อนไปที่ราคาหุ้นของ Dtac ด้วย ซึ่งมีราคาปรับลดลงมามากเมื่อเทียบผู้ร่วมประมูลรายอื่น

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้

สูตรการชนะประมูลรอบนี้เหนือความคาดหมายของใครต่อใคร และเนื่องจากเราคงไม่เห็นการประมูลคลื่นเพิ่มเติมอย่างน้อยก็ 3 ปี จากนี้จึงเป็นการแข่งขันกันบนทรัพยากรที่โอเปอเรเตอร์แต่ละค่ายมี สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นจากนี้ก็มีดังนี้

  • สงครามราคา เนื่องจาก Jas จะเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ จึงจำเป็นต้องมีลูกค้าเป็นจำนวนมาก ในเวลาที่รวดเร็ว เพื่อให้คุ้มค่าการลงทุน คำตอบที่ง่ายที่สุดก็คือใช้ราคาดึงดูดจูงใจ และหากการแย่งลูกค้าของ Jas ได้ผลดี โอเปอเรเตอร์รายอื่นอาจไม่มีทางเลือกนอกจากลงมาสู้กับสงครามราคาด้วย สิ่งนี้ดีต่อผู้บริโภคแน่ แต่จะดีกับบริษัทหรือไม่ก็คงตอบได้ว่าไม่ อยู่ที่ว่าสงครามนี้จะยาวนานแค่ไหน
  • การเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งการตลาด ในเวลา 3 ปีจากนี้ True จะเดินเกมสู่เป้าหมายการเป็นอันดับ 2 ในตลาดโอเปอเรเตอร์แทนที่ Dtac ด้วยจำนวนคลื่นที่มากกว่า และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องทั้งบรอดแบนด์และเคเบิ้ลทีวี ขณะที่ Dtac นั้นกำลังลำบากจากคลื่นที่มีน้อยกว่า งานนี้กองเชียร์ค่ายไหนก็คงต้องลุ้นตามกันต่อไป
  • AIS คลื่นอาจไม่พอ บนเกมการแย่งชิงลูกค้า ก็เป็นไปได้ว่า AIS อาจจำเป็นต้องร่วมแย่งชิงเพื่อไม่ให้ส่วนแบ่งของตนลดน้อยลงไป แต่การมีลูกค้าที่มากกว่าคู่แข่งมากๆ ก็อาจเป็นผลเสียต่อ AIS เองเพราะคลื่นมีอยู่จำกัด อย่างไรก็ตามทางแก้ไขเรื่องนี้มีอยู่หลายวิธีและ AIS ก็น่าจะพิจารณาไว้อยู่แล้ว

ภาพ: @somying_pptv และ @panraphee

Blognone Jobs Premium