ช่วงหลังเราเห็นพื้นที่ทำงาน co-working space ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของคนทำงานรุ่นใหม่ ในกรุงเทพตอนนี้น่าจะมีเกือบยี่สิบแห่งแล้ว และในหัวเมืองใหญ่ทั่วไทย เราก็เริ่มเห็นพื้นที่ลักษณะนี้เปิดบริการแล้วเช่นกัน
ผมมีโอกาสไปเยือน จ.ขอนแก่น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้คุยกับ คุณอัจฉริยะ ดาโรจน์ และ คุณชาญณรงค์ บุริสตระกูล ผู้ก่อตั้ง Jump Space ซึ่งเป็น co-working space แห่งแรกของ จ.ขอนแก่น ได้มุมมอง แนวคิด และภาพสะท้อนอุตสาหกรรมไอทีในภาคอีสานมาเล่าให้ฟังกันครับ
คุณอัจฉริยะ ดาโรจน์ (ซ้าย) และคุณชาญณรงค์ บุริสตระกูล (ขวา) ผู้ก่อตั้ง Jump Space ขอนแก่น
คุณอัจฉริยะ ทำธุรกิจด้านไอทีมานาน 8 ปี และให้ความสนใจธุรกิจสตาร์ตอัพมาได้สักระยะหนึ่ง เป็นหนึ่งในนักเรียน Disrupt University ของคุณกระทิง พูนผล และพอเห็นการเติบโตของ Hubba ที่กรุงเทพเลยสนใจ และอยากให้เกิด co-working space แบบเดียวกันที่ขอนแก่นบ้าง
อย่างไรก็ตาม พบว่าไอเดียการทำ co-working space เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตลาดขอนแก่นยังไม่พร้อมรับเรื่องนี้มากนัก แต่เมื่อมีโอกาสร่วมงาน Mekong Summit ที่ประเทศเวียดนาม (ไปพร้อมกับคุณชาญณรงค์ ที่ทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ในขอนแก่นอยู่ก่อนแล้ว) เห็นว่าตลาดโลกเริ่มขับเคลื่อนด้วยสตาร์ตอัพ และเห็นตัวอย่างการทำ co-working space ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น โต๊ะลาว (Tohlao) และ SmallWorld ของกัมพูชา พบว่า co-working space ขนาดเล็กก็เกิด ecosystem ได้ ไม่จำเป็นต้องทำใหญ่เสมอไป
หลังจากกลับมาไทยก็ตั้งคำถามว่า co-working space ที่ขอนแก่นควรเป็นอย่างไร ตอนนั้น ขอนแก่นมีร้านกาแฟเปิด 24 ชั่วโมงแล้ว และมีร้านกาแฟที่ประกาศตัวว่าเป็น co-working space แต่สุดท้ายรูปแบบก็ยังเป็นร้านกาแฟอยู่ดี เลยพัฒนาแนวคิดของ Jump Space ขึ้นมาว่าต้องอิงกับชุมชนเป็นหลัก ต้องมีอีเวนต์ให้คนมาเจอกันบ่อยๆ พบปะกัน สร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมขึ้นมา การนำโมเดลกรุงเทพมาใช้งานทั้งหมด 100% คงเป็นไปไม่ได้ ต้องปรับให้เหมาะสมกับท้องถิ่นด้วย
คุณชาญณรงค์ บอกว่าขอนแก่นมีทรัพยากรพร้อม ทั้งเรื่องสถาบันการศึกษา ทรัพยากรคน และการส่งเสริมจากภาครัฐ มีบริษัทเอกชนด้านไอซีทีในขอนแก่นหลายแห่ง แต่ที่ยังขาดคือภาคธุรกิจทั่วไปยังไม่ค่อยสนใจนำไอซีทีมาใช้ประโยชน์มากนัก คนทำงานด้านไอซีทีเองก็มักอยู่กันเอง ทำงานกันเอง คนอื่นไม่ได้ประโยชน์ด้วย ถ้ามีพื้นที่กลางมาให้แชร์ความรู้กัน ก็น่าจะเกิดประโยชน์กับท้องถิ่นได้มาก
