จากการเปิดตัวอย่างเป็นทางการใน 130 ประเทศรวมถึงประเทศไทยของ Netflix บริการดูหนังออนไลน์ชั้นนำจากสหรัฐฯ ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะได้หยิบบริการระดับโลกที่เพิ่งมาเป็นน้องใหม่ในบ้านเราว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้างเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่นๆ ในตลาด
การรีวิวจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกับรีวิวบริการดูหนังออนไลน์สี่เจ้าใหญ่ในไทย อันประกอบไปด้วยตัวเว็บไซต์หลัก, คุณภาพวิดีโอ, ประเภทของเนื้อหา, แอพบนอุปกรณ์พกพา และอุปกรณ์อื่นๆ ปิดท้ายด้วยราคาว่าคุ้มค่าแค่ไหน ว่าแล้วก็ไปเริ่มดูกันเลย
เริ่มสมัครสมาชิก และดูเว็บไซต์หลัก
การสมัครใช้งาน Netflix ไม่ต่างอะไรกับการสมัครใช้งานบริการดูหนังออนไลน์อื่นๆ ในท้องตลาด จุดที่ต่างคือการจะรับสิทธิ์ดูฟรีเดือนแรกจะต้องผูกบัตรเครดิต หรือ PayPal ด้วย แต่จะยังไม่ตัดเงินตอนสมัคร และสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา
สำหรับค่าบริการรายเดือนของ Netflix จะเริ่มต้นที่ 280 บาท และแพ็คเกจแพงสุด 420 บาท รายละเอียดเดี๋ยวจะมาพูดต่อกันทีหลัง
เมื่อสมัคร และผูกบัตรฯ เสร็จแล้ว หน้าต่อไปจะเป็นการเก็บข้อมูลส่วนตัว เริ่มด้วยอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับชมตั้งแต่สมาร์ททีวี อุปกรณ์พกพา พีซี ไปจนถึงเครื่องเล่นเกมต่างๆ และมี Apple TV มาด้วย ตรงนี้เลือกทุกข้อที่มีเลย ตามมาด้วยหน้าต่อไปสำหรับใส่ชื่อผู้รับชม (แปรผันตามแพ็คเกจ)
หน้าสุดท้ายก่อนเข้าเว็บไซต์หลัก Netflix จะให้เลือกหนัง-ซีรีส์ที่ชอบทั้งหมด 3 เรื่อง เพื่อให้ตัวบริการสามารถใช้แนะนำเรื่องที่ผู้ใช้น่าจะสนใจได้
เลือกเสร็จก็เป็นอันเรียบร้อย เตรียมเข้าสู่หน้าหลักของเว็บไซต์ โดยจะมีหน้าสำหรับเลือกผู้ใช้เสียก่อน สามารถเข้าหน้ารวมหนัง-ซีรีส์สำหรับเด็กๆ ได้จากหน้านี้เช่นกัน
หน้าแรกของ Netflix จะมาในโทนดำสนิท พร้อมกับการจัดหมวดหมู่ที่หลากหลายตั้งแต่ รวมหนัง-ซีรีส์ยอดนิยม รวมเรื่องที่คัดสรรมาจากที่เลือกไปสามเรื่อง และจะเริ่มเรียงตามประเภทของหนังซึ่งมีไว้ให้อย่างครบถ้วน
เมนูหลักสำหรับค้นหาหนัง-ซีรีส์จะถูกวางไว้ด้านซ้ายบน เมื่อกดเข้าไปจะมีรายชื่อประเภทของหนังที่จัดหมวดคล้ายกับที่วางไว้ในหน้าเว็บไซต์หลักทุกประการ (แค่ไม่ต้องเลื่อนไปหา)
เมื่อกดเข้าไปในประเภทหนัง-ซีรีส์ที่ต้องการแล้ว ยังสามารถเลือกประเภทรองเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงใจมากขึ้นอีกด้วย (ตัวอย่างในภาพ Action + Thriller)
สำหรับการค้นหาหนัง-ซีรีส์ด้วยตัวเอง สามารถทำได้จากแถบค้นหาด้านขวาบนรูปแว่นขยาย ซึ่งพิมพ์ลงไปได้เลยไม่ต้องกด enter ระบบจะค้นหาให้อัตโนมัติ ผลลัพธ์ค่อนข้างแม่นยำ และสามารถค้นหาได้ละเอียดไม่ว่าจะเป็นชื่อหนัง-ซีรีส์, ชื่อผู้กำกับ หรือประเภทของหนังก็ยังได้
