กระแสของ Internet of Things กำลังรุกคืบในทุกทิศทาง ต่อเนื่องจากประเด็นที่คุณ lewcpe เคยเล่าถึงในบทความ Internet of Things: ความฝันถึงโลกที่แตกต่างในยุคต่อไป โอกาสนี้ผมมีรีวิวของ Mi Smart Home Kit จาก Xiaomi ซึ่งเป็นอีกหนึ่งชุดอุปกรณ์ที่นำพาที่พักอาศัยได้มีความสะดวก ปลอดภัย ผ่านอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว และใช้งานผ่าน Wi-Fi และสมาร์ทโฟน
Xiaomi เป็นอีกแบรนด์จีน (ผมเคยเขียนประวัติของแบรนด์นี้ไว้) ที่ขยับมาสร้างสินค้าหลากหลายชนิดนอกจากสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต สินค้าหนึ่งในนั้นคือสิ่งนี้ Mi Smart Home Kit คือชุดเซ็นเซอร์ที่ทำงานผ่านเกตเวย์ตรงกลาง มีอะไรบ้าง มาไล่เรียงกันตั้งแต่กล่องเลยครับ
หน้าตา
Mi Smart Home Kit มาในบรรจุภัณฑ์เรียบง่ายแน่นหนา มีการ์ตูนแนะนำวิธีการใช้งานแบบพอกรุบกริบ เป็นแบรนด์จีนที่เอาใจใส่เรื่องบรรจุภัณฑ์ดีมาก
อุปกรณ์ในกล่อง Smart Home Kit มีเพียงคู่มือภาษาจีนล้วน เทปกาวสองหน้าสำรองไว้ทดแทนของเดิมที่ติดอยู่ที่ชุดเซ็นเซอร์ (หากอยากเปลี่ยนที่ในอนาคต) และชุดเกตเวย์กลาง (Multifunction Gateway) เซ็นเซอร์คู่ ไว้ติดที่ขอบประตู-หน้าต่าง เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว และแป้นกด เป็นปุ่มสวิตช์จังหวะเดียว ใช้ตั้งค่าการทำงานเป็นแบบต่างๆ ได้ ค่าเดิมจากโรงงานคือเป็นออดครับ
ชุดเซ็นเซอร์ที่สามารถติดตามขอบประตูหน้าต่างจะมีแถบกาวสองหน้าติดมาให้พร้อมใช้งาน โดยมีแรงแม่เหล็กดูดกันเบาๆ เวลาติดตั้งคือชิ้นหนึ่งติดวงกบ อีกชิ้นติดที่ตัวบานในตำแหน่งที่หากประตูหรือหน้าต่างปิดสนิท จะต้องอยู่ชิดติดกัน
ตัวเกตเวย์กลางทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อกับเซ็นเซอร์ทั้งหมดในชุด และเป็นลำโพง มีไฟ LED เรืองแสงระเรื่อรอบตัว เลือกสีได้ 16 ล้านสี และต้องเสียบกับเต้ารับตลอดเวลา
ในที่นี้เป็นรุ่นจำหน่ายในประเทศจีน จึงมีรูปแบบของขาเต้าเสียบไม่เหมือนบ้านเรา แต่ก็เสียบผ่านตัวแปลงและใช้งานได้ตามปกติครับ อาจดูทุลักทุเลสักนิด
ทำอะไรได้บ้าง
ภาพจาก xiaomi-mi.com
บอกก่อนเลยว่า Mi Smart Home Kit ตั้งค่าใช้งานได้หลากหลายมาก จากแหล่งข้อมูลที่สืบค้นและลองหาวิธีใช้ก็พบว่าสามารถพลิกแพลงใช้งานเซ็นเซอร์เหล่านี้ได้หลายรูปแบบตามใจนึก ผ่านการกำหนดสูตรคล้าย IFTTT บนแอพ Mi Smart Home เช่น
ลองใช้งาน-อุปสรรคที่พบ
