ท่าทีจากผู้แพ้การประมูล - AIS/dtac ออกแถลงการณ์ มั่นใจคลื่นที่มีอยู่สามารถรองรับผู้ใช้ได้

by mk
19 December 2015 - 02:48

หลังการประมูลคลื่น 900MHz ได้ข้อยุติ ว่าผู้ชนะคือ JAS และ True (บทวิเคราะห์)

ทางฝั่งผู้แพ้การประมูลทั้ง 2 รายคือ AIS และ dtac ก็ออกมาแสดงท่าทีหลังการประมูล โดยมีเนื้อหาไปในทางเดียวกันว่า จะนำเงินที่เตรียมไว้ประมูลมาพัฒนาโครงข่ายแทน และมั่นใจว่าคลื่นที่มีในปัจจุบันสามารถรองรับความต้องการใช้งานของลูกค้าได้

ฝั่ง AIS ออกแถลงการณ์ว่าตัดสินใจไม่ประมูลต่อ เพราะพิจารณามูลค่าคลื่นมาแล้วอย่างรอบคอบ การไม่ประมูลต่อทำให้บริษัทยังมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง และจะนำเงินส่วนนี้มาลงทุนพัฒนาโครงข่ายให้ดียิ่งขึ้น ส่วนประเด็นเรื่องคลื่นความถี่ ก็มั่นใจว่าคลื่น 2100MHz (3G) และ 1800MHz (4G) ที่มีอยู่ในมือ จะสามารถรองรับลูกค้าได้อย่างเพียงพอ

การที่บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด หรือเอดับบลิวเอ็น (AWN) ในเครือเอไอเอสตัดสินใจไม่ประมูลคลื่น 900MHz ต่อถือเป็นการตัดสินใจที่บริษัทฯ ได้พิจารณามาแล้วอย่างรอบคอบ เนื่องจากเอไอเอสเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีผู้ถือหุ้นและนักลงทุนเป็นจำนวนมากที่เข้ามาลงทุนในบริษัทฯ ดังนั้นการวางแผนในการดำเนินธุรกิจจึงต้องมีความรอบคอบ มีการศึกษาและพิจารณาถึงความเสี่ยง โอกาส ความน่าจะเป็นในหลายๆ ประการ เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางการจัดการที่ดีที่สุด

ก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่น 900MHz ในครั้งนี้ เอไอเอสได้ศึกษาเพื่อกำหนดราคาประมูลที่เหมาะสมทางธุรกิจว่าควรเป็นเท่าไร อย่างไร รวมทั้งได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาร่วมคาดการณ์ถึงผลลัพธ์และความเป็นไปได้ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการประมูลในครั้งนี้ ทั้งในกรณีที่เอไอเอสชนะการประมูล หรือหากคู่แข่งชนะการประมูล ราคาที่ได้ไปมีความเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงหากราคาในการประมูลสูงกว่าราคาเหมาะสมที่บริษัทได้ศึกษาไว้จะมีแผนรองรับอย่างไรต่อไป ซึ่งในกรณีนี้เมื่อราคาการประมูลขึ้นไปสูงเกินกว่าราคาเหมาะสมที่บริษัทกำหนดไว้ เราจึงตัดสินใจไม่ประมูลต่อ อีกทั้งอนาคตยังจะมีการประมูลคลื่นความถี่อื่นๆตามที่กสทช.ประกาศไว้ อาทิ คลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งจะสิ้นสุดสัมปทานกับ บมจ.กสท.โทรคมนาคม หรือ แคท ในอีก 3 ปีข้างหน้า และคลื่นความถี่ 2300MHz/2600 MHz และที่มีปริมาณ Bandwidth อีกมาก เป็นต้น

ทั้งนี้ เอไอเอสได้พิจารณาประเด็นต่างๆอย่างถี่ถ้วน โดยคำนึงถึงความเพียงพอของคลื่นความถี่ต่อการแข่งขันในอนาคต การตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ยังคงใช้มือถือ 2G รวมถึง การคงความแข็งแกร่งในด้านการเงินของบริษัท

