สัมภาษณ์ 'ทิวา ยอร์ก' ตอบคำถาม Kaidee คือใคร ลงประกาศขายของฟรีแล้วหาเงินอย่างไร

by mk
24 January 2016 - 08:18

ผมเชื่อว่าสมาชิก Blognone คงคุ้นเคยกับชื่อ Dealfish, OLX, Kaidee ซึ่งเป็นเว็บไซต์ประกาศขายของมือสองรายใหญ่ของประเทศไทยที่เปลี่ยนชื่ออยู่บ่อยครั้ง เหตุผลสำคัญคงเป็นเพราะ Dealfish/OLX/Kaidee เน้นยิงโฆษณาแบบถี่ยิบในหลายช่องทาง (พอคนจำแบรนด์กันได้แล้วก็... เปลี่ยนแบรนด์อีกรอบ)

ถึงแม้หลายคนอาจไม่เคยประกาศขายของบนเว็บไซต์แห่งนี้เลย แต่ผมก็เชื่อว่าคงมีคนสงสัยว่าเว็บนี้คือใครกันแน่ ทำไมเปลี่ยนชื่อบ่อย และอยู่ได้อย่างไรเมื่อประกาศลงโฆษณาฟรีไม่คิดเงิน วันนี้เรามาคุยกับคุณทิวา ยอร์ก (Tiwa York) ซีอีโอของ "ขายดีดอทคอม" Kaidee (ชื่อปัจจุบัน) กันอย่างละเอียดครับ

สำหรับคนที่เคยดูโฆษณาอาจคุ้นหน้าคุณทิวา เพราะเขาคือคนที่มาเล่นเป็นพระเอกโฆษณาทุกรอบที่ปรับแบรนด์นั่นเองครับ

โฆษณาตอนเปลี่ยนจาก OLX --> Kaidee

โฆษณาของ Kaidee

Kaidee คือใคร ใครเป็นเจ้าของ

ก่อนอื่นเลย หลายคนที่เห็นโฆษณาของ Kaidee ทางทีวีแบบถี่ยิบ อาจสงสัยว่าตกลงแล้ว Kaidee คือใครกันแน่

Kaidee.com เวอร์ชันปัจจุบัน เกิดจากการรวมตัวของเว็บประกาศขายของ 2 รายในไทย นั่นคือ OLX.co.th (ที่เปลี่ยนชื่อมาจาก Dealfish และเคยเป็นส่วนหนึ่งของ Sanook มาก่อน) กับ Kaidee.com ในปี 2014 (ข่าวการควบรวม) โดยทีมงานหลักคือทีมงาน OLX เดิม แต่เปลี่ยนมาใช้แบรนด์ Kaidee ที่สื่อถึงคนไทยได้ดีกว่าแทน ฟังแล้วเข้าใจทันทีว่ามาขายที่นี่แล้วดี

หลังการควบรวมแล้ว กลุ่มทุนที่เป็นเจ้าของ Kaidee ประกอบด้วย 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

  • Naspers กลุ่มทุนสื่อรายใหญ่จากแอฟริกาใต้ บริษัทแม่ของ MWEB ที่เคยมาซื้อ Sanook.com เมื่อนานมาแล้ว และเป็นเจ้าของเว็บไซต์ OLX ในหลายประเทศ ถือหุ้น 44.1%
  • 701Search เกิดจากการร่วมทุนของ Schibsted กลุ่มทุนสื่อจากนอร์เวย์, Telenor บริษัทแม่ของ dtac, Singapore Press Holdings กลุ่มทุนสื่อของสิงคโปร์ เจ้าของ Kaidee เดิม ถือหุ้น 55.9%

