แนวโน้มของสตาร์ตอัพที่น่าสนใจในช่วงหลัง เป็นสตาร์ตอัพกลุ่มที่เราเรียกกันว่า vertical นั่นคือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในอุตสาหกรรมของตัวเอง แล้วพยายามนำเครื่องมือด้านเทคโนโลยีไปแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมนั้นๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยโครงสร้างแบบเดิม
สตาร์ตอัพสัญชาติไทยที่ค่อนข้างโดดเด่นในเรื่องนี้คือ Vetside กับความพยายามนำเทคโนโลยีไปแก้ปัญหาให้วงการสัตวแพทย์ อ่านถูกแล้วครับ สตารํตอัพด้านสัตวแพทย์
Vetside อาจไม่ใช่หน้าใหม่ของวงการสตาร์ตอัพไทยนัก เพราะผ่านโครงการ True Incube รุ่นที่ 2 ในปี 2014 และเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายด้วย อย่างไรก็ตาม ด้วยพื้นเพของทีมผู้ก่อตั้งอาจดูแหวกกรอบสตาร์ตอัพสายไอทีอยู่บ้าง เพราะรายหนึ่งเป็นสัตวแพทย์ตัวจริง และอีกรายจบมาทางสถาปัตยกรรม (ทางทีมบอกผมว่าชีวิตก่อนหน้านี้ไม่เคยเกี่ยวข้องกับไอทีเลย)
ที่มาที่ไปของ Vetside คือผู้ก่อตั้ง คุณก้อง ธนพัฒน์ สุขวิสุทธิ์ ซึ่งประกอบอาชีพสัตวแพทย์อยู่แต่เดิม พบปัญหาของวงการสัตวแพทย์ว่าต้องการความเชี่ยวชาญต่อการรักษาสัตว์แต่ละประเภทมาก ไม่ใช่ว่าสัตวแพทย์ทุกคนจะสามารถรักษาสัตว์ได้ทุกชนิด และสัตว์แต่ละชนิดก็มีรูปแบบของโรคภัยความเจ็บป่วยแตกต่างกันมากๆ คุณก้องเองเป็นหมอผู้เชี่ยวชาญการรักษา “ปลา” ซึ่งไม่ถือว่าแปลกมากนัก เพราะมีหมอที่เชี่ยวชาญ “เต่า” “งู” รวมถึงขั้นสุดคือ “ปลาโลมา” ด้วย (มีไม่กี่คนในอาเซียน)
เมื่อสัตวแพทย์ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทางสูง ปัญหาของวงการคือไม่รู้ว่าผู้เชี่ยวชาญสัตว์ประเภทนั้นคือใครบ้าง เมื่อเจอเคสแปลกๆ เช่น หมอหมาต้องไปรักษาปลา ทางออกก็คือตามหาผู้รู้ในหมู่เพื่อนฝูงที่รู้จักกัน ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก
Vetside จึงเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นเครือข่ายสำหรับสัตวแพทย์ในการแชร์ความเชี่ยวชาญระหว่างกัน โดยใช้เครื่องมือด้านไอทีเข้ามาช่วยเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างแวดวงสัตวแพทย์ ตัวคุณก้องอยู่ในวงการนี้อยู่แล้ว (domain expert) จึงสามารถชวนเพื่อนๆ สัตวแพทย์มาเข้าร่วมระบบได้ไม่ยากนัก
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง (pet care industry) ไม่ได้มีแค่ “สัตวแพทย์” (veterinarian หรือเรียกย่อๆ ว่า vet) แต่ยังมีเจ้าของสัตว์เลี้ยง (pet owner) และโรงพยาบาลสัตว์ (pet hospital) เป็นปัจจัยร่วมด้วย รวมถึงธุรกิจต่อยอดอย่างอาหารสัตว์ ยาสำหรับสัตว์ บริการเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ฯลฯ อีกมากมาย
ทางทีม Vetside จึงมองภาพรวมของอุตสาหกรรมว่านี่เป็นโอกาสทางธุรกิจ และน่าจะใช้ความเชี่ยวชาญของตนให้เกิดประโยชน์ได้ และขยายขอบเขตธุรกิจให้ครอบคลุมความต้องการของทุกกลุ่ม ได้แก่
Vetside และ VetList
iTaam
VetOS
โมเดลธุรกิจของทีม VetSide คือสร้างทราฟฟิกจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการสัตว์เลี้ยง และหารายได้จากบริการต่อยอดอื่นๆ เช่น ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้ผลิตยา รวมถึงคิดค่าใช้บริการซอฟต์แวร์จากโรงพยาบาลสัตว์โดยตรงด้วย
ที่ผ่านมา VetSide ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งงานสตาร์ตอัพระดับเอเชียของ IBM ที่ประเทศสิงคโปร์ในปี 2015 และได้รางวัลอันดับสองติดมือกลับมาด้วย