ต่อมาจะเป็นส่วนแสดงรายละเอียดของหนัง-ซีรีส์ เมื่อวางเมาส์ลงไปบนภาพของหนังเรื่องดังกล่าว ตัวภาพจะขยายขึ้นและบอกรายละเอียดย่อๆ เรทของเรื่องที่เลือก ปุ่มให้กดเล่นทันที หรือเก็บเข้าลิสต์ส่วนตัว หรือจะกดดูรายละเอียดเพิ่มก็ทำได้จากหน้าเดียวกัน
เมื่อกดดูเพิ่มตัวเว็บไซต์จะขยายจากภาพขนาดเล็กเป็นวิดีโอตัวอย่างขนาดใหญ่ พร้อมรายละเอียดเพิ่มเติมจากหน้าแรกตั้งแต่ดาราที่แสดงในเรื่อง และประเภทของหนัง-ซีรีส์ดังกล่าว โดยจะยังสามารถกดเล่น และเก็บเข้าลิสต์ส่วนตัวได้ดังเดิม
แท็บอื่นๆ มีไว้สำหรับแสดงจำนวนตอน ระยะเวลาต่อตอน เรื่องย่อ รายละเอียดเกี่ยวกับเสียง และซับไตเติล ซึ่งถ้าเป็นหนังที่ได้รับรางวัลก็จะมีระบุไว้ด้วย
ถ้าสังเกตดีๆ สิ่งที่หายไปตอนนี้คือ Netflix ไม่บอกความละเอียดของหนัง-ซีรีส์บนเว็บไซต์ และไม่มีซับไทยมาให้ครับ
โซน Kids สำหรับคุณหนูๆ
ดูเว็บไซต์ฝั่งปกติไปจนครบแล้ว ก็มาถึงฝั่ง Kids ที่ออกแบบมาเพื่อเด็กโดยเฉพาะบ้าง สิ่งแรกที่ต่างออกไปคือโทนสีซึ่ง Netflix Kids จะใช้สีอ่อนอย่างสีขาวและฟ้า รวมถึงการจัดวางเว็บไซต์ก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง มีการวางตัวละครดังให้เด็กๆ เลือกได้ง่ายขึ้น
เมนูด้านบนสำหรับเลือกประเภทหนัง-ซีรีส์ยังใช้แนวทางเดียวกันกับเว็บไซต์หลัก
ส่วนที่ต่างคือภาพตัวอย่างจะไม่ขยายเมื่อวางเมาส์ทับ ต้องกดเข้าไปดูเอง
การตั้งค่า Netflix
ในหน้าบัญชีผู้ใช้ของ Netflix เป็นแหล่งรวมการตั้งค่าที่จะมีผลกับทุกๆ อุปกรณ์ที่รับชม Netflix มีตัวเลือกให้ค่อนข้างละเอียดตามนี้
ตัวเลือกน่าสนใจอย่างแรกคือ ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนแพ็คเกจการรับชมได้ตลอดเวลา โดยจะมีผลหลังจากหมดรอบเดือนนั้นๆ ในหน้านี้ระบุความต่างของแต่ละแพ็คเกจไว้อย่างเข้าใจง่ายด้วย
สำหรับบ้านที่ดู Netflix กันหลายคน ผู้ปกครองสามารถตั้งค่าเพื่อจำกัดเนื้อหาบางประเภทไม่ให้เด็กเข้าถึงได้ผ่านการใส่รหัส PIN
เข้าใกล้การรับชมมากขึ้นด้วยตัวเลือกความละเอียดที่มีตั้งแต่อัตโนมัติ ไปจนถึงความละเอียดสูง ซึ่ง Netflix ระบุว่าจะใช้อินเทอร์เน็ต 3GB ต่อชั่วโมงเมื่อดูด้วยความละเอียด HD และ 7GB สำหรับ Ultra HD (4K)
ตัวเลือกต่อมาเรียกได้ว่าเป็นจุดเด่นของ Netflix คือการเปิดให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งซับไตเติลได้ตามใจชอบ ทั้งสี ฟอนต์ สไตล์การแสดงผล รวมถึงขนาด โดยมีตัวอย่างให้ดูหลังปรับตั้งค่า
ในหน้าตั้งค่ายังมีให้เลือกปรับภาษาด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่มีภาษาไทยให้เลือกครับ
เครื่องเล่นวิดีโอของ Netflix
ดูเว็บไซต์ไปจนทะลุปรุโปร่งแล้วก็ถึงคิวของการดูหนังจริงๆ กันบ้าง ว่าแล้วก็เริ่มทดสอบกันด้วยซีรีส์ Sense8 ซึ่งฉายเฉพาะ Netflix เท่านั้น