การติดตั้ง Mi Smart Home Kit ไม่ใช่เรื่องยากนัก หากแต่ต้องมีแอพ Mi Smart Home ติดตั้งให้ได้ (หาได้ในสโตร์ของ MIUI หรือหาไฟล์ .apk มาติดตั้ง และมีบน iOS) และเราท์เตอร์ Wi-Fi ที่ผมใช้งานได้ต้องเป็นของ Xiaomi ด้วยกันเท่านั้น ผมลองกับเราท์เตอร์ D-Link และ Humax ของทรู ตัวแอพสแกนเจอตัวเกตเวย์แต่ใช้งานต่อไม่ได้
หน้าหลักของแอพ Mi Smart Home หลังจากเข้าใช้ผ่านบัญชี Mi เพิ่มอุปกรณ์เข้ามาในบัญชีและจัดการการทำงานต่างๆ ได้แล้ว ยังสามารถทำงานเป็นรีโมทคอนโทรลอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านช่องอินฟราเรดของสมาร์ทโฟนที่รองรับได้ด้วย ค่าดั้งเดิมของแอพจะบอกอุณหภูมิ ความสะอาดของอากาศและน้ำของกรุงปักกิ่ง
หลังจากมะงุมมะงาหราอยู่พักใหญ่ ให้แอพค้นหาตัวเกตเวย์ จากนั้นกรอกรหัสของ SSID ที่เชื่อมอยู่ส่งให้มัน รอประมาณ 25 วินาทีก็สามารถใช้สมาร์ทโฟนควบคุมการทำงานของเกตเวย์ตัวนี้ได้แล้ว ฟังก์ชั่นเบื้องต้นคือการปรับสีไฟนั่นเอง
ตัวแอพเกือบ 90% เป็นภาษาจีนล้วน จึงเป็นเรื่องลำบากมากที่จะไล่ดูและลองทุกฟังก์ชั่น (ปาดเหงื่อรัวๆ) แต่ลูกเล่นพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ผมได้ลองใช้คือการตั้งค่าชุด Mi Smart Home Kit ให้ทำงานในโหมด Security Mode รูปโล่สีเขียว เมื่อเราปิดหน้าต่าง วางเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวในห้องเรียบร้อย เมื่อเปิดโหมดนี้ แอพจะให้เวลาเรา 60 วินาทีก่อนออกจากบ้าน เมื่อทุกอย่างปิดสนิท หากประตูถูกเปิด หรือตรวจจับการเคลื่อนไหวใดๆ ได้ ลำโพงจะร้องเตือนเสียงดัง และแอพในมือ (ติ๊งต่างว่าคุณอยู่นอกบ้าน นอกวง Wi-Fi ไปแล้ว) ก็จะแจ้งเตือนถึงการบุกรุกทันที และมี log บันทึกสถานะเซ็นเซอร์แต่ละชิ้นด้วย
สรุป
นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับ Xiaomi กับอุปกรณ์กลุ่ม IoT ที่ไว้ใช้งานตามบ้าน ในราคาทั้งชุดเพียงพันกว่าบาทก็ทำให้เราได้เข้าใจกลไกของเทคโนโลยีใหม่ที่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันเรามากขึ้น เกิดการหลอมรวมการทำงานของสรรพสิ่งให้ควบคุมผ่านสมาร์ทโฟนในมือ สิ่งที่ไม่ได้ลองทดสอบคือระยะและกำลังส่ง ซึ่ง Mi Smart Home Kit ใช้ Zigbee เป็นโปรโตคอลคุยกันระหว่างเซ็นเซอร์และตัวเกตเวย์ ที่ข้อมูลจากฟอรั่มใน MIUI ระบุว่าเซ็นเซอร์อยู่ห่างกันได้ราว 7 เมตรในระยะกว้าง 170 องศา และแบตเตอรี่ในตัวเซ็นเซอร์อยู่ได้เป็นปีๆ ด้านแอพ ถ้ามีรุ่นภาษาอังกฤษล้วนในเร็ววันจะยิ่งดีงาม
ส่วนตัวรู้สึกโอเคกับเทคโนโลยีจำพวกนี้มาก แต่ว่าถ้าบ้านหลังหนึ่งอยู่อาศัยกันหลายท่าน และมีสมาชิกเป็นผู้สูงวัย อาจเหนื่อยสอนท่านใช้งานมากกว่าสอนท่านเล่น LINE (อย่างน้อยก็ในตอนนี้) เพราะมันตั้งค่าได้หลากหลายเหลือเกิน