อัลกอริทึมการจัดเรียง News Feed ของ Facebook ถือเป็นความลับสำคัญของบริษัท (เฉกเช่นเดียวกับ search result ของกูเกิล) อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ Facebook เปิดเผยหลักการทำงานบางส่วนของ News Feed ให้กับผู้สื่อข่าวของ Slate ทราบ ส่งผลให้เราพอรู้เพิ่มขึ้นอีกนิดว่า News Feed ทำงานอย่างไร
ทุกโพสต์บน News Feed จะได้รับคะแนนความน่าสนใจ (relevancy score) อิงตามผู้ใช้แต่ละคน โดยพิจารณาจากปัจจัยย่อยๆ เป็นหลักหลายร้อยตัว จากนั้นจะถูกจัดเรียง (sort) อีกทีหนึ่งก่อนนำเสนอให้ผู้ใช้เห็น
แนวคิดหลักของ Facebook คือแสดงโพสต์ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้แต่ละคนให้มากที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ เพราะ Facebook เองก็ไม่ทราบว่าผู้ใช้คิดอย่างไรกับโพสต์ที่ถูกดึงมาแสดงผล การให้คะแนนโพสต์จึงเป็นแค่การคาดเดา (prediction) ที่อาจถูกหรือผิดก็ได้ ส่งผลให้บริษัทต้องหาวิธีประเมินผลงานของตัวเองตามมา
วิธีการประเมินผลขั้นต้นที่ Facebook ใช้งานคือการนับ click/like/share/comment หรือปฏิสัมพันธ์กับโพสต์นั้นๆ ซึ่งถือเป็นการประเมินอย่างหนึ่ง แต่ก็ยังไม่แม่นยำพอ เช่น เราอาจอ่านโพสต์เศร้าๆ แล้วไม่อยากกดไลค์ให้ แต่โพสต์นั้นมีความเชื่อมโยงกับเรา ปัจจัยอื่นที่ Facebook นำมาคำนวณด้วยคือระยะเวลาที่ใช้อ่านโพสต์นั้นๆ แต่ก็ต้องระวังปัจจัยแปรผันเรื่องความเร็วอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้แต่ละคนด้วย (เน็ตช้า อาจใช้เวลานานกว่าปกติ ไม่ได้แปลว่าชอบกว่าปกติ)
ช่วงหลัง Facebook เลือกใช้วิธีสร้างกลุ่มตัวอย่างขนาดประมาณ 1,000 คน (ช่วงแรก กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยู่ในเมือง Knoxville ในสหรัฐอเมริกา แต่ช่วงหลังขยายพื้นที่ให้มากขึ้น) แล้วขอให้ส่งความเห็นอย่างละเอียดว่าชอบหรือไม่ชอบโพสต์ที่เห็นอย่างไรบ้าง กลุ่มตัวอย่างนี้มีชื่อเรียกว่า feed quality panel เป้าหมายของการถามความเห็นจากกลุ่มตัวอย่าง เป็นเพราะ Facebook ทราบว่าหลายๆ ครั้ง เรามีความคิดเห็นต่อโพสต์บางโพสต์ แต่เรากลับไม่มีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับมันเลย ทำให้ Facebook ไม่สามารถตรวจวัดได้ว่าผู้ใช้ชอบหรือไม่ชอบกันแน่
วิธีการอีกอย่างที่ Facebook นำมาใช้คือเปิดให้ผู้ใช้สั่ง Hide โพสต์นั้นได้ ซึ่งระบบจะมองว่าเป็นปฏิกริยาด้านลบที่มีน้ำหนักเยอะที่สุดต่อโพสต์ที่ถูกซ่อน อย่างไรก็ตาม หลังระบบ Hide ถูกนำมาใช้งาน ทางทีมของ Facebook พบว่ามีคนจำนวนน้อยกด Hide ทุกโพสต์ที่อ่าน หลังการสอบสวนพบว่าคนเหล่านี้ไม่ได้ไม่ชอบโพสต์นั้น แต่มองว่าปุ่ม Hide เปรียบเสมือนปุ่ม "อ่านแล้ว" แทน ซึ่งทีมงานก็ต้องปรับอัลกอริทึมให้มองผู้ใช้กลุ่มนี้เป็นข้อยกเว้นพิเศษด้วย (ปุ่ม Hide พัฒนามาเป็นปุ่ม Unfollow และ See Less/First ในภายหลัง)
โดยสรุปแล้ว อัลกอริทึมของ Facebook ต้องคำนวณจากปัจจัยจำนวนมากๆ ไม่มีปัจจัยใดมีน้ำหนักมากเป็นพิเศษ (ข้อมูลตรงนี้ไม่เปิดเผยเพราะเป็นความลับของบริษัท) ทั้งนี้ บริษัทยังปรับปรุงอัลกอริทึมตลอดเวลา โดยมีประชุมทีมจัดอันดับ News Feed เป็นประจำทุกสัปดาห์ และมีการประเมินผลอย่างละเอียดว่าปรับอัลกอริทึมแล้วเกิดผลอย่างไรบ้าง
ที่มา - Slate