การควบรวมธุรกิจของ Naspers กับ 701Search ค่อนข้างซับซ้อน เพราะดีลนี้ครอบคลุมเว็บไซต์ประกาศขายของในเอเชียหลายประเทศ และเว็บไซต์แบรนด์ OLX ก็ยังมีอยู่ในหลายๆ ประเทศ สำหรับคนที่สนใจ สามารถอ่านข้อมูลจาก ข่าวเก่า และ ประกาศบนเว็บ Naspers จากนี้ไปเราจะสนใจเฉพาะ Kaidee.com ของประเทศไทยเท่านั้น

สำหรับคนที่สงสัยว่าทำไมบริษัทนี้เปลี่ยนชื่อบ่อย เหตุผลหลักๆ คงเป็นเพราะเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นหลายครั้ง (จากเดิม Sanook แยกแบรนด์เป็น Dealfish จากนั้นไปอยู่ใต้สังกัด OLX ของ Naspers ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ใช้ในหลายประเทศ ก่อนจะมาควบรวมกับ Kaidee) คุณทิวาบอกว่ามาถึงตอนนี้รู้ซึ้งเรื่องการรีแบรนด์บริษัทแล้ว เพราะน่าจะทำบ่อยกว่าใครๆ แต่ถ้าให้แนะนำก็อย่าทำบ่อยเป็นดี เพราะเหนื่อยมาก

Kaidee ทำอะไร

คุณทิวาอธิบายว่าภารกิจของ Kaidee คือเป็นตลาดขายของมือสอง เหตุผลในการดำรงอยู่ (why) ของบริษัทคือตลาดของมือสองช่วยให้ชีวิตของคนเราดีขึ้น ตามแนวคิด reduce/reuse/recycle

คุณทิวาบอกว่าคนไทยไม่มีธรรมเนียมการขายของเก่ามากนัก และทุกบ้านมักมี "ห้องเก็บของ" ที่มีของเก่าไม่ใช้แล้วเต็มไปหมด (แถมฝุ่นจับเขรอะด้วย) ถ้านำของพวกนี้มาเปลี่ยนมือ ก็ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ลดปริมาณของเกะกะที่ไม่ใช้งาน แถมผู้ซื้อก็ได้สินค้าที่ต้องการในราคาถูกอีกด้วย

Kaidee ประกาศตัวเองชัดว่าเป็นเว็บประกาศขาย (classifie) เท่านั้น ไม่ใช่โมเดลอีคอมเมิร์ซแบบที่มีการจ่ายเงินผ่านหน้าเว็บ เหตุผลคือ Kaidee มองว่าการขายของมือสองจำเป็นต้องตรวจสภาพของกันอย่างละเอียด และแนะนำให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายนัดเจอกันก่อนตกลงปลงใจซื้อขายเสมอ ทำให้ธุรกรรมบน Kaidee จะไม่วิ่งผ่านบริษัทเลย บริษัททำหน้าที่ช่วยจับคู่ระหว่างคนซื้อ-คนขายเท่านั้น

ปัจจุบัน Kaidee มีประกาศขายของเข้ามาใหม่วันละ 35,000 โพสต์ มีผู้ขายของ 200,000 รายต่อเดือน ถ้านับทราฟฟิก มีคนเข้ามาใช้งาน 6.5 แสนรายต่อวัน (นับ unique visitor) และ 38 ล้านเพจวิว ถ้านับสถิติของปี 2015 มีคนขายหน้าใหม่เพิ่มเข้ามาถึง 1 ล้านราย

สินค้าขายดี 5 หมวดแรกได้แก่ รถยนต์ พระเครื่อง โทรศัพท์มือถือ มอเตอร์ไซค์ และอสังหาริมทรัพย์ (อ่านถูกแล้วครับ พระเครื่องอยู่อันดับ 2 เลยแหละ)