แต่การรอความช่วยเหลือของภาครัฐอาจล่าช้า ดังนั้นอะไรที่สามารถทำกันเองได้ก็ควรทำเองเลยดีกว่า เลยชักชวนคนทำงานด้านไอซีที อาจารย์ นักธุรกิจ มาร่วมเวทีคุยกันว่าควรทำอะไร
นอกจากนี้ การที่ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางของภาคอีสาน ทำให้ชุมชนผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีจากจังหวัดใกล้เคียง สามารถมาร่วมเครือข่ายได้ง่าย เช่น จาก ม.สุรนารี ที่นครราชสีมา หรือกลุ่มด้านดิจิทัลคอนเทนต์จากมหาสารคาม
Jump Space เพิ่งเปิดบริการอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2558 นี้เอง เบื้องต้นยังให้บริการฟรีในเดือนแรกเพื่อทดสอบระบบ ในอนาคตจะเริ่มคิดเงิน โดยใช้รูปแบบเก็บค่าสมาชิก ที่มีหลายระดับราคา
ส่วนของพื้นที่ทำงาน มีทั้งแบบ fixed desk เจาะจงโต๊ะทำงาน และแบบ hot seat ไม่เจาะจงที่นั่ง การคิดค่าบริการมีทั้งแบบรายครั้ง รายเดือน และระยะยาว 3/6/12 เดือน
ตอนนี้เริ่มมีลูกค้าบ้างแล้ว เช่น Claim Di ที่มาเปิดสำนักงานในขอนแก่น และเลือกการเช่า fixed desk ที่ Jump Space แทนการไปหาสำนักงานเอง
คุณอัจฉริยะ บอกว่า Jump Space ไม่ใช่แค่การอยากทำ co-working space แล้วมาเปิดเลย จากนั้นไปหวังว่าจะมีชุมชนเกิดขึ้น แต่ทางทีมได้สร้างเครือข่ายมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว
ที่ผ่านมาขอนแก่นมีอีเวนต์ด้านสตาร์ตอัพแล้วหลายครั้ง เช่น Echelon Satellite 2014 และมีกิจกรรมประจำคือ Jump Talk ผู้เข้าร่วมประมาณ 60-80 คน รวมถึงงานใหญ่ประจำปีคือ Jump Ignite ที่มีคนเข้าร่วมหลักร้อยคน เป้าหมายคือเชิญผู้เชี่ยวชาญจากกรุงเทพ มาคุยกับนักลงทุนท้องถิ่น และฝึกให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นเรียนรู้การ pitching ด้วย
ทางทีมบริหาร Jump Space บอกว่ายินดีต้อนรับคนทำงานด้านไอซีทีใน จ.ขอนแก่น และ จ.ใกล้เคียง ถ้ามีไอเดียอะไรน่าสนใจ อยากจัดกิจกรรมร่วมกัน ก็เข้าไปคุยหรือติดต่อทาง Facebook ได้เลย
พื้นที่ใช้สอยของ Jump Space แบบต่างๆ
ที่นั่งคุยแบบสบายๆ
ห้องประชุม
เนื่องจากอยู่ใต้อาคารฟิตเนส เลยมีสระว่ายน้ำตั้งอยู่ข้างๆ ด้วย!
ห้องครัว
สำหรับผู้ที่สนใจไปเยี่ยมชม Jump Space จะตั้งอยู่บริเวณอาคาร Metro Society หน้าคอนโด Metro บนถนนมิตรภาพ เยื้องๆ กับเซ็นทรัลขอนแก่น (พิกัด Google Maps)
Jump Space จะอยู่ที่ชั้น 1 ของอาคารในภาพ (ชั้นบนขึ้นไปเป็นฟิตเนส)
ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้จาก Facebook Jump Space