นอกจากดีแทคแล้ว วันนี้เอไอเอสยังได้แถลงแผนการลงทุนเครือข่ายภายหลังการประมูลคลื่น 900 MHz เช่นเดียวกัน ซึ่งของเอไอเอสมีอธิบายทั้งหมดสามประเด็นดังนี้ครับ
ในประเด็นแรกคือการประมูลคลื่น 900 MHz โดยเอไอเอสขอยืนยันคำเดิมว่าถึงแม้ว่าบริษัทจะไม่ได้คลื่น 900 MHz มา ก็ไม่ได้ทำให้สภาพบริษัท หรือความเชื่อมั่นในแบรนด์ต้องลดลงไป รวมถึงเหตุผลหลัก เอไอเอสก็เคยชี้แจงมาแล้วรอบหนึ่ง ว่าบริษัทได้วิเคราะห์ถึงผลดีและผลเสียอย่างถี่ถ้วน รวมถึง Value Cap ที่บริษัทรับได้ (ขั้นต่ำ 20,000 ล้านบาท สูงสุด 75,000 ล้านบาท) ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ถือหุ้น นักลงทุน และกับบริษัทในกรณีที่ประมูลได้หรือไม่ได้ ทั้งหมดนี้ทำให้เอไอเอสตัดสินใจวางมือจากการประมูลคลื่นที่ราคา 75,976 ล้านบาท ซึ่งห่างกับของทรูมูฟ เอช เพียงเคาะเดียวเท่านั้น
โดยแผนหลังจากนี้เอไอเอสจะกลับมาเร่งการขยายโครงข่าย 4G 1800 MHz ให้ได้ตามแผนที่ประกาศไว้คราวก่อน รวมถึงประกาศอย่างเป็นทางการว่าบริษัทได้บรรลุข้อตกลงในการใช้งานคลื่นความถี่ 2100 MHz กับทีโอทีอย่างเป็นทางการ (ก่อนหน้านี้พูดไม่ได้เพราะติด Silent Period) ซึ่งเงินทุนที่เตรียมไว้สำหรับการประมูลคลื่น ก็จะถูกนำมาใช้ในการพัฒนาโครงข่ายทั้งสามโครงข่าย คือ AIS 3G 2100, AIS 4G Advanced และ TOT 3G อย่างคุ้มค่าต่อไป ซึ่งรายละเอียดจะต้องรอการแถลงผลประกอบการ และแถลงแผนการบริหารเครือข่ายในปี 2559 ต่อไปครับ
เอไอเอสยังประกาศแผนเพิ่มว่า นอกจากคลื่น 2100 MHz แล้ว บริษัทยังมีแผนที่จะนำคลื่น 2300 MHz ออกมาใช้งานเพิ่มเติม ซึ่งก็ต้องรอดูรายละเอียดจากทางทีโอทีอีกครั้งว่าจะมีแผนในการดำเนินการอย่างไรต่อไป
ทั้งนี้เอไอเอสยังประกาศแผนกระตุ้นให้ลูกค้ารีบย้ายเข้าระบบ 3G โดยเร็ว ด้วยการประกาศแจกโทรศัพท์มือถือ AIS Lava 3G/4G ทั้งหมด 4 รุ่น ให้กับลูกค้า 2G ที่ค้างอยู่ในระบบกว่า 11 ล้านราย (AIS 2G 1 ล้าน/AIS 3G ถือเครื่อง 2G 10 ล้าน) เพียงเติมเงินหรือชำระค่าบริการล่วงหน้าตามที่กำหนด ก็สามารถรับเครื่องไปใช้งานได้ทันทีโดยไม่มีข้อกำหนด ซึ่งจะเริ่มแคมเปญนี้ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคมเป็นต้นไปครับ
ที่มา - งานแถลงข่าวเอไอเอส
เอไอเอส ยืนยันความมั่นใจแก่ลูกค้า ด้วยบริการคุณภาพที่ดีที่สุด จากทีมงานมืออาชีพ
22 ธันวาคม 2558 : นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “หลังจากการประมูลคลื่น 900 MHz สิ้นสุดลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และ AWN ในเครือเอไอเอสเป็นผู้เข้าประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 900 MHz ด้วย ได้ตัดสินใจไม่ประมูลต่อ จึงทำให้ไม่ได้รับใบอนุญาต เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า มูลค่าดังกล่าวเป็นราคาที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจและไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่บริษัทและผู้ถือหุ้น ประกอบกับการมองถึงประโยชน์จากการได้มาซึ่งคลื่นความถี่เพิ่มเติม เทียบกับความคุ้มค่าเชิงการเงิน ที่พิจารณาทั้งความเป็นไปได้ในเชิงเทคนิคและในเชิงธุรกิจ รวมถึงการพิจารณาความเพียงพอของคลื่นความถี่ในการให้บริการต่อเนื่อง การตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ยังคงใช้มือถือ 2G อีกทั้งการให้ความสำคัญกับการคงความแข็งแรงด้านการเงิน เพื่อสนับสนุนโอกาสในการลงทุนอื่นๆ ในอนาคต”