ตัววิดีโอของ Netflix จะใช้งานเทคโนโลยี HTML5 จึงไม่มีปัญหากับผู้ใช้ที่มีปลักอินบล็อค Flash โดยอินเทอร์เฟซของเครื่องเล่นวิดีโอ Netflix หน้าตาแบบนี้
เมื่อเลื่อนแถบเวลาของเครื่องเล่น จะมีภาพตัวอย่างของช่วงนั้นๆ ขึ้นมาด้วย
สำหรับซีรีส์จะมีปุ่มสำหรับเลือกดูตอนอื่นๆ ในซีซันมาด้วย
ตัวเลือกสำหรับภาษาทั้งเสียงและซับไตเติลวางไว้ที่เดียวกัน
ซับไตเติลมาตรฐานที่ Netflix ตั้งค่าให้ขนาดกำลังพอดี และอ่านง่ายอยู่แล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นสามารถเลือกปรับได้ตามใจชอบเช่นกัน
ประเภทของเนื้อหา
คนที่ติดตาม Netflix มาตั้งแต่ก่อนเข้าประเทศไทย น่าจะทราบกันดีกว่าจุดเด่นของ Netflix คือการเน้นไปที่ซีรีส์เอ็กซ์คลูซีฟ ซึ่งมีทั้งผลิตเอง และร่วมผลิต เมื่อมาถึงการขยายออกไปทั่วโลก Netflix ก็ยังคงเน้นจุดยืนเดิมอย่างเหนียวแน่น เนื้อหาหลักจึงจะเป็นซีรีส์จากสหรัฐฯ โดยมีหนังดังแซมมาเล็กน้อย
น่าเสียดายที่ด้วยเหตุผลด้านลิขสิทธิ์ทำให้ซีรีส์ดังหลายเรื่องยังไม่สามารถนำมาฉายได้ทั่วโลกตามที่ Netflix ออกมาแจ้งในภายหลัง
การใช้งานในอุปกรณ์อื่นๆ
จุดขายของ Netflix อีกอย่างคือการเข้าถึงในทุกๆ ที่ของอุปกรณ์บนโลกใบนี้ตั้งแต่พีซี มือถือ แท็บเล็ต เครื่องเกม รวมถึงเป้าหมายหลักอย่างสมาร์ททีวี ซึ่งทางทีมงานได้ถือโอกาสทดสอบ Netflix บนสมาร์ททีวี เพื่อดูหนังกันที่ความละเอียด Ultra HD (4K) กันด้วย
Netflix กับสมาร์ททีวี 4K
สมาร์ททีวีที่ยืมมาทดสอบในครั้งนี้เป็นของรุ่นจอโค้งของซัมซุงที่ขนาด 65" มีแอพ Netflix มาในตัว เปิดมาหน้าแรกพร้อมล็อกอินจะพบกับหน้าสำหรับเลือกผู้ใช้แบบนี้
เปิดเข้าไปหน้าแรกจะพบกับอินเทอร์เฟซใกล้เคียงกับเว็บไซต์ ความต่างคือจะแสดงผลรายละเอียดหนังเป็นภาพขนาดใหญ่พร้อมบอกรายละเอียดที่ไม่มีบนเว็บไซต์อย่าง ความละเอียด และคุณภาพเสียงด้วย
ตัวอย่างแอนิเมชันความละเอียด HD
ตัวอย่างซีรีส์ความละเอียด Ultra HD 4K
ตัวแอพ Netflix บนสมาร์ททีวีออกแบบมาให้ใช้กับรีโมตโดยเฉพาะ และทำผลงานได้ค่อนข้างดี เพียงแต่จะหน่วงเล็กน้อย และยากต่อการพิมพ์เมื่อเทียบกับพีซี
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็สามารถใช้งานฟีเจอร์ได้ครบถ้วนนะ
ตัวเครื่องเล่นวิดีโอในสมาร์ททีวีจะใช้อินเทอร์เฟซเรียบง่ายกว่าบนพีซี รวมถึงมีภาพตัวอย่างเมื่อเลื่อนแถบเวลาที่มากกว่าด้วย
สำหรับคนที่สงสัยในความละเอียด Ultra HD 4K นี่คือความต่างเมื่อเทียบกับ Full HD ครับ (คลิกเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น)
ความละเอียด Ultra HD 4K
เมื่อดูจบแต่ละตอนแล้ว ตัวแอพจะเริ่มตอนต่อไปให้ทันที (โดยไม่รอให้เพลงปิดจบ)
Netflix บนอุปกรณ์พกพา