Kaidee หาเงินอย่างไร โมเดลธุรกิจคืออะไร

ในเมื่อ Kaidee ลงประกาศได้ฟรี 100% สิ่งที่ทุกคนสงสัยคือเอารายได้มาจากไหน คำตอบของคุณทิวาคือโมเดลธุรกิจแบบฟรีเมียม (freemium) นั่นเอง ที่ผ่านมา Kaidee เปิดให้ลงฟรีทั้งหมด และไม่สนใจเรื่องรายได้เลยเพื่อส่งเสริมให้คนรู้จักและกล้าใช้งาน แต่ช่วงปลายปี 2015 เป็นต้นมา Kaidee ก็เริ่มเพิ่มฟีเจอร์แบบเสียเงิน นั่นคือ "เลื่อนประกาศ" ให้อยู่สูงขึ้น เห็นเด่นชัดขึ้น ประกาศไม่ตกไปง่ายๆ เพิ่มโอกาสขายออกมากกว่าเดิม

ตอนแรก Kaidee มีระบบจ่ายเงินผ่าน SMS ครั้งละ 9/30/50 บาท (ราคาขึ้นกับหมวดหมู่สินค้าด้วย) แต่ผู้ขายให้ความเห็นกลับมาว่า ถ้าต้องการเลื่อนประกาศหลายๆ อัน ต้องมาส่ง SMS ทุกรอบก็เหนื่อยเหมือนกัน บริษัทจึงพัฒนาระบบจ่ายเงินแบบที่สองชื่อ Kaidee Egg ขึ้นมา รูปแบบจะคล้ายการซื้อคูปองมาใช้ภายหลัง วิธีนี้สะดวกกว่า SMS เพราะจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต-เดบิตได้เลย และซื้อทีเดียวเป็นล็อตใหญ่ๆ ได้ด้วย

ตอนนี้ Kaidee ยังเน้นไปที่โมเดลจ่ายเงินเพื่อเลื่อนประกาศเพียงอย่างเดียว แต่ในอนาคตก็จะหาบริการอื่นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้ซื้อผู้ขายชาวไทยให้มากขึ้น

ภารกิจช่วยคนไทยขายของมือสอง

ในอดีตคู่แข่งของ Kaidee คือเว็บบอร์ดลงประกาศต่างๆ ที่ตอนนี้ไม่น่ากลัวนัก เพราะจุดเด่นของ Kaidee คือคนเข้าเยอะกว่ามาก ลงประกาศแล้วมีโอกาสขายได้เร็วกว่า แต่ช่วงหลังเริ่มมีคู่แข่งประเภท "ตลาดเฉพาะอย่าง" (vertical market) เข้ามาชิงฐานลูกค้ามากขึ้น ตัวอย่างคู่แข่งลักษณะนี้คือ Airbnb ที่เป็นเว็บเฉพาะสำหรับเช่าห้อง ส่งผลให้คนที่อาจเคยประกาศให้เช่าห้องใน Kaidee อาจย้ายไปโพสต์กับ Airbnb แทน

อย่างไรก็ตาม คุณทิวาบอกว่าสุดท้ายแล้ว ความท้าทายที่สุดของ Kaidee คือการแข่งกับเป้าหมายของตัวเอง เพราะบริษัทตั้งเป้าหมายต้องการให้คนไทย "ทุกคน" เคยมาประกาศขายของบน Kaidee กันให้หมด ดังนั้นถึงแม้ตอนนี้คนเข้าเว็บเยอะก็จริง แต่ยังห่างไกลกับเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่มาก และต้องฝ่าฟันกันต่อไปอีกยาว

ความท้าทายของ Kaidee คือคนไทยยังไม่มีธรรมเนียมการขายของมือสอง ดังนั้น Kaidee จะทำทุกทางเพื่อขยายตลาดคนเหล่านี้ให้มาลองใช้งาน ซึ่งตรงนี้เป็นคำอธิบายว่าทำไม Dealfish/OLX/Kaidee ถึงทุ่มทุนโฆษณาทางทีวี คำตอบคือต้องการขยาย reach ไปยังคนที่ไม่คุ้นเคยกับอินเทอร์เน็ตนั่นเอง