“ในฐานะผู้ให้บริการที่ครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 มาโดยตลอด สิ่งที่เรายึดเป็นหัวใจหลักคือ “คุณภาพที่เป็นเลิศ” ในทุกด้าน เพื่อมอบประสบการณ์การใช้บริการสื่อสารหรือดิจิทัลที่ดีที่สุดให้แก่คนไทย รวมไปถึงการสร้างโอกาสใหม่ๆให้แก่พันธมิตร ดังนั้นวันนี้แม้ AWN จะตัดสินใจไม่ประมูลคลื่น 900 MHz ต่อ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เราก็ยังคงมีทรัพยากรความถี่ ที่เพียงพอในการให้พัฒนาเครือข่ายให้มีคุณภาพ ประกอบด้วย ความถี่ย่าน 2100MHz จำนวน 15MHz ซึ่งปัจจุบันสามารถให้บริการ 3G ได้ทั่วประเทศ มีโครงข่ายครอบคลุมกว่า 98% ของประชากรทั้งหมด โดยยังมีอายุการใช้งานไปอีก 12 ปี รวมถึงการได้มาซึ่งคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 15MHz เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งจะเปิดให้บริการ 4G ภายในเดือนมกราคม 2559 และมีอายุการใช้งาน 18 ปี อีกทั้งล่าสุดยังได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการนำคลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz เข้ามาร่วมให้บริการ ซึ่งแน่นอนว่านอกจากจะทำให้ทีโอทีแข็งแกร่งและมีรายได้อย่างต่อเนื่องแล้ว จะส่งผลทำให้คุณภาพเครือข่ายโดยรวมของเอไอเอสมีความเสถียรและตอบโจทย์การใช้งาน Mobile Internet ยุค 4G สำหรับผู้บริโภคอย่างแน่นอนเช่นกัน”
นายสมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนั้นการตัดสินใจไม่ประมูลคลื่น 900 MHz ต่อนั้น จะทำให้เรายังคงมีความแข็งแกร่งด้านการเงินและมีกำลังในการพัฒนาคุณภาพพร้อมกับการดูแลลูกค้าอย่างไร้ขีดจำกัด ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโครงข่าย 4G, การขยายโครงข่าย 3G ต่อเนื่อง, การขยายเอไอเอส ไฟเบอร์ รวมไปถึงการมอบสิทธิพิเศษต่างๆ การพัฒนางานด้านบริการลูกค้า การสร้างสรรค์บริการด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ และบริการที่สอดคล้องกับยุคดิจิทัล อันจะเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยอีกทางหนึ่งอย่างชัดเจน”
โดย นายปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด กล่าวว่า “อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังคงมีลูกค้าเอไอเอสที่ใช้งานระบบ 2G บนคลื่นความถี่ 900 MHz เหลืออยู่ในจำนวนต่ำกว่า 1 ล้านเลขหมาย (และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง) ซึ่งบริษัทได้มีแผนดูแลไม่ให้ได้รับผลกระทบจากผลการประมูลในครั้งนี้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ ในส่วนของลูกค้า AWN ที่ปัจจุบันยังคงใช้มือถือ 2G และใช้บริการโรมมิ่งมายังโครงข่าย 900MHz ซึ่งขณะนี้ยังคงมีอีกประมาณ 11 ล้านเลขหมาย บริษัทจึงเดินหน้าแผนงานที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ากลุ่มนี้ย้ายไปใช้บริการบนระบบ 3G หรือ 4G ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้แผนการตลาดดังกล่าวจะพิจารณาแบ่งตามพฤติกรรมและค่าใช้จ่ายในการใช้โทรศัพท์ โดยผ่านช่องทางที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละกลุ่ม และจะมีการนำเสนอโปรโมชั่นค่าโทรและการแลกเครื่องเก่าจาก 2G เป็นเครื่องใหม่ 3G/4G ทั้งนี้ บริษัทจะมีการพิจารณาการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด เพื่อบรรลุตามเป้าหมายนี้ ปัจจัยสำคัญคือการทำการตลาดแลกเครื่องโทรศัพท์เก่ามาเป็น เอไอเอส ลาวา ซึ่งเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนราคาประหยัดที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงและได้รับความนิยมจากลูกค้ามาแล้วตั้งแต่ในปี 2557
โดย นายสมชัย ได้กล่าวสรุปตอนท้ายว่า “บทพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพของเอไอเอสคือ ตลอดระยะเวลา 25 ปีของการให้บริการ เราอยู่ภายใต้ข้อจำกัดมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นปริมาณคลื่นความถี่ที่น้อยกว่าทุกค่าย รวมไปถึงความกดดันจากปัจจัยทางสังคม ซึ่งเราสามารถก้าวผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ในฐานะเบอร์ 1 ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมองค์กร ที่บุคลากรกว่าหมื่นชีวิตต่างหลอมรวมเป้าหมายร่วมกันเป็น 1 เดียวคือ ความสุขและความสะดวกสบายในการใช้ระบบสื่อสารของลูกค้าทุกกลุ่ม ดังนั้นเส้นทางจากนี้ของเราในอนาคตจึงเป็นเป้าหมายที่จะส่งมอบโลกดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบให้คนไทยจากวันนี้และตลอดไป”