เอไอเอสสามารถบริหารจัดการคลื่นความถี่ให้เพียงพอต่อสถานการณ์การแข่งขัน

เอไอเอส ขอยืนยันว่า เรามีจำนวนคลื่นความถี่มากเพียงพอสำหรับการบริหารจัดการเพื่อการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ทั้งคลื่น 2100 MHz ที่ปัจจุบันสามารถให้บริการ-3G ได้ทั่วประเทศด้วยความครอบคลุมกว่า 97% ของประชากร และยังมี bandwidth ที่เพียงพอในการขยาย capacity ต่อเนื่อง และคลื่น 1800 MHz ที่ประมูลมาได้ในเดือนที่แล้ว ซึ่งบริษัทฯ จะเปิดให้บริการ 4G ต่อไป รวมถึงความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ กับ บมจ.ทีโอที (TOT) ที่อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่ TOT มีอยู่อย่างมีประโยชน์สูงสุด ซึ่งถือว่าเรายังมีความแข็งแกร่งในด้านโครงข่ายที่สามารถดูแลลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บริษัทมีความพร้อมต่อแผนงานและมั่นใจในการรองรับลูกค้า 2G

สำหรับลูกค้าของเอไอเอสที่ยังใช้งานในระบบ 2G บนคลื่นความถี่ 900 ปัจจุบันเหลืออยู่จำนวนไม่มากและบริษัทฯ มีการเตรียมแผนงานและมั่นใจว่าจะสามารถดูแลลูกค้าทั้งหมดได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยในปีที่ผ่านมาความสำเร็จของมือถือรุ่น LAVA หลากหลายรุ่นได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างดีเยี่ยมทำให้มีลูกค้าจำนวนมากยังคงเปลี่ยนเครื่องจาก 2G มาเป็น 3G อย่างต่อเนื่อง

การตัดสินใจไม่ประมูลต่อในราคาสูงส่งเสริมให้เอไอเอสยังคงความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน

นอกจากนี้ เมื่อบริษัทฯ ตัดสินใจไม่ประมูลต่อจะทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดที่แข็งแรงสามารถนำเงินจำนวนนี้มาใช้ในการลงทุนโครงข่าย 4G ได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว และมีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาปรับปรุงโครงข่าย 3G ที่ยังมีการเติบโตสูงให้ดียิ่งขึ้น และการลงทุนในธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ AIS Fibre ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เด่นชัดสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ จากการตัดสินใจไม่ประมูลต่อจะส่งเสริมให้เอไอเอสยังคงความแข็งแกร่งทางด้านการเงินไว้อย่างดี สามารถสร้างสรรค์โปรแกรมทางด้านการตลาดต่างๆที่ดีที่ให้ประโยชน์โดยตรงกับลูกค้า

เอไอเอส มีความมั่นใจในศักยภาพการบริหารธุรกิจว่าเราสามารถสร้างเครือข่ายคุณภาพและส่งมอบประสบการณ์ที่ดีสุดให้แก่ลูกค้าของเรา ดังจะเห็นได้จากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ใด เอไอเอสก็สามารถบริหารจัดการได้เป็นอย่างดีทุกครั้ง ครั้งนี้ก็เช่นกันที่การตัดสินใจทุกอย่างได้ถูกศึกษาและพิจารณามาอย่างรอบคอบและเหมาะสมและได้คำนึงผลประโยชน์ต่อลูกค้า ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ เป็นอย่างดีไว้ล่วงหน้าแล้ว

ซีอีโอสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ โพสต์ข้อความลง Facebook หลังออกจากห้องประมูล มีเนื้อหาในทิศทางเดียวกันว่าขอให้ลูกค้ามั่นใจทีมงาน AIS ว่าจะสามารถให้บริการได้เต็มความสามารถ

ผมออกจากห้องประมูลแล้วครับ!