ข้ามมาดูการใช้งานกับแอพบนสมาร์ทโฟน เมื่อเปิดใช้งานครั้งแรกจะพบว่าสามารถล็อกอินได้ทันทีผ่านฟีเจอร์ Google Smart Lock ของแอนดรอยด์ (ในกรณีที่เคยล็อกอินผ่าน Chrome มาแล้ว)
หน้าแรกของแอพ Netflix นั้นทำมาเหมือนกับเว็บไซต์เป๊ะๆ ยกเว้นเมนูที่ถูกโยกไปฝั่งซ้ายแทน
ดูเหมือนว่าแอพ Netflix จะเน้นความเรียบง่ายเป็นหลัก รายละเอียดต่างๆ ของหนัง-ซีรีส์จะถูกลดทอนลงจากเว็บไซต์ และสมาร์ททีวีอย่างมาก
การค้นหาทำได้ระดับเดียวกับเว็บไซต์ นอกจากจะค้นหาหนัง-ซีรีส์ได้แล้ว ยังค้นจากผู้กำกับได้เช่นกัน
Netflix Kids สามารถใช้ได้ในแอพสมาร์ทโฟนเช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นโทนสีขาว-ฟ้าเหมือนในเว็บไซต์เสียแล้ว
ตัวเครื่องเล่นวิดีโอในแอพสมาร์ทโฟนทำออกมาคล้ายกับบนเว็บไซต์ จุดต่างคือมีปุ่มถอยหลัง 30 วินาทีมาให้ด้วย แต่ไม่มีการแสดงภาพตัวอย่างเมื่อเลื่อนแถบเวลาอีกต่อไป
เลือกตอน เลือกเสียง เลือกซับไตเติลได้เหมือนกัน
ใช้งาน Netflix กับ Chromecast
ใครที่ตาดีน่าจะเห็นแล้วว่าในแอพของ Netflix บนสมาร์ทโฟนมีไอคอน Chromecast อยู่ด้วย แน่นอนว่า Netflix เองสามารถใช้งานกับ Chromecast ได้ โดยจำกัดความละเอียดไว้ที่ 1080p (เป็นข้อจำกัดที่ตัว Chromecast)
cast ออกไปบนจอทีวีจะได้แบบนี้
เปรียบเทียบการใช้งาน Netflix ในหลายอุปกรณ์
หลังจากทดลองใช้ Netflix มาได้พักใหญ่ พบความต่างของการใช้งานในอุปกรณ์ต่างๆ พอสมควร แยกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้ครับ
ค่าบริการรายเดือน
จากข่าวเปิดตัว Netflix เปิดราคามาที่ 280 บาท แต่มีทั้งหมดสามแพ็คเกจย่อย รายละเอียดแต่ละแพ็คเกจมีดังนี้
เปรียบเทียบราคาของ Netflix กับเจ้าอื่นๆ ในไทยแล้ว ต้องบอกว่า Netflix เปิดราคามาแพงกว่ามากๆ โดยเฉพาะเมื่อเอาไปชนกับ iflix ที่เน้นซีรีส์เหมือนกัน รายนั้นค่าบริการรายเดือนเพียง 100 บาทเท่านั้น
นอกจากเรื่องแพงกว่าแล้ว ตัวซีรีส์ของ Netflix เองก็ยังขาดเรื่องดังๆ ไปมาก และแทบไม่มีหนังใหม่เลย (ไม่มีระบบเช่าหนังใหม่ด้วย) สำคัญที่สุดสำหรับบางคนคือตอนนี้ Netflix ยังไม่มีภาพยนตร์ไทย และซับไตเติลไทยมาให้ รวมถึงเซฟไว้ดูออฟไลน์ ฟีเจอร์ที่แทบทุกเจ้าในตลาดมีกันหมดแล้ว Netflix ก็ไม่มีเช่นกัน
สรุป
สำหรับคนที่ติดตามซีรีส์ดังจากสหรัฐฯ มาก่อน Netflix ยังคงเป็นตัวเลือกน่าสนใจ แม้ว่าจะต้องยอมจ่ายหนักเพื่อให้ได้อรรถรสในการรับชมมากขึ้น ทั้งฝั่งแพ็คเกจและสมาร์ททีวี (4K เขาดีจริงๆ) โดยมีจุดเด่นคือการรับชมได้พร้อมกันหลายเครื่อง และตัวบริการเองก็รองรับหลายอุปกรณ์แต่แรก แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากเดิมที่ก็แพงกว่าคู่แข่งอยู่แล้ว
สำหรับคนที่ไม่ได้ติดซีรีส์ในเครือ Netflix มาก แนะนำให้ดูท่าทีไปก่อน ทั้งการรองรับภาษาไทยมากขึ้น (อย่างน้อยก็ซับไตเติล) หรือการปรับราคาให้แข่งขันกับคู่แข่งได้มากขึ้นในอนาคตครับ