ตอนนี้ผู้ใช้งาน Kaidee กว่า 70% มาจากโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นทีมงานต้องทำทุกอย่างเพื่อให้แอพ Kaidee ใช้งานได้ง่ายที่สุด คุณทิวาเล่าว่า "แม่ยาย" ของตัวเองเพิ่งมาเล่นเน็ตบนมือถือได้ไม่นาน มีทั้ง Facebook/Instagram/LINE แต่กลับไม่มี "อีเมล" เมื่อทีมงานพบปัญหาข้อนี้จึงปรับปรุงแอพ Kaidee ให้สามารถสมัครด้วยเบอร์โทรศัพท์เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องกรอกอีเมลอีกต่อไป

สร้างวัฒนธรรมองค์กร เชื่อมั่นใน "คน"

ปัจจุบัน Kaidee มีพนักงานเกือบ 100 คน และเพิ่งเปิดสำนักงานใหม่ที่ตึก AIA Capital Center ที่ถนนรัชดาภิเษกเมื่อปีที่แล้ว (Blognone พาชมออฟฟิศ Kaidee) ตัวสำนักงานหรูหราอลังการตามสไตล์บริษัทไอทีรุ่นใหม่ มีข้าวเที่ยงเลี้ยงพนักงานทุกวัน

คุณทิวาบอกว่าวัฒนธรรมองค์กรของ Kaidee เชื่อมั่นใน "คน" และต้องการพนักงานระดับ world class มาร่วมทีม ยุคสมัยนี้การจ้างคนมีฝีมือเป็นเรื่องยากเพราะทุกบริษัทชิงตัวกัน ดังนั้น Kaidee จึงลงทุนกับการแต่งออฟฟิศและอาหารเพื่อดึงดูดคนเหล่านี้

สไตล์การทำงานของบริษัทเน้นความเปิดกว้างแบบ Silicon Valley เน้นการทำงานรวดเร็ว ล้มเหลวให้เร็ว (move fast, fail fast) ส่วนทีมวิศวกรไม่ได้แยกฝ่ายไอที-ผลิตภัณฑ์ออกจากกัน เพราะเชื่อมั่นว่าคนทุกตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมเมอร์ ดีไซเนอร์ ผู้ดูแลระบบ ฯลฯ ต้องทำงานร่วมกันภายใต้ทีมเดียวกัน กระบวนการพัฒนายึดหลัก continuous deployment ขึ้นโค้ดเวอร์ชันใหม่วันละ 10-20 ครั้ง

ในภาพรวมแล้ว ผมคิดว่า Kaidee ถือเป็นบริษัทเทคโนโลยีไทยที่น่าสนใจอีกราย เพราะเป็นบริษัทที่ตั้งมาได้นานพอสมควร (4 ปี) มีผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทใหญ่ แต่ทีมงานเป็นคนไทยเกือบทั้งหมด มีวัฒนธรรมการทำงานแบบเดียวกับบริษัทชื่อดังในต่างประเทศ และมีผลงานจับต้องได้ชัดเจน แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ขั้นต่อไปบริษัทกำลังอยู่ในช่วงเริ่มหาโมเดลรายได้ที่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทลักษณะนี้ Kaidee จะก้าวไปได้ไกลแค่ไหนก็ต้องติดตามและเอาใจช่วยกันต่อไปครับ

พาชมบรรยากาศ Kaidee

โซนโต๊ะทำงาน

โซนทานอาหาร

ห้องประชุม แต่งตามธีมสินค้ายอดนิยมแต่ละประเภท

โต๊ะปิงปอง โซนสันทนาการ

ผมไปตอนเที่ยง เจอพนักงานกำลังทานข้าวกัน เลยมีโอกาสแจมด้วยครับ อาหารอร่อยทีเดียว มีไอติมตบท้ายด้วย

Blognone Jobs Premium