ครั้งที่แล้วอดหลับอดนนอน 33 ชั่วโมง เพื่อประมูลคลื่น 1800 MHz ได้ไปในราคา 40,986 ล้านบาท มาครั้งนี้อดหลับอดนอน 88 ชั่วโมง เพื่อประมูลคลื่น 900 MHz ด้วยราคา 75,976 ล้านบาท และไม่ได้คลื่น ซึ่งก็ไม่เป็นไร

ต้องขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่ได้คลื่นนี้ไปครอบครอง และขอขอบใจทีมงานเอไอเอสทุกคน ทั้งพนักงานและตัวแทนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่เข้ามาร่วมทำงานนี้อย่างเต็มกำลังความสามารถ

ในฐานะ CEO AIS ผมอยากบอกทุกคนว่า "ดีใจมาก ที่มีโอกาสได้ร่วมทำงานกับองค์กรและบุคลากรของเอไอเอส ที่ถือว่าเป็นมืออาชีพอย่างมากๆ รู้จักดูแลผลประโยชน์ของลูกค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้นตลอดจนสังคมและประเทศชาติได้อย่างสมดุลย์และเหมาะสมกับสถานการณ์จริงทางธุรกิจที่สุด"

ผมขอเรียนยืนยันกับท่านลูกค้าเอไอเอสกว่า 40 ล้านรายว่า ขอให้ท่านมั่นใจในทีมงานเอไอเอสทุกคน ที่จะมุ่งมั่นทำงานต่อไปอย่างเต็มที่ เพื่อให้ท่านสามารถใช้ชีวิตได้มากกว่าในโลกดิจิทัลปัจจุบัน

ฝั่งของ dtac ออกแถลงการณ์มีเนื้อหาคล้ายๆ กันว่าเงินค่าประมูลที่ไม่ได้ใช้งาน จะนำไปใช้พัฒนาโครงข่าย และมั่นใจว่าคลื่น 3 ย่านที่มีในมือคือ 2100 MHz, 1800 MHz และ 850 MHz สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างพอเพียง

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ทุก ๆ กำลังใจบนเส้นทางการแข่งขันประมูลคลื่น 900 MHz ที่ผ่านมามีความสำคัญยิ่งกับการเดินทางของดีแทคในก้าวต่อ ๆ ไป พวกเราดีแทคทุกคนขอขอบคุณทุกเสียงทุกกำลังใจที่ร่วมสู้ไปกับเราร่วมกัน ดีแทคจึงขอประกาศรุกให้บริการ 4G บนคลื่น 1800 MHz ด้วยการเร่งขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ให้บริการทุกจังหวัดทั่วไทยโดยเร็วที่สุดเพื่อลูกค้าของเรา

สำหรับเงินที่จะนำไปประมูลเราจะนำกลับมาเป็นเงินที่ลงทุนพัฒนาเครือข่ายและรุกทำการตลาดที่เข้มข้นในการให้บริการ 4G และ 3G ของสังคมไทย โดยลูกค้าดีแทคจะได้ใช้บริการ 4G และ 3G คุณภาพ ในอัตราค่าบริการที่คุ้มค่าที่สุด”

ดีแทคมั่นใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับจำนวนคลื่นความถี่ทั้งหมดที่ถือครองมากพอที่จะให้บริการทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง ดีแทคได้เปิดให้บริการทั้งคลื่น 2100 MHz, 1800 MHz และ 850 MHz โดยทั้งหมดมีจำนวนแบนด์วิธเพียงพอในการให้บริการแก่ลูกค้าสำหรับการใช้งานทั้งวอยซ์ และอินเทอร์เน็ตบนมือถือทั้ง 4G, 3G และ 2G โดยขณะนี้ดีแทคได้เปิดให้บริการ 4G บนคลื่น 2100 MHz จำนวน 5 MHz จากคลื่นในระบบใบอนุญาตและยังเปิดให้บริการ 4G บนคลื่น 1800 MHz อีก 15 MHz ซึ่งเป็นรายแรกในไทยที่เปิดให้บริการ 4G บนคลื่น 1800 MHz และวางแผนต่อเนื่องขยาย 4G บนคลื่น 1800 MHz ทุกจังหวัดทั่วไทยต้องครอบคลุมด้วยสัญญาณดีแทค 4G ภายในปีหน้า รองรับการเติบโตการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือสำหรับลูกค้าทั่วประเทศ ดีแทคขอให้สัญญาว่าจะนำบริการที่ดีที่สุดมาสู่ลูกค้าของดีแทคทุกคน

ที่มา - mxphone

Blognone Jobs Premium